140 ปี ไปรษณีย์ไทย สู้กระแส Digital Disruption สืบชีวิต 'แสตมป์' สู่ Soft Power

140 ปี ไปรษณีย์ไทย สู้กระแส Digital Disruption สืบชีวิต 'แสตมป์' สู่ Soft Power

ไปรษณีย์ไทย เสริมบทบาทครบ 140 ปี รับมือกระแส Digital Disruption คนส่งจดหมายลดลง วางแผนเปลี่ยนบทบาท ‘แสตมป์’ สู่ Soft Power ไทย ดึงนักออกแบบชื่อดังในโซเชียลออกแบบเพื่อการสะสม เปลี่ยนแสตมป์เป็น ‘ศิลป์ทรัพย์’ ใหม่ แถลงคืบหน้าไทยเป็นเจ้าภาพ ‘งานแสตมป์โลก 2023’ พ.ย.นี้

พสุ อุณหะนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า กระแส Digital Disruption ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบริษัทไปรษณีย์ไทยเช่นกัน โดยเฉพาะการ ‘ส่งจดหมาย’ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ใช้แอปพลิเคชั่นสื่อสารรวมทั้งอีเมลส่วนตัวกันมากขึ้น

ปัจจุบันพบว่า คนไทยส่งจดหมายประมาณปีละ 800 ล้านฉบับ โดยมีสถิติ ลดลงปีละ 9% ส่งผลให้ความต้องการใช้ แสตมป์ ลดลง กระทบยอดการผลิตและรายได้ที่ลดลงด้วยเช่นกัน

แต่ ‘แสตมป์’ ซึ่งอยู่คู่กับกิจการไปรษณีย์ไทยมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2426 จะยังคงไม่หายไปไหน 

เนื่องจากในวาระครบ 140 ปี ของการก่อตั้ง กิจการไปรษณีย์กรุงสยาม บริษัทไปรษณีย์ไทยวางแผนรับมือเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการผลิตแสตมป์ไปตามยุคสมัย และเปลี่ยนคุณค่า แสตมป์ สู่การเป็น Soft Power ในการเผยแพร่เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของไทยสู่สายตาชาวโลก

140 ปี ไปรษณีย์ไทย สู้กระแส Digital Disruption สืบชีวิต \'แสตมป์\' สู่ Soft Power พสุ อุณหะนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

ที่ผ่านมา แสตมป์แต่ละชุดยังจัดทำขึ้นในวาระโอกาสที่แตกต่างกัน รวมถึงจำนวนการพิมพ์ที่จำกัด จึงทำให้มีความน่าสนใจจากการเป็น แสตมป์ชุดพิเศษ น่าสะสมมากยิ่งขึ้น 

“ตราไปรษณียากรหรือแสตมป์เป็นสิ่งอยู่คู่กับคนไทยมาตลอด 140 ปี และถือว่ายังได้รับความนิยมในผู้คนหลายกลุ่ม เนื่องจากภาพที่ปรากฎบนแสตมป์เปรียบเสมือนงานศิลป์ที่เข้าถึงได้ง่าย ทั้งในแง่ของราคาและช่องทางการจำหน่าย” นายพสุ กล่าว 

140 ปี ไปรษณีย์ไทย สู้กระแส Digital Disruption สืบชีวิต \'แสตมป์\' สู่ Soft Power แสตมป์ชุดเครื่องเบญจรงค์ ครั้งแรกที่แสตมป์ไทยได้รับรางวัลระดับโลก Grand Prx I'Exposition WIPA อันดับ 2 ประเภทสวยงาม จากออสเตรเลีย, พ.ศ.2524

แสตมป์ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ใช้เพื่อแทนค่าฝากส่งในระบบไปรษณีย์หรือการสะสมเท่านั้น แต่ยังทรงคุณค่าและมีมูลค่าในตัวของมันเอง รวมทั้งเป็นสื่อที่สะท้อนมุมมองในด้านงานศิลป์อีกด้วย

ในอนาคตแสตมป์ยังจะมีบทบาทในการเพิ่มเติมฟังก์ชันการใช้งานให้มีลูกเล่นที่หลากหลายมากขึ้น แสตมป์ประเภทกระดาษอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกแทนที่ด้วยแสตมป์ดิจิทัล

แต่สิ่งที่ยังคงเป็นแรงดึงดูดในการเลือกใช้ หรือเก็บสะสม ยังคงเป็น ความโดดเด่นในด้านศิลปะและการออกแบบ ซึ่งตลาดสำคัญคาดว่าจะอยู่ที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

140 ปี ไปรษณีย์ไทย สู้กระแส Digital Disruption สืบชีวิต \'แสตมป์\' สู่ Soft Power คริปโทแสตมป์ไทย ครั้งแรกในอาเซียน เมื่อปี 2022

นายพสุ อุณหะนันทน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไปรษณีย์ไทย ยังคงให้ความสำคัญกับ แสตมป์ ในฐานะ ศิลป์ – ทรัพย์ ของธุรกิจและคนไทย โดยจะยกระดับ ‘แสตมป์’ จากการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม เช่น แสตมป์ NFT ที่ได้จัดทำเป็นครั้งแรกของอาเซียนในปี 2022 สอดรับกับกระแสสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้ามาปฏิวัติวงการศิลปะทั่วโลกที่เชื่อมโยงไปสู่การลงทุน 

ปัจจุบัน ‘ไปรษณีย์ไทย’ กำลังพัฒนา แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนแสตมป์ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสำหรับกลุ่มเหล่านักสะสม

140 ปี ไปรษณีย์ไทย สู้กระแส Digital Disruption สืบชีวิต \'แสตมป์\' สู่ Soft Power

 ส่งรูปจากสมาร์ทโฟน ทำ iStampได้ทันที

พร้อมผลักดันให้ทุกคนสามารถมีแสตมป์ส่วนตัวด้วยบริการ iStamp ตามกระแสการตลาดรู้ใจ หรือ Personalize Marketing โดยนำภาพถ่ายใบหน้าของตนเองพิมพ์เป็นสติกเกอร์แสตมป์และสามารถติดบนซองจดหมายส่งได้จริง

นอกจากนี้ ยังจะเชิญ นักอออกแบบ และ ผู้มีชื่อเสียง เข้ามารังสรรค์แสตมป์รูปแบบใหม่ ๆ ทั้งที่เป็นรูปแบบดิจิทัลและแสตมป์ปกติทั่วไป สนับสนุนการสร้างมูลค่า ซอฟต์พาวเวอร์สาขาศิลปะ และโอกาสให้กับผู้ที่มีความสามารถ

ที่ได้ทาบทามไว้แล้วขณะนี้คือ น้องจิน Little Monster เพจ Gluta Story เป็นอาทิ ซึ่งคาดว่าจะได้ ‘ผู้ติดตาม’ รุ่นใหม่ของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เข้าสู่โลกของแสตมป์เพิ่มขึ้น

อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญกับการเจาะกลุ่มเป้าหมายแบบ เฉพาะกลุ่ม (Niche Market) มากขึ้น เพื่อให้เกิด ‘ความต้องการ’ จากความหลากหลายของการดีไซน์ที่ตรงใจคนทุกกลุ่ม 

รวมทั้ง การออกแบบแสตมป์ให้สอดรับกับความนิยมและสถานการณ์ เช่น อี-สปอร์ต ในวันเด็กแห่งชาติ ที่สะท้อนถึงการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านดิจิทัล

140 ปี ไปรษณีย์ไทย สู้กระแส Digital Disruption สืบชีวิต \'แสตมป์\' สู่ Soft Power เจนวิทย์ อภิชัยนันท์ 

นาย เจนวิทย์ อภิชัยนันท์ อุปนายกฝ่ายกิจกรรม สมาคมนักสะสมตราไปรษณียากร แห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ความเห็นว่า สำหรับกลุ่มนักสะสมแสตมป์มองว่า แสตมป์ มีคุณค่าและอรรถประโยชน์มากกว่าเฉพาะการใช้งานเพื่อเป็นหลักฐานการชำระค่าบริการไปรษณีย์ 

“เพราะเป็นเสมือนสิ่งพิมพ์ที่ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบันทึกเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของสังคมในแต่ละช่วงเวลา แฝงด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ที่สะท้อนประวัติศาสตร์ มีความน่าสนใจและดีไซน์ความสวยงามที่แตกต่าง 

อีกทั้งยังตอบโจทย์กลุ่มนักสะสมรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้นด้วย โดยคาดว่าประเภทของแสตมป์ที่จะทวีมูลค่าในอนาคต ประกอบด้วย 5 ปัจจัย ได้แก่ อายุของแสตมป์ ความต้องการในท้องตลาด ปริมาณการผลิต ข้อมูลเฉพาะของแสตมป์ และความสมบูรณ์ของสภาพดวงแสตมป์”

140 ปี ไปรษณีย์ไทย สู้กระแส Digital Disruption สืบชีวิต \'แสตมป์\' สู่ Soft Power มยุรี นาคนิศร 

ขณะที่นางสาว มยุรี นาคนิศร นักออกแบบแสตมป์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ตลอด 20 ปี ที่ได้ร่วมออกแบบแสตมป์ให้กับไปรษณีย์ไทยเป็นความสนุกและท้าทายเป็นอย่างมาก  

“เนื่องจากนักออกแบบแสตมป์ไม่ใช่เพียงคนวาดรูปหรือถ่ายภาพเพื่อมาทำแสตมป์เท่านั้น แต่นักออกแบบแสตมป์ยังต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ทั้งทางประวัติศาสตร์และทางกายภาพ เพื่อเลือกมุมมองที่น่าสนใจของแต่ละหัวข้อที่ได้รับโจทย์มา จึงจะถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานแสตมป์แต่ละชุดได้”

มยุรียอมรับด้วยว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้นักออกแบบต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ ทั้งเทคนิคการวาดที่มีการนำเอาอุปกรณ์ดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในการออกแบบ เทคนิคการพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รูปแบบการนำเสนอที่ทำให้แสตมป์น่าสนใจ รวมถึงการทำงานร่วมกับศิลปินหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงในช่วงนั้น เพื่อให้วงการและตลาดแสตมป์ยังคงคึกคักอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลง

140 ปี ไปรษณีย์ไทย สู้กระแส Digital Disruption สืบชีวิต \'แสตมป์\' สู่ Soft Power แสตมป์โสฬศ หนึ่งในนิทรรศการย้อนประวัติศาสตร์แสตมป์ไทย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในโอกาสครบ 140 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย บริษัทไปรษณีย์ไทยได้ดำเนินการจัดพิมพ์ แสตมป์ชุดโสฬศ ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อการสะสม จำนวน 2 ชุด

  • ชุดแรกวางจำหน่ายแล้วเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพ รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงก่อตั้งกิจการไปรษณีย์กรุงสยาม
  • ชุดที่สอง กำหนดวางจำหน่ายวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัด งานแสดงตราไปรษณียากรโลก หรือ 'งานแสตมป์โลก' ณ ไปรษณีย์กลางบางรัก กรุงเทพฯ

แสตมป์ชุดโสฬส เป็นแสตมป์ชุดแรกของประเทศไทย กำเนิดขึ้นวันเดียวกับวันก่อตั้ง ‘กิจการไปรษณีย์กรุงสยาม’

140 ปี ไปรษณีย์ไทย สู้กระแส Digital Disruption สืบชีวิต \'แสตมป์\' สู่ Soft Power พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน

ขณะนี้ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน อาคารไปรษณีย์สามเสนใน (ชั้น 2) ก็กำลังจัด นิทรรศการย้อนประวัติศาสตร์แสตมป์ไทย นับตั้งแต่แสตมป์ดวงแรกที่สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศ แสตมป์ที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญ ต่อเนื่องมาจนถึงแสตมป์ยุคปัจจุบันปีพ.ศ.2566 ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการฯ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

พร้อมร่วมสนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ รับของแรร์ไอเทมจากงานครบรอบปีที่ 125 และปีที่ 130 ของไปรษณีย์ไทย เมื่อซื้อสินค้าที่จัดจำหน่ายในนิทรรศการฯ มีบริการ iStamp คอลเลคชั่นใหม่ที่จะชวนทุกคนย้อนอดีต 140 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย กับภาพเก่าในสไตล์ Pop Culture ตั้งแต่วันนี้ - 29 ตุลาคม 2566

140 ปี ไปรษณีย์ไทย สู้กระแส Digital Disruption สืบชีวิต \'แสตมป์\' สู่ Soft Power แสตมป์ชุดพิเศษ เนื่องในโอกาสไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานแสตมป์โลกครั้งแรก พ.ศ.2526

สำหรับ งานแสดงตราไปรษณียากรโลก ณ ไปรษณีย์กลางบางรัก กำหนดดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2566 เป็นงานสำคัญที่ประกอบไปด้วย

  • นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติหัวข้อ ‘เจ้าฟ้านักสะสม’ 
  • การจำลองพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
  • การจัดแสดงแสตมป์ที่แพงที่สุดในโลก เอเชีย และไทย 
  • การประกวดแสตมป์จากนักสะสมทั่วโลก 
  • การจำหน่ายแสตมป์และสิ่งสะสมชุดพิเศษที่ได้ร่วมมือกับศิลปินรุ่นใหม่ 
  • การออกร้านคอลเลคชั่นแสตมป์จากไปรษณีย์ทั่วโลก 
  • เสวนาให้ความรู้ด้านการพัฒนาและสะสมแสตมป์