"K-POP" 101 เรียนรู้ 12 คำศัพท์ ฉบับชาว "แฟนคลับเกาหลี"

"K-POP" 101 เรียนรู้ 12 คำศัพท์ ฉบับชาว "แฟนคลับเกาหลี"

ชวนรู้ความหมายของ 12 คำศัพท์ ที่ชาวแฟนคลับศิลปินเกาหลี หรือ “K-POP” ในไทยนิยมใช้บนโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะใน "ทวิตเตอร์"

วงการเพลงเกาหลี หรือ “K-POP” เริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงยุค 2000 และได้รับความนิยมในประเทศอย่างมากเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และจำนวนแฟนคลับของศิลปินเกาหลีได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามกาลเวลาและจำนวนศิลปิน เห็นได้จากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานักแสดง ศิลปินชาวเกาหลีใต้ได้ประกาศแฟนมีตติ้ง และคอนเสิร์ตใหญ่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มผู้ชื่นชอบและแฟนคลับทั้งศิลปิน นักแสดงและซีรีส์เกาหลี ได้รวมตัวกันในสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “ทวิตเตอร์” จนกลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมย่อยของประเทศไทย และมีการคิดค้นคำศัพท์ไว้ใช้สื่อสารกันภายในกลุ่มแฟนคลับ ซึ่งหลายคำได้ถูกนำมาใช้กันทั่วไปอย่างแพร่หลาย รวมถึงในกลุ่มแฟนคลับของศิลปิน นักแสดงไทยและชาติตะวันตก

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงได้รวบรวมคำศัพท์ที่แฟนคลับศิลปินเกาหลี นิยมใช้ในทวิตเตอร์ รับรองว่าสามารถช่วยอ่านทวิตรู้เรื่อง และเอาไปใช้ต่อได้อย่างถูกต้องแน่นอน

เมน 

เมน” ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า Main ที่แปลว่า หลัก สำคัญ แต่ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “Bias” แทน เป็นคำที่ใช้สำหรับเรียกสมาชิกวงที่ตัวเองชอบที่สุดในวง ซึ่งในหนึ่งวง แฟนคลับแต่ละคนอาจจะมี เมน มากกว่าหนึ่งคนก็ได้ หรืออาจจะมีเมนหลายคนจากหลายวงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยส่วนมากแล้วแฟนคลับจะเลือกเก็บสะสมของที่ระลึกต่าง ๆ ที่เป็นรูปของเมนตัวเองเป็นหลัก เช่น โฟโต้การ์ด หรือ สินค้าที่เมนไปเป็นพรีเซ็นเตอร์

ตัวอย่างการใช้: เธอ ฉันมีเมนหลายคน เอาคนไหนละ ถ้า ENHYPEN เมนฉันคือน้องเจค กับ ฮีซึง แต่ถ้า The Boyz คือ จูฮักนยอน กับ ยองฮุน เอริคด้วย

เมนรอง 

เนื่องด้วยบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปหลายวงนั้นมีจำนวนสมาชิกมาก ทำให้แฟนคลับอย่างเรา ๆ ทนความน่ารักของพวกเขาหรือเธอไม่ไหว ทำให้เกิด “เมนรอง” หรือ สมาชิกวงที่ชื่นชอบรองลงมาจากเมน โดยส่วนมากแล้ว แฟนคลับก็จะให้การสนับสนุนเมนรองด้วยเช่นกัน แต่อาจจะไม่ได้มากเท่ากับเมนของตน

ตัวอย่างการใช้: Golden Child มีตั้ง 10 คน ถึงจะมีโบมิน กับ จีบอมเป็นเมนแล้ว เวลาจูชานกับดงฮยอนตีกันก็น่ารักดี แล้วฉันจะทนไหวหรอ ก็ต้องเอามาเป็นเมนรองไหมละ

เหนือเมน 

แม้ว่าเราจะมีเมน และเมนรองเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็มักจะมีสมาชิกในวงบางคนที่บางครั้งก็ทำให้จิตใจหวั่นไหว จนเผลอแอบปันใจจากเมนไปกรี๊ดกร๊าดอยู่บ้าง ซึ่งสมาชิกที่ทำให้เกิดอาการหวั่นไหวทั้งที่ไม่ใช่เมนตัวเอง จะเรียกว่า “เหนือเมน” หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Biaswrecker แม้จะหวั่นไหวไปบางในบางที แต่ตำแหน่งในใจอย่างไรเมนก็ต้องมาก่อนเสมอ

ตัวอย่างการใช้: แก เหนือเมนมันมีจริง ๆ นะ ดูโจชัว (Seventeen) ดิ ตาหวานขนาดนั้น หลงหัวปักหัวปำ

 

ด้อม 

ด้อม” หรือ “แฟนด้อม” มาจากคำว่า Fandom เกิดจากการรวมกันของคำว่า Fanclub (แฟนคลับ) และ Kingdom (อาณาจักร) กลุ่มแฟนคลับของศิลปิน โดยศิลปินแต่ละวงก็จะมีชื่อด้อมเป็นของตัวเองและมีความหมายที่ลึกซึ้ง 

อย่างเช่น “BTS” จะเรียกว่า ARMY มี 2 ความหมายด้วยกัน อย่างแรก คือ ARMY ในภาษาอังกฤษหมายความว่ากองทัพทหาร ส่วนตัว BTS หรือ บังทัน แปลว่าเสื้อเกราะกันกระสุน ซึ่งทหารและเสื้อเกราะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันตลอด เช่นเดียวกับ BTS ที่จะอยู่กับแฟนคลับตลอดไป

อีกความหมาย A.R.M.Y. นั้นย่อมาจาก Adorable Representative M.C. for Youth ที่แปลว่า ตัวแทนพิธีกรที่น่าชื่นชมสำหรับวัยรุ่น เนื่องจากลุ่มแฟนคลับจะเป็นกระบอกเสียงส่งต่อเรื่องราวที่ BTS ถ่ายทอดไปสู่สังคม

ตัวอย่างการใช้: ด้อมเราก็ไม่แพ้ใครนะ ซื้อบัตรคอนหมดภายในไม่กี่นาทีเนี่ย เก่งมาก

คีปเมน 

คีป ในที่นี้มาจากคำว่า Keep ในภาษาอังกฤษที่แปลว่าเก็บไว้ รักษาไว้ เมื่อรวมกับคำว่าเมน “คีปเมน” หรือ “คีพเมน” จึงแปลว่าสนับสนุนผลงานเมนของตนเองเป็นหลัก ไม่ได้ติดตาม สนับสนุนผลงานวงหรือสมาชิกคนอื่นในวงมากนัก นอกจากนี้จะมีอีกหนึ่งคำที่อยู่คู่กันคือ “คีปวง” หรือ “คีพวง” มีความหมายว่าสนับสนุนผลงานในนามของวง และผลงานเดี่ยวของสมาชิกทั้งวง

ตัวอย่างการใช้: เอาจริงฉันก็อยากคีปวงนะเธอ แต่ตอนนี้ขอคีปเมนก่อน ไม่มีเงินซัพพอร์ตแล้วจ้า หนูจน

 

โดนตก 

อันที่จริงแล้ว “โดนตก” นี้ถูกใช้ครั้งแรกจากทางฝั่งแฟนคลับ J-POP มาจากคำว่า 釣られた ในภาษาญี่ปุ่น ที่แปลว่าตกปลา ใช้ในเวลาที่โดนสมาชิกวงทำให้ชื่นชอบ ซึ่งจะกลายมาเป็นเมน หรือ เหนือเมนในภายหลัง เปรียบเสมือนกับโดนเหล่าไอดอลใช้ท่าทางที่น่ารักเป็นเหยื่อล่อเหล่าแฟนคลับ ขณะที่ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Hook 

อย่างไรก็ตาม เดิมที โดนตก นั้นจะถูกใช้ในกรณีที่แฟนคลับได้พบกับไอดอลแบบตัวต่อตัว หรือเห็นตัวเป็น ๆ ตามงานอีเวนต์ต่าง ๆ แต่ในปัจจุบัน แค่เห็นรูปหรือคลิปของไอดอลที่ทำให้ใจละลายก็สามารถใช้คำว่าโดนตกได้เช่นกัน

ตัวอย่างการใช้: เมื่อกี้เห็นรูปน้องในทวิต คือน่ารักมาก ฉันว่าฉันโดนน้องตกแล้วละ 

ขาย 

ขาย” มีความหมายที่ใกล้เคียงกับความหมายโดยตรงของคำว่าขายอยู่แล้ว เพียงแต่ขายในที่นี้ เป็นการนำเสนอศิลปิน เมน เมนรอง หรือเหนือเมน ของตนให้กับคนรอบข้าง รวมถึงในทวิตของตน หรือรีพลายทวิตที่เกี่ยวกับไอดอลของเราก็ตาม ซึ่งสามารถตั้งแผงขายศิลปินของเราได้ด้วยการนำเสนอผลงานเพลง เอ็มวี เพอร์ฟอร์มแมนซ์สุดเท่ สุดปัง หรือจะวิดีโอ รูปภาพของไอดอลอิริยาบถน่ารัก ๆ ก็ได้เช่นกัน

ตัวอย่างการใช้: มีแต่คนถามว่า คนร้องไห้ที่หล่อ ๆ คนนั้นคือใคร ขออนุญาตตั้งแผงขายนะฮะ น้องชื่อ ยองฮุน อยู่วง The Boyz จ้า

ชิป 

ชิป” เป็นอาการที่แฟนคลับเอาสมาชิกไอดอลที่ชอบ หรือไอดอลที่สนิทกันมาจับคู่กัน แล้วคิดไปว่าเป็นคู่รักกัน คล้ายกับคำว่า “จิ้น” โดยสันนิษฐานว่าคำว่า ชิป ของไทยนั้นมาจากการย่อคำว่า “Relationship” (ความสัมพันธ์) โดยเรียกคู่ไอดอลที่ถูกจับคู่ว่า “คู่ชิป” ส่วนแฟนคลับที่เป็นคนชิป เรียกว่า “ชิปเปอร์” (Shipper) ขณะที่ในภาษาอังกฤษก็มีคำว่า ชิป เช่นกัน แต่มาจากคำว่า “Shipping” ซึ่งมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 90 เริ่มจากซีรีส์เรื่อง The X-Files

เนื่องจาก ชิป พ้องเสียงกับคำว่า Ship ที่แปลว่า “เรือ” แฟนคลับชาวไทยจึงได้คิดค้นคำศัพท์ใหม่ขึ้นเกี่ยวกับทั้งชิปและเรือ ไม่ว่าจะเป็น “เรือหลัก” หมายถึง คู่ชิปที่มีคนติดตามเป็นจำนวนมาก, “เรือผี” หมายถึง คู่ชิปที่ไม่ใช่คู่หลัก ไม่ค่อยมีคนชิป “เรือแล่น” หมายถึง เวลาที่คู่ชิปอยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน เปรียบเสมือนกับเรือที่กำลังแล่น

เรือล่ม” หมายถึง คู่ชิปที่รู้ตัวว่ามีคนชิป แล้วพยายามทำตัวห่างเหินกับคู่ชิป หรือปฏิเสธการสร้างภาวะการชิปให้เกิดขึ้น, “กัปตันเรือ” หมายถึง คู่ชิป หรือ สมาชิกคนอื่นในวงที่เป็นคนสร้างสถานการณ์ให้แฟนคลับนำมาชิปได้

ตัวอย่างการใช้: คู่นี้หรอ นี่ไม่ต้องชิปแล้วมั้ง เป็นเรือหลักขนาดนั้น จากเมื่อก่อนที่ล่มเรือเป็นว่าเล่น ตอนนี้กลายเป็นกัปตันเรือไปแล้ว

โพ

โพ” ย่อมาจากคำว่า “Position” ใช้เรียกมุมมองที่แฟนคลับมีต่อศิลปิน เช่น โพน้อง คือ เห็นว่าไอดอลเป็นน้อน (กร่อนเสียงมาจากน้อง) ตัวน้อยน่ารัก โพลูก คือ เห็นว่าไอดอลเป็นลูก น่ารักน่าเอ็นดู โพผัว คือ เห็นว่าไอดอลดูอบอุ่น เป็นผู้นำ หรือดูเซ็กซี่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

ขณะเดียวกัน “โพ” นี้ยังถูกใช้ในการวางตำแหน่งคู่ชิปอีกด้วย หากชื่อใครอยู่ขึ้นหน้าจะหมายถึงคนที่มีความเป็นชายสูงกว่า ส่วนที่ชื่อตามหลังจะถูกมองว่ามีความเป็นหญิงสูงกว่า ส่วนมากจะถูกนำไปแต่งต่อเป็นนิยาย หรือ แฟนฟิค ซึ่งเรื่องโพนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับแฟนคลับหลายคน หากมีการสลับโพอาจจะเกิดการทะเลาะกันขึ้นได้

ตัวอย่างการใช้: คนนี้น่ารักจัง ตาหนูลูก โพลูกแน่ ๆ

มักเน่ 

สมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดในวง น้องเล็กของวง จะถูกเรียกว่า “มักเน่” หรือ มังเน่ ซึ่งมาจากคำว่า 막내 ในภาษาเกาหลี โดยมักเน่จะถือว่าเป็นหนึ่งในตำแหน่งของวงด้วยเช่นกัน สำหรับตำแหน่งอื่น ๆ ในวงที่น่าสนใจ เช่น ลีดเดอร์ คือ ตำแหน่งหัวหน้าวง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่อายุมากที่สุด แต่ต้องเป็นคนที่ค่ายและสมาชิกในวงเห็นพ้องกันว่าสามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำได้ดีที่สุด, วิชวล คือ ตำแหน่งที่ค่ายหรือสมาชิกในวงเห็นว่ามีหน้าตาตรงกับความชอบของคนเกาหลีมากที่สุด

ตัวอย่างการใช้: มักเน่นี่มีแต่คนแสบ ๆ ทั้งนั้นเลยนะ อย่าง โบมิน (Golden Child) กับ เอริค (The Boyz) แกล้งพี่ ๆ ตลอด แถมเป็นเพื่อนกันอีก

นูกู 

นูกู” (누구) ในภาษาเกาหลีแปลว่า ใคร ถูกนำมาใช้ศิลปินที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ส่วนมากมักจะเป็นศิลปินที่มาจากค่ายเล็ก หรือ พึ่งเดบิวต์ ยังไม่เคยชนะถ้วยรางวัลในรายการเพลง

ตัวอย่างการใช้: ถึงวงเมนเราจะนูกู พึ่งเดบิวต์ได้ไม่นาน แต่น้อง ๆ มีความสามารถ ความตั้งใจกันมาก อยากให้น้องดังกว่านี้ให้สมกับความตั้งใจของน้องจัง

 

แอกโย 

แอกโย” (애교) เป็นการทำท่าทางน่ารักของไอดอลทั้งชายและหญิง ซึ่งต้องแสดงออกทั้งสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และร่างกาย หากเทียบกับภาษาไทยที่ใกล้เคียงที่สุดคือ การทำท่า “แอ๊บแบ๊ว” ซึ่งไอดอลหลายคนก็ไม่ค่อยชอบเวลาที่ถูกขอให้ทำท่าแอกโย เพราะเขินอาย และรู้สึกไม่เหมาะกับตัวเอง

ตัวอย่างการใช้: น้องเล่นเกมแพ้ โดนทำโทษให้ทำท่าแอกโยอีกแล้ว เอ็นดูอะ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำศัพท์ที่นิยมใช้หมู่แฟนคลับเกาหลีเท่านั้น ยังมีอีกหลายคำที่น่าสนใจ จะเห็นได้ว่าคำศัพท์ที่ใช้นั้น มีทั้งการใช้คำทับศัพท์จากภาษาเกาหลี การยืมคำจากภาษาอังกฤษมาใช้แล้วสร้างความหมายใหม่ รวมถึงการใช้คำไทยมาผสม และการย่อคำให้สั้นลง แต่ยังคงได้ใจความเดิม เนื่องจากช่องทางการใช้คำเหล่านี้มันอยู่ในทวิตเตอร์ที่มีการจำกัดตัวอักษร 

หลายคำมีความหมายที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่นเดียวกับคำว่า “ติ่ง” ที่เดิมที่ใช้เป็นคำเหยียดแฟนคลับศิลปินเกาหลีที่มักเป็นกลุ่มเด็กนักเรียน แต่ในปัจจุบันคำนี้ได้กลายเป็นคำที่เป็นกลางมากขึ้น ไม่ได้ถูกมองไปในทางลบมากเท่าเดิม หลายคนก็ยอมรับและเรียกตัวเองว่า “ติ่งเกาหลี

เมื่อเวลาเคลื่อนตัว ภาษาย่อมมีการเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญให้รู้ว่าภาษานั้นยังคงมีคนใช้ ไม่ว่าจะเป็นในวัฒนธรรมย่อย หรือในสังคมใหญ่ก็ตาม

กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี

\"K-POP\" 101 เรียนรู้ 12 คำศัพท์ ฉบับชาว \"แฟนคลับเกาหลี\"