"ฟาวิพิราเวียร์" VS "โมลนูพิราเวียร์" ข้อบ่งใช้เป็นอย่างไร ใครใช้ได้บ้าง

"ฟาวิพิราเวียร์" VS "โมลนูพิราเวียร์" ข้อบ่งใช้เป็นอย่างไร ใครใช้ได้บ้าง

ไขข้อสงสัย ยาหลักที่ใช้รักษา “โควิด-19” ในประเทศไทยอย่าง “ฟาวิพิราเวียร์” และ “โมลนูพิราเวียร์” มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ละชนิดเหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มไหนบ้าง?

ในปัจจุบันประเทศไทยมียารักษา “โควิด-19” อยู่หลากหลายชนิด ซึ่งข้อบ่งใช้ของยาแต่ละตัวก็ไม่เหมือนกัน ตลอดจนราคาของยาแต่ละชนิดก็ต่างกันด้วย ทั้งนี้ ยา 2 ชนิดที่ถูกพูดถึง และคุ้นหูคนไทยมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “ยาฟาวิพิราเวียร์” และ “ยาโมลนูพิราเวียร์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปทำความรู้จักกับตัวยาทั้ง 2 ชนิดว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มใด ควรได้รับยาชนิดไหน และข้อบ่งใช้ยาเป็นอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่

 

ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)

ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาตัวแรกที่นำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยจากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศพบว่า กลไกลการออกฤทธิ์ของยาชนิดนี้ เป็นการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ติดต่อกันเป็นเวลาใน 14 วัน มีสัดส่วนอาการดีขึ้นอยู่ที่ 86.9%  

ข้อบ่งใช้: ผู้ป่วยโควิดอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงกลุ่มเสี่ยง 608 เช่น ผู้มีภาวะอ้วน, ผู้มีโรคประจำตัว ขณะที่สตรีตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 อาจพิจารณาให้ใช้ได้
การให้ยา: ขนาดยารับประทานสำหรับผู้ใหญ่ ในวันแรกอยู่ที่ 1,600 มิลลิกรัม และลดลงเหลือ 600 มิลลิกรัม ในวันที่ 2 ถึงวันที่ 5 ระยะเวลาการรักษาโดยรวมคือ 5 วัน ด้วยยาเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัม ดังนั้นจึงต้องรับประทานประมาณ 40 เม็ดต่อคนราคาต่อคอร์ส: 800 บาท

ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)

ยาโมลนูพิราเวียร์ มีกลไกการออกฤทธิ์ไม่ต่างจากยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัส และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง โดยได้รับการอนุมัติจากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. ให้ใช้ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ข้อบ่งใช้: ผู้ป่วยโควิดอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เน้นในกลุ่มเสี่ยง 608 เช่น ผู้มีภาวะอ้วน, ผู้มีโรคประจำตัว ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
การให้ยา: ขนาดยารับประทานสำหรับผู้ใหญ่ 800 มิลลิกรัม หรือ 4 แคปซูล โดยให้รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 วัน รวม 40 แคปซูลต่อคน ทั้งนี้จะต้องได้รับยาภายใน 5 วัน หลังได้รับการวินิจฉัยเริ่มมีอาการป่วยโควิด 

ราคาต่อคอร์ส: ประมาณ 10,000 บาท

 

 

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จะมีการปรับเปลี่ยนตามหลักฐานเชิงประจักษ์ อยู่ภายใต้การประชุมหารือของผู้เชี่ยวชาญโดยตลอด ล่าสุดมีการปรับปรุงเกณฑ์การให้ยาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปตาม แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ระบุไว้ว่า

ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ผู้ที่มีผลตรวจ ATK ต่อ SARS-CoV-2 ให้ผลบวก รวมถึงผู้ติดเชื้อยืนยันทั้งผู้ที่มีอาการและไม่แสดงอาการ แบ่งเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของโรค และปัจจัยเสี่ยงได้เป็น 4 กรณี ดังนี้

 

1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี 

  • ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้าน หรือ ทำโฮมไอโซเลชัน หรือสถานที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสม
  • ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง
  • อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์

 

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง โรคร่วมสำคัญ และภาพถ่ายรังสีปอดปกติ

  • อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มให้ยาโดยเร็ว
  • หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่ จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

 

3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่

1) อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป

2) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) (GOLD grade 2 ขึ้นไป) รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ

3) โรคไตเรื้อรัง (CKD) (stage 3 ขึ้นไป)

4) โรคหัวใจ และหลอดเลือด (NYHA functional class 2 ขึ้นไป) และโรคหัวใจแต่กำเนิด

5) โรคหลอดเลือดสมอง

6) เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้

7) ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI 230 กก./ตร.ม.)

8) ตับแข็ง (Child-Pugh class B ขึ้นไป)

9) ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เป็นโรคที่อยู่ในระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิหรือ corticosteroid equivalent to prednisolone 15 มก./วัน ระยะเวลา 15 วัน ขึ้นไป

10) ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มี CD. cell count น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.

แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี

  • หากไม่มีปัจจัยเสี่ยง ให้ยาฟาวิพิราเวียร์
  • หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือ เรมเดซิเวียร์ หรือ โมลนูพิราเวียร์ หรือ เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์
  • หากมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 2 ข้อ ให้ยาเรมเดซิเวียร์ หรือ โมลนูพิราเวียร์ หรือ เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ 

 

4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบที่มี hypoxia (resting O, saturation < 94 % ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการ และได้รับออกซิเจน แนะนำให้ เรมเดซิเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก และควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ดังนั้น แม้ว่าทั้งยาฟาวิพิราเวียร์และยาโมลนูพิราเวียร์ จะใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยจนถึงปานกลาง แต่จากแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับล่าสุด จะเห็นได้ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ จะถูกใช้ในผู้ป่วยกรณีที่ 3 เท่านั้น ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์จะใช้ได้ทั้งผู้ป่วยกรณีที่ 2 และ 3 

ที่มา: กรมการแพทย์
 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์