‘เตยยี่’ศิลปินฮีลใจ ผ่านถ้อยคำโอบกอดความทุกข์

‘เตยยี่’ศิลปินฮีลใจ  ผ่านถ้อยคำโอบกอดความทุกข์

ศิลปะฮีลใจ...เมื่อไหร่ที่ความทุกข์เข้ามา ยืนมองอย่างมั่นคง ยังไม่ต้องรับก็ได้ ปล่อยให้มันกระแทกแล้วกอดมันไว้

ศิลปะไม่ทำให้เราอดตาย สร้างความมั่นใจให้ เตยยี่-ประภัสสร กาญจนสูตร ก้าวข้ามความเจ็บปวด จนกลายมาเป็นศิลปินที่ให้กำลังใจผู้คนผ่านถ้อยคำ เธอเชื่อว่า ภาษาไทยจะสามารถกลายเป็น ศิลปะ ที่เข้าถึงอารมณ์ผู้คนได้

คำว่า อย่าทอดทิ้งความฝันของตัวเอง, อย่าหยุดเดิน เพราะคำพูดของคนอื่น, เราต่างมีคุณค่าในแบบของตัวเอง, อย่าลืมโอบกอด ความฝัน และเป็นมิตรกับ ความจริง , ชีวิตน่ารัก ตรงที่ได้ลอง...สนุกกับความผิดหวัง และสมหวังสลับกันไป

ตัวอย่างของถ้อยคำที่เขียน และจัดแสดงในนิทรรศการ Life is… Exhibition ที่ เดอะ ปาร์ค แฟนคลับนักศึกษา รวมไปถึงคุณแม่ลูกวัยรุ่นเข้าแถวรอพบ เพื่อขอกำลังใจจาก เตยยี่

อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของความชื่นชอบงานด้านศิลปะ

จริงๆ ต้องบอกก่อนว่า เป็นคนที่ไม่ชอบวิชาการเลย เรียนวิชาการไปตามสังคม รู้ตัวว่าเกิดมาแล้วรักศิลปะก็ตั้งแต่ตอนเด็กๆ เรียนหนังสือไม่เก่ง ชีวิตทำได้ไม่กี่อย่าง คือ กีฬากับศิลปะ ทุกเสาร์-อาทิตย์ คุณพ่อ(พลเอกศรชัย กาญจนสูตร) คุณแม่ (ญุกาดา กาญจนสูตร) ชอบพาไปปั้นดินเหนียว ขับรถไปต่างจังหวัด เพ้นท์รูป หรือ Walk Rally ไปออกกำลังกาย ไปทำอะไรที่เป็นกิจกรรมทั้งหมด

และเราก็รู้สึกว่า ชอบ 'ศิลปะ' จังเลย ทำไมเรามีความสุข ทุกครั้งที่ได้ทำงานเกี่ยวกับศิลปะ จนเข้ามหาวิทยาลัยก็ตัดสินใจเข้าเรียนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนทุกอย่างเกี่ยวกับการผลิตละครเวที

ผลงานตอนเรียนเกี่ยวกับละครที่มหาวิทยาลัย มีอะไรน่าประทับใจบ้าง

จริงๆ แล้วต้องขอบคุณคณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ทำให้เราเชื่อว่า ศิลปะไม่ทำให้เราอดตาย มีวิชาหนึ่งที่เรียนแล้ว ทำให้ ศิลปะ ของเรามีคุณค่าและหากินได้ และเขาก็บอกว่า ทำอะไรก็ได้ที่เป็นสิ่งที่เราชอบ พอจบมาเราเอาคำว่า เอ็ดดูเคชั่นแนลเธียเตอร์ เข้ามาเป็นการสื่อสาร เป็น Pain Point ของเรา ซึ่งตอนนั้นเราคิดว่าทำไมประเทศนี้ ไม่มีพื้นที่ให้เด็กที่เกิดมาแล้วหลงใหลในศิลปะ

ทำไมเด็กที่หลงใหลในศิลปะ ถึงไม่มีที่ยืน อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัว ทำไมเราเดินเข้าไปเรียน ต้องเสียเวลา 10 กว่าปีกับสิ่งที่เรารู้สึกไม่ชอบ พอถึงจุดหนึ่งก็เข้าใจว่ามันเป็นความรู้พื้นฐาน อย่างน้อยโลกมีกฎบางอย่าง เราเป็นมนุษย์ต้องทำตามนั้น ก็เลยเอาเพลนพ้อยท์(Pain Point )มาพัฒนาทำเป็นโรงเรียน ชื่อว่า Rhythm Of Arts Creative Space เป็นโรงเรียนที่ทำให้เด็กๆเข้ามาค้นหาตัวเอง ชอบศิลปะด้านไหน แฟชั่น สถาปัตยกรรม การแสดง เป็นผู้กำกับ

‘เตยยี่’ศิลปินฮีลใจ  ผ่านถ้อยคำโอบกอดความทุกข์

ภาพโดย : วันชัย ไกรศรขจิต

ลองมาเรียนก่อนก็จะรู้ว่า เราชอบ ตัวตนเราคือแบบนี้ แล้วค่อยไปเรียนในมหาวิทยาลัย จริงๆ งาน ศิลปะ ของ เตยยี่ จิตวิญญาณ (Soul)ของเตย คืองานศิลปะ อยู่ที่ว่าวันนี้เราจะเลือกพรีเซนต์จิตวิญญาณ ออกมาเป็นอย่างไร

ณ ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต เราเลือกพรีเซนต์ตัวเองผ่านการเป็นเจ้าของโรงเรียน เราสร้างโรงเรียนขึ้นมาให้เด็กๆ เดินเข้าไป แล้วได้เป็นมนุษย์ในแบบที่เขาอยากเป็น ขั้นต่อมาเราสร้างและขยายจิตวิญญาณเป็นผู้กำกับละครเวที เป็น immersive Art คืองานศิลปะที่ทำให้ผู้ชมได้รู้สึกเหมือนตนเองเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ ได้มีส่วนร่วมและปฎิสัมพันธ์กับผลงาน

‘เตยยี่’ศิลปินฮีลใจ  ผ่านถ้อยคำโอบกอดความทุกข์ ตอนนั้นลายเซ็นต์ทางงานศิลปะของเราเริ่มชัดเจนแล้ว ในแนวเรื่องของจิตวิญญาณ (Soul) การรักตัวเอง เราได้ไปสอนเด็กๆ ในห้องเรียน คนที่เสพงานศิลปะของเราจริงๆ คือต้องมาเจอตัว อะไรคือการสื่อสารที่ง่ายที่สุด ตอนนั้นยังไม่สะดวกทำคลิป ก็เลยเขียนเป็นไดอารี่ส่วนตัวเป็นจุดเริ่มต้นที่ ‘เตยยี่’ สื่อสารจิตวิญญาณของเราผ่านตัวอักษ

เตยยี่จบจากธรรมศาสตร์มากี่ปีแล้ว

10 กว่าปี ตอนนี้อายุ 34 ปี เรียนจบมาก็ทำงานด้านโปรดิวเซอร์ แชนแนลวี ไทยแลนด์อยู่ 5 เดือน พูดตรงๆ เลยว่าเงินเดือนไม่พอใช้ ฝันแรกของเราตอนเรียนจบคือ อยากเป็นโปรดิวเซอร์ พอจบปุ๊บ เราได้ทำสายนี้เลย เขาจะมีโปรดิวเซอร์ใหญ่อยู่แล้ว เราก็ได้เข้าไปเป็น Assistant Producer ก็รู้สึกว่าได้เป็นแล้ว ตื่นตาตื่นใจ และตกใจ

ตอนนั้นคนก็ถามว่า ทำไมถึงได้เป็นโปรดิวเซอร์ เตยว่าตำแหน่งนี้ มันเป็นชื่อเรียกเฉยๆ แต่หลักๆก็คือ ส่วนหนึ่งของการทำงานแค่นั้น หน้าที่ตอนนั้นของเราก็คือ เขียนสคริป รอแขกรับเชิญมาถ่ายงาน เลือกแขกรับเชิญ ก็สนุกดี แต่เตยมีความรู้สึกว่า เตยอยากเป็นคนชี้ชะตาตัวเอง และอยากเป็นผู้กำกับ

กำกับการแสดงครั้งแรกเป็นยังไงบ้าง

แทบตาย เตยทำละครมาเยอะมาก เรื่องใหญ่สุดในชีวิตจัดที่โรงละครแบงค์สยามพิฆเนศ คนดูเต็มฮอลล์ ทำให้รพ.ศิริราช คอนเซปต์ของเรื่องคือ เพราะความตายสวยงาม ราวกับว่ามีชีวิตอยู่ เล่าเรื่องเป็นคอนเสิร์ตเธียเตอร์ เชิญนักร้องมาพูดถึงผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ เรื่องที่ประทับใจที่สุดก็คือ Me Myself & I อันนี้ทำเอง แทบไม่ได้ประชาสัมพันธ์ ได้รับความสนใจมาก จัดแล้วต้องจัดเพิ่ม คือเราเปลี่ยนตึกหนึ่งให้เป็นไปรษณีย์ เราสร้างตัวละครขึ้นมา คนดูเดินเข้ามามีหน้าที่ส่งจดหมายถึงตัวเอง

‘เตยยี่’ศิลปินฮีลใจ  ผ่านถ้อยคำโอบกอดความทุกข์ ณ วันนั้น ‘เตยยี่’ ยังเป็นคนที่เคารพความสุขมาก เราเป็นคนดื่มด่ำความสุข และไม่เข้าใจความทุกข์เลย ไม่เข้าใจคนที่ทุกข์ ทำไมต้องทุกข์ เกิดมาทุกข์ทำไม สมมติเตยเจอเรื่องหนึ่งที่เลวร้ายมากที่สุดในชีวิต เตยไม่เคยรู้สึกว่ามันเลวร้าย จนมาสะดุดเรื่องความรัก อันนี้ขอหยุดไว้ก่อน ....

มาพูดถึง Me Myself & I เราแบ่งเป็น 5 ห้อง แต่ละห้อง เช่น ความภูมิใจ การให้อภัย แรงบันดาลใจ (Inspiration) และกลับมาเคารพ (Respect) คำว่าเวลา ก็คือ ความสุข ในปัจจุบัน(Happiness is Now) เป็นนิทรรศการ( Exhibition ) แรกที่รู้สึกว่าเราเป็นผู้กำกับ แล้วประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องที่ภูมิใจ ถ้าถามว่าชอบเส้นทางการเป็นผู้กำกับไหม ตอบว่าไม่ค่อยชอบ เพราะกดดัน

พื้นที่เล็กๆ ในความฝันของ‘เตยยี่’อยู่ตรงไหนคะ

พื้นที่เล็กๆในความฝันของเตยในตอนนี้ ขอแค่ในแต่ละวันดีพอในวันนั้น เตยไม่เอาวันอื่น  วันอื่นสำหรับเตยเป็นเรื่องที่ขอมากไปหน่อย เพราะว่าเราเคยเรียกร้องให้ตัวเองตะเกียกตะกายตามหาอนาคต แต่จริงๆ สุดท้ายแล้วลืมนึกว่าอนาคตคือปัจจุบัน อย่างวันนี้ขอแค่ตื่นเช้ามา ได้ดื่มกาแฟอร่อยๆ ไปหาแม่ กินข้าวฝีมือแม่ 1 มื้อ ไปเจอเพื่อนรัก มาทำงาน เหนื่อยก็กลับบ้าน ทำวันนี้ให้สมบูรณ์

พรุ่งนี้ก็วางแผนไว้บ้าง ไม่ Dead Inside เราสามารถตายในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ คือ อาการของความว่างเปล่า ความว่างเปล่าไม่ใช่ไม่ดีนะ มันเป็นความว่างเปล่าที่วันนี้ใช้ชีวิตโดยที่ลืมไปแล้วว่า เราคาดการณ์ (Suppose)ที่จะเจอความสุขได้

‘เตยยี่’ศิลปินฮีลใจ  ผ่านถ้อยคำโอบกอดความทุกข์ แนวคิดแบบนี้ได้มายังไง

จริงๆ ได้มาจากความเจ็บปวด วินาทีที่รู้ว่าความเจ็บปวด มันอยู่ข้างหน้าแล้วมีสองทางคือ จะวิ่งหนี หรือทำความเข้าใจกับมัน เตยภูมิใจมากที่วันนั้นเลือกที่จะทำความเข้าใจ ถ้าเลือกที่จะวิ่งหนี อาจจะไม่เป็นแบบวันนี้ อาจจะไปนั่งดื่มเหล้าริมแม่น้ำเทมส์ ใช้ชีวิตไปวันๆ ทิ้งตัวอยู่ลอนดอน ถ้าเป็นแบบนั้นก็โอเคเป็นชีวิตที่เราเลือกแล้ว

แต่พอได้เผชิญหน้า ทำให้เราเห็นคุณค่าของความทุกข์ คือการเข้าใจรสชาติ ขมแค่ไหนก็จะดื่มมัน บางทีมันขม จนกลืนไม่ลง แต่เราก็ต้องกลืนให้ลง เตยทำอย่างนั้นเสมอ สำหรับเตยคิดว่า เตยดิวกับมันได้อย่างศิโรราบ นอบน้อมต่อทุกก้าวที่ความทุกข์เข้ามา

แสดงว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่เมืองนอก ?

ไม่ใช่ค่ะ เกิดขึ้นที่เมืองไทยแล้วหนีไปเมืองนอก เจอเหตุการณ์นั้น แล้วรู้สึกว่าอยู่ไม่ไหว เดินก็ร้องไห้ กินก็ร้องไห้ ทำไงดี ขอพ่อกับแม่ว่าไปอังกฤษนะ แต่ไปไม่นาน อยู่ไปวันๆ ก่อน ต่อมาก็ค่อยๆ เขียนเป็นไดอารี่ แล้วค่อยๆโพสต์ จริงๆ ชีวิตเตยไม่เคยเจอความทุกข์ ต่อให้หนัก เราไม่รู้สึกหนัก เพราะคุณแม่เคยบอกว่า ผิดหวังก็แค่แก้ไข อย่างสอบตก คุณแม่ก็จะขำ บอกว่าไม่เป็นไรตกก็ซ่อม ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ซัพพอร์ตทุกความรู้สึก

‘เตยยี่’ศิลปินฮีลใจ  ผ่านถ้อยคำโอบกอดความทุกข์ เขียนคำคมให้กำลังใจวัยรุ่นขนาดนี้ได้ แสดงว่าเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อยากถามว่าชอบอ่านหนังสืออะไร ?

เอาจริงๆ นะ เตยไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่เตยชอบอ่านใจตัวเองมากกว่า ที่บอกว่าเฉลี่ยแล้วคนไทยอ่านหนังสือ 7 บรรทัดต่อปี เราคือหนึ่งในนั้น (หัวเราะ) เราชอบสำรวจ (Explore) ความรู้สึกมากกว่า เรายังเป็นนักเขียนที่เขียนคำผิดอยู่ จนเราเริ่มมีคนมาช่วยตรวจ ถ้าเป็นหนังสือที่ชอบอ่านน่าจะเป็นแนวจิตวิญญาณ การเดินทาง และธรรมะมากกว่า เช่นคนๆ นี้เขาเดินทางไปที่นี่ แล้วเขาสะท้อนความรู้สึกออกมายังไง

นิทรรศการ Life is…Exhibition เป็นการจัดครั้งที่เท่าไร

จัดมาตลอด จำไม่ได้ว่าเป็นครั้งที่เท่าไหร่ แต่งานครั้งนี้เกิดจากทางเดอะ ปาร์ค (The PARQ) ชวนมา บอกว่า มีพื้นที่อยากชวนเรามาจัดงาน ทีแรกเราก็ไม่รู้คอนเซปต์งานเป็นยังไง ก็เลยบอกว่าปกติ ‘เตยยี่’จะแนวใช้จิตวิญญาณ ถวายความเจ็บปวด ถวายความรัก ส่วนมากเป็นเส้นทางที่เคารพความทุกข์ ในเวอร์ชั่นของความรัก

สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยทำเลย ก็คือ ความฝัน เป็นอะไรที่เราเชื่อมาตลอด อย่างวันนี้เราเป็นนักเขียน ในอนาคตเตยมีความฝันแล้วว่า เตยอยากทำอะไรต่อ เตยคิดว่าชีวิตมนุษย์ มีคุณค่าเมื่อเราใฝ่ฝัน พอเราได้โหยหา เราจะมีแรง งานครั้งนี้ก็เลยออกมาเป็น Life is…and Dream เพราะมนุษย์ทุกคน ควรค่าแก่ความฝัน

‘เตยยี่’ศิลปินฮีลใจ  ผ่านถ้อยคำโอบกอดความทุกข์

การมีความฝัน ดีอย่างไร ช่วยขยายความให้ฟังสักนิด ?

สำหรับเตย ความฝันน่ารักไม่จุกหัวใจเท่า ความจริง เตยเป็นคนเคารพความจริงมากๆ แต่บางความจริง มันเจ็บจนทนไม่ไหว ความฝันมีหน้าที่ทำให้มนุษย์สนุกกับทุกก้าวที่เขาเลือกเดิน บางคนบอกว่า ยังไปไม่ถึงความฝันสักที ร้องไห้ให้กับความฝัน ไม่(No)...ยูไม่ได้ร้องไห้ให้กับความฝันนะ ยูร้องไห้ให้กับความจริง เพราะความฝันน่ารักมาก ขณะที่เรายังไปไม่ถึง ก็เอ็นจอยระหว่างทางได้ เตยพยายามบอกทุกคนว่า ระหว่างทาง มันมีค่าพอๆกับจุดหมาย

สมมุติวันนี้ ยูเป็นนักกีฬา รอแค่วันแข่ง รอเหรียญ วินาทีของความสุขคือการได้คล้องเหรียญ แต่ความจริงแล้ว วินาทีความสุข ก็คือ การได้ฝึกซ้อมในแต่ละวัน ทำให้ร่างกายแข็งแรง กลับบ้านอาบน้ำ รู้สึกภูมิใจในตัวเอง เตยว่าความสุขของความฝันคือ‘ระหว่างทาง’ เตยอยากจะสื่อสารว่าความฝันทำให้เรามีแรง อยากที่จะมีกิน มีใช้ มันคือพลังที่เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธมัน ท้อได้ แต่อย่ายอมแพ้

‘เตยยี่’ศิลปินฮีลใจ  ผ่านถ้อยคำโอบกอดความทุกข์ การจัดนิทรรศการครั้งนี้ มีน้องๆแฟนคลับมาขอกำลังใจจากพี่ ‘เตยยี่’ เยอะมาก ส่วนใหญ่มาปรึกษาเรื่องอะไร?

ก่อนอื่นต้องบอกว่าลายเซ็นต์เตยยี่ จะเสนอคำหนึ่งก็คือ ‘ขอให้เธอได้เจอคนที่ปลอดภัยในหัวใจ’ จะเป็นคำที่อยู่ในทุกเทศกาล คำนี้เตยรู้สึกว่า เราเคยเผชิญชีวิต ณ วินาทีที่เราไม่มีแม้กระทั่งความปลอดภัยข้างใน เดินแล้วใจมันสั่น กลัว วิตกกังวล สุดท้ายแล้ว ‘เตยยี่’ คือ 'เพื่อนทางความรู้สึก' เวลาคนมาหามาเจอ เขาก็อยากจะเล่าอะไรบางอย่าง

ส่วนมากเราจะนั่งฟังโดยไม่ตัดสิน บางคนมานั่งข้างเตย แล้วบอกว่า พี่...หนูเป็นมือที่สาม เราก็แค่พูดว่า...เป็นยังไง ไหนลองเล่ามาซิ เราจะไม่ตัดสินผิดถูก เพราะเรื่องหัวใจ ห้ามมันยากนะ ส่วนใหญ่จะมาในเรื่องความรัก ชีวิต ความฝัน ความทุกข์ ครอบครัว พ่อแม่ บางทีคุณแม่ก็ร้องไห้เรื่องลูก ผู้ใหญ่ 50 กว่าๆ ก็มาหาที่งานนิทรรศการบอกว่า พี่เพิ่งหย่ากับสามี ทำยังไงดี ระหว่างฟังเราก็คิดว่าจะหาคำไหนมาปลอบใจเขาอย่างไร

‘เตยยี่’ศิลปินฮีลใจ  ผ่านถ้อยคำโอบกอดความทุกข์ ความฝันต่อจากนี้ของเตยยี่เองคือเรื่องอะไร

อยากพานิทรรศการ (Exhibition) ไปต่างประเทศ ทำให้คำภาษาไทยเป็นงานศิลปะ เขียนแบบไทยนี่แหละ แต่อาจจะมีคำแปล อยากไปเกาหลีกับอังกฤษก่อน คิดว่าที่เกาหลีคนอาจจะเข้าใจงานของเรา ส่วนอังกฤษเป็นบ้านหลังที่สอง เตยชอบอังกฤษมาก ทุกครั้งที่ใจไม่ไหว มักที่จะบินไปอยู่อังกฤษ เพราะเป็นสถานที่ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนเก่ง แค่สั่ง One Cappuccino Please ก็รู้สึกเก่งแล้ว (หัวเราะ)

ไปนั่งโง่ๆ ดูฟ้า นอนกลิ้งบนพื้นหญ้า ยิ้มให้กับคนที่ไม่รู้จัก นั่งกินข้าวคนเดียวแบบไม่รู้สึกอาย ชอบมาก รู้สึกเก่งในประเทศนั้นๆ บางครั้งเราก็อยากอยู่ในโลกที่ไม่มีใครรู้จักเรา แต่เรารู้จักตัวเองในเวอร์ชั่นอื่น

‘เตยยี่’ศิลปินฮีลใจ  ผ่านถ้อยคำโอบกอดความทุกข์

อยากให้ ‘เตยยี่’ ฝากกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ทิ้งท้ายสักนิด ?

เตยเชื่อว่าท้องฟ้าไม่จำเป็นต้องสวยทุกวัน เราไม่จำเป็นต้องโหยหาความสุขตลอดเวลา เมื่อไหร่ที่ความทุกข์เข้ามา ยืนมองอย่างมั่นคง ยังไม่ต้องรับก็ได้ ปล่อยให้มันกระแทกเข้ามา แล้วกอดมันไว้ เราต้องพร้อมที่จะโอบกอดความทุกข์ เพราะบางทีความทุกข์มันก็อบอุ่นเท่ากับอ้อมกอดของความสุขเลยนะ

‘เตยยี่’ศิลปินฮีลใจ  ผ่านถ้อยคำโอบกอดความทุกข์ มนุษย์จำเป็นจะต้องเจอทั้งสุขและทุกข์ จำเป็นต้องยิ้มและร้องไห้ ชีวิตที่ดีจริงๆ ก็คือชีวิตที่มีทั้งรอยยิ้ม และคราบน้ำตา อยากให้ทุกคน สุดท้าย ได้เจอพื้นที่ที่ปลอดภัยในหัวใจ แค่นั้นเอง อะไรคือความปลอดภัย ก็คือความสบายใจ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

นี่คือ เตยยี่-ประภัสสร กาญจนสูตร ผู้ก้าวข้ามความเจ็บปวด จนกลายมาเป็น 'ศิลปิน' ที่ให้กำลังใจผู้คนผ่านถ้อยคำ....