ทำนา น้ำน้อย หน้าแล้ง เปียกสลับแห้ง :‘สุภชัย ปิติวุฒิ ’ชาวนาวันหยุด

ทำนา น้ำน้อย หน้าแล้ง เปียกสลับแห้ง :‘สุภชัย ปิติวุฒิ ’ชาวนาวันหยุด

เอลนีโญมาแล้ว แล้งนี้ แนะให้ทำนาใช้น้ำน้อย "เปียกสลับแห้ง(แกล้งข้าว)" ทำแบบไหน ทำอย่างไร สุภชัย ปิติวุฒิคนต้นคิด ชาวนาวันหยุด มีเรื่องเล่า 

ปรากฎการณ์เอลนีโญจะลากยาวตัั้งแต่ปี 2566 ถึงปีหน้า... ทางการบอกมาว่า ปรากฎการณ์ธรรมชาติครั้้งนี้ เข้าขั้นวิกฤติ "แล้ง ร้อน น้ำน้อย" ให้ทำนาใช้น้ำน้อย งดทำนาปรัง เนื่องจากการทำนารูปแบบนี้ใช้น้ำเยอะ 1 ไร่ใช้น้ำประมาณ 1,200-1,500 ลูกบาศก์เมตร( 1ลบ.ม.เท่ากับ 1,000 ลิตร) โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน 

หนึ่งในวิธีทำนาที่แนะนำ ก็คือ เปียกสลับแห้ง เนื่องจากใช้น้ำน้อย เน้นกล้าอายุสั้น ใช้น้ำคลุมหญ้าหลังปักดำ ไม่เหมาะกับผืนนาดินทราย ฯลฯ

แค่นั้นยังไม่พอ คนต้นคิด บอกว่า ต้องรู้วิธีแกล้งข้าว เพื่อเพิ่มผลิตผล ด้วยการกระตุ้นให้ต้นข้าวเติบโตเร็วๆ ลดระดับน้ำในนา ปล่อยให้แห้งสักระยะ เพื่อดึงศักยภาพต้นข้าวให้ออกราก แตกกอ มีความแข็งแรงตามธรรมชาติ จากนั้นผลผลิตจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย 

กว่า10 ปีที่ สุภชัย ปิติวุฒิ คนต้นคิดเรื่องนี้ ผู้ก่อตั้ง เพจชาวนาวันหยุด และเครือข่ายชาวนาวันหยุด เรียนรู้การทำนา ค้นหาความรู้ ลองผิดลองถูก  สร้างแปลงเกษตรทดลอง โดยวันธรรมดาทำงานประจำ วันหยุดเป็นชาวนา ซึ่งทำแล้วขยายผล กระจายความรู้ ร่วมกับเครือข่ายและหน่วยงานภาครัฐ 

ปัจจุบันสุภชัยเป็นกรรมการบริหารคูโบต้ากำแพงเพชร (ฮั้วเฮงหลี) จ.กำแพงเพชร ยังรักการทำนา มีพื้นที่ทำนาของครอบครัว 12 ไร่ ยังมีเวลาสำหรับการทำนาขาไม่เปื้อนโคลน เปียกสลับแห้ง และแกล้งข้าว

ในวันที่โลกไม่มีวันเหมือนเดิม การทำนาไม่อาจรอฟ้าฝน หรือการช่วยเหลือจากภาครัฐ แม้ชาวนาจะขยันเพียงใด แต่ไม่อาจสู้ภัยแล้งได้ ไม่ว่าการบนบานศาลกล่าว หรือแห่นางแมว

ทำนา น้ำน้อย หน้าแล้ง เปียกสลับแห้ง :‘สุภชัย ปิติวุฒิ ’ชาวนาวันหยุด สุภชัย ปิติวุฒิ คนต้นคิดทำนาเปียกสลับแห้ง ผู้ก่อตั้ง เพจชาวนาวันหยุด

และนี่คือเรื่องคนเล็กๆ ที่ไม่ได้ลงลึกเรื่องการทำนา แต่เป็นเรื่องราวผู้ประกอบการเกษตร ที่เชื่อว่า ชีวิตมีทางเลือกเสมอ ถ้าลงมือทำ 

อยากให้เล่าถึงที่มาของชาวนาวันหยุดสักนิด ?  

ตอนนั้นเรานิยามตัวเองว่า เป็นชาวนาวันหยุด เพราะเกษตรรุ่นลูกตอนนั้นไม่ได้สานต่อกิจกรรมการเพาะปลูกต่อจากพ่อแม่ ทั้งเรื่องรายได้ ความเสี่ยงของสภาพธรรมชาติ  

ตอนนั้นผมศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศและรวบรวมข้อมูล หาเครือข่ายแลกเปลี่ยน ทดลองทำนา และมีแฟนเพจแลกเปลี่ยนข้อมูล ศึกษาดูงาน มีปัญหาแชร์กัน มีเครือข่ายใกล้ๆ ชวนไปดูงาน

10 กว่าปีกับการลองทำนาเปียกสลับแห้ง ต้องจัดการระบบน้ำอย่างไร

ต้องบอกก่อนว่า ต้องเป็นพื้นที่บริหารจัดการน้ำได้ ถ้าเป็นฤดูฝน อย่าไปซีเรียสว่าต้องปล่อยน้ำออกจากนา ปล่อยให้แห้งเองก็ได้

วิธีการทำนาแบบนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงพื้นที่เขตชลประทาน ส่วนภาคอีสานมีสภาพดินปนทราย และมีความเค็ม พื้นที่แบบนั้นไม่แนะนำ

แนวทางนี้ประหยัดน้ำอยู่แล้ว แต่ต้องเข้าใจแหล่งน้ำต้นทุนก่อน ถ้าเกษตรกรพึ่งพิงระบบชลประทาน หากมีนโยบายไม่ส่งน้ำ เพื่อทำนาปรัง 

ถ้าเกษตรกรไม่มีแหล่งน้ำสำรองหรือมีปริมาณน้อย ก็จะมีผลต่อการทำนา การปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เยอะ เกษตรกรต้องรับความเสี่ยง จะเจอทั้งปัญหานก หนู เข้ามากินอาหารในแปลงนา และอีกหลายเรื่อง

ทำนา น้ำน้อย หน้าแล้ง เปียกสลับแห้ง :‘สุภชัย ปิติวุฒิ ’ชาวนาวันหยุด

ตอนนี้เกษตรกรในเครือข่าย ยังนิยมทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ?

ยังทำอยู่ เพราะราคาข้าวเป็นแรงจูงใจในการปลูกข้าว เนื่องจากข้าวราคาสูง แต่ภาวะภัยแล้ง โรคแมลงก็เยอะด้วย

ภาวะแล้งในช่วงเดือนที่ผ่านมา(สิงหาคม 2566) การปลูกพืชที่คุณเห็นเป็นอย่างไรบ้าง

ปกติต้นอ้อยจะสูงท่วมหัวในเดือนสิงหาคม 2566 แต่ตอนนี้ต้นอ้อยสูงแค่เอว เพราะปริมาณน้ำน้อย เนื่องจากต้นไม้ต้องได้รับน้ำฝนที่นำพาไนโตรเจนจากอากาศมาสู่พื้นดิน จะทำให้เติบโตได้ดี  

ส่วนการปลูกมันสำปะหลัง เมื่อฝนทิ้งช่วง ความชื้นในดินไม่เพียงพอ พืชที่ปลูกก็ตาย ตั้งแต่เป็นกล้าไม้ ต้องซ่อมแล้วซ่อมอีก 

ถ้าเอาพันธุ์มันในแปลงมาปลูก การเติบโตหรือความแข็งแรงไม่เหมือนการตัดพ่อพันธุ์แล้วพักตัวมาปลูก จะเติบโตดีกว่า ผมมีโอกาสคลุกคลีกับคนปลูกมันสำปะหลัง เขารู้ว่าปีนี้แล้ง ก็จะเตรียมพันธุ์มันสำรองไว้ ถ้าต้องปลูกซ่อมก็เอาส่วนนี้มาปลูก จะไม่ตัดในแปลงมาปลูก

ในช่วงเอลนีโญ ชาวนาต้องปรับตัวอย่างไร

เลือกพันธุุ์ข้าวอายุสั้น จะได้ผลผลิตต่อไร่สูง พันธุ์ข้าวที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยตอนนี้ เป็นสายพันธุ์เวียดนาม เกษตรกรเรียกว่าข้าวเบอร์ มีทั้งเบอร์ 5, 8 และ20 

ข้าวเบอร์มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นแค่ 100 วัน เพื่อลดความเสี่ยงการขาดน้ำ เนื่องจากใช้น้ำน้อย ซึ่งข้าวเบอร์เข้ามาในเมืองไทย 2 ปีแล้ว

ถ้ารัฐบอกว่า ให้ชาวนาลดทำนาปรัง ปลูกพืชใช้น้ำปริมาณน้อย ทางกรมชลประทานก็จะบอกว่า อย่าเข้าไปส่งเสริมเยอะ เพราะสุดท้ายแล้วปลูกข้าวก็ต้องใช้น้ำ

อย่างการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตราคาดี ใช้น้ำน้อยกว่านาข้าว คนทำงานชลประทานระดับปฎิบัติการก็ยังไม่กล้าส่งเสริม 

ชาวนาก็ตั้งคำถามว่า ทำไมช่วงปริมาณน้ำเยอะ ปล่อยน้ำทิ้ง พอน้ำน้อยให้เกษตรกรงดทำนา แล้วทำไมส่งน้ำไปให้นิคมอุตสาหกรรมได้ พอช่วงน้ำท่วมทำแก้มลิงเก็บน้ำไว้ พอน้ำน้อยบอกว่าไม่ให้ทำนา แล้วจะให้ทำมาหากินอะไร

เกิดคำถามเรื่องความเท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ เพราะเกษตรกรไม่ได้รับการชดเชยในเรื่องรายได้ สวัสดิการ ในช่วงไม่มีรายได้

ทำนา น้ำน้อย หน้าแล้ง เปียกสลับแห้ง :‘สุภชัย ปิติวุฒิ ’ชาวนาวันหยุด

เครือข่ายชาวนาวันหยุดเตรียมรับมือไว้หรือยัง

ผมศึกษาทำนาเปียกสลับแห้ง พยายามบริหารจัดการน้ำ เรามองแหล่งน้ำต้นทุนไว้สองเรื่อง นอกเขตชลประทาน ก็ต้องใช้น้ำฝนและน้ำบาดาล  ถ้าดึงน้ำบาดาลมาใช้ ก็มีปัญหาสนิมในน้ำ เขตที่ผมทำนาบาดาลตื้น ต้องศึกษาปรับปรุงเรื่องคุณภาพน้ำ 

เนื่องจากปัญหาสนิมเหล็กจากน้ำบาดาล ก่อนหน้านี้เราสูบน้ำบาดาลเข้านาโดยตรง สนิมน้ำบาดาลไปบล็อกการดูดซึมของรากข้าว เราก็หาวิธีปรับปรุงน้ำบาดาลก่อนใช้

โรคสนิมเหล็กในนาข้าว ใบข้าวจะมีสีเหลืองน้ำตาลคล้ายสนิม ทำให้ต้นข้าวหยุดการเจริญเติบโต ต้นข้าวไม่ดูดปุ๋ย พบในฤดูปลูกข้าวที่มีอากาศร้อนชื้น การปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล ก่อนนำมาใช้ในนา ผมนำมาผ่านการกรองจากเครื่อง Aerotor ฉบับชาวนาวันหยุด

จากนั้นให้ไหลลงคลอง มีผักบุ้ง ผักตบชวา ดูดซับสนิิม และไหลมารวมกันที่บ่อพักเพื่อนำไปใช้

ราคาข้าวที่สูงขึ้นในช่วงเอลนีโญเป็นเรื่องชั่วคราว ?

ราคาข้าวที่ราคาสูงเป็นราคาชั่วคราว อินเดียและพม่างดส่งออกข้าว เวียดนามเจอภัยแล้ง จีนเจอน้ำท่วม สถานการณ์ชั่วคราวแบบนี้ ต้องตั้งคำถามว่า ถ้าข้าวกลับมาราคาตันละ 9,000 บาท ต้นทุนและผลผลิตต่อไร่เท่าไร 

ประเทศเรามีข้อดีอย่างหนึ่งมีพันธุ์ข้าวใหม่ๆเยอะ แต่หน่วยงานราชการเหมารวมว่า ผลผลิตเฉลี่ยรวมของข้าวไทยอยู่ที่ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าเป็นทางอีสานก็ใช่อยู่ เพราะพื้นที่ปลูกข้าวในเมืองไทย 60 ล้านไร่อยู่ในอีสาน 30 ล้านไร่ ปกติเกษตรกรสามารถทำผลผลิตได้ 1,200-1,500 กิโลกรัมต่อไร่

เมื่อไม่นานไปดูงานการเกษตรที่เวียดนาม เป็นอย่างไรบ้าง

 เมื่อ 10 ปีที่แล้วเวียดนามมีนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าว ปรับปรุงวิธีการเพาะปลูก ส่งเสริมให้เอกชนปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่ๆ เพื่อชดเชยพื้นที่ปลูกข้าวที่ลดลง

และได้ผลผลิตต่อไร่จำนวนมากขึ้น ปีนี้เวียดนามเจอกับปัญหาภัยแล้งเหมือนกัน เพราะจีนสร้างเขื่อนเยอะ น้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่ ทำให้มีพื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูกน้อยลง

จากทดลองปลูกเปียกสลับแห้งในผืนนาของตัวเอง คุณพัฒนาอะไรบ้าง?

ทำนาแบบนี้ที่อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ทำนานกว่า 7  ปี ปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง และปรับปรุงสภาพน้ำบาดาล แต่ละฤดูกาลจะมีโรคแมลง มันก็ปรับตัวอยู่เสมอ 

ปีนี้ปริมาณน้ำน้อย ต้นทุนในการใช้น้ำก็สูง เราวางแผนใช้โซล่าเซลล์ไว้เลย  ผลผลิตข้าวประมาณ 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกแต่ละรอบไม่เหมือนกัน ผมจะดูก่อนว่า แต่ละรอบชาวนาปลูกข้าวแบบไหน ผมจะนำพวกเขาก้าวหนึ่ง 

ถ้าพวกเขาปลูกข้าว ขายให้โรงสี ผมก็ปลูกข้าวพันธุ์ และผมร่วมมือกับมูลนิธิรวมใจพัฒนา ก่อตั้งโดยโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อยกคุณภาพชีวิตชาวนา คนก่อตั้งเอาเงินส่วนตัวมาตั้งมูลนิธิ จ้างนักวิจัย นักวิชาการ ช่วยกันปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง 

ทำนา น้ำน้อย หน้าแล้ง เปียกสลับแห้ง :‘สุภชัย ปิติวุฒิ ’ชาวนาวันหยุด

ย้อนไปตอนทำเครือข่ายชาวนาวันหยุด คุณอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ผมไม่ได้คาดหวังการเปลี่ยนแปลงจากคนอื่น แต่ผมมีแพสชันของตัวเอง เน้นการลงมือทำ  ถ้าเป็นเกษตรภาคอีสาน ผมมองเรื่องโครงสร้างพื้นที่ที่ภาครัฐต้องช่วยสนับสนุนระบบชลประทาน ถ้าจะทำต้องเน้นความมั่นคงระยะยาว ไม่ใช่เรื่องวิธีการ เพราะชาวนาอีสานลองผิดลองถูกมาเยอะ 

แต่สุดท้ายคนขยันแพ้ความแห้งแล้ง ในภาคกลางก็ไม่ต่างกัน ต้องมีระบบชลประทาน อีกอย่างผมมองว่า ต้องมีกฎหมายรักษาพื้นที่ชลประทาน รัฐต้องใช้เงินในอนาคต ลงทุนในระบบชลประทาน 

เมื่อก่อนผมคิดว่า ถ้าชาวนาปลูกข้าวขายเอง น่าจะมีรายได้มากขึ้น ก็ลองทำตั้งแต่ต้นจนจบ แต่สุดท้ายปัญหาคือ เราตั้งราคาข้าวสูงๆ ได้ไหม กิโลกรัมละหนึ่งร้อยบาท ขายได้ไหม...ก็ขายได้ แต่ช้า

และผมอยากปลูกฝังแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการเกษตร ถ้ามีแบบฟอร์มว่าประกอบอาชีพอะไร อย่ากรอกว่า เป็นชาวนา ให้เขียนว่าเป็นผู้ประกอบการเกษตร เพราะการทำนาเป็นธุรกิจ ต้องคำนวณตั้งแต่ต้นทุน รายได้ และกำไร 

ไม่ว่าชาวนาจะขยันแค่ไหน ก็ยังแพ้ความแห้งแล้ง ? 

ต้องแก้ปัญหาที่ระบบโครงสร้างชลประทาน กำหนดโซนนิ่งเพื่อส่งน้ำแต่ละพื้นที่ควรได้รับเท่าไร แต่บ้านเราไม่มีกฎหมายรักษาพื้นที่ชลประทาน เพราะพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกที่มีแหล่งน้ำชลประทานส่งตามคลอง

สุดท้ายถูกเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ ใช้น้ำเพื่อทำบ้านจัดสรร ทำโกดัง โรงงาน กลายเป็นว่าพื้นที่ในเขตชลประทานราคาที่ดินแพง ทำให้เกษตรกรนำพื้นที่ไปจำนอง เปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดิน และพื้นที่ไม่เหมาะสมถูกนำมาทำการเกษตร ทำให้เกิดต้นทุนต่อไร่สูงขึ้น

เกษตรกรยังมีความหวังกับอะไรบ้าง

ถ้าวันนี้รัฐยอมลงทุนให้ชัดเจนกับเกษตรกร และคาดหวังว่าเกษตรจะตั้งตัวได้ ถ้าจะเก็บภาษีชาวนาในอนาคตก็แฟร์ๆ แต่ไม่ควรเป็นนโยบายหาเสียงในเรื่องการประกันราคาข้าว

ทำนา น้ำน้อย หน้าแล้ง เปียกสลับแห้ง :‘สุภชัย ปิติวุฒิ ’ชาวนาวันหยุด