‘วันอ้วนโลก’ รณรงค์เข้มทุกปี แต่ละวันกลับมีแต่คนอ้วนขึ้น ๆ

‘วันอ้วนโลก’ ก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์ให้สังคมรับรู้ถึงอันตรายจาก ‘โรคอ้วน’ และหยุดการเพิ่มขึ้นของ 'วิกฤตโรคอ้วน' ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพและปัญหาเศรษฐกิจ
วันอ้วนโลก (World Obesity Day) ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี ก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดย World Obesity Federation องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) หรือ WHO
แต่ละปีมีหัวข้อหรือธีมเพื่อรณรงค์เกี่ยวกับ โรคอ้วน แต่กลับเป็นว่าแต่ละปีมีผู้เข้าข่าย “โรคอ้วน” เพิ่มขึ้น
ถ้ามองว่าแต่ละปีมีประชากรโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ อุบัติการณ์โรคอ้วน เพิ่มสูงขึ้นก็น่าจะเป็นเหตุเป็นผลกัน แต่เมื่อเก็บ สถิติโรคอ้วน แม้ใช้วิธีรณรงค์ ให้ข่าวสาร กระตุ้นเตือน ให้คนทั่วโลกตระหนักถึงภัยของ โรคอ้วน ก็ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจนัก
เช่นเมื่อปี 2016 วันอ้วนโลก รณรงค์เรื่อง โรคอ้วนในวัยเด็ก จากตัวเลขสถิติและผลของการสำรวจ พบว่า เด็กอ้วนวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่อ้วนในวันหน้า หลายหน่วยงานในองค์กรด้านสุขภาพในหลายประเทศจึงช่วยกันหาทางยับยั้งไม่ให้เด็กอ้วนเกินไป
ข้อมูลในปี พ.ศ. 2563 จากสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) ผู้คนราว 1 พันล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 7 คน กำลังเผชิญกับปัญหาโรคอ้วน คิดเป็นประชากรทั่วโลกกว่า 988 ล้านคน
สอดคล้องกับรายงาน World Health Statistics 2023 ขององค์การอนามัยโลก ที่คาดการณ์ว่าภายในปี 2578 จะมีประชากรกว่า 1.9 พันล้านคน หรือคิดเป็น 39% มีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี พ.ศ.2566 คนไทยวัยผู้ใหญ่มีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน 48.35%
ตัวเลขความอ้วนในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ก็อ้วนขึ้น ๆ ทุกวันอย่างไม่ลดละ... ส่วนกลุ่มวัยเด็กก็ไม่ควรละเลย เพราะภาวะสุขภาพในวัยเด็กส่งผลต่อภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้เมื่อเป็นผู้ใหญ่
เด็กอ้วนวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่อ้วนในวันหน้า (Cr.fitterfly.com)
นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์) ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และนายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) ให้ข้อมูลตัวอย่างการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Nutrition ในปี พ.ศ.2566 คาดว่า
เด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วนมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่อ้วน โดยเด็กที่มีภาวะอ้วนตั้งแต่ในวัยเรียนนั้น 55% จะพัฒนาไปเป็นวัยรุ่นที่อ้วน และวัยรุ่นที่อ้วนมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนถึง 80% และ มีโอกาสถึง 70% ที่จะเป็นโรคอ้วน ตั้งแต่อายุ 30 ปี เลยทีเดียว
โดยจำนวนเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างมาก องค์การอนามัยโลก แสดงตัวเลขความชุกในเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน อายุระหว่าง 5-19 ปี จากเดิมที่มีเพียง 4% ในปี พ.ศ.2518 เป็น 18% หรือกว่า 340 ล้านคน ในปี พ.ศ.2559
สำหรับประเทศไทย รายงานจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในการติดตามเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็ก เมื่อปี พ.ศ.2566 เปิดเผยว่า ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนอยู่ที่ 8.98% ในเด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี อยู่ที่ 13.68% และในเด็กที่มีอายุ 15-18 ปี อยู่ที่ 13.72%
ทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็รู้ว่า ภาวะโรคอ้วน นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs โรคยอดฮิตที่ต่อให้ไม่อ้วนก็หนีไม่พ้น เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกและข้อ โรคเกี่ยวกับสมอง แล้วถ้าอ้วน น้ำหนักเกิน อัตราเสี่ยงก็ยิ่งสูงขึ้น
วิธีกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักรู้อีกทางหนึ่งคือ ป้องกันตัวเองก่อนจะอ้วน หรือ ภาวะก่อนเป็นโรคอ้วน (Preclinical Obesity) เหมือน ป้องกันก่อนเกิดเบาหวาน (Prediabetes) คือภาวะสุขภาพที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่สูงจนวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ป่วยส่วนมากไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะก่อนเบาหวาน จึงทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น
ความอ้วนสังเกตง่ายกว่าเบาหวาน เห็นชัดทางกายภาพ รู้สึกได้จากสุขภาวะของตัวเอง ตั้งแต่เริ่มน้ำหนักขึ้น ใส่เสื้อผ้าแล้วคับ อยากอาหารมากขึ้น กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม ขี้ง่วง ขี้เกียจออกกำลังกาย ฯลฯ ถ้าเริ่มรู้สึกตัวเช่นนี้ให้คิดเลยว่า กำลังจะอ้วนขึ้นแน่ ๆ
คนเป็นโรคอ้วนมากขึ้นทุกปี คนใกล้จะอ้วนก็ไม่เคยลดน้อยลง แม้ทุกประเทศช่วยกันบอกประชาชนว่า กินให้น้อยหน่อย ออกกำลังกายมากหน่อย แต่ดูเหมือนชาวโลกทุกวันนี้กินดีอยู่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกเยอะ เลยอ้วนกันเยอะ
มีตัวเลขความกินดีอยู่ดีจนล้นเกินมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 ที่สำรวจพบว่า โรคอ้วนในประชากรโลกมีราว 13% เวลาผ่านไปถึงปี 2024 พบว่า ประชากรโลกอ้วนขึ้น 40%
ในอเมริกา สถิติระบุว่าชาวอเมริกันเมื่ออายุเกิน 20 ปี จะเข้าข่ายอ้วนเกือบ 40%
ผู้หญิงอ้วนง่ายกว่า และทำให้เกิดความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม ผลสำรวจพบว่าในอเมริกา ผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมปีละ 3 แสนคน
ลดความอ้วนด้วยอาหาร (Cr.rgtconsultores.mx.png)
จึงต้อง Preclinical Obesity ป้องกันตัวเองก่อนจะอ้วน เอาไว้ก่อน เช่น กินผักผลไม้ 5-6 ส่วนต่อวัน (จาก 10 ส่วน) ตัดอาหารผ่านกระบวนให้มากที่สุด กินโฮลเกรน ออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน (อย่างน้อย) จดแคลอรี่ที่กินและที่เอาออกไป
ป้องกันความอ้วนก่อนจะอ้วนจริงแล้วลดยาก