ถอดวิถี 'ชาวน้ำกุ่ม' พลังชุมชนสร้างคนฟื้นป่า สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน

ถอดวิถี 'ชาวน้ำกุ่ม' พลังชุมชนสร้างคนฟื้นป่า สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน

เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ "ชาวน้ำกุ่ม" ชุมชนบ้านเล็กในป่าใหญ่ที่อยู่ดินแดนภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบนของไทย ที่กล้าลุกขึ้นมาพลิกฟื้นผืนป่า สานต่ออาชีพจากภูมิปัญญา สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้-ลดรายจ่ายระดับครัวเรือน

อบต.น้ำกุ่ม ที่ทุกคนรู้จักคือ ชุมชนมีภูเขาสูง สวยงาม อากาศบริสุทธิ์ คือ "ทุน" อย่างดีของชุมชนที่รอการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต ด้วยสภาพภูมิศาสตร์เป็นชุมชนป่าล้อมบ้าน พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูขัด และอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ

ลองนึกภาพง่ายๆ ว่าบ้านน้ำกุ่มคือ "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ของแท้ เพราะชุมชนห่างไกลความเมือง เพื่อนบ้านมีเพียงเทือกเขา และป่าไม้ปิดโอบล้อมทุกด้าน มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ คนน้ำกุ่มใช้ชีวิตแบบ "ป่าอยู่กับคน คนอยู่กับป่า" ที่ต่างฝ่ายต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกันและกันมายาวนาน

หากแต่ในอดีต น้ำกุ่ม เคยพลาดพลั้งด้วยความไม่เท่าทัน ขาดความเข้าใจหรือการไม่ได้รับการปลูกฝังองค์ความรู้เรื่องการจัดสรรจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ อบต.น้ำกุ่ม เดิมมีสภาพเป็นพื้นที่สัมปทานตัดไม้ ป่าไม้รอบด้านถูกทำลายเป็นภูเขาหัวโล้น ปัญหาที่ตามมาคือการเกิดอุทกภัย ขาดที่ทำกิน คนในชุมชนต้องอพยพไปทำงานต่างถิ่นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีทรัพยากรในการดำรงชีวิต จนเกือบกลายเป็นพื้นที่สูญสิ้นเดียวดายทั้งคนและป่า

ถอดวิถี \'ชาวน้ำกุ่ม\' พลังชุมชนสร้างคนฟื้นป่า สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน

กว่าสิบปีก่อน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มองเห็นศักยภาพชุมชนที่มีแกนนำผู้กล้าชุมชนที่ตั้งใจลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง จึงได้เข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนากลไกการจัดการท้องถิ่น ที่เป็นจุดเปลี่ยนพลิกฟื้นให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าแห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาและน่าอยู่อีกครั้ง

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. เล่าถึงเส้นทางการร่วมแรงรวมใจพลิกฟื้นผืนป่าระหว่างชุมชนว่า สสส. ได้เข้ามาทำงานร่วมกับทาง อบต.น้ำกุ่ม ตั้งแต่ปี 2555 ทั้งด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพทั้งผู้นำ ข้อมูล นวัตกรรม ผ่านทุนทางสังคมและศักยภาพของพื้นที่ และอาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็นศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน (ศจค.) ตำบลสุขภาวะ สานพลังเครือข่าย 6 แห่ง เพื่อร่วมกับเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น โดยมีประเด็นสำคัญในการร่วมกันเพื่อวางแผนและดำเนินการจัดการน้ำ ดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์

"อบต.น้ำกุ่ม ใช้หลักการดำเนินงาน และบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ มุ่งเน้นให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสมดุล ด้วยการจัดการ ดิน น้ำ ป่า ทำแนวป้องกันไฟป่า สร้างฝายชะลอน้ำ ปลูกหญ้าแฝก จัดตั้งศูนย์ร่วมประชุมวางแผนป้องกันหรือแก้ไขปัญหาร่วมกันเฝ้าระวังและเตือนภัยในช่วงที่อยู่ในภาวะเสี่ยง นอกจากนี้ มีการคัดแยกขยะ 539 ครัวเรือน จากทั้งหมด 595 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 90.5" ดร.นิสา กล่าว

สำหรับครัวเรือน บุคคล หมู่บ้าน ชุมชน ได้ทำข้อตกลง มีกลไกการทำงาน ฟื้นคืนผืนนิเวศน้ำกุ่ม ผ่านอาสาสมัครทำฝาย ผนึกกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสรรการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด

ดร.นิสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ น้ำกุ่ม จะเป็นพื้นที่ห่างไกล แต่มีต้นทุนทางสังคมที่ดี อุดมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีความเข้มแข็งในการลุกขึ้นมาร่วมกันจัดการป่า และระบบนิเวศ ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ไม้กวาดดอกหญ้า ประปาหมู่บ้าน เป็นต้น สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน

"ส่วนในด้านสุขภาพนั้น ได้จัดชมรมออกกำลังกาย การป้องกันโรคติดต่อ และยาเสพติดในชุมชน อีกทั้งในอนาคตจะเดินหน้าดูแลระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเชิงรุก ตลอดจนสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้สมดุล ผ่านองค์ความรู้ที่มีในชุมชนท้องถิ่น" ดร.นิสา กล่าว

ไกร พรมสีนอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า ปัจจุบันจากที่ชาวชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันพลิกฟื้นผืนป่า โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในการพัฒนากลไกการจัดการท้องถิ่น ทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่า ตลอดจนสร้างมูลค่าจากผลผลิตการเกษตรมุ่งเน้นผลิตในระดับครัวเรือนเพื่อบริโภค เมื่อเหลือจึงจำหน่าย นำไปสู่การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีการรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยใช้ภูมิปัญญา และทรัพยากรในพื้นที่ ทำให้คนที่ต้องพลัดถิ่นไปทำงานกลับมาทำกินในพื้นที่มากกว่า 90%

ภานุทัศน์ ทนก้อนดี ปราชญ์ชุมชน ในฐานะแกนนำเล่าว่า อบต.น้ำกุ่ม มีทุนธรรมชาติที่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการปลูกฝัง สร้างจิตสำนึก ความเอาใจใส่ดูแลทรัพยากรป่าไม้ หรือแม้กระทั่งการส่งเสริมการปลูกป่าการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ จึงได้อบรมให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้กับเด็ก-เยาวชน ผ่านโครงการเยาวชนดวงใจสีเขียว ตั้งแต่ปี 2561 ผ่านกลไกการหนุนเสริมของสสส. และชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ปัจจุบันมีเยาวชนในพื้นที่เข้าร่วมโครงการกว่า 200 คน ก่อเกิดเป็นกิจกรรมศึกษาเรียนรู้แหล่งอาหารผ่านคนสองวัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้จักต้นไม้ และการใช้ประโยชน์จากป่า ส่งต่อประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราว ให้ความรู้ แนะนำ ชี้แนะการหาอาหาร หาสมุนไพร มาใช้ในชีวิตประจำวัน และความรู้เกี่ยวกับป่าให้กลุ่มเยาวชนได้ตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากป่าในอนาคต

ถอดวิถี \'ชาวน้ำกุ่ม\' พลังชุมชนสร้างคนฟื้นป่า สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน

นอกเหนือจากทรัพยากรธรรมชาติสวยงามอันล้ำค่า อีกคุณค่าของชาวน้ำกุ่มคือ ความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ที่นำมาสู่ความสำเร็จ ล่าสุด สสส. จึงร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ลงพื้นที่ "ศึกษาเรียนรู้แหล่งอาหาร ผ่านคน 2 วัย น้ำกุ่มป่าแห่งความพอเพียง และอาสาสร้างฝาย ฟื้นฟูผืนป่าคืน ความชุ่มชื้นให้ระบบนิเวศ" ขึ้น โดยตั้งเป้าที่จะแลกเปลี่ยนถอดบทเรียนชวนรู้ เพื่อนำไปสู่การเป็นต้นแบบถ่ายทอดความรู้สรรค์สร้างชุมชนน่าอยู่อื่นๆ ต่อไป

สสส. สานพลัง อบต.น้ำกุ่ม จังหวัดพิษณุโลก พลิกฟื้นผืนป่า เกิดอาชีพจากภูมิปัญญา เพิ่มรายได้-ลดรายจ่ายระดับครัวเรือน เดินหน้าสานต่อเยาวชนท้องถิ่นรักษ์ป่า ให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ที่องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

ถอดวิถี \'ชาวน้ำกุ่ม\' พลังชุมชนสร้างคนฟื้นป่า สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน