ผู้สืบทอดอาชีพช่างตีเหล็กโบราณหนึ่งเดียว เมืองเพีย จ.ขอนแก่น 

ผู้สืบทอดอาชีพช่างตีเหล็กโบราณหนึ่งเดียว เมืองเพีย จ.ขอนแก่น 

เลือกไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่เอาตัวรอดด้วยอาชีพที่คนยุคนี้ไม่ทำ 'ช่างตีเหล็กโบราณ'จ.ขอนแก่น วัย 22 ปีที่หาจุดเชื่อมระหว่างมูลค่าและคุณค่าได้อย่างลงตัว 

ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่รู้ว่า โลกไม่ได้มีคำตอบเดียว แต่ก็เลือกที่จะเรียนตามแบบคนทั่วไป จบมหาวิทยาลัยแล้วหางานทำ มีงานทำบ้าง ไม่มีบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แต่ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งเลือกเส้นทางที่แตกต่าง มหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่คำตอบ แม้จะล้มลุกคลุกคลานก็ขอไปตามครรลองของตัวเอง

เอิร์ธ ธรรมรัฐ มูลสาร หนุ่มวัย 22 ปี อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เลือกที่จะเป็นช่างตีเหล็กโบราณ ทำมีด จอบ เสียม คราด ชุดช้อนส่อม เครื่องมือประมง ล่าสุดกำลังพัฒนาทำที่เปิดขวด เริ่มแรกเขาเรียนรู้จากตาจำลอง สูนทอง ช่างตีมีดโบราณในหมู่บ้าน ต.เมืองเพีย อ. บ้านไผ่

ผู้สืบทอดอาชีพช่างตีเหล็กโบราณหนึ่งเดียว เมืองเพีย จ.ขอนแก่น 

เรียนรู้เพื่ออยู่รอด

เอิร์ธเติบโตในครอบครัวที่พ่อและแม่(จรูญพิศ มูลสาร ประธานเครือข่ายวิสาหกิจท่องเที่ยววิถีเกษตรแก่งละว้า) เป็นนักพัฒนาชุมชน พื้นที่การเรียนรู้บ้านไฮ่บ้านสวน เมื่อ16 ปีที่แล้วเป็นไร่มันสำปะหลังที่ว่างเปล่าไร้ต้นไม้ ทั้งครอบครัวช่วยกันปลูกต้นกล้าเล็กๆ จนเติบใหญ่ให้ร่มเงา

ปัจจุบัน( ปี2566 )บ้านไฮ่บ้านสวนกลายเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา เป็นศูนย์เรียนรู้วิถีชุมชนอีสาน ท่องเที่ยววิถีเกษตรนิเวศวัฒนธรรม พาข้าวแก่งละว้า ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน และโรงตีมีดโบราณ

เมื่อตัดสินใจไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย คำถามในชีวิตของเอิร์ธ ก็คือ แล้วจะทำอาชีพอะไรเพื่อเลี้ยงตัวเอง

ผู้สืบทอดอาชีพช่างตีเหล็กโบราณหนึ่งเดียว เมืองเพีย จ.ขอนแก่น  เอิร์ธ ผู้สืบสานอาชีพช่างตีเหล็กโบราณ หมู่บ้านเพีย จ.ขอนแก่น

ตามประสาเด็กผู้ชายที่ชอบอาวุธปืน มีดดาบ เขาเลือกที่จะทำอาชีพเป็นช่างตีเหล็กแบบโบราณ ตอนเริ่มเรียนการตีมีด เอิร์ธไม่ได้คิดต่อยอดเรื่องใดๆ แค่อยากมีทักษะติดตัว ด้วยความเชื่อว่า เด็กผู้ชายต้องมีฝีมือการช่าง

"คนที่สอนผมเป็นช่างคนเดียวที่เหลืออยู่ และมีชื่อเสียงเรื่องนี้ "เอิร์ธ เล่า แรกๆที่ลงมือทำ เขายอมรับว่า รูปทรงและน้ำหนักมีดพร้าที่ทำยังไม่ค่อยเข้ามือ เมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็เกิดความชำนาญ 

ส่วน'ตาจำลอง' ช่างตีมีดโบราณคนเดียวที่เป็นต้นแบบให้เอิร์ธเรียนรู้ ยืนอยู่ข้างๆ เขารู้สึกปลื้มปริ่มที่มีคนให้ความสำคัญ

"ถ้าใจรักก็ทำได้ จะว่าง่ายก็ง่าย ยากก็ยาก จะตีเหล็กขึ้นรูปต้องมีภาพในหัว ต้องรู้วิธี หากตอนตีเหล็กไฟไม่ร้อน เหล็กก็จะไม่ยืด เท่าที่ผมสอนเอิร์ธ เขาเป็นเด็กเรียนรู้เร็วและมีความอดทน" 

ผู้สืบสานอาชีพช่างตีเหล็กรุ่นสุดท้าย

แม้เครื่องมือจำพวกมีด จอบ เสียม ฯลฯจะใช้เทคโนโลยีทำออกได้ดีเรียบเนียน แต่งานคราฟท์จากสองมือก็มีเสน่ห์อีกแบบ โดยเฉพาะการตีเหล็กแบบโบราณ เอิร์ธ เล่าว่า คนเฒ่าคนแก่เวลาสอน ก็สอนให้ทำจริงๆ แค่บอกว่าทำแบบไหน เราต้องจับแนวทางให้ถูก 

"เหล็กที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเหล็กแหนบรถยนต์เป็นเส้นๆ เป็นวัตถุดิบนำมาเปลี่ยนรูปด้วยการตีด้วยความร้อนประมาณ 800-1,000 องศาเซลเซียส เตาที่ผมใช้ ก็ไม่ใช่เตาที่ควบคุมอุณหภูมิได้ เผาไหม้ไปเรื่อยๆ บางทีผมก็เผลอ ขึ้นรูปตีเหล็กพังเหมือนกัน 

ผู้สืบทอดอาชีพช่างตีเหล็กโบราณหนึ่งเดียว เมืองเพีย จ.ขอนแก่น 

ในเมืองไทยเข้าใจกันว่า ช่างตีเหล็กก็คือช่างตีมีด เราไปผูกติดว่าต้องเป็นมีด ซึ่งมีผู้ผลิตเยอะ ก็เกิดการแข่งขันกดราคากัน เราก็ลุยส่วนนี้พักหนึ่ง

ผมมองว่าช่างตีเหล็กไม่ใช่แค่ช่างตีมีด ตอนนี้ผมเริ่มมาทำชุดช้อนส่อม มีดเชฟ เครื่องมือประมงบางอย่าง เพราะเรามีเครือข่ายกลุ่มเรือแก่งละว้า" 

ล่าสุดเอิร์ธกำลังพัฒนาทำเป็นที่เปิดขวด ช้อนปาดเนย ถ้าเป็นตลาดออนไลน์ เขาเลือกทำมีด แม้จะไม่มีลูกค้าเยอะ แต่ก็ลองทำไปเรื่อยๆ  

และเมื่อไม่นานพัฒนาด้านจับมีด พลั่ว และคราดเป็นพลาสติกจากขยะเหลือใช้ในบ้าน ร่วมกับกลุ่มลุงรีย์ รีย์ติ้ง

ผู้สืบทอดอาชีพช่างตีเหล็กโบราณหนึ่งเดียว เมืองเพีย จ.ขอนแก่น  พัฒนาพลั่วเป็นด้านจับพลาสติก

มูลค่ากับคุณค่าของช่างตีเหล็ก

เมื่อตั้งใจแล้วว่าจะเป็นช่างตีเหล็ก นอกจากเรียนจากช่างตีมีดหนึ่งเดียวในหมู่บ้าน ยังเลือกค้นหาความรู้จากออนไลน์ในเรื่องโครงสร้างเหล็ก ทักษะการตีเหล็ก นำความรู้มาสร้างเตาตีเหล็กพื้นที่เล็กๆ ในคอกวัว โดยมีลูกค้าหลักคือ คนในชุมชน

ผู้สืบสานอาชีพช่างตีเหล็กรุ่นสุดท้าย สกุลช่างเมืองเพีย ปัจจุบันมีรายได้เลี้ยงตัวเองเดือนละประมาณ 15,000-20,000  บาท และยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนที่ทำด้ามจับไม้ และคนขายถ่านเพื่อนำมาเผาเหล็ก รวมถึงสอนเยาวชนรุ่นใหม่ที่อยากเรียนรู้การตีมีด

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้คนในชุมชนนำมีด จอบ เสียม คราด ที่ชำรุดมาซ่อมแซมเพื่อนำกลับไปใช้ได้ และผู้ซื้อทั่วไปยังสามารถเลือกแบบที่ต้องการ หรือสั่งทำแบบพิเศษได้ (ถ้าทำได้) 

และนี่คือหนึ่งใน ต้นกล้าชุมชนที่มูลนิธิเอสซีจี สนับสนุน เพราะเชื่อว่า การเรียนรู้เพื่ออยู่รอดสำคัญไม่แพ้การเรียนมหาวิทยาลัย

.............

เฟซบุ๊ค : บ้านไฮ่บ้านสวน  Banhi-Bansuan

ผู้สืบทอดอาชีพช่างตีเหล็กโบราณหนึ่งเดียว เมืองเพีย จ.ขอนแก่น  จำลอง สูนทอง ช่างตีมีดที่เหลืออยู่ยืนดูลูกศิษย์ที่ถ่ายทอดวิชาให้