คัดมาแล้ว ‘คำแห่งปี’ 2023 ฉบับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ รวมเด็ดทุกประเด็น

คัดมาแล้ว ‘คำแห่งปี’ 2023 ฉบับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ รวมเด็ดทุกประเด็น

รวมมาให้แล้ว! “คำแห่งปี” 2023 มีครบทุกประเด็น ทั้งหมวดการเมืองอย่าง “ซอฟต์พาวเวอร์” และ “เงินดิจิทัล” ไปจนถึงเรื่องฮอตในโซเชียล “ชายแทร่” และ “I told พระแม่ลักษมี about you” รวมถึงเรื่องบันเทิงอย่าง “มงสามมาแน่” และ “WOKE” มีทั้งศัพท์ใหม่มาแรงอย่าง “ฉ่ำ” และ “คนไทยคนแรก”

ปี 2023 ชาวโซเชียลไทยก็ยังคงประดิษฐ์ “คำศัพท์”​ และวลีฮิตขึ้นมาอย่างไม่หยุดหย่อน จนถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกโซเชียลมากมาย ซึ่งก็มีทั้งคำที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ และเอาคำที่มีอยู่เดิมกลับมาใช้ใหม่ แต่ให้ความหมายที่แตกต่างออกไป สมกับเป็นชนชาติที่มีความรุ่มรวยวัฒนธรรมทางภาษา

กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมคำศัพท์แห่งปีที่ใช้กันในวงกว้าง ที่แสดงให้เห็นว่าในปี 2023 คนไทยเจอสถานการณ์ ผ่านเรื่องราวอะไรกันมาบ้าง รวมถึงความหมายและวิธีการใช้งาน เพื่อนำไปใช้ต่อได้อย่างถูกต้อง ไม่ตกเทรนด์ โดยเรียงลำดับตามตัวอักษร ประกอบไปด้วย

 

  • กี่โมง

ปรกติแล้ว คำว่า “กี่โมง” จะถูกใช้เพื่อถามเวลา (when) แต่ในตอนนี้ชาวโซเชียลได้เพิ่มอารมณ์ (รำคาญ) เวลาใช้คำนี้เข้าไปด้วย โดยใช้ถามว่าด้วยความอยากรู้ว่า จะทำสิ่งนั้นตอนไหน เมื่อไหร่จะทำ มักใช้กับเรื่องที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง หรือรอมานานแล้วแต่ก็ยังไม่เป็นจริงเสียที เช่น บอลไทยจะไปบอลโลกกี่โมง จะเลิกเป็นติ่งกี่โมง เป็นต้น

 

  • คนไทยคนแรก 

หากตีความหมายตามตรงของ “คนไทยคนแรก” จะถูกนำมาใช้ในกรณีที่คนไทยไปสร้างชื่อเสียงเป็นคนแรกของประเทศ แต่ในปัจจุบันชาวเน็ตได้นำคำนี้มาใช้ในความหมายด้านลบ ไว้แซะคนที่คิดว่าเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องพิเศษจนต้องชื่นชม หรือมั่นใจในตนเองว่าเป็น “คนแรก” ที่ได้ทำในสิ่งนั้น แต่ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปรกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร (เผลอ ๆ เขาทำมาก่อนด้วยซ้ำ)

อย่างไรก็ตาม คำนี้ยังถูกใช้ตามความหมายโดยตรงได้อยู่ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องดูบริบทประกอบว่าผู้ใช้ต้องการสื่อสารในความหมายใด

  • เงินดิจิทัล 

เงินดิจิทัล” หมายถึงสกุลเงินที่ใช้บนอินเทอร์เน็ต ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เหตุที่กลายเป็นคำฮิตที่เห็นได้บ่อยหน้าสื่อปีนี้ เนื่องจากเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ที่จะมอบ “ดิจิทัลวอลเล็ต” จำนวน 10,000 บาทให้แก่คนไทยที่มีอายุ 16 ปีทุกคน แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้จะมีเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแจกเงิน อีกทั้งยังไม่แน่ใจว่านโยบายนี้จะทำสำเร็จหรือไม่ เพราะยังต้องผ่านสภาอีกหลายขั้นตอน จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า จะได้เงินดิจิทัลกี่โมง?

 

  • จีนเทา 

จีนเทา” หรือ “ทุนจีนสีเทา” คือ คนจีนที่ทำธุรกิจสีเทา เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำวีซ่าผิดกฎหมาย ลักพาตัว ขายยาเสพติด ค้ามนุษย์ รวมไปถึงธุรกิจเกี่ยวข้องกับ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” (ที่พัก ร้านอาหาร ร้านของฝาก) ที่เป็นการกินรวบรายได้ไว้กับพวกคนจีนด้วยกันเอง 

กลุ่มจีนเทามักจะเข้ามาอยู่ในเมืองไทยในคราบนักท่องเที่ยว ก่อนจะแปลงร่างเป็นนักศึกษาหรืออาสาสมัครเพื่อจะอยู่ในไทยและทำธุรกิจในไทยได้นานขึ้น นอกจากนี้บางคนยังแต่งงานกับคนไทย เพื่อให้คนไทยเป็นนอมินีในการทำธุรกิจอีกด้วย ทั้งนี้ตำรวจและรัฐบาลไทยได้พยายามดำเนินการปราบปราบกลุ่มจีนเทาอย่างจริงจัง

 

  • ฉ่ำ 

ฉ่ำ” ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุไว้ว่า คำวิเศษณ์ที่มีความหมายว่า ชุ่มชื่น, ชุ่มน้ำในตัว แต่ด้วยความสร้างสรรค์ของคนไทยได้นำคำนี้มาใช้ในอีกความหมายว่า มาก, เยอะ, สุด ๆ  โดยใช้ขยายความของคำนามหรือกริยา เช่น วีนฉ่ำ แพงฉ่ำ เป็นต้น  

ฉ่ำเป็นอีกหนึ่งคำที่ควรค่าแก่ตำแหน่ง คำแห่งปี 2023 โดยข้อมูลจากบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า  “ฉ่ำ” เป็นคำที่มีจำนวนการพูดถึงและจำนวนเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด ถึงกว่า 68 ล้านครั้ง  

  • ชาไทย 

หากพูดถึงเครื่องดื่มยอดฮิตที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย คงจะหนีไม่ถึง “ชาไทย” ชาเย็นสีส้มสดใส เข้มข้น หวานมัน ดื่มแล้วสดชื่น เป็นที่ติดอกติดใจคนทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมาเครื่องดื่มนี้ก็ถูกพูดถึงตลอดทั้งปี ตั้งแต่ดราม่าเรื่อง “ลิขสิทธิ์ปังชา” ไล่มาจนถึง สีของชาไทยในไทยกับที่วางขายในต่างประเทศไม่เหมือนกัน เป็นเพราะในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนผสมของ “Sunset Yellow FCF” หรือสีสังเคราะห์ให้สีเหลืองถึงสีส้ม ซึ่งเป็นส่วนผสมในชาไทย

รวมไปถึงประเด็นคลาสสิกที่เป็นที่ถกเถียงและวนเวียนมาทุกปีว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ เรียกว่าอะไรกันแน่ ระหว่าง “ชาไทยเย็น” “ชาเย็น” “ชาส้ม” หรือ “ชานมเย็น” แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไร ใครที่เคยได้ดื่มเมนูนี้ก็ต้องติดใจไปทุกราย

 

  • ชายแทร่ 

ในปี 2022 คำว่า “ชายแท้” ถูกนำมาใช้ในความหมายเชิงลบ หมายถึงบุคคลที่มีบุคลิก ลักษณะนิสัย และทัศนคติที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดปิตาธิปไตย เป็นคนเหยียดเพศ ใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำต่อผู้อื่น และมองว่าตัวเองสำคัญที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อบุคคลรอบข้าง แต่ดูเหมือนว่าคำนี้ยังใช้ตำหนิ (ด่า) คนที่มีลักษณะนี้ได้ไม่ถึงใจ

ดังนั้นในปี 2023 ชาวเน็ตได้ประดิษฐ์คำใหม่ขึ้นมาใช้แทน นั่นก็คือ “ชายแทร่” ซึ่งเป็นการวิบัติเพื่อเสียงให้ได้อรรถรส ใส่เสียง ร เข้ามาและเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์เพื่อให้ได้อารมณ์ยิ่งขึ้น 

 

  • ช็อกมินต์ 

เครื่องดื่มที่มาแรงในช่วงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านคงจะหนีไม่พ้น “มินต์ช็อกโกแลต” หรือที่คนไทยเรียกย่อ ๆ ว่า “มินต์ช็อก” หรือบางทีก็สลับเป็น “ช็อกมินต์” เมนูโปรดของ “อุ๊งอิ๊ง - แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จนกลายเป็นเครื่องดื่มประจำตัว ปลุกกระแส “มินต์ช็อกฟีเวอร์” ชาวโซเชียลหลายคนแห่ตามไปลองลิ้มรสของเครื่องดื่มนี้ 

ขณะเดียวกัน มินต์ช็อกกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของพรรคเพื่อไทย และใช้รับรองนักการเมืองจากพรรคต่าง ๆ ที่เข้าหารือการจัดตั้งรัฐบาล จนถูกเรียกว่าเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ไปแบบงง ๆ 

 

  • ช็อตฟีล 

อีกหนึ่งคำที่มาแรงในปีนี้ คือ “ช็อตฟีล” ซึ่งเป็นการรวมคำระหว่างคำว่า “ช็อต” จากไฟช็อต และ คำว่า “ฟีล” (feel) ที่แปลว่าความรู้สึก จนกลายเป็นคำนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษทั้งสองคำ แต่ความจริงแล้ว คำนี้เกิดจากการรังสรรค์ของชาวเน็ตไทยใช้เมื่อโดนคอมเมนต์เบรกอารมณ์ หรือหักหน้าจนหน้าชา เสมือนโดนไฟฟ้าช็อต ซึ่งภายหลังก็พัฒนาไปเป็น ไฟฟ้าแสนโวลต์ โรงงานไฟฟ้า โรงงานนิวเคลียร์ ในกรณีที่คอมเมนต์นั้นรุนแรงเกินคำว่าช็อตฟีล  

 

  • ซอฟต์พาวเวอร์ 

ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นหนึ่งคำที่มีการถกเถียงหาความหมายมากที่สุดในปี 2023 ว่าตกลงแล้วมันคืออะไรกันแน่ ทำไมทุกอย่างถึงกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ ตั้งแต่กางเกงช้าง หมูกระทะ ช็อกมินต์ ละครไทย หนังไทย เทศกาลต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลต่างให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ จนกลายเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของภาครัฐภายใต้ชื่อ “ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

ปัจจุบันมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาให้ความหมายเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ไว้อย่างมากมาย แต่ความหมายแบบไทย ๆ ที่ผู้คนเข้าใจกันมากที่สุด ซอฟต์พาวเวอร์ หมายถึง อะไรก็ตามที่มีความเป็นไทย หรือสามารถสอดแทรกความเป็นไทยลงไปได้ และสามารถส่งออกไปให้ชาวต่างชาติสนใจได้

 

  • มงสามมาแน่ 

ปี 2024 เป็นอีกหนึ่งปีที่คนไทยเชียร์นางงามอย่างสนุกสนาน มีลุ้นตำแหน่ง “นางงามจักรวาล” (Miss Universe) เพราะตัวแทนสาวไทยอย่าง “แอนโทเนีย โพซิ้ว” ดีเหลือเกิน ครบเครื่อง ศักยภาพเต็มเปี่ยม พร้อมใช้งาน ทำให้คนไทยเชียร์แบบไม่เผื่อใจ คิดว่าอย่างไรก็ได้ตำแหน่งอย่างแน่นอน จนทำให้วลี “มงสามมาแน่” กลับมาฮอตฮิตอีกครั้ง

แม้สุดท้ายแล้ว แอนโทเนียจะจบลงที่ตำแหน่งรองมิสยูนิเวิร์สอันดับ 1 ท่ามกลางความเสียดายของคนไทยทั้งประเทศ เชื่อว่าแอนโทเนียได้กลายเป็นนางงามจักรวาลในใจของใครหลายคนไปแล้ว

 

  • ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึง 

ในบางครั้งที่เจอกับคนประเภทคนที่เก่งเสมอ ทำอะไรไม่เคยผิดพลาด ถูกตลอด รวมไปถึงเหล่าคนไทยคนแรก และเหล่าชายแทร่ ที่ชอบกดคนอื่นให้อยู่ต่ำกว่า พูดอะไรไปก็ไม่เข้าใจ เถียงกลับทุกคำ ชาวเน็ตมักจะใช้ประโยค “ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึง” ไว้ตอบโต้ประชดประชันคนประเภทนี้เสมอ เพราะว่า ความภูมิใจของพวกเขาคือการได้เห็นคุณแม่อยู่บนยอดพิระมิดแห่งความเก่ง ที่หาใครเทียบเทียมไม่ได้

 

  • วาสนาผู้ใดหนอ 

เมื่อเห็นรูปคนที่หน้าตาดี เป็นที่ถูกอกถูกใจ โดยเฉพาะกับดารา นักแสดง ศิลปินไอดอล เหล่าชาวเน็ตก็จะคอมเมนต์ด้วยคำว่า “วาสนาผู้ใด๋น้อ” หรือ “วาสนาผู้ใดหนอ” ซึ่งเป็นภาษาอีสาน ใช้ถามว่าใครจะได้เป็นแฟนกับคนหน้าตาดี เพอร์เฟค ระดับพรีเมียมขนาดนี้ คำนี้ให้ความรู้สึกน่ารักมากกว่าจะใช้ในแง่การคุกคาม หรือ มีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง แต่เป็นการถามในลักษณะที่รู้ทั้งรู้ว่าเขาอยู่ไกลเกินเอื้อม 

นอกจากนี้ แฟนคลับของคู่ชิปต่าง ๆ (นักแสดง หรือศิลปินไอดอลที่แฟนคลับจับคู่ให้เป็นแฟนกัน) ต่าง ๆ ก็ใช้คำนี้สำหรับอวยเมนของตนเอง โดยมักใช้คู่กันเป็น วาสนาผู้ใด๋น้อ - วาสนา (แทนคู่ชิป) อีกทั้งคำนี้ยังถูกนำไปแต่งเป็นเพลง วาสนาผู้ใด ของ Parkmalody ที่ฮิตอยู่ในโซเชียลมีเดียอีกด้วย

 

  • I told พระแม่ลักษมี about you 

สายมูมักนิยมไปขอพร “พระแม่ลักษมี” ให้ทำมาค้าขึ้น ร่ำรวย เงินทองไหลมาเทมา แต่ตอนหลังก็มีคนไปขอ “เนื้อคู่” กับพระแม่ด้วย ซึ่งพระแม่ก็ประทานคู่ตุนาหงันมาให้แบบตรงบรีฟเป๊ะ ชนิดก๊อปวาง ชาวเน็ตก็เลยมารีวิวลงโซเชียลต่าง ๆ ผ่าน #Itoldพระแม่ลักษมีaboutyou เหล่าคนโสดที่อยากมีแฟน ก็เลยตั้งหน้าตั้งตาไปขอพรเผื่อจะได้คู่กับเค้าบ้าง ขณะที่บางคนที่ยังไม่ได้ไปขอคู่ แต่อยากมีส่วนร่วมกับเทรนด์นี้ ก็ขอโพสต์รูปเมนสุดที่รัก ผู้เป็นต้นแบบของเนื้อคู่ที่อยากได้พร้อมแคปชันนี้ไปพลาง ๆ ก่อน

 

  • WOKE  

 “Woke” แปลว่า การตื่นรู้ทางการเมือง หรือ ตาสว่าง ซึ่งในตอนแรกถูกในการประท้วงเรียกร้องสิทธิของคนผิวสี ต่อต้านการเหยียดสีผิว แต่ภายหลัง Woke ถูกนำไปใช้ในบริบทที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ รวมถึงประเด็นต่อต้านความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ในระยะหลังที่ความเท่าเทียมและความเสมอภาคกลายเป็นเทรนด์ แบรนด์ต่าง ๆ ก็จับกระแสนี้ด้วย พอ Woke ถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนหลายคนมองว่าถูก “ยัดเยียด” และใช้คำว่า Woke ในทำนองแซะ ประชดประชันว่า “จ้า รู้แล้วจ้า ตื่นรู้เหลือเกิน” อย่างเช่น ดิสนีย์ที่โดนบ่นว่าผลงานในปีที่ผ่านมา Woke กับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติเกือบทุกเรื่อง

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจรวบรวม

กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง คัดมาแล้ว ‘คำแห่งปี’ 2023 ฉบับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ รวมเด็ดทุกประเด็น