อัปเดต “ศัพท์ฮิต” ในโลกโซเชียล รับ “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

อัปเดต “ศัพท์ฮิต” ในโลกโซเชียล รับ “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

มัดรวมมาให้แล้ว! “ศัพท์ฮิต” ที่กำลังเป็นที่นิยมใช้ในโลกโซเชียล พร้อมความหมาย รับ “วันภาษาไทยแห่งชาติ” 29 ก.ค. 2566

“วันภาษาไทยแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 29 ก.ค.ของทุกปี มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย พร้อมทั้งร่วมกันส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมของประเทศไทย

มีคำกล่าวว่า “ภาษาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าภาษานั้นตายไปแล้ว” ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ จะมีคำศัพท์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นใน “ภาษาไทย” ตลอด โดยในเฉพาะในปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียช่วยให้กลุ่มคนต่าง ๆ สามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยง่าย เกิดเป็น “วัฒนธรรมย่อย” มากมาย ซึ่งในแต่ละวัฒนธรรมย่อยนั้นก็จะมีการคิดค้นคำศัพท์ต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้สื่อสารกัน ซึ่งก็มีหลายคำที่กลายเป็น คำฮิต ขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ

เนื่องในโอกาส “วันภาษาไทยแห่งชาติ” จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ “กรุงเทพธุรกิจ” จะรวบรวม ศัพท์ฮิต ที่นิยมใช้ในโลกออนไลน์ประจำปี 2566 มาให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความหมาย และลองนำไปใช้ตาม

 

15 ศัพท์ฮิต 2566 รับ วันภาษาไทยแห่งชาติ

  1. กรี๊ดสิครับ

“สรยุทธ สุทัศนะจินดา” คนข่าวอันดับ 1 ของประเทศ ได้ให้กำเนิดมีมระดับชาติอย่าง “กรี๊ดสิครับ” ที่มาจากคำพูดของเขาในรายการ “คุยนอกจอ” เพื่อโต้กลับเหล่าแอนตี้แฟนที่มาคอมเมนต์ในไลฟ์ของรายการ

ภายหลังสรยุทธ ได้ให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พูดประโยคดังกล่าวด้วยเช่นกัน จนกลายเป็นไวรัลอีกรอบ และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย “กรี๊ดสิครับ” ใช้ในกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามมาคอมเมนต์แบบเสีย ๆ หาย ๆ หรือพยายาม “ดิ้น” ในข่าวต่าง ๆ สามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะข่าวการเมืองเท่านั้น

อัปเดต “ศัพท์ฮิต” ในโลกโซเชียล รับ “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

  1. ขนาดผมเป็นชายแท้ยังชอบเลย

แม้ว่า K-POP จะเป็นแนวเพลงที่ใคร ๆ ก็ฟังได้ แต่หลายคนยังคิดว่าคนที่ชื่นชอบเพลง K-POP จะต้องเป็นผู้หญิงหรือกลุ่ม LGBTQ+ เห็นได้จากคอมเมนต์หนึ่งในมิวสิควิดีโอของเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลี ที่ระบุว่า “ขนาดผมเป็นชายแท้ยังชอบเลย” เป็นการออกตัวเอาไว้ว่าตนเองเป็นผู้ชายที่ไม่ได้ฟังเพลงเกาหลี แต่พอมาเห็นเพลงนี้กลับชอบ ขณะที่คนส่วนใหญ่แซวว่า เจ้าของคอมเมนต์อาจไม่ใช่ผู้ชาย เพราะไม่มีผู้ชายคนไหนเรียกตัวเองว่า “ชายแท้”

ไม่มีใครรู้ว่าเจ้าของคอมเมนต์เป็นชายแท้หรือไม่ แต่วลีนี้ถูกกลุ่ม LGBTQ+ ใช้แซวตัวเองเวลาเห็นรูปภาพผู้ชายที่ถูกใจ หรือ ชอบคอนเทนต์ที่มีความเป็นหญิงสูง เช่น บาร์บี้ เซเลอร์มูน ก็จะคอมเมนต์ลงไปว่า “ขนาดผมเป็นชายแท้ยังชอบเลย” นั่นเอง

 

  1. คนไทยคนแรก

หากตีความหมายตามตรงของ “คนไทยคนแรก” จะถูกนำมาใช้ในกรณีที่คนไทยไปสร้างชื่อเสียงเป็นคนแรกของประเทศ แต่ในปัจจุบันชาวเน็ตได้นำคำนี้มาใช้ในความหมายด้านลบ เชิงแซะคนที่คิดว่าบุคคลหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องพิเศษจนต้องชื่นชม หรือมั่นใจในตนเองว่าเป็น “คนแรก” ที่ได้ทำในสิ่งนั้น แต่ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปรกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร 

ทั้งนี้ คำนี้ยังถูกใช้ตามความหมายโดยตรงอยู่ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องดูบริบทประกอบว่าผู้ใช้ต้องการสื่อสารในความหมายใด

  1. คนละมักกะโรนีกัน

การแผลงคำเป็นหนึ่งวิธีที่คนไทยใช้สร้างสรรค์คำศัพท์ขึ้นมาใหม่ โดยใช้คำที่มีความหมายอยู่แล้ว มาผสมกับคำเดิม แต่ยังคงรักษาความหมายเดิมหรือเค้าความเดิมอยู่ เพื่อให้ได้อรรถรสในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันคำแผลงที่สามารถพบเห็นได้บ่อยในทวิตเตอร์ คือคำว่า “คนละมักกะโรนีกัน” ซึ่งมาจากคำว่า “คนละกรณีกัน” รวมกับคำว่า “มักกะโรนี” แต่ยังคงความหมายว่า เป็นคนละกรณีกัน เอาไว้อยู่ มักใช้ในเชิงแซะผู้อื่น เช่น เมื่อเห็นว่าคนอื่นทำผิดตนเองก็จะด่า แต่พอตัวเองทำเองบ้างกลับพูดว่าเป็นคนละมักกะโรนีกัน

อีกคำที่เริ่มพบเห็นบ่อยขึ้นคือ คำว่า “ดิจิม่อน ฟุตลองชีส” หรือ “ดิจิม่อน ฟรุตตี้” ที่มาจากคำว่า “ดิจิทัล ฟุตปรินท์” (Digital Footprint) หรือรอยเท้าบนโลกดิจิทัล ที่เป็นประวัติการใช้งานในโลกออนไลน์ของแต่ละบุคคลหรือแบรนด์ นอกจากนี้ คำแผลงประเภทเพิ่มพยัญชนะเข้าไป ก็เป็นที่นิยมในหมู่ทวิตเตี้ยนอีกด้วย เช่น อ่อจร้า จย้าาาา เป็นต้น

ทั้งนี้คำแผลงในปัจจุบันมักเป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อแสดงความรู้สึก ด้านอารมณ์ มากกว่าการเพิ่มคำเพื่อใช้ในการประพันธ์ หรือหลากคำ

 

  1. ฉ่ำ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของ “ฉ่ำ” ในว่า เป็นคำวิเศษณ์ที่มีความหมายว่า ชุ่มชื่น, ชุ่มน้ำในตัว แต่ด้วยความสร้างสรรค์ของคนไทยได้นำคำนี้มาใช้ในอีกความหมายว่า มาก หรือ เยอะ โดยใช้ขยายความของคำนาม หรือกริยาอีกที

 

  1. ชายแท้ 100%

“ร้องข้ามกำแพง” เป็นหนึ่งในรายการที่โด่งดังมากที่สุดในปัจจุบัน และได้สร้างคำฮิตของปีนี้ไว้ด้วย เมื่อ “เอม ตามใจตุ๊ด” ได้ไปออกรายการ และพูดว่าตนเองเป็น “ชายแท้ 100%” เพื่อปิดบังตัวตน แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร กลับกลายเป็นโป๊ะ ถูกจับได้ว่าเป็น LGBTQ+ เพราะไม่มีผู้ชายคนไหนเรียกตัวเองว่า ชายแท้ แถมยังบอกเปอร์เซ็นต์ต่อท้าย ดังนั้น ชายแท้ 100% จึงถูกนำมาใช้แซวกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยกัน ในกรณีที่พยายามแอ๊บแมนนั่นเอง

 

  1. ดอทคอม

“ดอทคอม” เป็นคำที่ย่อมาจาก “เสร่อแดกดอทคอม” (ซึ่งจริง ๆ ต้องสะกดว่า สะเหล่อ) ใช้เรียกคนที่เซ่อซ่า ทำอะไรทะเล่อทะล่า ทำตัวแปลก ๆ พยายามแสดงตัวให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน พยายามแสดงตัวหรือความเห็นทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครร้องขอ หรืออาจจะเรียกว่า เสนอหน้าก็ได้ 

หากบุคคลหรือการกระทำนั้นสะเหล่อมาก ๆ ก็จะมีการเติมคำสร้อยต่อท้ายเข้าไปด้วย เช่น ดอทซีโอดอททีเอช ดอทโออาร์จี ซึ่งคำเหล่านี้ล้วนเป็นนามสกุลโดเมนเว็บไซต์ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน

 

  1. ตัวมารดา ตัวคลอดบุตร ตัวสูตินารี

หนึ่งในยูทูบเบอร์ที่แจ้งเกิดอย่างสวยงามในปีนี้คงจะต้องมีชื่อ “เอิร์ธฐา” (Aertha) อดีตแพทย์ที่ผันตัวมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ทำคอนเทนต์รีแคป หรือการแสดงความคิดเห็นที่มีต่อสื่อบันเทิงต่าง ๆ โดยผลงานแจ้งเกิดของเอิร์ธฐา มาจากการรีแคปละครเรื่อง “The Interns หมอมือใหม่” ซึ่งมาพร้อมกับประโยคที่ว่า “รินรดา เธอมันเริ่ด ตัวแม่ ตัวปัง” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่เป็นที่สุด เริ่ดมากไม่ไหว 

ในภายหลังได้มีการเพิ่มขั้นกว่าของคำว่า “ตัวแม่” นั่นก็คือคำว่า ตัวมารดา ตัวคลอดบุตร ตัวสูตินารี ซึ่งอันที่จริงแล้วทุกคำล้วนมีแต่ความหมายว่าแม่ แต่เป็นคำที่ดูยิ่งใหญ่อลังการกว่า (และยาวกว่า) นั่นเอง

 

  1. ปล่อยจอย

อันที่จริง “ปล่อยจอย” ไม่ใช่คำใหม่อะไร มีมานานแล้ว แต่พึ่งกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งเมื่อ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ทวีตข้อความถามชาวทวิตเตอร์ว่า ปล่อยจอย แปลว่าอะไร ซึ่งเหล่าทวิตเตี้ยนก็รวมใจให้ความหมายของคำนี้ว่า ปล่อยใจ ไม่ต้องคิดมาก ช่างมัน 

ที่มาของคำว่าปล่อยจอย มีด้วยกัน 2 แบบ แบบแรกจะบอกว่ามาจากวงการเกม โดยจอยในที่นี้คือ “จอยสติ๊ก” (Joystick) ดังนั้นปล่อยจอย จึงใช้ในกรณีที่ รู้ชะตากรรมว่าแพ้แล้ว สู้ไม่ได้ ก็จะปล่อยคันบังคับเกม ปล่อยให้อีกฝ่ายสู้คนเดียว ขณะที่อีกสายจะมาจากกลุ่ม LGBTQ+ ที่จอยมาจากคำว่า “เอ็นจอย” (Enjoy) ในภาษาอังกฤษ แต่ไม่ว่าจะมีที่มาจากไหนก็มีความหมายเช่นเดียวกัน

อัปเดต “ศัพท์ฮิต” ในโลกโซเชียล รับ “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

 

  1. แม่น้องออนิว

“แม่น้องออนิว” เป็นอีกคำที่มาแรงในปีนี้ เห็นได้จากโซเชียลทุกแพลตฟอร์ม โดยเป็นคำที่ใช้เรียก กลุ่มวัยรุ่น “ทรงซ้อ” ที่เป็นเจ้าของ หรือมีแฟนขับรถกระบะ ออลนิว อีซูซุ ดี-แม็กซ์ ที่แต่งกระบะซิ่งทั้งคัน นอกจากนี้หลายคนก็ตั้งชื่อลูกของตัวเองว่า “น้องออนิว” ตามรถรุ่นฮิตด้วยเช่นกัน แต่อันที่จริงแล้วคำนี้มักถูกใช้ในเชิงเหยียดมากกว่า

สำหรับคำว่า ออลนิว (All-New) ที่ใช้ในวงการรถยนต์จะหมายถึงการปรับโฉมและเพิ่มสมรรถนะของรถยนต์รุ่นใหม่ที่เปิดตัวในแต่ละปี

 

  1. ไม่สมประดี  

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุไว้ว่า สมประดี, สมฤดี หรือสมฤๅดี ว่ามาจาก สมฤติ स्मृति ในภาษาบาลี หมายถึง สติ, ความรู้สึกจำได้ ดังนั้นไม่สมประดีจึงแปลว่า ไม่มีสติ ไม่ปรกติ ถึงแม้จะเป็นคำที่ดูเก่า ใช้ในหนังสือหลายเล่ม แต่ก็เป็นที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดียขณะนี้

 

  1. เลยหรอ? 

หลังจากที่ ปิยบุตรได้รู้ความหมายของคำว่าปล่อยจอยไปแล้ว คราวนี้เขาได้ทวีตถามต่อว่า “เลยหรอ?” แปลว่าอะไร ซึ่งพี่น้องชาวทวิตก็ได้มารีพลายให้คำตอบว่า คำนี้ย่อมาจาก “ขนาดนั้นเลยหรอ” ซึ่งแปลว่า จริงหรอ ใช่หรอ หากเทียบเป็นภาษาอังกฤษก็จะเหมือนกับ Really? ซึ่งมักใช้ในเชิงไม่แน่ใจ หรือไม่เห็นด้วยกับผู้พูดเท่าไหร่นัก

อัปเดต “ศัพท์ฮิต” ในโลกโซเชียล รับ “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

 

  1. วาสนาผู้ใด๋น้อ 

เมื่อเห็นรูปคนที่หน้าตาดี เป็นที่ถูกอกถูกใจ โดยเฉพาะกับดารา นักแสดง ศิลปินไอดอล เหล่าชาวเน็ตก็จะคอมเมนต์ด้วยคำว่า “วาสนาผู้ใด๋น้อ” ซึ่งเป็นภาษาอีสาน ถามว่าใครจะได้เป็นแฟนกับคนหน้าตาดี เพอร์เฟค ระดับพรีเมียมขนาดนี้ โดยไม่ได้ใช้ในแง่การคุกคาม หรือ มีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง แต่เป็นการถามในลักษณะที่รู้ว่าเขาอยู่ไกลเกินเอื้อม

นอกจากนี้ แฟนคลับของคู่ชิปต่าง ๆ  (นักแสดง หรือศิลปินไอดอลที่แฟนคลับจับคู่ให้เป็นแฟนกัน) ต่าง ๆ ก็ใช้คำนี้สำหรับอวยเมนของตนเอง โดยมักใช้คู่กันเป็น วาสนาผู้ใด๋น้อ - วาสนา (แทนคู่ชิป)

 

  1. สรวน 

“สรวน” เป็นอีกหนึ่งคำที่ถูกใช้มานานแล้ว แต่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในปัจจุบัน เห็นได้จากที่มีวงดนตรีใช้ชื่อว่าสรวน ก่อตั้งมาแล้วร่วมศตวรรษ ซึ่งทางวงได้ให้ที่มาของคำนี้ว่า เกิดจากการรวม 2 คำเข้าด้วยกัน คือ รวน และ สะเหล่อ มีความหมายว่า อาการมึนงง ไม่มีสติอยู่กับตัว ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ โดยในปัจจุบันก็ยังคงความหมายเดิมไว้

 

  1. หวาน  

“หนูรัตน์ ธิดาพร” เป็นเน็ตไอดอลอีกหนึ่งคนที่สร้างศัพท์ใหม่ให้แก่ชาวโซเชียลได้นำมาใช้เสมอ โดยในคราวนี้ขอเสนอคำว่า “หวาน” ซึ่งมาจากเหตุการณ์ที่หนูรัตน์ต่อว่า คนชื่อหวาน ที่มากล่าวหาว่าเธอโกหก ดังนั้นจึงเป็นที่รู้กันในหมู่ชาวเน็ตว่า หวาน มีความหมายถึง คนโกหก พูดไม่จริง นั่นเอง

นอกจาก หวานแล้ว ยังมี “หวานเจี๊ยบ” อีกคำที่นิยมใช้ในโซเชียลตอนนี้ โดยมีที่มาจากเทรนด์ใน TikTok ที่เล่นมุกเสี่ยวจีบหญิงแล้วต่อท้ายด้วย “โอ้โหเธอหวานเจี๊ยบ” ต่อมา “แจ๊ส ชวนชื่น” นำมุกนี้มาเล่นในรายการ “ก็มาดิคร้าบ” ยิ่งทำให้กลายเป็นกระแสไปอีก ดังนั้นหวานเจี๊ยบจึงทำหน้าที่เป็นคำลงท้ายสำหรับเล่นมุกจีบสาว

 

ภาพรวมของแวดวงคำศัพท์ฮิตปีนี้มีทั้งที่คิดขึ้นมาใหม่และมีทั้งนำคำเก่ากลับมาใช้ใหม่ มีทั้งคำสแลง คำแผลง การตัดคำให้สั้นลง เพื่อใช้สำหรับบริภาษสังคมและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในสังคม ซึ่งคำส่วนมากมักเกิดขึ้นมาสำหรับการใช้เฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มแฟนคลับ กลุ่ม LGBTQ+ ที่จะลุกลามเข้าไปสู่กระแสหลัก จนถูกนำไปใช้ในกลุ่มคนทั่วไป

ปัจจุบันมีมีศัพท์เกิดใหม่มาแทบทุกวัน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องคอยอัปเดตศัพท์ใหม่ ๆ อยู่บ้าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มอรรถรสในการสื่อสาร แต่อย่าใช้กันจน “สนุกปาก” จนเลยเถิด กลายเป็นการบูลลี่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว


กราฟิก: จิรภิญญาน์ พิษถา

อัปเดต “ศัพท์ฮิต” ในโลกโซเชียล รับ “วันภาษาไทยแห่งชาติ”