เดชรัต สุขกำเนิด : เมื่อโลกเปลี่ยน นโยบายแบบไหน...ตอบโจทย์ชีวิตคนไทย

เดชรัต สุขกำเนิด : เมื่อโลกเปลี่ยน นโยบายแบบไหน...ตอบโจทย์ชีวิตคนไทย

ไม่ว่าจะเป็นสส.หรือไม่เป็น ดร.เดชรัต สุขกำเนิด สิ่งที่ทำมาทั้งชีวิตมีตัวอย่างดีๆ ให้เห็น เมื่อมีโอกาสทำเรื่องนโยบายให้พรรคก้าวไกล สิ่งที่ทำต้องเกิดผลต่อประชาชน

สิบปีที่แล้วหลายคนคงจำเรื่องบ้านประหยัดพลังงาน ต้นคิด ทิพย์ธรรม ของครอบครัวอาจารย์คนนี้ได้ ไม่ว่าเขาจะทำเรื่องอะไร ถ้าลงมือทำได้ เขาจะทำให้เห็น

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร เขาสามารถอธิบายเกือบทุกเรื่องให้เห็นผลดีผลเสีย ไม่ว่าปัญหาเกษตรกร การศึกษาและเศรษฐกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งปัญหาช่องว่างระหว่างวัย 

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center)  1 ใน 7 ขุนพลทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล วิทยากรที่พยายามผลักดันการเรียนรู้นอกห้องเรียน อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

เดชรัต สุขกำเนิด : เมื่อโลกเปลี่ยน นโยบายแบบไหน...ตอบโจทย์ชีวิตคนไทย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center)  1 ใน 7 ขุนพลทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล 

ไม่ว่าใครก็ตาม เมื่ออยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม ก็ต้องลงมือทำ อาจารย์เดชรัตก็เช่นกัน เขาเลือกทำงานออกแบบนโยบาย รอวันที่จะนำแนวคิดเหล่านี้ไปใช้ และบางแนวคิดก็ลงมือทำกับคนในชุมชนไปบ้างแล้ว

ทำไมสนใจเรื่องการวางแผนนโยบายตั้งแต่เป็นอาจารย์? 

ผมจบปริญญาเอกด้านการวางแผนและพัฒนาจาก Aalborg University ประเทศเดนมาร์ก ​ก่อนหน้านี้มีบทบาทในสถาบันการศึกษา บทบาทการเมืองเป็นสส. (สมาชิกของสภาผู้แทนราษฎร)ดูไกลจากตัวผม พอดีสิ่งที่พรรคก้าวไกลมาชวนคุยเหมือนอยู่ตรงกลาง

ผมไม่ได้สนใจอยากเป็นสส. แต่พรรคก้าวไกลอยากมีองค์กรที่เป็นหน่วยนโยบาย ผมทำเรื่่องนโยบายเหมือนเดิม แต่ทำเพื่อตอบโจทย์เรื่องหาเสียงเลือกตั้งและเตรียมพร้อมเพื่อเป็นรัฐบาล ผมจึงเป็นคนร่างนโยบาย

ถ้าทำนโยบายออกมาสวยหรู แต่เวลาปฎิบัติจริงในพื้นที่อาจเกิดปัญหาได้ งานนโยบายและงานในพื้นที่ต้องตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน

เหมือนที่บอกผมสนใจการเมือง แต่ไม่ได้สนใจเป็นสส. ตำแหน่งที่ผมทำมีหน้าที่ทางวิชาการ

อยากมีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ? 

แน่นอน ผมเชื่อว่าสังคมไทยมีศักยภาพมากกว่านี้ กลไกรัฐสภาและรัฐบาลสามารถตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้ ผมทำเรื่องนโยบายเพื่อตอบโจทย์มา 2 ปีแล้ว เนื้อหาที่ทำไม่แตกต่างจากการเป็นอาจารย์ แตกต่างที่กรอบเวลา งานด้านการเมืองแม้จะทำในส่วนวิชาการ แต่มีคำถามในสังคมตลอดเวลา เราต้องพร้อมตอบคำถาม

พัฒนานโยบายเพื่อตอบโจทย์การหาเสียง และเตรียมพร้อมหากพรรคก้าวไกลมีโอกาสเป็นรัฐบาล ? 

ภาระกิจที่เป็นรูปธรรมของผมปี 2566 คือ นโยบายเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง พัฒนาออกมา 300 กว่านโยบาย ประชาชนก็ตอบรับด้วยการลงคะแนนเสียง เกินความคาดหมายของหลายฝ่ายและผม สังคมไทยอยากเห็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การปฎิบัติ นี่คือภาพรวม

เดชรัต สุขกำเนิด : เมื่อโลกเปลี่ยน นโยบายแบบไหน...ตอบโจทย์ชีวิตคนไทย

นโยบายเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมอย่างไร

ไม่อาจตอบได้ หลายไอเดียนำไปสู่การปฎิบัติ เมื่อไม่นานพี่น้องชาวสงขลารวมกลุ่มกันชวนไปร่วมงาน เรื่อง โครงการอาหารกลางวันในพื้นที่ 30 โรงเรียน โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในพื้นที่ 

ถามว่าเกี่ยวกับเราไหม...ไม่ได้เกี่ยว แต่ที่เขาเชิญ เพราะตรงกับแนวคิดเพิ่มงบอาหารกลางวันของนักเรียน 9 บาทต่อหัว  ถ้าจะทำจริงๆ ต้องคิดอีกว่า ใครจะเป็นคนปลูกข้าว ใครจะเป็นคนเลี้ยงปลา ต้องมีงบประมาณบริหารจัดการ

กลุ่มคนสงขลาที่ผมไปทำงานด้วยบอกว่า นโยบายแบบนี้หนึ่งเดือนไม่เห็นผล ต้องหนึ่งเทอม แต่ละพื้นที่มีรูปแบบการบริหารจัดการแตกต่างกัน นำไปสู่การเรียนรู้ และการเปลี่ยนแปลงระยะยาว

ถ้าต้องเปลี่ยนแปลงสังคมในระยะสั้น อาจารย์มีแนวคิดอย่างไร

สามเรื่องหลักที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ

1. การเรียนรู้ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงในโลก ไม่ว่าภูมิอากาศ ดิสรัปชันทางเทคโนโลยี เราต้องการการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความทันสมัย ทันเหตุการณ์ ซึ่งระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์  อาทิ วันพิพิธภัณฑ์ไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้และให้แรงบันดาลใจคนในสังคม  ยังไม่มีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้จริงจัง เพื่อนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้

2. ระบบสวัสดิการ คือ เด็กเกิดน้อยลง คนแต่งงานไม่อยากมีลูก ถ้าไม่รีบพัฒนาระบบสวัสดิการ เพื่อตอบโจทย์คนในสังคม ก็จะทำให้คนวัยทำงานกังวลและไม่มีผลผลิตการงานที่ดีพอ

เราเจอคนจำนวนหนึ่งยอมทิ้งศักยภาพและอนาคต เพื่อแลกกับสวัสดิการ บางคนเลือกเป็นข้าราชการ ทั้งๆ ที่มีความสามารถ มีความฝันในแบบอื่น ผมไม่ได้บอกว่าการเป็นข้าราชการไม่ดีนะ สุดท้ายพวกเขาถูกบีบโดยกลไกสังคม  

แทนที่พวกเขาจะเป็นข้าราชการเพื่อสวัสดิการในชีวิต ผมคิดว่าทุกคนต้องได้สวัสดิการที่ดีพอ เพื่อทำให้เขาประกอบอาชีพอะไรก็ได้ 

แน่นอนว่า แนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ ไม่อาจเปลี่ยนได้แบบเดนมาร์ก สวีเดน ภายใน 4 ปี อย่างน้อยควรวางรากฐานให้กับเด็กเกิดใหม่ ทำให้พ่อแม่สามารถดูแลลูกจนจบการศึกษา และยังมีเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ

3. การกระจายอำนาจ หมายถึง กระจายโอกาสและทรัพยากร ต้องทำให้องค์กรท้องถิ่นตัดสินใจได้ด้วยตัวเองสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

อย่างเรื่องเอลนีโญ องค์กรท้องถิ่นไม่มีโอกาสจัดการน้ำในพื้นที่ตัวเอง แม้จะมีอำนาจหรือทำได้ในบางโอกาส แต่อำนาจต้องมาจากส่วนกลาง และมีความล่าช้า 

อีกเรื่อง เมื่อเราพูดถึงรถไฟฟ้า 20 บาทในกรุงเทพฯ แต่งบการจัดการท้องถิ่นเรื่องขนส่งสาธารณะใน 76 จังหวัดน้อยมาก นี่คือสามเรื่องที่ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว 

เดชรัต สุขกำเนิด : เมื่อโลกเปลี่ยน นโยบายแบบไหน...ตอบโจทย์ชีวิตคนไทย

ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่ทำได้เลยสักเรื่อง ? 

อย่างเรื่องพิพิธภัณฑ์ เราเสนอหลายอย่าง ไม่ต้องใช้งบเยอะ คนสามารถเรียนรู้โดยตรงจากประสบการณ์ของมนุษย์ ผมเห็นจุดถ่ายรูปสตรีทอาร์ตในหลายเมือง 

ถ้าผนวกเรื่องไดอารี่เมือง บ่งบอกความเป็นเมืองและจินตนาการที่คนในเมืองอยากให้เป็น นักท่องเที่ยวก็สามารถเดินชมพิพิธภัณฑ์ของเมืองได้ เรื่องเหล่านี้ทำได้เลย 

หรือกรณีพิพิธภัณฑ์อาหาร คนไม่สามารถชิมได้ ถ้ามีพิพิธภัณฑ์อาหารที่ชิมได้ ไม่ต้องจัดเหมือนกันทุกวัน แต่ละสัปดาห์อาจมีนิทรรศการแตกต่างกัน นำเรื่องยำบ้าง เนื้อบ้าง เพื่อให้คนได้ชิมหรือลองทำ

ในเรื่องพลังงานทางเลือก คนไทยจะมีโอกาสใช้โซล่าเซลล์ด้วยราคาที่เป็นธรรมอย่างไร 

เรื่องพลังงานหมุนเวียน ถ้ามองระยะสั้น ติดแผงโซล่าเซลล์ ค่าไฟฟ้าจะลดลง ถ้าประชาชนไม่มีเงินจะติดโซล่าเซลล์ จะทำยังไง...อาจมีระบบสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้ทุกคนติดโซล่าเซลล์ได้

แทนที่รัฐบาลจะติดโซล่าเซลล์ในหน่วยงาน อาจร่วมทุนกับประชาชน ใช้รายได้จากโซล่าเซลล์ปลดหนี้ให้ประชาชน นี่คือภาพรวม

โยงมาที่ระบบโครงสร้าง ราคาค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากโซล่าเซลล์ควรเท่าไร ที่ได้ยินมาคือ รับซื้อโซล่าเซลล์ในราคาหน่วยละ 2.20 บาท ตอนซื้อมาจากการไฟฟ้าราคา 4.70 บาท

ตอนนี้(ปี2566)อาจ 4.00 บาทก็ยังแพงกว่าหน่วยละ 2.20 บาทที่การไฟฟ้าซื้อ ขณะที่การไฟฟ้าซื้อจากเขื่อนปากแบง(โครงการเขื่อนปากแบง ตั้งอยู่ในอาณาเขตประเทศลาว ผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัทสัญชาติจีน) เซ็นสัญญาหน่วยละ 2.70 บาท

ทำไมไม่ซื้อจากคนที่ติดโซล่าเซลล์ในราคาที่ดึงดูดใจกว่า สาเหตุที่คนยังไม่ติดโซล่าเซลล์ เพราะโครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่เป็นธรรมกับคนที่ติดโซล่าเซลล์

การทำงานกับคนรุ่นใหม่ อาจารย์เจอปัญหาอะไรบ้าง

ผมโชคดีที่เคยทำงานกับลูกชาย ก็เลยคุ้นเคยการทำงานกับคนรุ่นใหม่ มีสามเรื่องที่คนรุ่นใหม่ต่างจากคนรุ่นนี้ 

1. คนรุ่นใหม่ไม่เริ่มต้นที่เคยทำยังไง แต่เริ่มจากโจทย์คืออะไร 

2 คนรุ่นผมจะคิดแล้วคิดอีกว่าดีไหม ก็ไม่ได้ผิดแต่ใช้เวลา แม้จะคิดทุกแง่มุม ก็ไม่ใช่ว่าตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่คนรุ่นใหม่เน้นวิธีการเลือกการทดลอง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

คำขวัญที่ผมชอบมาก ได้จากลูกชาย “ถ้าเรารู้ก่อนว่าไม่สำเร็จ ก็จะเป็นความเสียหายที่ต้นทุนต่ำที่สุด” 

อย่างแคมเปญที่ใช้หาเสียง ผมก็ทดลองโพสต์ในเฟซบุ๊คผม ทำให้รู้ว่าคอนเซ็ปต์บางเรื่องคนชอบหรือไม่ชอบ โยงมาสู่สาธารณะได้ไหม ยกตัวอย่างนโยบายเรื่องหมาแมว ตอนที่คิดกัน ผมก็กลัวจะโดนกล่าวหาว่าเว่อร์ไป ทำได้จริงหรือ 

เมื่อปีที่แล้วเราจัดวงคุยกันที่เชียงใหม่ และออกไปดูงานในพื้นที่จริง พอมาสื่อสารเรื่องหมาแมวถ้วนหน้า กลายเป็นบทความมียอดแชร์มากที่สุด การทดลองแบบนี่้ ทำให้เราเห็นทิศทางได้เร็วขึ้น และตอนนี้นโยบายหมาแมวมีผลสัมฤทธิ์อย่างที่เห็น 

ข้อ 3 ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าจะเกรงใจคนที่อาวุโสกว่า แต่การทำงานกับคนรุ่นใหม่ ถือว่าทุกคนเท่ากัน หัวหน้าโครงการ ไม่ว่ารุ่นไหนตัดสินใจได้เลย ทำให้การทำงานดีขึ้น บางโครงการผมอาจเป็นผู้ช่วยน้องๆ ก็ได้

เดชรัต สุขกำเนิด : เมื่อโลกเปลี่ยน นโยบายแบบไหน...ตอบโจทย์ชีวิตคนไทย

ถ้าทำอย่างนั้นต้องมีแนวคิดที่เปิดกว้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น ?

ถ้าคนส่วนใหญ่ลองเปิดกว้าง นั่นไม่ใช่การเสียสละ มันคือการปลดปล่อยภาระออกไปมากกว่า ผมโชคดีได้ทดลองเปิดกว้าง ปลดปล่อยภาระที่เราแบกไว้จากการเป็นผู้อาวุโส เราก็ทำงานเท่ากัน เหมือนกัน บางงานลูกเป็นหัวหน้าโครงการ บางงานผมเป็น

สิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในสังคม จะตอบโจทย์คนไทยได้อย่างไร

การกระจายอำนาจ กับระบบสวัสดิการ สองเรื่องนี้ต้องเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล เราอยากเห็นระบบสวัสดิการ ยกตัวอย่างงบการดูแลเด็กเล็กควรปรับจาก 600 เป็น 1,200 บาทต่อเดือน ผมคิดว่าทำได้ 

เปลี่ยนจากนโยบายกระจุกทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลางกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถ้ากระจายออกไปคนในประเทศจะได้เห็นตัวอย่างดีๆ อีกเยอะ

อีกเรื่องช่องทางในการเรียนให้จบระดับมัธยม ควรมีหลายช่องทาง ตอนนี้มีไม่กี่ช่องทาง นั่นก็คือ เรียนมัธยมปกติ เรียนโฮมสคูล เรียนกศน.และสอบเทียบต่างประเทศ เมื่อเลือกเส้นทางการเรียนแบบไหน ต้องไปเส้นทางนั้น โอกาสเปลี่ยนระหว่างทาง ยากมาก 

เส้นทางการเรียนรู้ ถึงเวลาต้องเปลี่ยน จะทำยังไงให้ระบบการศึกษายืดหยุ่นตอบโจทย์ มีช่องทางการเรียนที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ปัจจุบันแยกจากกัน

การเรียนในมหาวิทยาลัย ถ้าจะย้ายคณะ คนเรียนสามารถเทียบเครดิตเหมือนในต่างประเทศได้ไหม การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้ออกแบบเรื่องนี้

เดชรัต สุขกำเนิด : เมื่อโลกเปลี่ยน นโยบายแบบไหน...ตอบโจทย์ชีวิตคนไทย

ส่วนระบบสวัสดิการในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ อาจมีการจ้างงานคนในท้องถิ่น ผมไปดูงานที่สมุทรสงคราม มีการจ้างงานคน 20 คน ดูแลผู้สูงอายุ 80 คน คนที่รับประโยชน์คือคนในครอบครัวผู้สูงอายุ 

ปัจจุบันเราพบว่า สัดส่วนแรงงานผู้ชายกับผู้หญิงใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเข้าช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป แรงงานผู้หญิงน้อยลง เพราะต้องออกจากงานมาดูแลพ่อแม่ แล้วใครจะตอบโจทย์เรื่องนี้ 

อาจมีคนบอกว่าสถานบริบาลผู้สูงอายุ คนส่วนใหญ่มีความพร้อมที่จะจ่ายเงินระดับสองหมื่นบาทเพื่อดูแลผู้สูงอายุไหม  ส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อม จึงต้องออกมาดูแลพ่อแม่

โอกาสทางเศรษฐกิจของแรงงานผู้หญิงที่หายไป ถ้าเรามีระบบสวัสดิการที่ดีจะตอบโจทย์เรื่องนี้ และแน่นอนต้องคำนวณรายละเอียดว่าต้องใช้เงินเท่าไร

เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเอลนีโญ ต้องแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ? 

ปีนี้เอลนีโญมา ราคาข้าวดี น้ำแล้ง ไม่พอเพียงทางการเกษตร เรื่องนี้ต้องเตรียมงบให้เกษตรกรเพื่อปลูกพืชอื่นๆ ถ้าจะบอกว่า ให้เกษตรกรหยุดทำนาปรัง

เนื่องจากปริมาณน้ำมีอยู่จำกัด พื้นที่การปลูกข้าวจาก 8 ล้านไร่ให้ลดลง 2 ล้านไร่ ถ้าไม่ต้องการให้เกษตรกรเสียโอกาส ก็ต้องมีเงินชดเชย อาจไร่ละสองพันบาท 

หรือกรณีพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ไม้ผลมีความเปราะบาง ไม่มีน้ำในระบบชลประทานหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่รองรับ

จุดไหนต้องทำเรื่องน้ำบาดาลเสริม รัฐต้องช่วยทำแหล่งน้ำ ต้องคำนวณงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาเร็วที่สุด ถ้ารอส่งแบบแล้วพิจารณารายละเอียดจะล่าช้า

ถ้าให้ผมสุ่มตัวเลขในหลายๆ พื้นที่ ตัวเลขกลางน่าจะสองหมื่นห้าพันบาทต่อหนึ่งพันลูกบาศก์เมตร คือ หนึ่งพันลูกบาศก์เมตรของน้ำที่เก็บเพิ่มได้ เงินสมทบที่รัฐน่าจะลงทุนให้

ยังมีประชาชนขอให้ลงพื้นที่ เพื่อขอแนะนำการทำเกษตรและการประมงอีกไหม

มีเกือบทุกวัน เมื่อไม่นานไปดูปัญหาปลากระพงราคาตกต่ำที่เกาะยอ จ.สงขลา เนื่องจากถูกปลากระพงจากมาเลเซียตีตลาด

ทั้งๆ ที่พี่น้องที่เราไปไม่ได้ใส่เสื้อพรรคก้าวไกล เราก็คุยกันได้ดี มีโอกาสหารือกัน ยังแซวกันหลายเรื่อง