คนดังนักสร้างสรรค์ อ่าน"หนังสือ"เล่มไหนกันบ้าง

คนดังนักสร้างสรรค์ อ่าน"หนังสือ"เล่มไหนกันบ้าง

ก่อนงาน"มหกรรมหนังสือระดับชาติ" ครั้งที่ 27 วันที่ 12-23 ตุลาคมนี้ ลองดูสิว่า คนดังๆ อย่างโตมร, ครูจุ๊ย กุลธิดา และเจ้าของแบรนด์Propaganda อ่านหนังสือเล่มไหน...ที่จุดประกายให้เป็นนักสร้างสรรค์

ก่อนจะไปพบเมืองหนังสือในอุดมคติที่นักอ่านรอคอย มหกรรมหนังสือระดับชาติ12-23 ตุลาคม 2565 ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) อุ่นเครื่องด้วยกิจกรรมพูดคุยสบายๆ หัวข้อ “อ่าน-สร้าง-เมือง: แรงบันดาลใจจากการอ่านสู่การสร้างสรรค์และพัฒนาตัวตน ชุมชน และเมือง” โดยได้รับเกียรติจากBOOKTOPIAN(พลเมืองนักอ่าน) จากหลากหลายวงการ

"โตมร"กับการอ่านที่หลากหลาย

โตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือOKMD ผู้ที่มีส่วนในการผลักดันและส่งเสริมการอ่านให้กับคนไทย และกำลังดำเนินโครงการLibrary Alive เล่าถึงที่มาของการเป็นนักอ่านว่า เนื่องจากคุณแม่เป็นครู จึงมีชีวิตอยู่กับการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก 

วันเสาร์-อาทิตย์พ่อกับแม่ของเขา มักจะพาไปเดินตลาดนัดหนังสือที่สนามหลวง ที่บ้านจึงมีหนังสือเป็นพันๆ เล่ม เล่มแรกที่คุณแม่ของเขาสอนให้อ่านเป็นนิทานเรื่องธัมเบลิน่า (Thumbelina)หรือ หนูน้อยนิด 

"พ่อกับแม่อ่านหนังสือเยอะมาก ตั้งแต่สามก๊ก เพชรพระอุมา หนังสือของโสภาค สุวรรณ หรือทมยันตี จึงโตมาพร้อมกับการอ่านที่หลากหลาย แต่ก็เป็นแนวทางที่ได้รับอิทธิพลมาจากพ่อกับแม่

คนดังนักสร้างสรรค์ อ่าน"หนังสือ"เล่มไหนกันบ้าง (โตมร ศุขปรีชา : เล่มแรกที่คุณแม่ของเขาสอนให้อ่านเป็นนิทานเรื่องธัมเบลิน่า (Thumbelina)หรือ หนูน้อยนิด )

และเมื่อโตขึ้นก็ได้พบกับหนังสือที่เปลี่ยนหมุดหมายของการอ่านไปจากเดิม และค้นพบโลกการอ่านของตัวเอง จากการได้เดินทางไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งหน้ามหาวิทยาลัยมีร้านหนังสือชื่อ “แซงแซว” ในร้านนี้มีหนังสือมากมาย

แต่ไปสะดุดหนังสือที่โชว์เพียงแค่สันหนังสือที่ชื่อPETER CAMENZIND เขียนโดย Hermann Hesse (เฮอร์มานน์ เฮสเส) ซึ่งเล่าเรื่องราวชีวิตของปีเตอร์ คาเมนซินด์ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่ม กระทั่งถึงวัยกลางคน ด้วยภาษาที่งดงาม เห็นภาพวิถีชีวิตในชนบท กับมุมมองความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์และการหยั่งลึกเข้าไปในหัวใจของคน"

คนดังนักสร้างสรรค์ อ่าน"หนังสือ"เล่มไหนกันบ้าง

(สาธิต กาลวันตวานิช : อีกเล่มที่อ่าน‘The Science Of Getting Rich’ ให้ข้อคิดว่าถ้าคุณมีความปรารถนาหรือมุ่งมั่นอะไรสักอย่าง ขอให้จดจ่ออยู่กับตรงนั้น)

“สิทธารถะ”เล่มแรกของสาธิต

ด้านสาธิต กาลวันตวานิช ผู้ก่อตั้งบริษัทโฆษณาชื่อดังPhenomena(ฟีโนมีน่า) และเจ้าของแบรนด์Propaganda(พรอพพาแกนดา)เล่าว่า เนื่องจากคุณแม่เป็นบรรณารักษ์ เลยทำให้มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ ๆ ก่อนใคร จนกลายเป็นนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก หนังสือเล่มแรกที่อ่านคือ สิทธารถะ (Siddhartha)เขียนโดยเฮอร์มานน์ เฮสเส จากนั้นก็อ่านหนังสือมาเรื่อยๆและพบว่าหนังสือหลายเล่มนั้นช่างทรงพลัง 

ในขณะเดียวกันไม่ใช่แค่หนังสือเป็นเล่มๆ เท่านั้นที่อ่านแล้วมีประโยชน์ แม้คอลัมน์เล็กๆ ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารก็ได้ประโยชน์ จนกระทั่งวันหนึ่งมีผู้แนะนำให้อ่าน‘The Science Of Getting Rich’หรือ ศาสตร์สู่ความร่ำรวย (แบบยั่งยืน)

"หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดว่าถ้าคุณมีความปรารถนาหรือมุ่งมั่นอะไรสักอย่าง ขอให้จดจ่ออยู่กับตรงนั้นและจินตนาการว่า จะไปถึงได้จริง 

การจินตนาการภาพความสำเร็จเสมือนว่าเกิดขึ้นจริงแล้วให้ชัดเจนนั้น ช่วยดึงดูดสิ่งที่เราต้องการให้เป็นจริงได้ พลังแห่งการอ่านและความฝันเหล่านี้นี่แหละที่ช่วยดึงตัวตนของกราฟิกดิไซน์เนอร์ธรรมดาคนหนึ่งสู่การเป็นผู้กำกับหนังโฆษณา" 

ส่วนอีกเล่มที่สร้างแรงบันดาลใจให้สาธิต คือ‘ONE + ONE = THREE’ พูดถึงการต่อจุดองค์ความรู้ของสตีฟ จอบส์ (SteveJobs)ด้วยความเชื่อมั่นว่าหนึ่งจุดเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์และเชื่อมต่อกันได้ จนกลายเป็นนวัตกรรมของไอโฟน(iPhone)ในทุกวันนี้

คนดังนักสร้างสรรค์ อ่าน"หนังสือ"เล่มไหนกันบ้าง (ครูจุ๊ย กุลธิดา : “เล่มที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือ สร้างผลกระทบในชีวิต คือ ‘MOTHER TONGUE’ ของบิล ไบรสัน)

ครูจุ๊ยกับนิยายสืบสวน 

ขณะที่ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ซึ่งกำลังขับเคลื่อน 2 โครงการด้านการอ่าน คืออ่านเปลี่ยนโลกและอ่านปั้นฝัน

เธอเล่าว่า ที่บ้านไม่ได้เป็นคนอ่านหนังสือ แต่ตัวเองที่เติบโตมากับนิยายอาชญากรรมสืบสวนสอบสวนของอกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) ทำให้กลายเป็นคนที่ช่างคิดช่างถาม ช่างสงสัย 

ที่สำคัญคือพ่อกับแม่ไม่เคยปิดกั้นเรื่องการอ่านเลย จะไปเลือกอ่านหนังสือแบบใดก็ได้ ภายใต้งบประมาณที่บริหารจัดการเอง ทำให้ค่อย ๆ ก่อร่างความเป็นตัวเองขึ้นมา โดยหนังสือแต่ละเล่ม เมื่อย้อนกลับไปอ่านใหม่ก็จะให้บทเรียนหรือแง่คิดที่แตกต่างกันไปตามช่วงวัยที่เราอ่าน

 “เล่มที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือ สร้างผลกระทบในชีวิต คือ ‘MOTHER TONGUE’ ของบิล ไบรสัน (Bill Bryson)เป็นหนังสือเกี่ยวกับที่มาที่ไปและประวัติศาสตร์ของคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตและสัมพันธ์กับเรื่องราวของมนุษย์ เป็นหนังสือที่สร้างความตื่นเต้นและประหลาดใจหลายครั้งที่อ่าน 

และเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งได้แนวคิดเรื่องพื้นฐานวิธีคิดในการทำงาน มุมมองในการทำงานจากภาพกว้าง แล้วค่อย ๆ ย่อยลงมาอย่างละเอียด"

คนดังนักสร้างสรรค์ อ่าน"หนังสือ"เล่มไหนกันบ้าง

เล่มโปรดต้องขายหัวเราะ

ส่วนทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)กล่าวเพิ่มว่า เริ่มเข้าสู่โลกหนังสือตั้งแต่ยังเด็กด้วย‘ขายหัวเราะ’ที่รอให้คุณแม่อ่านให้ฟังและนับวันรอที่จะอ่านหนังสือออก พออ่านได้เองก็เริ่มอ่านหนังสือการ์ตูนและขยายมิติการอ่านไปสู่หมวดอื่น ๆ อย่างคู่สร้างคู่สมจนติดเป็นนิสัยชอบอ่าน 

ส่วนหนังสือที่อยากแนะนำให้คนได้อ่านคือThe Bullet Journal Method :วิถีบันทึกแบบบูโจ เขียนโดย ไรเดอร์ แคร์รอลล์(Ryder Carroll)เพราะชอบจดบันทึกอยู่แล้ว หนังสือช่วยอธิบายวิธีการจดบันทึกแบบบูโจได้อย่างชัดเจนเข้าใจง่าย ช่วยแก้ปัญหาการจดบันทึกได้อย่างไร 

"ทำให้รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้ว่าในโลกออนไลน์จะมีคำตอบเรื่องต่าง ๆ ให้เรา แต่การอ่านคือการขัดเกลาจิตใจ มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างถูกต้อง และเชื่อว่าการอ่านหนังสือยังเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน”

พบกันได้ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่27(Book Expo Thailand 2022) ตั้งแต่วันที่12–23ตุลาคม2565(รวม12วัน) เวลา10.00–21.00น. ณ ฮอลล์5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ติดตามรายละเอียดได้ที่www.facebook.com/bookthai