15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

ถ้าไม่รู้ว่าจะดูหนังเรื่องไหนดีในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15 “กัลปพฤกษ์” คอลัมนิสต์ผู้คร่ำหวอดที่เดินทางไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลกเป็นประจำทุกปี ได้คัดสรรหนังดีหนังเด่น 15 เรื่องมาให้พิจารณาประกอบการตัดสินใจ

นับเป็นข่าวดีส่งท้ายปีที่เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ หรือ World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 15 ได้กลับมาจัดงานอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง หลังจากที่ต้องว่างเว้นไปถึงห้าปีเต็มตั้งแต่ ค.ศ. 2017 ซึ่งงานในครั้งนี้ ก็จัดขึ้นโดย บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดฉายหนังกันที่ SF World Cinema กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 2-11 ธันวาคม พ.ศ. 2565 กับหนังดี ๆ จากทั่วทุกมุมโลกจำนวนกว่า 60 เรื่อง ตลอดทั้ง 10 วัน

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

 

และนับเป็นเรื่องน่าเศร้าจากความสูญเสีย เมื่ออดีตผู้อำนวยการเทศกาล World Film Festival of Bangkok คุณวิกเตอร์ เกรียงศักดิ์ ศิลากอง เสียชีวิตไปด้วยอาการจากเส้นเลือดในหัวใจมีปัญหา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2565 ขณะกำลังเตรียมจัดเทศกาลครั้งที่ 15 ในปีนี้ ซึ่งในที่สุด คุณดรสะรณ โกวิทวณิชชา โปรแกรมเมอร์และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ ผู้เดินทางไปร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาแล้วหลายเทศกาล ก็ได้รับไม้ต่อในการสานงาน เสาะหาหนังดี ๆ จากหลากหลายที่มาฉายให้คอหนังในประเทศไทยได้ชมกันในเทศกาลครั้งนี้ ที่ยิ่งใหญ่ได้ไม่แพ้การจัดงานในครั้งก่อน ๆ เลย

            ในโอกาสนี้จึงจะขอถือโอกาสแนะนำหนังเด่นหนังดังที่เคยได้ดูมาจากเทศกาลใหญ่ ๆ ในรอบปี ที่จะมาร่วมพิสูจน์คุณภาพกับคอหนังในประเทศไทย ให้ได้ลองหาชมกันสัก 15 เรื่อง โดยจะเน้นหนังในสาย Kaleidoscope สำรวจหนังดังแห่งปี 2022 ที่ไม่ควรจะพลาดโอกาสชมบนจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์กันเลย!

 

  1. ALCARRÀS กำกับโดย Carla Simón จากสเปน

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

 

เริ่มที่หนังซึ่งคว้ารางวัลใหญ่สุด ‘หมีทองคำ’ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลิน นั่นคือ หนังจากแคว้นคาทาลันในสเปนเรื่อง Alcarràs  โดยหนังได้เล่าชะตากรรมของครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีบิดาวัยกลางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว

สมาชิกของบ้านในชนบทหลังนี้มีอาชีพปลูกสวนพีชขายมาหลายชั่วอายุคน ถ่ายทอดศาสตร์แห่งการเลี้ยงดูพืชพันธุ์ผลไม้ชนิดนี้จากรุ่นสู่รุ่นเลี้ยงดูทุก ๆ ปากท้องอย่างดีเสมอมา กระทั่งวันหนึ่งมีรถตู้จากบริษัทใหญ่ทยอยเดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน พร้อมการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีอันทันสมัย พวกเขานำแผงสร้างพลังงานโซลาร์เซลมาติดตั้งบนพื้นที่บริเวณขนาดใหญ่ พร้อมข่าวร้ายว่าครอบครัวชาวไร่พีชบ้านนี้ กำลังจะถูกไล่ที่ทำกินเพื่อพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมสร้างพลังงานทางเลือก!

หนังเล็ก ๆ เรื่องนี้นำเสนอภาพความโหดร้ายในโลกความเป็นจริงของชาวชนบทในปัจจุบันด้วยวิธีการที่บริสุทธิ์ เรียบง่าย และกินใจ ชวนให้คิดว่าในอนาคตอันใกล้เราอาจไม่มีอาชีพที่เรียกว่า ‘เกษตรกร’ ตกทอดหลงเหลืออยู่ในสังคมอีก!

 

  1. MYANMAR DIARIES กำกับโดย The Myanmar Film Collective จากพม่า

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

 

สารคดีสุดสะเทือนขวัญถ่ายทอดเหตุการณ์ความรุนแรงและการฆ่าแกงกันจริง ๆ อย่างอำมหิตโหดเหี้ยมอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ผลงานของนักทำหนังหนุ่มสาวชาวพม่าจำนวน 10 ราย ที่ร่วมกันประกอบสร้างหนังข่าวเล่าความเป็นไปจากสายตาของคนในโดยไม่อาจเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามได้ด้วยความเสี่ยงต่อภัยอันตราย หนังเคยได้เข้าฉายในสาย Paronama ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลินเมื่อต้นปี

หนังเปิดฉากอย่างขบขันด้วยภาพเคลื่อนไหวไวรัลสุดดังของนักเต้นแอโรบิกสาวที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวตั้งกล้องถ่ายการซ้อมท่าเต้นของตนเองหน้าลานรัฐสภาช่วงเช้าที่รถจี๊ปและกองกำลังดำทะมึนกำลังเข้าบุกเพื่อยึดอำนาจ

แต่หลังจากนั้นเราจะได้สลดไปกับภาพการกวาดล้างผู้ชุมนุมและแกนนำต่อต้าน เมื่อเหล่าตำรวจทหารในเครื่องแบบที่ควรมีหน้าที่พิทักษ์รักษาความปลอดภัยของมวลชน กลับกลายเป็นฝ่ายปล้นอำนาจใช้อาวุธปืนข่มขู่ เหนี่ยวไกต่อสู้จนผู้คนล้มตาย กลายเป็นภาพวีดิทัศน์บันทึกจากโทรศัพท์ smartphone ที่ผู้เห็นเหตุการณ์ต้องกรีดร้องตระหนกตกใจในระยะเคียงใกล้ ดูแล้วชวนให้หดหู่ใจหายกับภาพ ‘ความจริง’ ที่ช่างบาดตาบาดใจเสียเหลือเกิน

หนังสลับอารมณ์ด้วยการแสดงภาพชีวิตของผู้ถูกกระทำทั้งในเคหะสถาน ผ่านการเล่นดนตรี การใช้ชีวิตโดยปราศจากเสื้อผ้า การใช้ถุงดำคลุมหน้าคลุมตาประท้วงด่าทอ และการขอลี้ภัยเดินทางมายังกรุงเทพมหานครเมืองฟ้าอมร รวมถึงการเข้าค่ายซุ่มสอนการใช้อาวุธยุทธปกรณ์เรียกร้องอธิปไตยคืน นับเป็นสารคดีสะท้อนความจริงที่ยิ่งดูก็ยิ่งสิ้นหวัง และน่าจะเป็นหนังที่ ‘ทรงพลัง’ มากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งในเทศกาล

 

  1. CLOSE กำกับโดย Lukas Dhont จากเบลเยียม

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

 

ข้ามมาที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ กับหนังรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง Grand Prix เรื่อง Close ของผู้กำกับ Lukas Dhont ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์แบบ ‘เกือบวาย’ ของสองหนุ่มน้อยท่ามกลางสวนดอกไม้ ซึ่งจะฉายเป็นหนังปิดในพิธีมอบรางวัลวันสุดท้ายของเทศกาลในวันที่ 11 ธันวาคม 2565

Léo และ Rémi เป็นเด็กชายอายุเพียง 13 ปี ที่ยังไม่ถึงช่วงวัยตื่นตัวทางเพศเสียด้วยซ้ำ แต่ทั้งคู่อยู่บ้านใกล้กัน ปั่นจักรยานไปกลับโรงเรียนด้วยกันทุกวัน สนิทสนมกันจนเจอใครที่ไหนก็ต้องเจออีกคนที่นั่นเป็นเงาตามตัว และที่สำคัญคือทั้งคู่มีความสุขที่จะได้ใช้เวลาร่วมกัน โดยไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่ามันคือความสัมพันธ์แบบชายรักชายที่ใคร ๆ ต่างขนานนามไว้หรือไม่

เมื่อความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็นที่สงสัยของเพื่อนร่วมชั้นจนมีคนเอ่ยปากถามว่าพวกเขาเป็น ‘คู่จิ้น’ กันใช่ไหม เรื่องเลยลุกลามบานปลายทำให้ทั้งคู่เกิดความอึดอัดที่จะเป็นเพื่อนซี้กันต่อไป สร้างรอยร้าวฉานที่สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน  หนังเล่าทุกอย่างได้สมจริงผ่านการแสดงอันวิเศษชวนให้เชื่อได้ทุกอารมณ์ความรู้สึกของนักแสดงเด็กทั้งสอง จนผู้ชมอาจจะต้องร้องไห้เสียน้ำตาไปพร้อม ๆ กับตัวละครในเรื่องกันเลยทีเดียว

 

  1. EO กำกับโดย Jerzy Skolimowski จากโปแลนด์

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

 

หนังเล่าชีวิตสัตว์ ผ่านเรื่องราวชีวิตของเจ้าลาน้อย EO ระหว่างการเดินทางจากคณะละครสัตว์ไปจนถึงโรงฆ่าสัตว์ ที่จะไม่เหมือนหนังชีวิตสัตว์โลกเรื่องไหนที่คุณเคยดู เพราะผู้กำกับ Jerzy Skolimowski นำเสนอหนังเรื่องนี้ในรูปแบบงานทดลอง อุดมได้ด้วยเทคนิคเชิงภาพและเสียงอันละลานหูละลานตา เล่าผ่านทรรศนะการมองเห็นของเจ้าลา EO จนสุดท้ายหนังก็สามารถคว้ารางวัล Jury Prize หรือขวัญใจคณะกรรมการจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปีนี้ไปครองได้ 

การเดินทางของเจ้าลาแม้ว่าจะไม่ถึงกับเจออภินิหารอะไรใด ๆ แต่หนังก็มีเซอร์ไพรส์ชวนให้ต้องสะดุ้งเหวออยู่ตลอดเวลา มาแบบไม่ยอมให้ตั้งตัว ซึ่งใครที่ได้สัมผัสได้ดูกันแล้วก็ไม่ควรแพร่งพรายให้ความลับของหนังต้องหลุดรั่ว เพื่ออรรถรสในการรับชมของท่านอื่น ๆ

และด้วยการจัดเต็มทั้งทางด้านงานภาพและเสียงอันอลังการในงานภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ EO เป็นอีกเรื่องที่จะต้องชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ไม่สามารถรอดูผ่านรูปแบบ streaming บนจอเล็ก ๆ ภายในที่พักอาศัยได้เลย เพราะนี่คือหนังที่ออกแบบมาเพื่อให้ทุกท่านได้สัมผัสกับ “ประสบการณ์ด้านภาพยนตร์” อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ home theatre ราคาเรือนแสนเรือนล้านขนาดไหนก็มอบให้ไม่ได้เลย!

 

  1. TORI AND LOKITA กำกับโดย Jean-Pierre Dardenne และ Luc Dardenne จากเบลเยียม

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

 

ผู้กำกับคู่พี่น้อง Jean-Pierre Dardenne และ Luc Dardenne นับเป็นปรมาจารย์ด้านการสร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จคว้ารางวัลใหญ่ในแวดวงภาพยนตร์โลกอย่างรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาได้แล้วถึงสองครั้ง นั่นคือจากเรื่อง Rosetta (1999) และ The Child (2005) ซึ่งระหว่างและหลังจากนั้น พวกเขาก็มีผลงานเข้าร่วมประกวดที่เทศกาลคานส์อย่างสม่ำเสมอ และมักจะคว้ารางวัลหนึ่งรางวัลใดติดไม้ติดมือกลับบ้านไปได้

อย่างในปีนี้ที่พวกเขามีหนังใหม่เรื่อง Tori and Lokita เข้าร่วมประกวดอีกครั้ง และสามารถคว้ารางวัลพิเศษครบรอบ 75 ปีของเทศกาลจากคณะกรรมการไปได้ นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่แสนยิ่งใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่าผู้กำกับทั้งสองนี้มีผลงานที่สำคัญกับวงการภาพยนตร์โลกขนาดไหน ชนิดที่มีโอกาสได้ดูกันเมื่อไหร่ก็ไม่สามารถจะปล่อยให้พลาดกันได้เลย

Tori and Lokita เล่าเรื่องราวการต่อสู้ของผู้ด้อยโอกาสในฐานะเยาวชนที่อพยพลี้ภัยจากแอฟริกามายังเบลเยียม และแม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้มีความผูกพันเป็นคนในตระกูลเดียวกัน แต่การได้ร่วมผจญภัยฝ่าฟันอันตรายต่าง ๆ มาด้วยกัน ก็ทำให้ Tori และ Lokita เกิดความสนิทสนมแนบแน่นไม่ต่างจากน้องชายและพี่สาวร่วมสายเลือดกันเลยทีเดียว

พวกเขาต้องช่วยกันทำงานรับจ๊อบเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยกันร้องเพลงภาษาอิตาเลียนกล่อมลูกค้าในร้านอาหาร ขี่จักรยานส่งสำรับ delivery ไปจนถึงการเป็นเอเยนต์ค้ายาและรับหน้าที่เฝ้าโรงเพาะกัญชาลับ แต่ไม่ว่างานที่พวกเขารับทำจะเข้าข่ายอาชญากรรมเพียงใด เรากลับรู้สึกได้ว่าพวกเขาทำไปด้วยความจำเป็นมากกว่าจะคิดเอาเปรียบคนอื่น ๆ หนังจึงแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งสายใยครอบครัวที่เราสามารถเลือกสร้างเองได้ ก่อให้เกิดความอบอุ่นสบายใจในการใช้ชีวิตต่อไปบนโลกอันแสนจะโหดร้ายนี้ หนังมีลีลาสมจริงแบบยิ่งยวดตามแบบฉบับของสองพี่น้อง Jean-Pierre Dardenne และ Luc Dardenne อย่างไว้ลาย จนไม่มีส่วนไหนที่จะชวนให้รู้สึก ‘ปลอม’ ได้เลย!

 

  1. R.M.N. กำกับโดย Cristian Mungiu จากโรมาเนีย

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

 

ผู้กำกับ Cristian Mungiu ก็เป็นขารางวัลปาล์มทองคำเก่าเหมือนกันจากเรื่อง 4 Months, 3 Weeks and 2 Days (2007)  และปีนี้ก็มีหนังเข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อีกด้วยกับเรื่อง R.M.N. ซึ่งเป็นคำย่อของคำว่า M.R.I-Magnetic Resonance Imaging ในภาษาโรมาเนีย

 

R.M.N. เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านชนบทเล็ก ๆ ในทรานซิลวาเนีย เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ที่เด็กน้อยที่ต้องฝึกเดินข้ามเขาไปโรงเรียนด้วยตนเอง แต่ดันไปเจอสิ่งประหลาดระหว่างทางจนไม่กล้าเฉียดกรายไปละแวกนั้นอีกเลย เดือดร้อนไปถึงบิดาที่เพิ่งเดินทางกับมาจากเยอรมนีต้องช่วยตามล่าหาตัวการ ไปจนถึงการที่แรงงานพลัดถิ่นจากศรีลังกา ข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานในโรงงานเบเกอรี จนกลายเป็นที่ลุกฮือวิพากษ์วิจารณ์ของชุมชน

ซึ่งผู้กำกับโรมาเนียคนนี้ก็ได้โชว์ฝีมือด้านการกำกับอันหาตัวจับยากในฉากไคลแมกซ์ ณ ห้องประชุมถกเถียงหารือของสมาชิกในชุมชนนับร้อยที่แออัดอยู่ในห้องประชุม สลับสับเปลี่ยนเวียนแลกบทสนทนากันอย่างยาวนานถึง 17 นาทีโดยไม่มีการตัดเลย ซึ่งทุกคิวจะต้องเป๊ะ และนักแสดงทุกคนต้องแม่นกับบทของตัวเองอย่างพลาดอะไรไม่ได้ มันจึงกลายเป็นฉากมหัศจรรย์ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะรังสรรค์กันได้อย่างอลังการขนาดนี้

 

  1. TCHAIKOVSKY’S WIFE กำกับโดย Kirill Serebrennikov จากรัสเซีย

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

 

Kirill Serebrennikov เป็นผู้กำกับรัสเซียขวัญใจเทศกาลคานส์ที่โดนกลั่นแกล้งจากรัฐบาลผ่านคดีฉ้อโกง จนไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศไปร่วมงานเทศกาลได้ กระทั่งสุดท้ายเมื่อเขาพ้นผิด Kirill Serebrennikov จึงเริ่มหวนคืนสู่การทำหนังร่วมเทศกาลอีกครั้ง โดยในปีนี้เขาก็มีหนังชีวประวัติใต้มุ้งของคีตกวีรายสำคัญ Pyotr Tchaikovsky ที่ถูกกล่าวขวัญกันมานานว่าเขามีแนวโน้มน่าจะเป็นเกย์

Tchaikovsky’s Wife จึงมุ่งเล่าเรื่องราวลับ ๆ ของคีตกวีนามอุโฆษท่านนี้ โดยไม่มีการอ้อมค้อม โดยหนังได้ติดตามความบอบช้ำทางใจของ Antonina สตรีที่ตกลงปลงใจแต่งงานอยู่กินกับ Tchaikovsky ผู้มีเจตนาเข้าพิธีวิวาห์เพื่อเพื่อบังหน้าโดยที่เขาหาได้มีหัวใจให้เธอเลย  ทว่าลึก ๆ แล้ว Antonina มั่นใจอยู่ตลอดเวลาว่าความดีของเธอจะเอาชนะหัวใจที่นิ่งเย็นเป็นน้ำแข็งของ Tchaikovsky ได้ ในขณะที่ทุกคนรู้แฟนคลับก็รู้ว่า Tchaikovsky มีรสนิยมทางเพศเป็นอย่างไร และเธอมีบทบาทอย่างไรในชีวิตของเขา

หนังเสียดเย้ยความล้มเหลวในอุดมการณ์การเปลี่ยนวิถีเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวตนของแต่ละบุคคลได้อย่างเจ็บแสบ และแสดงความเป็นเกย์ออกมาด้วยลีลาการกำกับที่อาศัยร่างกายเปลือยเปล่าของผู้ชายขณะกำลังร่ายระบำด้วยท่าพิสดารผ่านวิสัยทัศน์และมุมมองที่มีแบบฉบับเฉพาะตัวของผู้กำกับ Kirill Serebrennikov เอง

 

  1. PACIFICTION กำกับโดย Albert Serra จากฝรั่งเศส

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

 

ส่วนคอหนังสายอาร์ตระดับฮาร์ดคอร์ ขอท้าให้ลองหาโอกาสชมภาพยนตร์จากสายประกวดเทศกาลคานส์เรื่องนี้ เรื่องที่มีคนเดินออกจากโรงทุก ๆ ห้านาที กับหนังที่ทำลายทุกกรอบระเบียบไวยากรณ์แล้วหันมาสร้างบรรยากาศหลอนเหมือนฝันร้ายที่แทบจะอธิบายอะไรไม่ได้เลย

            ดาราหนุ่มใหญ่ Benoît Magimel รับบทนำเป็น de Roller กรรมาธิการชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางมายังรีสอร์ทแห่งหนึ่งบนเกาะตาฮิติ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อสืบหาว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการขนย้ายโสเภณีและการทดลองระเบิดนิวเคลียร์บนน่านน้ำแปซิฟิกหรือไม่ และได้พบกับ Morton (รับบทโดย Sergi López )เจ้าของไนท์คลับที่มีทั้งนักเต้นหญิงและชายในชุดนุ่งน้อยห่มน้อยคอยเอนเตอร์เทนแขก กับ Shannah สาวทรานส์ชาวเกาะสวยคมที่ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับ ณ รีสอร์ทแห่งนั้น ที่ทำให้ de Roller รู้สึกหึงหวงเมื่อ Shannah เริ่มสนิทสนมกับแขกชาวโปรตุเกสคนหนึ่งมากเกินไป ถึงขั้นมาขอดื่มสุราในบ้านพักของเธอ

            หนังทำตัวเป็นงานแนวเขย่าขวัญสางปมคดีไปอย่างนั้น เพราะพระเอกของมันจริง ๆ คือสีสันเชิงบรรยากาศแห่งเกาะในโปลินีเซียที่มีหลืบมุมเร้นลับจนจับต้นชนปลายอะไรไม่ได้ กลายเป็นหนังสุดท้าทายที่เชื้อเชิญให้คนดูร่วมไขปริศนา ที่ดูจนจบแล้วก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะหาคำตอบได้จริงหรือไม่กับการทำหนังแบบไม่แคร์ใครจนกลายเป็นความน่าสนใจด้วยรสชาติที่แตกต่าง

 

  1. GODLAND กำกับโดย Hlynur Pálmason จากไอซ์แลนด์

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

หนังจากสาย Un Certain Regard เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เรื่องนี้ เหมือนทำขึ้นมาเพื่อเอาใจคนรักกล้องฟิล์มและการถ่ายภาพยนตร์ด้วยฟิล์มกันจริง ๆ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระหนุ่มชาวเดนมาร์กที่เดินทางจาริกแสวงบุญพร้อมกล้องถ่ายภาพคู่ใจขนาดใหญ่ใช้บันทึกทั้งทัศนียภาพและผู้คนที่พบเจอขณะดั้นด้นเดินทางข้ามภูเขาไปสร้างโบสถ์แห่งใหม่ ณ เมืองห่างไกลในไอซ์แลนด์ จากศรัทธาและศาสนุดมการณ์ที่เคยหนักแน่นดี พอมาเจอวิถีอันไม่ค่อยจะศิวิไลซ์ของชนชาวเกาะที่ยังใช้ชีวิตไปตามสัญชาตญาณ ความมุ่งมั่นของพระหนุ่มก็เริ่มจะสั่นคลอนจนเขาเริ่มออกนอกลู่นอกทางมากขึ้นเรื่อย ๆ

หนังโดดเด่นด้วยงานถ่ายภาพจากกล้องฟิล์ม 35 มม. ในอัตราส่วน 1.33:1 ซึ่งมุมทั้งสี่มีการตีโค้งมนจนดูเก่าโบราณ แต่การกำกับภาพกลับทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับศักยภาพของสื่อภาพยนตร์ตกยุคชนิดนี้ได้อย่างเต็มที่ ด้วยบรรยากาศแห่งทัศนียภาพของเกาะแก่งต่าง ๆ ในไอซ์แลนด์ ที่บันทึกออกมาได้งดงามตระการตาดีเหลือเกิน ใครที่คิดถึงหนังถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. คงพลาดกันไม่ได้ น่าเสียดายที่ระบบการฉายในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการฉายหนังด้วยฟิล์มกันอีกแล้ว มิเช่นนั้นการได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จากการฉายด้วยฟิล์มจริง ๆ ก็น่าจะได้บรรยากาศอันมหัศจรรย์ดีพิลึก!

 

 

  1. RETURN TO SEOUL กำกับโดย Davy Chou จากฝรั่งเศส

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

 

หนังจากสาย Un Certain Regard เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เรื่องนี้ เห็นทีจะต้องขอแนะนำกันเป็นพิเศษ เพราะผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ หรือ World Film Festival of Bangkok คนปัจจุบัน คุณดรสะรณ โกวิทวณิชชา ได้ยอมปลีกเวลาจากตารางชีวิตอันยุ่งเหยิงไปร่วมรับบทเล็ก ๆ ในหนังให้ผู้กำกับ Davy Chou ด้วย!

หนังเล่าเรื่องราวของ Freddie สตรีวัยเบญเพศที่เกิดจากบิดามารดาชาวเกาหลีใต้ที่เกาหลีใต้ แต่ถูกส่งตัวไปยังสถานรับอุปถัมภ์ทารกเพื่อส่งต่อให้ผู้ยินดีอุปการะชาวตะวันตก ทำให้ Freddie ได้ย้ายไปเติบโตที่ฝรั่งเศสกับพ่อแม่บุญธรรมชาวฝรั่งเศส เมื่อถึงวัยแห่งการเป็นผู้ใหญ่ Freddie จึงได้ตัดสินใจเดินทางโดยลำพังมายังเกาหลีใต้อีกครั้ง เพื่อหาหลักฐานสืบสาวถึงตัวตนของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อ-แม่แท้จริงของเธอ การเดินทางตามหารากเหง้าตนเองของ Freddie เหมือนเป็นการขยี้บาดแผลที่ทำให้เธอต้องกลายเป็นคนแปลกแยกจากทุกสังคม อยู่ฝรั่งเศสเธอก็มีลุคเอเชียจนดูไม่ใช่ ในขณะที่พอกลับมาเกาหลีใต้ เธอก็มีนิสัยเป็นฝรั่งตะวันตกจนไม่ฟิตอินกับดินแดนเอเชียตะวันออกนี้ด้วยเหมือนกัน

สำหรับบทบทการแสดงอันเข้มข้นของคุณดรสะรณ โกวิทวณิชชา นั้นจะมาในมาดนักปรัชญาร่ำสุราถกปัญหาชีวิตกับเพื่อนร่วมโต๊ะ แต่ขอเตือนว่าอย่าได้กะพริบตา เพราะคุณอาจจะหาไม่เจอเลยว่าคุณดรสะรณ โผล่มาในตอนไหน!

 

  1. JOYLAND กำกับโดย Saim Sadiq จาก ปากีสถาน

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

อีกเรื่องจากสาย Un Certain Regard เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เป็นหนังปากีสถานเนื้อหากล้าหาญหมิ่นเหม่ เล่าความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มมีครอบครัวแล้วกับดาวระบำจ้ำบ๊ะสาวทรานส์ จนถูกทางการออกคำสั่งแบนห้ามฉาย ก่อนจะกลับคำอนุญาตให้ฉายได้ในเวลาต่อมา

Joyland นับเป็นหนังเรื่องแรกจากปากีสถานที่ได้เข้าร่วมฉายในสายทางการของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และแม้จะเป็นเรื่องแรกแต่ก็สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้ารางวัล Queer Palm สำหรับหนัง LGBTQ ยอดเยี่ยมประจำเทศกาลปีนี้ไปได้  หนังเล่าเรื่องราวชีวิตของ Haider บุตรชายของครอบครัวใหญ่ในลาฮอร์ที่มีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้ว แต่ยังงอมืองอเท้าอยู่กับบ้านไม่ยอมทำมาหากิน แรงกดดันของครอบครัวปิตาธิปไตยที่ฝ่ายชายจะต้องเลี้ยงดูครอบครัวทำให้ Haider จำเป็นต้องออกหางานทำ สุดท้ายเขาก็ได้งานเป็นหางเครื่องชายในโรงระบำจ้ำบ๊ะให้กับ Biba ทรานส์สาวดาวเด่นแห่งโรงละคร แต่ Haider จะสามารถปริปากบอกครอบครัวของเขาได้หรือว่าเขาทำงานอะไร โดยเฉพาะเมื่อเขาเริ่มแอบเผลอมีใจให้กับ Biba ผู้มีพระคุณ! เนื้อหาที่ว่าด้วยโลกโลกีย์ในปากีสถานถือว่าแปลกใหม่และล้ำมาก ๆ สำหรับหนังจากประเทศนี้ โดยเฉพาะตัวตนของบุคคลที่เรียกตัวเองว่าทรานส์ และการเลื่อนไหลทางเพศที่สวนทางกับวัฒนธรรมความเชื่อเดิมของคนส่วนใหญ่ในชาตินี้ได้อย่างแสนท้าทาย

 

  1. MARIUPOLIS 2 กำกับโดย Mantas Kvedaravicius จาก ยูเครน

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

สารคดีที่น่าเศร้ามาก ๆ อีกเรื่องจากสาย Special Screening เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ คืองานสารคดีภาคต่อชื่อ Mariupolis 2 ของผู้กำกับลิทัวเนีย Mantas Kvedaravicius ผู้ล่วงลับขณะลงพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ตีแผ่สภาพบ้านเมืองมาริอูโพลที่พังยับเยินของชาวยูเครนในระหว่างสงครามเมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา  Mariupolis 2 เป็นสารคดีภาคต่อจาก Mariupolis ซึ่งเคยฉายเปิดตัวในสาย PANORAMA เทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินเมื่อปี 2016

[สามารถชมสารคดีเรื่องนี้ในรูปแบบออนไลน์ได้ทาง https://takflix.com/en/films/mariupolis โดยชำระค่าตั๋วเพื่อสมทบทุนสนับสนุนกลุ่มคนทำหนังชาวยูเครน]

แต่หลังจากที่รัสเซียเริ่มบุกทำลายเมืองใหญ่หลายแห่งในยูเครน จนเมืองมาริอูโพลโดนกระหน่ำโจมตีไปด้วย ผู้กำกับ Mantas Kvedaravicius จึงเดินทางไปยังเมืองนี้อีกครั้ง เพื่อถ่ายทำสารคดีภาคสองบันทึกภาพให้ผู้ชมได้เห็นกับตาว่าปัจจุบันเมืองมาริอูโพลที่เคยสงบสุขนั้น โดนอาวุธหนักของฝ่ายรัสเซียทำลายจนพังยับเยินขนาดไหน แต่ยังถ่ายไม่ทันจะเสร็จดี ผู้กำกับ Mantas Kvedaravicius ก็โดนกองทัพรัสเซียสังหารจนจบชีวิตไปเสียก่อน คู่หมั้นสาว Hanna Bilobrova และมือตัดต่อ Dounia Sichov จึงได้ช่วยกันรวบรวม footage ต่าง ๆ ที่ Mantas Kvedaravicius ถ่ายไว้ มาเรียบเรียงเป็นสารคดีตามแผนเดิมที่ผู้กำกับได้วาดฝัน จนได้เป็นสารคดีเรื่องนี้

ซึ่งตลอดความยาว 112 นาที ผู้ชมจะได้เห็นสภาพบ้านเมืองที่ ‘พังยับเยิน’ ไม่มีชิ้นดีของเมืองมาริอูโพล จนผู้คนที่รอดชีวิตไม่สามารถอยู่อาศัยได้ต่อไป พวกเขาต้องร่วมกลุ่มกันอพยพไปอยู่ในอาคารที่ยังพอจะมีสภาพดี หาเก็บข้าวของอุปกรณ์ที่ยังพอใช้งานได้จากแหล่งต่าง ๆ และหาเศษอาหารมาต้มซุปทานกันเพื่อประทังชีวิต ด้วยสภาพจิตใจที่เหมือนจะตายด้านไม่สะทกสะท้านอะไรอีกต่อไป หมดแรงแม้แต่จะตีโพยตีพายว่าทำไมพวกเขาต้องมาเผชิญกับชะตากรรมอันโหดร้ายในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ก่อ

 

  1. SAINT OMER กำกับโดย Alice Diop จากฝรั่งเศส

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

 

จากคานส์ลองหันมาดูหนังสายประกวดเทศกาลเวนิสกันบ้าง เริ่มที่หนังฝรั่งเศสเรื่อง Saint Omer ของผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ Alice Diop ที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศสิงโตเงิน Grand Jury Prize ไปได้ โดยเป็นหนังที่ทดลองนำรูปฟอร์มของหนังขึ้นโรงขึ้นศาลหรือ courtroom drama มาผสานกับงานเขย่าขวัญเชิงจิตวิทยา และการศึกษาตำนานเรื่องเล่ากรีกโบราณ เล่าเรื่องราวขนานคู่กันระหว่าง Rama และ Laurence สาวผิวสีจากทวีปแอฟริกาที่มาอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสและมีการศึกษาดีทั้งคู่

โดย Rama เป็นนักเขียนกำลังหาวัตถุดิบเพื่อนำไปเขียนนิยายเรื่องใหม่ที่ใช้บทละครกรีกเรื่อง Medea ของ Euripides มาเล่าใหม่ด้วยบริบทปัจจุบัน เธอจึงไปร่วมเข้าฟังการไต่สวนคดีสะเทือนขวัญ เมื่อ Laurence มารดาแม่ลูกอ่อนวัยขวบเศษ ๆ ที่ตัดสินใจปล่อยบุตรีของตัวเองไว้ริมตลิ่งแม่น้ำ เพื่อให้สายน้ำนำเด็กน้อยคืนสู่ธรรมชาติ

ทั้ง Rama และผู้พิพากษาหญิงต่างก็รับฟังพฤติกรรมและความคิดสุดประหลาดของ Laurence อย่างงุนงง โดยเฉพาะเมื่อหนังให้เวลากับ Laurence ในการให้การตอบคำถามต่าง ๆ ที่ฟังอย่างไรก็ไม่เคยจะตรงประเด็นเลยสักครั้ง แม้ว่าเธอจะตั้งใจเล่าทุกอย่างด้วยความจริงใจไม่ปิดบังอะไรเพื่อหลบหนีความผิด เลยกลายเป็นว่ายิ่งไต่สวนก็ยิ่งนำพาผู้ฟังรายอื่น ๆ ไกลพ้นจากความเข้าใจ ให้ความหมายใหม่แห่งการเป็นมารดาที่ไม่น่าจะมีใครถกถึงมาก่อน

 

  1. NO BEARS กำกับโดย Jafar Panahi จากอิหร่าน

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

 

ต่อด้วยหนังรางวัล Jury Prize หรือขวัญใจคณะกรรมการจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส เช่นเดียวกัน นั่นคือ No Bears โดยผู้กำกับอิหร่าน Jafar Panahi ที่ไม่สามารถเดินทางไปร่วมงานหรือรับรางวัลที่อิตาลีได้ เนื่องจากผู้กำกับถูกทางการอิหร่านจับกุมตัวหลังต้องสงสัยว่าให้การสนับสนุนผู้กำกับรุ่นน้อง Mohammad Rasoulof ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้อย่างน่าเศร้า

No Bears เป็นงานที่นำเอาประสบการณ์ชีวิตใกล้ตัวของผู้กำกับ Jafar Panahi เองมาเล่าเป็นหนังเกี่ยวกับการทำหนังแบบ meta-cinema ว่าด้วยเรื่องราวของตัวเขาเองขณะพยายามกำกับหนังเรื่องใหม่ด้วยวิธีทางไกลแบบ work-from-home โดยให้ผู้ช่วยคอยกำกับนักแสดงและคิวต่าง ๆ ณ ต่างแดน เนื่องจากเขาเดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ แต่ติดปัญหาเรื่องสัญญาณ และที่สำคัญคือเขาเข้าไปพัวพันกับชุมชนท้องถิ่นที่ประกอบอาชีพลักลอบขนของเถื่อนข้ามแดน ซึ่งก็ยิ่งทำให้เขาเป็นคนที่แสนอันตรายทุกครั้งเวลาถือกล้องไปถ่ายผู้คน ณ จุดต่าง ๆ สร้างภาพความแปลกแยกไม่มีใครต้องการของผู้กำกับ Jafar Panahi ได้อย่างน่าสะเทือนใจ ถ่ายทอดด้วยเทคนิควิธีการเล่าด้วยน้ำเสียงแปลกใหม่ ไม่ซ้ำทางกับผลงานเก่า ๆ ที่เขาเคยทำมาเลย

 

  1. LOVE LIFE กำกับโดย Koji Fukada จากญี่ปุ่น

15 หนังเด่นจากเทศกาลดัง ในงาน WORLD FILM FESTIVAL OF BANGKOK ครั้งที่ 15

ส่งท้ายกันด้วยหนังจากสายประกวดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ หนังจากญี่ปุ่นเรื่อง Love Life ของผู้กำกับ Koji Fukada เล่าเรื่องราวของคุณแม่ Taeko กับบุตรชายวัยหกขวบยอดเซียนหมากกระดาน Keita ที่ได้แต่งงานใหม่กับพนักงานหนุ่ม Jiro หลังจากที่ Park สามีเก่าชาวเกาหลีใต้และเป็นใบ้ ทิ้งเธอและลูกไปโดยไร้เบาะแสร่องรอย เคราะห์ร้ายที่ฝ่ายพ่อแม่ของ Jiro ไม่ยอมรับภรรยาลูกติดคนใหม่รายนี้มากนัก กระทั่งเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทำให้ Park หวนกลับมาหา Taeko อีกครั้ง เรื่องราวหนหลังทั้งหมดของตัวละครจึงถูกขุดคุ้ยกันอีกคำรบ

หนังยังคงลายเซ็นการเขียนบทอันแหลมคมของผู้กำกับ Koji Fukada ที่มักจะเริ่มจากสถานการณ์ปัจจุบัน แล้วค่อย ๆ ถอยไปเล่าเรื่องราวในอดีตของตัวละครแต่ละรายจนกลายเป็นความเซอร์ไพรส์ที่คาดเดาอะไรไม่ได้ในหลาย ๆ ครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องนี้ที่สุดท้ายหนังก็พาเราไปถึงเกาหลีใต้ ไม่ต่างจากที่ผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda เคยแผ้วถางทางเอาไว้ใน Broker (2022) ซึ่งได้ลงโรงฉายในบ้านเราไป ทำให้ Love Life ซึ่งเล่าเรื่องยาวนานถึง 123 นาที มีอะไรชวนให้ต้องติดตามอย่างจดจ่ออยู่ตลอดเวลา ว่าเรื่องราวทั้งหมดจะคลี่คลายลงเช่นไร และหนังจะพาเราไปถึงไหนบ้าง

 

ส่วนหนังในสายประกวดรางวัล Lotus Award สำหรับผู้กำกับรุ่นใหม่ ๆ ก็ล้วนน่าดู น่าเชียร์กันทุก ๆ เรื่อง พร้อมด้วยหนังสารคดีไทยถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตในสายการแสดงของนักแสดงหญิงหลากรุ่นหกรายคือ สินจัย เปล่งพานิช / รัญญา ศิยานนท์ / น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ / ศิรพันธ์ วัฒนจินดา / จรินทร์พร จุนเกียรติ / อรัชพร โภคินภากร เรื่อง Roundess: The Actress ของผู้กำกับ ณฐ ทองศรีพงศ์ และหนังปิดเทศกาล Arnold Is a Model Student โดย สรยศ ประภาพันธ์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากปรากฏการณ์ ‘นักเรียนเลว’ ในประเทศไทยนั่นเอง