รู้จัก "บ่อจอย" คอนเทนต์คิดบวกที่จะชวน "ปล่อยจอย" ความเครียดและซึมเศร้า

รู้จัก "บ่อจอย" คอนเทนต์คิดบวกที่จะชวน "ปล่อยจอย" ความเครียดและซึมเศร้า

กำลังเบื่อๆ เครียดๆ คิดลบกับตัวเองกันอยู่หรือเปล่า หากคำตอบคือ ใช่! ลองมาปลดล็อก "ปล่อยจอย" ไปกับคอนเทนต์ "บ่อจอย" ช่องยูทูบแนวคิดบวกที่จะสร้างความ "เอ็นจอย" ให้กับชีวิตกัน

หลายครั้งที่หลายๆ ปัญหาในสังคมเกิดจากความไม่เข้าใจกัน ทั้งไม่เข้าใจตนเองและคนอื่น แม้แต่ "วัยทำงาน" ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มที่มีสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ นั่นคือประมาณ 2 ใน 3 ของประเทศเองก็แบกรับปัญหาที่หนักหน่วงไม่น้อยไปกว่าคนวัยอื่น

ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต ด้วยระบบ Mental Health Check-in ในปี 2564 พบว่า สุขภาพจิตประชากรวัยทำงานตอนต้นช่วงอายุระหว่าง 20-29 ปี มีปัญหาภาวะเครียดสูงถึงร้อยละ 29.76 เสี่ยง ซึมเศร้า ร้อยละ 33.99 เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายร้อยละ 19.19 และมีภาวะหมดไฟร้อยละ 15.22 ซึ่งโดยรวมเป็นอัตราส่วนของปัญหาด้านสุขภาพจิตที่สูงกว่าประชากรในวัยอื่นประมาณ 3 เท่า ไม่ว่าจะด้วยกระแสชีวิตที่ต้องรีบเร่ง เผชิญ ความเครียด และความกดดันรอบด้านทั้งจากการงาน ชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัว เหล่านี้ยิ่งกระตุ้นให้สถานการณ์สุขภาพจิตวัยทำงานเป็นเรื่องที่น่ากังวล

เสริมสุขภาพจิตยุคใหม่คนวัยทำงาน

"เห็นชัดเจนว่าช่วงโควิด-19 จิตใจคนไทยแตกสลายมาก ทั้งจากการมีชีวิตแบบ New Normal ใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปไม่คุ้นเคย การต้องอยู่บ้านนานๆ" ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ่ยถึงสถานการณ์อีกด้านที่สังคมไทยกำลังเผชิญ

ชาติวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากบทบาทสำคัญของ สสส. คือการ "สร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ก่อนเจ็บป่วย" ที่เรียกว่า "สร้างนำซ่อม" อีกหนึ่งการขับเคลื่อนสำคัญคือ การสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านให้ประชาชนตลอดช่วงวัย ได้มีศักยภาพทางจิตใจ สามารถเข้าใจตนเองและบุคคลรอบข้าง มีความเข้มแข็งทางใจ ทักษะเชิงบวก สสส. จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด และเพจ Understand แถลงข่าวเปิดตัว YouTube channel "บ่อจอย" สื่อสาระและบันเทิงน้ำดีที่จะช่วยให้ผู้ชมสามารถจัดการอารมณ์ความเครียด มีความสามารถรับมือและจัดการปัญหาต่างๆ ได้

"สสส. เป็นองค์กรที่พัฒนานวัตกรรมหยิบไปใช้ได้ ที่ต้องเป็นนวัตกรรมที่ไม่ยาก ไม่เยอะ ทำให้ความสามารถหยิบไปใช้เกิดแพร่หลายได้ ซึ่ง "บ่อจอย" จะเป็นการส่งต่อความรู้สุขภาพจิตในรูปแบบ Edutainment เพิ่มช่องทางการเข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น เพราะเป้าหมายสำคัญของ สสส. คือการสร้างวัคซีนใจใสร้างพลังให้คนเราสามารถใช้ชีวิต มีปัญญา จัดการใช้ชีวิตอย่างเท่าทัน อารมณ์ดี ออกจากบ้านได้อย่างอารมณ์ดี มีความสุข" ชาติวุฒิ กล่าว

ชาติวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า "บ่อจอย" เป็นอีกรูปแบบการสื่อสารความรู้ด้านสุขภาพจิตในรูปแบบที่น่าสนใจให้กับกลุ่มวัยทำงาน ผ่านช่องทางออนไลน์ มุ่งหวังให้เกิดแนวทางสร้างทุนทาง จิตวิทยาเชิงบวก ให้กับประชาชน ให้มีความหวัง (Hope) มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง (Efficacy) มีความเข้มแข็งทางจิตใจ (Resilience) และสามารถมองโลกในแง่ดี (Optimisim) ได้อย่างเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนซับซ้อนผันผวน

รู้จัก \"บ่อจอย\" คอนเทนต์คิดบวกที่จะชวน \"ปล่อยจอย\" ความเครียดและซึมเศร้า

บ่อจอย = บ่อแห่งความสุข

"ตอนแรกที่ได้ยินชื่อก็เอ๊ะทันที ถามว่าอะไรนะ บ่อจอยที่แปลว่าอารมณ์ไม่ดีหรือ แต่ก็ได้รับคำอธิบายว่า ไม่ใช่ เพราะจอยในที่นี้คือ ความสุข ดังนั้นบ่อจอยจึงหมายถึงบ่อแห่งความสุข และเสริมสร้างปัญญา" สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส หนึ่งในพันธมิตรคิดบวกของงานนี้

สายชล ยังกล่าวต่ออีกว่า ความตั้งใจของ เอไอเอส นั้น นอกจากในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลคือ การพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนและยกระดับการสื่อสาร และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศแล้ว ทางองค์กรเองยังให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้เพื่อปลูกจิตสำนึก สื่อสารให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับทักษะพลเมืองในยุคดิจิทัลทุกแง่มุม ผ่านโครงการเพื่อสังคมต่างๆ

"เอไอเอส ตระหนักว่า มีหน้าที่อีกอย่างคือการส่งเสริมองค์ความรู้ผ่านแพลตฟอร์มของเราที่มี เช่น AIS PLAY ซึ่งเป็น Streaming Platform สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ สอดคล้องเจตนารมณ์ดังกล่าวอย่างยิ่งและเชื่อมั่นว่า จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะทางจิตให้แก่คนไทย ทั้งนี้ ปัจจุบัน AirPlay มียอดผู้ขมทั้งหมด 16,000,000 วิว ก็เลยเชื่อว่าเราน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นฟันเฟืองในสังคมดีๆ ให้กับสังคมไทย" สายชล กล่าว

ดลพร นิธิพิทยปกฤต ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ Understand เจ้าของไอเดียช่องรายการ "บ่อจอย" ได้กล่าวว่า ทางเพจ ได้ร่วมกับ สสส. จัดทำโครงการพัฒนาและสื่อสาร เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างสุขภาพจิตเชิงบวกประชาชนวัยทำงานนำไปสู่การมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตผ่านทาง YouTube Channel เนื่องจากมองว่าเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่คนไทยในกลุ่มวัยทำงานใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถนำเสนอเนื้อหาด้านสุขภาพจิตที่มีความยาวและรายละเอียดได้มาก สามารถสื่อสารกับประชาชนผ่านทางการแสดงความคิดเห็นของผู้รับชมได้ โดย YouTube channel ช่อง "บ่อจอย"

"Understand เริ่มจากเป็นเพจก่อน เกิดจาก พบว่านิสิตนักศึกษาแพทย์เจอปัญหา ภาวะซึมเศร้า ซึ่งช่วงนั้นมีข่าวนักศึกษาแพทย์ฆ่าตัวตายค่อนข้างบ่อย เลยอยากสร้างความตระหนักส่งเสริมให้ความรู้ก่อนสายเกินแก้ ก็เลยทำเพจขึ้น พอหลังทุกคนจบการศึกษา และมาทำงานก็อยากขยายเพจออกไปให้วงกว้างมากขึ้น ก็เลยมองที่กลุ่มเป้าหมายวัยทำงาน" ดลพร กล่าว

แก้ถูกจุด

เมื่อถามว่าการสร้างช่อง "บ่อจอย" เป้าหมายคืออะไร ดลพร เอ่ยว่า เพราะอยากให้เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ และหากมีปัญหาก็สามารถบอกคนอื่นว่ามีปัญหาอะไรเพื่อได้แก้ถูกจุด

สำหรับ ช่อง "บ่อจอย" ประกอบด้วย 3 รายการ 1) รายการ iUV Day ดำเนินรายการด้วยวิธี Experimental psychology ที่เน้นใช้การทดลองทางสังคมกับกลุ่มตัวอย่าง 2) รายการ Imposter การสนทนารอบวง นำเสนอเนื้อหาด้านสุขภาพจิตผ่านการให้อาชีพต่างๆ มาพบกัน แลกเปลี่ยนมุมมองกัน โดยมีการแฝงตัวแบบ imposter 3) รายการ Kinjai การพูดคุยกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา นำเสนอการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตและสภาพปัญหาสุขภาพจิตของคนวัยทำงานในยุคปัจจุบันผ่านการพูดคุยประเด็นด้านสุขภาพจิตอย่างง่ายๆ ในบรรยากาศสบายๆ ในร้านอาหาร

สามารถรับชมได้ในทุกช่องทางทั้งแอปพลิเคชัน AIS PLAY ดาวน์โหลดได้ทั้ง Apple App store, Google Play Store รับชมผ่านกล่อง AIS PLAYBOX, SAMSUNG Smart TV, Apple TV รวมถึงผ่านทาง Youtube ช่องบ่อจอย

"ปัจจุบัน YouTube channel จัดเป็นโทรทัศน์ดิจิทัลช่องหนึ่ง ซึ่งรายการที่นำมาจัดวางอาจมีความแตกต่างกันในแง่การนำเสนอ เนื้อหาสาระ เป้าหมายของสื่อ และกลุ่มของผู้รับชมได้ การที่มีช่องทางเช่นนี้จะช่วยทำให้สามารถถ่ายทอดเนื้อหาด้าน สุขภาพจิต และจิตเวชได้เป็นจำนวนมาก สามารถปรับเนื้อหาตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วให้มีความทันสมัย และแก้ปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับไว ต้องขอขอบคุณการสนับสนุนจาก สสส. ในการวางแผนขับเคลื่อนโครงการฯ และข้อมูลจากการแนะนำโดยบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจิตจาก กรมสุขภาพจิต และวันนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทั้ง 3 รายการจะได้เผยแพร่ผ่านช่องทาง AIS PLAY อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน" ดลพร กล่าว

รู้จัก \"บ่อจอย\" คอนเทนต์คิดบวกที่จะชวน \"ปล่อยจอย\" ความเครียดและซึมเศร้า รู้จัก \"บ่อจอย\" คอนเทนต์คิดบวกที่จะชวน \"ปล่อยจอย\" ความเครียดและซึมเศร้า รู้จัก \"บ่อจอย\" คอนเทนต์คิดบวกที่จะชวน \"ปล่อยจอย\" ความเครียดและซึมเศร้า