เปิดความหมายของคำว่า “แม่” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รับ "วันแม่แห่งชาติ"

เปิดความหมายของคำว่า “แม่” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รับ "วันแม่แห่งชาติ"

“วันแม่แห่งชาติ” เวียนมาอีกครั้ง ชวนหาความหมายของคำว่า “แม่” ว่าถูกใช้อย่างไรบ้าง ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแม่ผู้ให้กำเนิด แม่ในสังคม LGBTQIA+ “มัมหมี” แฟนคลับที่มองตัวเองเป็นแม่ของศิลปิน หรือ มีมฮิต “ทุกคนมีแม่คนเดียวค่ะโกโก้”

วันแม่แห่งชาติ” ของไทยนั้นตรงกับวันที่ 12 ส.ค. ของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเริ่มใช้วันดังกล่าวเป็นวันแม่แห่งชาติเมื่อปี 2519 และมี “ดอกมะลิ” เป็นสัญลักษณ์

เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ กรุงเทพธุรกิจชวนหาความหมายของคำว่า “แม่” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าถูกใช้ไปในทางใดกันบ้าง และมีวลีฮิตอะไรที่เกี่ยวกับคำว่า “แม่” บ้าง

 

ความหมายของ “แม่” ตามพจนานุกรม

ตั้งแต่ในอดีต ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยนั้น ผู้หญิงเป็นใหญ่ในวัฒนธรรมและพิธีกรรมมาโดยตลอดซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาค เห็นได้จากการคำว่า “แม่” ของแต่ละภาษา แม้จะออกเสียงแตกต่างกัน แต่มีความหมายไปในทางทิศทางเดียวกันหมด คือ ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า, ประธาน ฯลฯ

ดังนั้น คำว่า “แม่” นอกจากจะแปลว่าหญิงผู้ให้กำเนิดบุตรแล้ว เมื่อค้นความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 พบว่า ยังมีความหมายในลักษณะอื่นที่มีรากศัพท์มาจากความหมายดั้งเดิมของแม่อีกด้วย เช่น…

คำนามที่ผู้เป็นหลักหรือประธานของกลุ่มหรือของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว มักใช้เพศหญิงคือคำว่า “แม่” นำหน้านามนั้น เช่น แม่กระได แม่แคร่ แม่แบบ รวมถึงยังใช้ในคำเรียกคนผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายโดยไม่จํากัดว่าเป็นชายหรือหญิง เช่น แม่ทัพ แม่กอง หรือแม้กระทั่งลำน้ำขนาดใหญ่ จุดศูนย์รวมของชีวิตผู้คน ก็ถูกเรียกว่า แม่น้ำ ยิ่งตอกย้ำว่าในอดีตผู้หญิงมีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ 

ในขณะเดียวกัน เมื่อมองคำศัพท์ที่ใช้ในงานแต่งงาน เรียกฝ่ายชายว่า “เจ้าบ่าว” ซึ่งบ่าวแปลว่า คนใช้ ขณะที่เรียกฝ่ายหญิงว่า “เจ้าสาว” เพราะเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน โดยตามธรรมเนียมฝ่ายชายต้องเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง หรือไปทำหน้าที่ “บ่าว”​ ของ “สาว” จนภายหลังคำว่า บ่าว กลายเป็นภาษาปากเรียกผู้ชายนั่นเอง

ขณะเดียวกัน คำว่า “แม่” ยังถูกใช้เรียกแทนเทวดาผู้หญิงบางพวก เช่น แม่คงคา แม่ธรณี แม่โพสพ ซึ่งล้วนเป็นเทวดาที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมเกษตรกรรม รวมถึง แม่ซื้อ เทวดาที่คุ้มครองเด็กแรกเกิดหรือเป็นเทวดาประจำตัวทารก

คำว่า “แม่” ยังถูกนำหน้าเรียกผู้หญิงที่กระทํากิจการหรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น แม่ค้า แม่ครัว แม่สื่อ แม่หมอ หรือแม่บ้าน ตลอดจนใช้เป็นคำเรียกผู้หญิงอีกด้วย เห็นได้จากละครพีเรียดที่มักเรียกผู้หญิงที่อายุน้อยกว่าว่า แม่ แล้วตามด้วยชื่อ เช่น แม่มณีจันทร์ จาก ทวิภพ แม่การะเกด จาก บุพเพสันนิวาส หรือในปัจจุบันที่ยังพอพบเห็นได้จากการเรียกลูกหลานของตนเอง หรือคนรู้จักว่า แม่คนนี้ แม่นั่น แม่นี่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีสำนวนไทยหลายคำที่มี คำว่า แม่ รวมอยู่ด้วย ซึ่งมักใช้เรียกผู้หญิง เช่น 

  • แม่สายบัวแต่งตัวค้าง หมายถึง ผู้หญิงที่แต่งตัวคอยผู้มารับออกนอกบ้าน แต่เขาไม่มาตามนัด 
  • แม่สื่อแม่ชัก ไม่ได้เจ้าตัว เอาวัวพันหลัก หมายถึง หญิงที่ไปติดต่อระหว่างชายหญิง แต่ไม่สำเร็จในที่สุดก็ตกเป็นภรรยาของชายนั้นแทน
  • แม่รีแม่แรด หมายถึง ทำเจ้าหน้าเจ้าตา ผู้ชอบทำเอาหน้า, ผู้ชอบเสนอหน้าเข้าไปทำธุระให้คนอื่นโดยไม่ต้องร้องขอ

แม้ว่าภายหลังแนวคิดปิตาธิปไตย หรือ ชายเป็นใหญ่จะเข้ามาในสังคม ทำให้บทบาทของผู้หญิงในเชิงความเป็นใหญ่และผู้นำ ตามความหมายของ “แม่” นั้นหายไป แต่คำศัพท์เหล่านี้ยังคงถูกใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

เปิดความหมายของคำว่า “แม่” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รับ \"วันแม่แห่งชาติ\"

ขณะเดียวกัน มีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านสินค้าของฝาก ตลอดจนผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารทั้งหลาย ตั้งชื่อสินค้าว่า แม่ แล้วตามด้วยชื่อคน ไม่ว่าจะเป็น แม่กิมไล้ แม่กิมลั้ง แม่ประนอม ซึ่งเป็นชื่อเจ้าของสูตร เจ้าของร้าน ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของร้านอาหารไทยที่มักจะใช้ชื่อเจ้าของร้านมาตั้งเป็นชื่อร้าน และมีมาอย่างยาวนาน

ร้านแรก ๆ ที่ใช้ชื่อเจ้าของร้านมาเป็นชื่อร้าน คือ ร้านหมี่กรอบเจ้ากู๋ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งที่จริงเจ้ากู๋มีพระนามว่าหม่อมเจ้าชายวิทยา ทรงมีฝีมือทางผัดหมี่กรอบ จนถึงได้ตั้งเป็นเครื่องเสวยของรัชกาลที่ 5 เป็นประจำ โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง “โครงกระดูกในตู้ว่า” วันใดผัดหมี่ได้ถูกพระโอษฐ์ก็ตรัสชมเชยว่า “วันนี้เจ้ากู๋ผัดหมี่อร่อย” แต่ถ้าวันไหนผัดหมี่ไม่ถูกพระโอษฐ์ ก็ตรัสบริภาษว่า “วันนี้ไอ้เจ้ากู๋ผัดหมี่ไม่เป็นรส”

นอกจากนี้ การตั้งชื่อร้านด้วยคำว่า แม่ (หรือคำเรียกญาติอื่น ๆ เช่น เจ๊ ป้า ยาย) ล้วนทำให้ผู้ซื้อรู้สึกอุ่นใจ มีความปลอดภัย เหมือนได้รับประทานรสมือคนในครอบครัว

 

แม่ในวัฒนธรรม LGBTQIA+

จากการศึกษาของ วัชรวุฒิ ซื่อสัตย์ และ วัชรพล พุทธรักษา (2558) จาก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในหัวข้อ “ระบบแม่ [กะเทย]: ศิลปและศาสตร์การครองอำนาจนำในสังคมกะเทยไทย” พบว่า ในกลุ่ม LGBTQIA+ โดยเฉพาะในกลุ่มกะเทย จะมี “ระบบแม่” ซึ่งผู้ที่อาวุโสกว่าจะแทนตนเองว่า “แม่” ขณะที่รุ่นน้อง จะเรียกตนเองว่า “ลูกสาว” โดยรุ่นพี่จะทำหน้าที่ดูแลรุ่นน้องที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน เพื่อให้ได้รับความสะดวกสบาย พร้อมทั้งเป็นผู้อบรมสั่งสอนและถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต ทั้งการทำงานและความรัก ความสัมพันธ์ ไม่ต่างจากคนในครอบครัว

ระบบแม่นี้มีลักษณะเดียวกับ ระบบบ้าน (House System) ของกลุ่ม LGBTQIA+ ในสหรัฐ ที่มีมาตั้งแต่สมัยยุค 80 ซึ่งเป็นที่พักพิงให้แก่กลุ่ม LGBTQIA+ ชาวละตินและผิวดำ ที่ถูกครอบครัวแท้จริงไล่ออกจากบ้าน หรือถูกกีดกันออกจากสังคม โดยแต่ละบ้านจะนำโดย “พ่อ” (Father) และ “แม่” (Mother) ที่เป็นแดร็กควีน เกย์ หรือทรานส์เจนเดอร์หญิง ทำหน้าที่คอยให้คำแนะนำและสนับสนุน “ลูก ๆ” (Children) ในบ้านของพวกเขา ทำหน้าที่ไม่แตกต่างจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด

 

ดังนั้น ทั้ง “แม่” และ “Mama” (Mamma / Momma / Mawma) ในวัฒนธรรม LGBTQIA+ จึงเป็นคำเรียกต่อผู้ที่รักและเคารพ ไม่ว่าจะมีประสบการณ์มากกว่า หรือมีอายุมากกว่าก็ตาม นอกจากนี้ ในวัฒนธรรม LGBTQIA+ ยังเรียกเหล่านักแสดงหญิง และนักร้องดีว่า ที่ถูกยกย่องให้เป็นเกย์ไอคอนว่า “แม่” หรือ “ตัวแม่” ที่แปลว่า ผู้เป็นที่สุดของด้านนั้น ๆ อีกด้วย

เนื่องจากกลุ่มเกย์ไอคอนนี้มีผลงานหรือเส้นทางชีวิตที่คล้ายคลึงกับกลุ่ม LGBTQIA+ ไม่ทางใดทางหนึ่ง เช่น ต้องฟันฝ่าอุปสรรคกว่าจะมาประสบความสำเร็จได้ จากการถูกเลือกปฏิบัติ มาจากชนชั้นล่างสุดของสังคม ถูกกดขี่จากสังคมชายเป็นใหญ่ ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือมีผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กลุ่ม LGBTQIA+ จนถูกยกย่องให้เป็นเพลงชาติ หรือมีผลงานและบุคคลิกที่ถูกจริตกลุ่ม LGBTQIA+

สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้กลุ่ม LGBTQIA+ สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ของตน และสิ่งที่ตนต้องการ ปรารถนาอยากจะเป็นเข้ากับกลุ่มเกย์ ไอคอนได้อย่างง่ายดาย และเมื่อเหล่าเกย์ ไอคอนออกผลงานใหม่แล้วเป็นที่ถูกใจของกลุ่ม LGBTQIA+ ทำให้เกิดคำศัพท์ว่า “แม่ก็คือแม่” ที่หมายถึง ไม่ว่าจะทำอะไรออกมาก็ดี ก็ปังตลอด แม่ย่อมเป็นแม่อยู่วันยังค่ำ

เปิดความหมายของคำว่า “แม่” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รับ \"วันแม่แห่งชาติ\"

แม่ในปัจจุบัน

เมื่อวัฒนธรรมของ LGBTQIA+ เริ่มเข้าสู่กระแสหลัก ทำให้คำว่า “แม่” ถูกใช้ไปอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ผู้หญิงที่รับวัฒนธรรมนี้ไป ทำให้ “แม่กลายเป็นคำติดปาก ใช้เป็นคำนามเรียกคู่สนทนา โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงว่าเป็นคนที่เคารพนับถือแบบในวัฒนธรรมของ LGBTQIA+ หรือมีอายุอ่อนกว่าแบบในสมัยก่อนแล้ว สามารถใช้กับเพื่อน หรือกับใครก็ได้ อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นคำสร้อย เช่น “ว่าไงแม่” “เล่าซิแม่” ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ควรระวังในการใช้คำว่า “แม่” (รวมถึงซิส ตัวเอง ตัวเธอ) ด้วยเช่นกัน โปรดอย่าใช้สุ่มสี่สุ่มห้า โดยเฉพาะกับกลุ่มเกย์ที่ไม่ได้เปิดเผยตัว หรือไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว มันดูเป็นเรื่องที่เสียมารยาทอยู่ไม่น้อย แม้ว่าอาจจะมีเจตนาเพื่อสร้างความสนิทสนมก็ตาม เพราะนี่เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้เขารู้กลาย ๆ ว่า “ฉันรู้นะว่าหล่อนเป็นตุ๊ด” อีกทั้งการเป็นเกย์ก็ไม่ได้จำเป็นต้องออกสาวทุกคน ดังเช่นภาพเหมารวมที่ปรากฏให้เห็นตามสื่อทั่วไป มีจำนวนไม่น้อยรู้สึกไม่สบายใจกับการโดนเรียกด้วยคำดังกล่าว

ดังนั้นควรดูทิศทางลมก่อนจะไปเรียกคำนี้กับใคร หรือใช้กับแค่คนที่สนิทด้วยเท่านั้น มิเช่นนั้นอาจจะสร้างความรู้สึกไม่ดีกับคนที่ถูกเรียกได้ ทางที่ดีที่สุด โปรดเรียกกันด้วยชื่อ จะปลอดภัยและรักษาความรู้สึกที่ดีต่อทั้งสองฝ่าย

เปิดความหมายของคำว่า “แม่” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รับ \"วันแม่แห่งชาติ\"

 

ขณะเดียวกัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจว่า “แม่” คืออะไร ดังเช่น “มาช่า วัฒนพานิช” ที่พูดในรายการเดอะ เฟซ ไทยแลนด์ ซีซัน 3 ว่า “แม่ก็คือแม่ แม่ใครเหรอ ?”

 

อีกมีมหนึ่งในเดอะ เฟซ ที่เกี่ยวกับแม่และคนนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือ “ทุกคนมีแม่คนเดียวค่ะ โกโก้” เป็นช่วงที่ “คริส หอหวัง” พูดกับ “โกโก้ อารยะ” หลังจากโกโก้พยายามพูดเพื่อขอโอกาสกับคริส เพื่อให้อยู่ในรายการนี้ต่อว่า ตนมีแม่เพียงคนเดียว คริสจึงสวนกลับไปว่า “ทุกคนมีแม่คนเดียวทั้งนั้น” แต่ความหมายของโกโก้คือต้องการจะบอกว่า เธอโตมากับแม่เพียงลำพัง

 

 

ประโยคนี้จึงถูกนำมาใช้ในกรณีที่ทุกคนมีหรือต้องทำสิ่งนั้นเหมือนกัน โดยสามารถเปลี่ยนคำว่าแม่ เป็นคำอื่นได้ เช่น “ทุกคนกินข้าวค่ะโกโก้”

 

ขณะที่ “มีแม่เมื่อพร้อม” ถูกดัดแปลงมาจากประโยค “มีลูกเมื่อพร้อม” ซึ่งกลายเป็นวลีฮิตขึ้นมาหลังจากที่ในระยะหลังมีข่าวเกี่ยวกับแม่ทำร้ายร่างกายและจิตใจลูก ตลอดจนปล่อยให้พ่อเลี้ยงทำร้ายลูกในไส้จนเสียชีวิต นี่จึงเป็นการตั้งคำถามต่อสังคมไทยที่มีค่านิยมว่าต้องกตัญญูต่อบุพการี แน่นอนว่าลูกไม่สามารถเลือกแม่ได้ แต่เมื่อแม่ทำแบบนี้กับลูก ผู้เป็นลูกจำเป็นต้องทนก้มหน้ารับกรรมต่อไปหรือไม่

จันทมา ช่างสลัก นักจิตวิทยาคลินิก แห่ง iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว ระบุว่า ผู้จะเป็นแม่คนควรมีความพร้อม 6 ด้าน ประกอบด้วย ความพร้อมในการรับรู้ต่อความรับผิดชอบ ความรู้ในการเลี้ยงลูก ความพร้อมในการจัดการอารมณ์ ความพร้อมด้านเวลา ความพร้อมทางการเงิน และความพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างลูกในทุกสถานการณ์

 

แม่สุดท้ายที่ใช้กันอยู่ในโซเชียลคือ “มัมหมี” ที่มาจาก Mommy เป็นคำที่แฟนคลับใช้เรียกแทนตัวเองว่า “แม่” (โดยที่ไม่จำเป็นต้องอายุมากกว่าศิลปินด้วย) และวางตำแหน่งให้ศิลปินเป็น “ลูก” เนื่องจากศิลปินน่ารักน่าเอ็นดู ตัวเล็กตัวน้อย เสมือนมีกลิ่นแป้งเด็ก นมผงออกมาจากรูปเสมอ โดยเดิมทีคำว่า “มัมหมี” ใช้กันอยู่เฉพาะในกลุ่มแฟนคลับของ “เจโน่ NCT” แต่ภายหลังก็ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลากหลายวงการ อีกทั้งแฟนคลับที่แทนตัวเองว่าเป็นแม่นั้น ก็มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก 

 

อย่างไรก็ตาม แฟนคลับที่วางตำแหน่งตนเองว่าเป็นแม่ศิลปิน (โพสิชั่นแม่ หรือ โพแม่) กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังจากที่ นักวอลเลย์บอลชาวจีน กล่าวเตือนแฟนคลับที่มาเชียร์และถือป้ายประโยค ‘แม่รักหนู’ (妈妈爱你) ว่า อย่าทำแบบนี้ เพราะเขาไม่ชอบและรู้สึกว่ามันไม่เคารพแม่ของตัวเขา ขณะเข้าร่วมแข่งขัน AVC CUP 2022 ในจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีคนอธิบายว่าเขาไม่ใช่ไอดอล จึงอาจจะไม่เข้าใจในวัฒนธรรมนี้นัก

เปิดความหมายของคำว่า “แม่” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รับ \"วันแม่แห่งชาติ\"

แม้แต่ไอดอลบางคนก็ไม่ชอบวัฒนธรรมนี้เท่าไหร่นัก อย่างเช่น กรณีของ “จาง วอนยอง” วง “IVE” ที่ตอบกลับข้อความของแฟนคลับที่ทวีตมาหาและเรียกเธอว่าลูกสาว (My dear daughter) ว่า “ขอบคุณค่ะ แต่ฉันมีแม่แท้ ๆ แล้วค่ะสาว”

 

เปิดความหมายของคำว่า “แม่” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รับ \"วันแม่แห่งชาติ\"

 

จะเห็นได้ว่า จากความหมายตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน “แม่” ยังคงรักษาความหมายดั้งเดิมเอาไว้ได้ คือผู้ให้กำเนิด แม้จะถูกนำไปใช้ได้หลากหลายโอกาสและหลายด้านมากขึ้นก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของภาษาที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะใช้ในความหมายใด แม่ ก็ยังคงมีความหมายที่ยิ่งใหญ่ และพร้อมมอบความรักให้เสมอ (ยกเว้นมีแม่เมื่อพร้อม)

เปิดความหมายของคำว่า “แม่” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รับ \"วันแม่แห่งชาติ\"
ที่มา: มติชน ออนไลน์, ราชบัณฑิตยสถานวารสารศิลปศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม, iStrongMatichon, MediumThe StandardVogue Thailand

กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี
 

เปิดความหมายของคำว่า “แม่” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รับ \"วันแม่แห่งชาติ\"