5 อาการ "โควิดสายพันธุ์ใหม่" BA.5 ที่พบมากกว่า BA.1 - BA.2 ชัดเจน

5 อาการ "โควิดสายพันธุ์ใหม่" BA.5 ที่พบมากกว่า BA.1 - BA.2 ชัดเจน

ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิดสายพันธุ์ใหม่" เผย 5 อาการ "โอมิครอน" BA.5 ที่พบมากกว่า BA.1 - BA.2 ชัดเจน

ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิดสายพันธุ์ใหม่" เผย 5 อาการ "โอมิครอน" BA.5 ที่พบมากกว่า BA.1 - BA.2 ชัดเจน ชี้แม้อาการส่วนใหญ่จะไม่ได้ทำให้ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- "โควิดสายพันธุ์ใหม่" BA.4 BA.5 เช็กอาการมีอะไรบ้าง พบในผู้ป่วยมากกว่า 50%

- โควิด สายพันธุ์ BA.4 / BA.5 พบแล้วกว่า 51.7% คาดครองไทยอีกไม่นาน

- "โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอมิครอน BA.4 BA.5 เราต้องกังวลมากน้อยแค่ไหน?

- โควิด-19 ยอดจริงวันละครึ่งแสน หมอศิริราช ชี้ถึงเวลาภาครัฐต้องบอกความจริง

 

ข้อสังเกตระลอก BA.5 จากเคสรอบตัวทุกวัน

1. ส่วนใหญ่กว่า 90% ติดเชื้อและมีอาการ

2. แม้อาการส่วนใหญ่จะไม่ได้ทำให้ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไข้ซม ปวดเมื่อยมาก ไอ เจ็บคอมาก ท้องเสีย เปรียบเทียบแล้วพบอาการมากกว่า Omicron BA.1 และ BA.2 อย่างชัดเจน

3. ผู้ติดเชื้อที่ปรึกษามาทั้งหมดนั้นตรวจ ATK เองทั้งสิ้น ไม่ได้ไปตรวจ RT-PCR

4. สถิติสัปดาห์ล่าสุด ในสถานที่ทำงานแห่งหนึ่ง มีเคสติดเชื้อใหม่เกิดขึ้นรายสัปดาห์พุ่งสูงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 150%

และการติดเชื้อใหม่นี้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1:20 ถือว่าหนักกว่าอังกฤษ (1:30) เวลส์ (1:30) ไอร์แลนด์เหนือ (1:25) และพอๆกับสกอตแลนด์ (1:18)

 

เราต้องการกลไกการบริหารนโยบายสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมป้องกันโรค เพื่อลดอัตราการติดเชื้อให้น้อยลง ไม่ใช่ปล่อยจอย โดยรอดูแค่จำนวนนอนโรงพยาบาลและจำนวนเสียชีวิต

 

เพราะการติดเชื้อแต่ละครั้งของทุกคนนั้น เดิมพันด้วยความเสี่ยงต่อปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ซึ่งไม่มีใครมารับผิดชอบแทนผู้ป่วยได้

 

ส่วนตัวแล้วประเมินว่า เคสติดเชื้อใหม่ในแต่ละวัน ณ ขณะนี้ น่าจะสูงมากจริงๆ (อาจสูงราว 70,000-100,000 ต่อวัน) เพราะอัตราการตรวจเองสูงมาก และส่วนใหญ่ไม่เข้าระบบ และจำนวนติดเชื้อใหม่ครั้งนี้จะมากกว่าค่าเฉลี่ยของระลอกที่ผ่านมา หากไม่มีการควบคุมป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

 

ส่วน สถานการณ์ระบาดของไทย ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 หมอธีระ ระบุว่า จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวานสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค. จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

ปัญหาหนักที่เผชิญ

 

1. ตัวเลขที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่เป็น

2. กลไกสนับสนุนทางสังคมลดลงไปมาก

3. สภาวะแวดล้อมทางสังคมที่เสี่ยงสูงมาก

4. ทัศนคติในการบริหารนโยบายสุขภาพที่เน้นเศรษฐกิจมากกว่าสุขภาพ และลดทอนการรับรู้ความเสี่ยงของประชาชน (Tone down risk perception)

5. ระบบการควบคุมป้องกันโรคไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะจัดการการระบาดในปัจจุบันได้ ทั้งในระดับประเทศ พื้นที่ และสถานที่จำเพาะ ทั้งที่ทำงาน และสถานศึกษา

6. การระบาดในครัวเรือนจากเด็กๆ ที่ติดเชื้อจากสถานศึกษา เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ป้องกันได้ยาก มีลักษณะแบบม้าไม้เมืองทรอย (Trojan horse)

7. การยึดตัวชี้วัดสุขภาพที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เพราะกลไกนโยบายดูเฉพาะจำนวนคนป่วยในโรงพยาบาล และจำนวนเสียชีวิต โดยเป็นตัวชี้วัดที่มีเวลาเหลื่อมจากการติดเชื้อนาน (lag periods) ไม่ไวพอที่จะตรวจจับสถานการณ์ นอกจากนี้ปัญหาหนักระยะยาวคือ Long COVID ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนการติดเชื้อที่เกิดขึ้น และไม่ได้รายงาน

8. การมี Underestimation mindset โดยมีการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น กระจอก ธรรมดา เอาอยู่ เพียงพอ เวฟเล็กๆ ทั้งที่สถานการณ์จริงที่คนหน้างาน และประชาชนในสังคมเผชิญอยู่นั้นไม่เป็นเช่นนั้น

 

หนทางแก้ไขระดับมหภาค

 

1. "บอกความจริง" แก่ประชาชนทุกคนในสังคม ไม่วิ่งหนีความจริง ไม่เปิดเฉพาะที่อยากเปิด ไม่เปิดแค่ยามที่อยากเปิด

2. วัฒนธรรม "ใส่หน้ากาก"

3. วิเคราะห์ช่องโหว่ของแผนการควบคุมป้องกันโรคในสถานที่จำเพาะ เช่น สถานศึกษา และที่ทำงาน และปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ ยืนบนพื้นฐานของความเป็นจริง และปรับระบบการดำเนินงานให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่จริง ไม่ทำแบบเตี้ยอุ้มค่อม เพื่อให้การดำเนินชีวิตวิถีใหม่เป็นไปได้ ไม่ใช่วิถีชีวิตแบบเดิมแต่สังเวยด้วยความเจ็บป่วยและความเสี่ยงต่อชีวิต

4. ปรับเปลี่ยนกลไกบริหารจัดการนโยบายด้านสุขภาพ ตัวชี้วัด และสร้างระบบเฝ้าระวังที่เข้าถึงได้โดยสาธารณะอย่างละเอียด ทันเวลา

 

สำหรับประชาชน

การระบาดปัจจุบันหนัก ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด หรือกินดื่มร่วมกับผู้อื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ในครอบครัว หมั่นสังเกตสังกาอาการผิดปกติของเด็กๆ หากไม่สบายควรรีบตรวจรักษา

 

ตะลอนนอกบ้าน ทำงาน ศึกษาเล่าเรียน จำเป็นต้องใส่หน้ากากครับ จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก ที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้...ไม่ใช่เวฟเล็กๆ

 

CR เฟซบุ๊ก ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์