งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก

กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ นิทรรศการศิลปะ Womanifesto ประจำปี 2566 ‘วูแมนิเฟสโต: ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง’ รวบรวมผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบมากกว่า 30 ชิ้น ของกลุ่มศิลปินหญิงยุคบุกเบิกตั้งแต่นิทรรศการครั้งแรก พ.ศ. 2540 ถึงปัจจุบัน

Womanifesto (วูแมนิเฟสโต) เริ่มก่อตั้งขึ้นในรูปแบบของ นิทรรศการศิลปะ โดยกลุ่มศิลปินหญิงในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยศิลปิน นักเขียน นักเคลื่อนไหวทางสังคม รวมตัวกันรวบรวมผลงานของศิลปินหญิงในภูมิภาคเอเชียและประเทศอื่นๆ จัดแสดงเป็น ‘นิทรรศการศิลปะ’ ทุก 2 ปี (Biennale)

กลุ่มศิลปินหญิงผู้ริเริ่มก่อตั้งนิทรรศการศิลปะวูแมนิเฟสโต ได้แก่ นิตยา เอื้ออารีวรกุล, วาชาร์ นายร์, สมพร รอดบุญ และ อรรฆย์ ฟองสมุทร

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก นิทรรศการ Womanifesto (วูแมนิเฟสโต) ในอดีต

นิทรรศการศิลปะ Womanifesto ครั้งแรกจัดขึ้นในปีพ.ศ.2540 ณ ศูนย์บ้านตึก และ หอศิลป์ บ้านเจ้าพระยา มีศิลปินร่วมแสดงผลงาน ได้แก่ นิตยา เอื้ออารีวรกุล, พินรี สัณฑ์พิทักษ์, ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ, สุโรจนา เศรษฐบุตร, ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ, วาร์ชา นายร์, จิตติมา ผลเสวก, กัญญา เจริญศุภกุล, ไขแสง ปัญญาวชิระ, มิงค์ นพรัตน์, อแมนดา เฮง, อะราไมยานี, ไฮเดอมารี ลายมณี เกาส์, อิงกริด เฮซ, เคลาเซอร์ เป็นอาทิ

หลังการจัดนิทรรศการครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ. 2542 วูแมนิเฟสโต เริ่มแปรเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นโครงการต่าง ๆ จนกลายเป็นพื้นที่แห่งการพบปะแลกเปลี่ยนของกลุ่มศิลปินหญิงที่อยู่บนพื้นฐานของมิตรภาพและความเอื้ออาทรระหว่างกัน

ขณะที่เป้าหมายแรกเริ่มเกิดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานศิลปะผ่านรูปแบบการจัดนิทรรศการเพื่อแสดงพลังและสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลงานของศิลปินหญิงให้เป็นที่ประจักษ์ ได้พัฒนาและต่อยอดไปสู่การเปิดกว้างทางความคิด การให้ค่าของวัฒนธรรมพื้นถิ่นและงานหัตถกรรม 

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก เรื่องราวของ นิทรรศการ Womanifesto (วูแมนิเฟสโต) ในอดีต

การทำงานของวูแมนิเฟสโตตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยืดหยุ่นและลื่นไหล ก่อให้เกิดเป็นโครงการที่หลากหลายและเปิดกว้าง ทั้งในเชิงการลงมือปฏิบัติและสะท้อนการดำรงอยู่ของทุกคน 

โดยให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการที่ไม่ได้เน้นถึงผลลัพธ์ที่สิ้นสุด และสนับสนุนให้สิ่งที่เกิดขึ้นดำเนินไปอย่างธรรมชาติ ซึ่งล้วนแล้วเป็นผลมาจากการพบปะแลกเปลี่ยน หรือใช้เวลาอยู่ด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มุ่งเน้นที่จะส่งต่อและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ พร้อมกับสร้างกระบวนการคิดในเชิงวิพากษ์

ด้วยปัจจัยและสภาพการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไปตามเวลา ทำให้ ‘วูแมนิเฟสโต’ เว้นระยะการจัดแสดงนิทรรศการไปบ้าง

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก กลุ่มศิลปินและผู้จัดนิทรรศการวูแมนิเฟสโต 2566

ล่าสุด พ.ศ.2566 ด้วยการสนับสนุนของ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กลุ่มศิลปินผู้จัดงานวูแมนิเฟสโต นำเสนอนิทรรศการอีกครั้งภายใต้ชื่อ “วูแมนิเฟสโต : ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง” 

เป็นนิทรรศการครั้งสำคัญของวูแมนิเฟสโต ที่ได้รวบรวมผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบมากกว่า 30 ชิ้น นับตั้งแต่นิทรรศการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบัน จากศิลปินหญิงในภูมิภาคเอเชียและประเทศอื่น ๆ ที่เคยร่วมแสดงและเป็นส่วนหนึ่งของวูแมนิเฟสโต 

นอกจากนี้ยังรวบรวมเอกสารสำคัญของกลุ่มวูแมนิเฟสโต ‘WeMend’ พื้นที่เวิร์คช็อป และโปรแกรมการศึกษา รวมถึงโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน 

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ยั่งยืนของกลุ่มวูแมนิเฟสโต ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มศิลปินหญิงที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในฐานะ หนึ่งในกลุ่มสตรีกลุ่มแรกที่ปรากฏตัวและเคลื่อนไหวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังดำรงอยู่จนกลายเป็นบทบันทึกที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยทั้งไทยและสากล

ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ
ผลงานศิลปะ : ยูโทเปีย, 2563 / เก้าอี้ศิลปิน 1, 2565 / เก้าอี้ศิลปิน 2, 2565

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก ยูโทเปีย, 2563 / เก้าอี้ศิลปิน 1, 2565 / เก้าอี้ศิลปิน 2, 2565

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก ภาพวาดบนเก้าอี้

งานศิลปะของ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ประติมากรรม และเซรามิก ถ่ายทอดเรื่องราวความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ความเปลี่ยนแปลง ตามหลักปรัชญาศาสนาพุทธและธรรมชาติ

ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ สำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขาภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะหลายสถาบันในกรุงเทพฯ นานกว่า 30 ปี ปัจจุบันพำนักอยู่ที่อำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย  ก่อตั้งหอศิลป์ศรีดอนมูล

ในนิทรรศการครั้งนี้ ศรีวรรณจัดแสดงผลงานศิลปะจำนวน 3 ชิ้น ได้แก่ ยูโทเปีย, เก้าอี้ศิลปิน 1 และ เก้าอี้ศิลปิน 2 ผลงานทั้งสามชิ้นเกิดจากความเชื่อว่าทุกสิ่งที่อุบัติขึ้นบนโลก ไม่ว่าดีหรือร้าย  “เราต้องขอบคุณสิ่งที่เกิดขึ้น”

“ความสุข ความทุกข์ ความกลัว ความตาย ความไม่มั่นคง ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงและวัฏจักรของธรรมะที่สะท้อนให้เห็นในสติปัญญาของเราซึ่งก่อให้เกิดภาพจิต ผลงานเหล่านี้ ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบและบนเก้าอี้ไม้สัก พยายามเก็บภาพบรรยากาศความตายที่สวยงามและความตายก่อนการเสียชีวิต”

 

คาร์ลา ซักเซอ (Karla Sachse)
ผลงานศิลปะ : baskets of experience (2544-2561)

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก เครื่องหุ้มห่อต่างๆ ของ คาร์ลา ซักเซอ (Karla Sachse)

คาร์ลา ศิลปินหญิงชาวเยอรมัน ปัจจุบันพำนักอยู่ในกรุงเบอร์ลิน เดินทางมาร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ “วูแมนิเฟสโต: ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง” ด้วยตนเอง

ครั้งนี้เธอจัดแสดงผลงานศิลปะจัดวางชื่อ baskets of experience (2544-2561) ทำจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น การเขียนข้อความด้วยมือ และลวด

คาร์ลาเล่าถึงการสร้างงานศิลปะชุดนี้ว่า เกิดจากการที่คุณพิกุล ดีล้นงาม สอนเธอสานตะกร้าจากกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าที่ไร่บุญบันดาล จ.ศรีสะเกษ  ทำให้เนื้อหาข่าวสารที่ล่วงลับไปกับเวลากลายเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากขึ้น

คาร์ลาเลือกสาน ‘กระดาษหนังสือพิมพ์เก่า’ และ ‘กระดาษที่เป็นลายมือเขียน’ ออกมาเป็นรูปร่างอวัยวะของผู้หญิง เมื่อเธอเดินทางไปเป็นวิทยากรด้านศิลปะให้สตรีท้องถิ่นแต่ละประเทศ ก็จะให้สตรีในชุมชนนั้นเลือกที่จะสานกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าออกมาเป็นอวัยวะใดก็ได้ตามความรู้สึก

ส่วนกระดาษที่เป็นลายมือเขียน เมื่อสานเป็นงานศิลปะไปแล้วไม่สามารถอ่านได้ก็ไม่เป็นไร ถือเป็นความลับในใจของผู้หญิงแต่ละคนที่อย่างน้อยก็ได้ระบายความรู้สึกนั้นออกมา

ยกตัวอย่างเช่นที่ เวียดนาม ในปี 2550 สตรีในกรุงฮานอยและโฮจิมินห์สานหนังสือพิมพ์ออกมาเป็นอวัยวะ ดวงตา เธอตั้งชื่องานชิ้นนี้ว่า เครื่องหุ้มห่อแห่งการสะอื้นไห้  ของคนที่ต้องผ่านชีวิตช่วงสงคราม ไม่อาจทนต่อความทรงจำเหล่านั้นได้ และยังคงติดอยู่ในดวงตา

นอกจากอวัยวะดวงตา ก็ยังมีผลงานศิลปะที่สานเป็นรูปทรงอวัยะต่างๆ ภายในร่างกายมนุษย์ เช่น เครื่องหุ้มห่อสตรีเพศ เครื่องหุ้มห่อแห่งการย่อย เครื่องหุ้มห่อแห่งการห้ำหั่น เครื่องหุ้มห่อแห่งพิษ ไปค้นหาคำตอบกันได้ว่าคืออะไร

 

พินรี สัณฑ์พิทักษ์
ผลงานศิลปะ : กระดาษสาและเหล็ก

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก กระดาษสาและเหล็กโดย พินรี สัณฑ์พิทักษ์

พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ใช้ กระดาษสา วัสดุที่บอบบางมาขึ้นเป็นรูปของผู้หญิง เป็นเหมือนตัวแทนเรือนร่างของผู้หญิงที่แตกต่างกัน งานชุดนี้ขอยืมมาจากคอลเลคชั่นของ เกล้ามาศ ยิบอินซอย จากพิพิธภัณฑ์ที่จังหวัดสงขลา

ศิลปินเริ่มใช้รูปทรง เต้านม ในงานศิลปะตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีก่อน บางครั้งรูปทรงเต้านมตั้งตระหง่าน บางครั้งหย่อนยาน ใช้เป็นอนุสาวรีย์ของผู้หญิง บางครั้งก็ให้แทน ‘ตัวตนเอง’ เล่าเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านเข้ามา มีทั้งที่เป็นสาระและไม่เป็นสาระ แต่หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ชีวิตคงน่าเบื่อ

“บางคนบอกว่างานของข้าพเจ้ามีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูง และมีนัยทางเพศอยู่บ่อยๆ นั่นถูกต้องทั้งหมดสำหรับข้าพเจ้า ไม่ว่าข้าพเจ้าจะสร้างงานศิลปะด้วยเหตผลใดก็ตาม ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามันท้าทายจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกของตนเอง และนั่นเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นที่พอเพียงแล้วสำหรับข้าพเจ้า” พินรี กล่าว

 

พิม สุทธิคำ และ ปรีณัน นานา
ผลงานศิลปะ : Full Circle, 2566

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก ผลงานศิลปะ : Full Circle, 2566

พิม สุทธิคำ เป็นศิลปินเครื่องปั้นดินเผา ทำงานศิลปะโดยใช้ดินเป็นสื่อมาตั้งแต่ปี 2537 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ปรีณัน นานา เป็นนักจัดการงานศิลปวัฒนธรรม ภัณฑารักษ์ และศิลปินอิสระ เข้าร่วมโครงการ  Womanifesto ตั้งแต่พ.ศ.2544 ทั้งในฐานะทีมผู้จัดและศิลปินที่เข้าร่วมโครงการ

ในนิทรรศการ วูแมนิเฟสโต: ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง พิมและปรีณัน นำเสนอผลงานศิลปะสื่อผสมและดินเผาจัดวาง นำเสนอเรื่องราวของใบไม้ใบหญ้า ที่ได้จากการออกไปเวิร์คช็อปกับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมในบ้านผือ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี 

น้องๆ นักเรียนพาศิลปินเดินชมป่า สำรวจหมู่บ้าน แนะนำพืชผักสมุนไพร แม้กระทั่งวัชพืช ลักษณะและสรรคุณต่างๆ ที่น้องๆ บอกเล่าได้รับการจดบันทึกลงบนกระดาษธรรมชาติ เช่น ‘เยื่อกาบหมาก’ ที่ผูกติดไว้ที่ต้นไม้ให้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้อ่าน และพยายามเก็บรักษาไว้โดยการทับให้แห้ง

ศิลปินรู้สึกว่า สายตาที่มองโลกเช่นนี้ช่างงดงามและช่วยชำระล้างจิตใจให้คนซึ่งผ่านโลกที่วุ่นวายและเร่งรีบไปทุกสิ่ง คุณค่าที่เด็กๆ ส่งผ่านมีอยู่ในใบไม้เล็กๆ ที่พร้อมจะแห้งเหี่ยวไปในเวลาอันสั้น 

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก ผู้เข้าชมนิทรรศการร่วมกดใบไม้ลงบนดินเหนียว

สองศิลปินจึงนำมาต่อยอดเป็นงานศิลปะพิมพ์ ใบไม้ ลงบน ดินเหนียว ซึ่งเป็นวัสดุที่ยืดหยุ่นและละเอียดถี่ถ้วน เปรียบดินกับใบไม้เป็นตัวแทนของทุกเรื่อง ชีวิตที่เกิดการเริ่มต้น มีการเรียนรู้ บันทึกความรู้นั้นเอาไว้ ยื้อเวลาไม่อยากให้สิ่งนั้นสูญหาย โดยใช้ดินเป็นตัวยื้อ

“เราต้องการให้คนซึ่งมาชมนิทรรศการฯ มีส่วนสร้างงาน ไม่ถึงกับเป็นเวิร์คช็อป แต่สนุกกับการกดดินเหนียวเป็นรูปใบไม้ ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ข้อมูลของใบไม้ที่กด เหมือนที่เราได้เรียนรู้จากเด็กนักเรียน

เมื่อได้ดินเหนียวรูปใบไม้แล้วก็นำมาวางไว้บนพื้นที่ที่เราจัดเตรียมไว้ ประมาณเกือบสี่เดือนที่เราจัดงาน เราอยากรู้กองใบไม้จะกองใหญ่ขนาดไหน  ดินรูปใบไม้ในส่วนที่ไม่ถูกเผา จะนำไปวางคืนที่ ‘ห้วยดินดำ’ จนกว่าจะคืนรูปไปกับดินตามเดิม” 

 

ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ
ผลงานศิลปะ : ตั้งกำแพง-สร้างใหม่, 2553-2562

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก ตั้งกำแพง-สร้างใหม่, 2553-2562

งานศิลปะชุดนี้เกิดขึ้นจากวลี ‘ตั้งกำแพง’ หมายถึง ‘การสร้างเงื่อนไข’ หรือ ‘อุปสรรค’ ชิ้นงานมีลักษณะคล้ายก้อนอิฐซึ่งทำด้วยผ้าฝ้ายทอมือและมีการเขียนตัวอักษรลงบนผ้าฝ้ายด้วยหมึกดำ นำมาเรียงต่อเหมือนกำแพง

กำแพงนี้ไม่ปิดทึบซะทีเดียว ยังมีโพรงและช่องว่างให้พอมองเห็นอีกฟากฝั่ง เปรียบเสมือนวลี ‘ตั้งกำแพง’  หากปิดทึบก็ปิดโอกาสที่จะได้สื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน แต่กำแพงที่ยังพอมีช่องว่าง ก็เปิดโอกาสในทางตรงข้าม

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ

ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ ผ่านการฝึกฝนเป็นช่างจิตรกรรมฝาผนังวัดในประเทศไทย หลังกลายเป็นที่ยอมรับตามขนบประเพณีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ภาพตะวันท้าทายชีวิตเดิมๆ ด้วยการย้ายไปอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย และได้จัดแสดงผลงานศิลปะทั้งในปารีส โตเกียว มะนิลา เมลเบิร์น กรุงเทพฯ รวมถึงงาน Sydney Biennale, Bangkok Art Biennale, Jakata Biennale และ documenta 15

ผลงานของ ‘ภาพตะวัน’ ยึดถือแนวคิดการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนในการสื่อสารและความจำเป็นในการเชื่อมสัมพันธ์ต่อกัน ผลงานในช่วงแรกมุ่งพิจารณาข้อจำกัดทางเพศที่ทั้งส่งเสริมและจำกัดแนวทางการทำงานศิลปะของเธอ ผลงานมักบอกเล่าเรื่องราวที่เชื่อมโยงประสบการณ์ต่างๆ ของมนุษย์เข้าด้วยกัน

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก ตัวอักษรบนผ้าทอที่ทำเป็นรูปก้อนอิฐ

รูปแบบการใช้ข้อความ ภาษาไทย ที่ผสานลวดลายเส้น ได้พัฒนาไปเป็นโครงสร้างหลายชั้น เช่น กระจก ผ้าโปร่ง แผ่นอะคริลิค ซึ่งทำให้ภาพที่ปรากฏบิดเบือนไป ทั้งยังก่อให้เกิดองค์ประกอบที่กระตุ้นประสาทสัมผัส เช่น เสียง กลิ่น

ภายในนิทรรศการ วูแมนิเฟสโต: ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง นิทรรศการศิลปะประจำปีพ.ศ.2566 ยังมีศิลปินร่วมแสดงผลงานศิลปะอีกหลายท่าน ดังนี้

  • กัญญา เจริญศุภกุล (ไทย)
  • จารุนันท์ พันธชาติ (ไทย)
  • จิรัฐติ คุตะนาม (ไทย)
  • จิตติมา ผลเสวก (ไทย)
  • ดวงหทัย พงศ์ประสิทธิ์ (ไทย)
  • ทาริ อิโตะ (ญี่ปุ่น)
  • นฤมล ธรรมพฤกษา (ไทย)
  • นิโลฟาร์ อัฆมุต (ปากีสถาน)
  • นิตยา เอื้ออารีวรกุล (ไทย)
  • ปาน ภาระหอม (ไทย)
  • ภัทรี ฉิมนอก (ไทย)
  • มณีรัตน์ ธรรมนารักษ์ (ไทย)
  • มรกต เกษเกล้า (ไทย)
  • มณฑาทิพย์ สุขโสภา (ไทย)
  • ยุวนา ปุณวัฒนวิทย์ (ไทย)
  • รัศมีมาลา (อินเดีย)
  • ลาวัลย์ จิระสุรเดช (ไทย)
  • ลิเลียน ซุมเคมิ (สวิตเซอร์แลนด์)
  • เลน่า เอริคสัน (สวิตเซอร์แลนด์)
  • วัชราพร ศรีสุข (ไทย)
  • วาร์ช่า นายร์ (อินเดีย)
  • เวอร์จิเนีย ฮิลยาร์ด (ออสเตรเลีย)
  • สุโรจนา เศรษฐบุตร (ไทย)
  • อะราไมยานี (อินโดนีเซีย)
  • อรอนงค์ กลิ่นศิริ (ไทย)
  • อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม (ไทย)

งานศิลปะ 26 ปี Womanifesto เสียงจากกลุ่มศิลปินหญิง Southeast Asia กลุ่มแรก

นิทรรศการ วูแมนิเฟสโต: ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง กำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 12 กันยายน – 30 ธันวาคม 2566 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันอังคารถึงวันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 10.00 - 20.00 น.