เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จัดงานเปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ณ มูลนิธิชัยพัฒนา ถนนอรุณอมรินทร์ กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จัดพิมพ์หนังสือ ชีวิตนี้ชะตาลิขิต

ดร.สุเมธ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตในการจัดพิมพ์ ด้วยมีเจตจำนงมอบให้เป็นลิขสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนาและรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล วันที่ 19 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมหนุมาน 1 ชั้น 1 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ถนนอรุณอมรินทร์ กรุงเทพมหานคร

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ชีวิตนี้ชะตาลิขิต

เป็นหนังสือบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ตั้งแต่วัยเยาว์ถึงปัจจุบัน ผ่านประสบการณ์หลากหลายทั้งด้านดีและไม่ดี รวมถึงเหตุการณ์ช่วงประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศ

และการได้รับโอกาสถวายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จวบจนถึงปัจจุบัน

สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตและมุมมองต่อเรื่องราวและเหตุการณ์ ถ่ายทอดความเป็นจริงของชีวิตปุถุชนที่มีทั้งด้านดีและไม่ดี มิใช่จะมีแต่ด้านดีด้านเดียว

จุดเริ่มต้นของการจัดทำหนังสือ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานรุ่น ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ นพย.

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล Cr. Kanok Shokjaratkul

ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำหลักสูตรการอบรมนี้ขึ้น เมื่อปี 2559 เพื่อสร้างผู้นำคลื่นลูกใหม่ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำสังคมไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุลเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนต่อไป

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี เห็นว่าในแต่ละช่วงชีวิตทุกวัยของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล มีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยเฉพาะในช่วงวัยที่ต้องจากประเทศไทยไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเวียดนาม ลาว และฝรั่งเศส

รวมถึงการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล Cr. Kanok Shokjaratkul

กระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจที่ไม่มีใครเคยทราบมาก่อน โดยเฉพาะการทรงงานเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศเพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังต่อไป

โดยกล่าวในบทมุทิตาคารวะมีเนื้อหาส่วนหนึ่งใจความว่า “...เห็นท่านอาจารย์มีบุคลิกอารมณ์ดีเช่นนี้ ใครจะนึกฝันว่าท่านเคยเผชิญกับทางแยกและจุดหักเหของโชคชะตาชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า มีประสบการณ์เฉียดตายนับไม่ถ้วน ด้วยความแข็งแกร่งเพียงพอและการตั้งสติที่ดีพอ จึงทำให้ท่านสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้ในสถานการณ์ที่มืดมนและชะตาแปรผันเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ยังเป็นบันทึกสำคัญ เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ของการพัฒนาประเทศไทย ในยุคที่โลกมีความวุ่นวายและสับสน ว่าประเทศไทยของเราได้ประคับประคองตัวเองให้ผ่านวิกฤตหลายๆ ครั้งมาได้อย่างไร โดยยังสามารถสร้างประโยชน์และความสุขให้แก่สังคมไทยมาจนตราบทุกวันนี้...”

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล Cr. Kanok Shokjaratkul

หนังสือ ชีวิตนี้ชะตาลิขิต แบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 บท ดังนี้

รอบนักษัตรที่ 1 (พุทธศักราช 2482 - 2494) วัยเยาว์รสหวานปนขม : ช่วงชีวิตวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงก่อนวัยเรียน ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยด้วยร่างกายที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงและครอบครัวแตกแยก

รอบนักษัตรที่ 2 (พุทธศักราช 2494 - 2506) เปิดประตููสู่โลกกว้าง : ช่วงชีวิตวัยเรียนที่ต้องเดินทางเพื่อศึกษาต่อในหลายประเทศเนื่องจากเกิดภัยสงคราม

รอบนักษัตรที่ 3 (พุทธศักราช 2506 - 2518) กลับสู่มาตุภูมิ : ช่วงชีวิตของการทำงานในประเทศไทย เริ่มรับราชการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพทั้ง 4 ภาค และจุดเริ่มต้นชีวิตกลางสนามรบ

รอบนักษัตรที่ 4 (พุทธศักราช 2518 - 2530) รอนแรมในสมรภูมิ : ดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานเลขานุการ กปร.) และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจในสภาพัฒน์ ต้องวางแผนรับมือสงครามและปฏิบัติงานในสนามรบถึง 11 ปี และเริ่มต้นการเป็นนักเรียนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึง 35 ปี

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล Cr. Kanok Shokjaratkul

รอบนักษัตรที่ 5 (พุทธศักราช 2530 - 2542) ถวายงานด้านการพัฒนา : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.สุเมธ เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

รอบนักษัตรที่ 6 (พุทธศักราช 2542 - 2554) รางวัลแห่งชีวิต : ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ 

รอบนักษัตรที่ 7 (พุทธศักราช 2554 - 2566) ฝากไว้ให้สานต่อ : ดร.สุเมธ เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานสถานการณ์ต่างๆ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ โรงพยาบาลศิริราชครั้งสุดท้ายรับสั่งว่า "สุเมธ งานยังไม่เสร็จนะ"

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

คำนำ โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา

"84 ปี หรือ 7 รอบนักษัตร เป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรทีเดียว สำหรับชีวิตของคนคนหนึ่งซึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย เมื่อมองย้อนกลับไปดู มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ตื่นเต้นโลดโผนไม่ได้สงบราบเรียบ บางเหตุการณ์ที่นำมาเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้เพื่อหวังใจว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังได้ใช้เป็นบทเรียนลัดที่สรุปชีวิตผมตลอด 84 ปี

ชีวิตผมตั้งแต่แรกเกิดจนวัยนี้ คือการได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ บทเรียนชีวิตมีแต่เพิ่มพูนขึ้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพใด ฐานะใด ประสบการณ์สะสมเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ยิ่งเราดำรงชีวิตโดยครองสติตลอดเวลา ยิ่งเก็บเกี่ยวบทเรียนได้ละเอียดถี่ถ้วนและเป็นประโยชน์มากเท่านั้น

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล Cr. Kanok Shokjaratkul

อีกด้านหนึ่งก็เห็นว่าชีวิตเป็นสนามรบด้วยเช่นกัน คนเราตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดาก็ต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด เผชิญกับการเจ็บไข้ได้ป่วย ต่อสู้เพื่อดำรงสังขาร ต้องแก้ไขปัญหาร้อยแปดพันประการ ไม่ว่าระหว่างรับราชการหรือชีวิตส่วนตัว ต้องต่อสู้กับกามกิเลสต่าง ๆ อย่างไม่ลดละบางครั้งต้องเอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าชีวิตจะพลิกผัน หรือมีเส้นทางเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือเรื่องดวง ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีดวงชะตาของตัวเอง เหมือนดังชื่อหนังสือเล่มนี้ที่ว่า ชีวิตนี้ชะตาลิขิต 

ผมมีชีวิตการศึกษาในวัยเด็กกระท่อนกระแท่น พ่อแม่แยกทางกัน เติบโตมาก็ต้องไปเป็น นักเรียนนอก ที่ไม่ได้สุขสบายเลย ระหกระเหินลำบากยากเข็ญหนีภัยท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเข้ารับราชการอยู่ ๆ ก็ได้ไปวางแผนรับมือสงครามและปฏิบัติงานในสนามรบจริงถึง 11 ปี เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายได้ทุกขณะ สิ่งเหล่านี้เมื่อมองย้อนกลับไปล้วนทำให้เราได้รับประสบการณ์กว้างขวางที่น้อยคนจะมีโอกาสได้รับ แล้ววันหนึ่งก็โชคดีอย่างที่สุดในชีวิตที่ได้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เป็นนักเรียนของพระองค์ท่านยาวนานถึง 35 ปี ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้แสวงหา แต่ชีวิตลิขิตมาอย่างนี้

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

Cr. Kanok Shokjaratkul

ฟรองซัว เดอ ลาโรชฟูโกต์ นักปรัชญาและนักเขียนชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้ว่า Le moi est haissable แปลว่า อัตตาเป็นของน่ารังเกียจ การกล่าวถึงตนเองเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แต่การเล่าเรื่องในหนังสือเล่มนี้ ผมได้ตั้งเจตนารมณ์ไว้ว่า จะเล่าทั้งเรื่องดีและเรื่องร้ายที่ย่างกรายเข้ามาในชีวิตโดยไม่ปิดบังอำพราง ทุกสิ่งที่เคยเผชิญมาเมื่อถึงอายุ 84 ปีล้วนเป็นเพียงฉากหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ชีวิตเราก็เหมือนภาพยนตร์เรื่องหนึ่งดูจบแล้วก็แค่นี้ เหลือค้างแค่ว่าคนดูได้รับบทเรียนอะไรจากหนังเรื่องนี้

ผมอยากให้หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวที่เด็กสมัยนี้จะไม่มีโอกาสได้เรียนจากใครทั้งสิ้น และไม่ได้มีแค่ด้านที่ประสบความสำเร็จเพียงอย่างเดียว จึงสรุปบทเรียนท้ายรอบนักษัตรไว้ในแต่ละบทเพื่อเป็นแนวทาง

เป็นพลังใจ เป็นแรงผลักดัน เป็นประโยชน์ รวมถึงอาจจะเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตของคนที่ได้อ่านต่อไปไม่มากก็น้อย"

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

คำปรารภ โดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี มูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

"ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นผู้ใหญ่ที่ผมให้ความเคารพ ท่านไม่ถือตัว และปฏิบัติตนเรียบง่ายกับทุกคน ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่มีธรรมาภิบาลมีความซื่อสัตย์สุจริต และความตั้งใจมั่นอย่างแรงกล้าที่จะทำงานซึ่งได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งสำคัญมากมายไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

ซึ่งหน่วยงานหลังสุดนี้ท่านเป็นเลขาธิการ คนแรกและคนเดียวมาตลอด 35 ปีจนกระทั่งทุกวันนี้ ไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งใด ดร.สุเมธ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เพราะท่านเป็นคนหัวก้าวหน้า ชอบคิดที่จะทำอะไรที่แตกต่างไปสู่สิ่ง ที่ดีกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านมีความเป็น สุภาพบุรุษ อย่างที่สุด ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเหมาะสมที่สุด ที่จะถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และเจ้านายทุกพระองค์ พร้อมจะนำแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านไปสู่การลงมือทำจริงอย่างเป็นรูปธรรม เข้าใจ และเข้าถึงตลอดชีวิตการทำงาน

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ดร.สุเมธได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันอย่างยิ่งมักจะถูก ยกย่องให้เป็น แบบอย่าง หรือ ต้นแบบ ของการประพฤติปฏิบัติตนสำหรับข้าราชการและบุคคลทั่วไปอยู่เสมอ

ความพิเศษที่เห็นเด่นชัดอีกประการหนึ่งคือ ความสามารถในการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และพยายามไม่ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก มีลีลาการพูด เล่าเรื่องอย่างสนุก เจืออารมณ์ขัน จึงทำให้ท่านกลายเป็นนักพูด นักบรรยาย และนักปาฐกถาที่มีผู้นิยมฟังสูงสุดท่านหนึ่ง

ภาพลักษณ์ของ ดร.สุเมธ เป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่าย ติดดิน ธรรมดา อบอุ่นเป็นกันเอง สนุกสนานกับคนทั่วไป แต่ถ้าเป็นเรื่องงานท่านจะเคร่งครัดจริงจัง แม้จะอายุ 84 แล้วท่านก็ยังทำงานหนักอย่างสม่ำเสมอ และใช้ชีวิตได้อย่างน่าภาคภูมิใจเป็นที่สุด

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล Cr. Kanok Shokjaratkul

หนังสือ ชีวิตนี้ชะตาลิชิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บอกเล่าเรื่องราวตลอด 7 รอบนักษัตรหรือ 84 ปีของท่านที่ตั้งใจถ่ายทอดให้เป็นบทเรียนชีวิตฉบับทางลัด เห็นท่านมีบุคลิกอารมณ์ดีเช่นนี้ ใครจะนึกฝันว่าท่านเคยเผชิญกับทางแยกและจุดหักเหของโชคชะตาชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า มีประสบการณ์เฉียดตายนับไม่ถ้วน ต้องแข็งแกร่งเพียงพอ ต้องตั้งสติให้ดีพอ จึงเอาตัวรอดมาได้ในสถานการณ์มืดมนและชะตาแปรผันเช่นนั้น

เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะจุดเปลวไฟแห่งความหวัง เสริมสร้างกำลังใจ ถักทอแรงบันดาลใจที่งดงามทรงพลังให้แก่ผู้อ่านทุกท่าน และส่งต่อประกายแสงเล็ก ๆ ที่ค่อย ๆ เรืองรองสว่างไสวยิ่งขึ้นสู่ผู้คนในสังคมรอบตัวเราต่อไป"

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล Cr. Kanok Shokjaratkul

การจัดทำหนังสือเล่มนี้ได้รับการสนับสนุนการจัดพิมพ์โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสิริวัฒนภักดี โดยมีบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบเนื้อหารวบรวมข้อมูลวางรูปแบบหนังสือรวมทั้งจัดพิมพ์

หนังสือจะเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 8 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานและทรงซื้อหนังสือ ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เล่มแรกที่วางจำหน่าย ในวันที่ 28 มีนาคม 2567 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ ดร.สุเมธ อย่างหาที่สุดมิได้

และวางจำหน่าย ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ 

ร้านภัทรพัฒน์

- สำนักงานใหญ่ สนามเสือป่า: 0 2282 4425

- สาขาพระราม 8: 0 2447 8585 ต่อ 119

- สาขาโครงการชัยพัฒนาประชาเกษม: 0 2116 5702

- สาขาเดอะพาซิโอ ทาวน์: 0 2111 3164

- สาขาพระราม 9: 0 2643 9024

- สาขาไอคอนสยาม: 0 2282 4425

- สาขา ปตท. ทางด่วนบางนาขาออก: 0 2120 7064

- สาขาบองมาร์เช่: 0 2591 9151

- สาขา ปตท. วิภาวดี 62: 0 2126 0996

ร้านมูลนิธิชัยพัฒนา สาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย: 09 9636 7949

รายได้จากการจำหน่ายหนังสือทั้งหมดสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา ในราคาเล่มละ 999 บาท