นิทรรศการภาพวาดอินเดีย-อาเซียน ‘ศิลปะไร้ความต่าง’

นิทรรศการภาพวาดอินเดีย-อาเซียน ‘ศิลปะไร้ความต่าง’

ชมนิทรรศการภาพวาดฉลอง 30 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตอินเดีย-อาเซียน ได้แรงบันดาลใจจากเมืองอุทัยปุระ รัฐราชสถาน

สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย โดยเอกอัครราชทูตนาเกช ซิงห์จัดนิทรรศการภาพวาดอันเป็นเอกลักษณ์โดยศิลปินจากอินเดียและประเทศอาเซียนหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ 31 ม.ค. - 5 ก.พ.  นับเป็นภาพสะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มั่นคงของอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความสัมพันธ์ของผู้คนในภูมิภาค เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตอินเดีย-อาเซียนเมื่อปี 2565

นิทรรศการภาพวาดอินเดีย-อาเซียน ‘ศิลปะไร้ความต่าง’

ตามที่กระทรวงการต่างประเทศอินเดียใช้วาระสำคัญนี้จัดค่ายศิลปินอินเดีย-อาเซียน เป็นเวลา 10 วัน ณ เมืองอุทัยประ (Udaipur) รัฐราชสถาน เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นำศิลปินทัศนศิลป์ 20 คนจากอินเดียและอาเซียนมาร่วมกิจกรรมหลากหลาย ทั้งฟังบรรยาย ชมการสาธิต สัมมนา หารือ และทัศนศึกษา เพื่อสัมผัสศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอินเดีย สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงคุณค่าวัฒนธรรมประเพณีของชาติสมาชิกอาเซียนและอินเดีย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประชาชนกับประชาชนตามนโยบาย Act East ของรัฐบาลอินเดีย

ระหว่างเข้าค่ายศิลปินทั้ง 20 คน รังสรรค์ชิ้นงานของตนเองที่ขณะนี้นำมาจัดแสดงอยู่ที่ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภัทรพร เลี่ยนพานิช ศิลปินชาวไทยผู้ร่วมโครงการ เล่าว่า ผลงานชื่อ Spirit of Asia ของตนนั้นได้แรงบันดาลใจจากปราสาทกลางน้ำในเมืองอุทัยปุระ 

นิทรรศการภาพวาดอินเดีย-อาเซียน ‘ศิลปะไร้ความต่าง’ (Spirit of Asia)

“ศิลปะของเขากับเรานั้นไม่ต่างกันเลย วัฒนธรรมเราคล้ายกันอยู่แล้ว” ศิลปินเปิดฉากเล่าเรื่อง โดยส่วนตัวภัทรพรเน้นการสร้างงานสีน้ำ สีอะคริลิกแนวใสๆ จับลวดลายจากภาชนะใกล้ตัว ก่อนเข้าร่วมโครงการศิลปินรายนี้ไม่เคยไปอินเดียมาก่อน เมื่อได้ไปเยือนครั้งแรกพบว่า เป็นประเทศที่มีความหลากหลาย ทำให้เขามีวัตถุดิบมาสร้างงานได้มากมาย 

“ตอนอยู่โน่นกลางวันสร้างงาน กลางคืนเราก็เล็คเชอร์กัน ทั้งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เราก็ได้แลกเปลี่ยน สร้างสรรค์งานกัน” สังคมอินเดียมีความเก่าใหม่ผสมผสานกันเอื้อในการทำงานศิลปะ 

สำหรับ Spirit of Asia ภัทรพรได้แรงบันดาลใจจากเครื่องกระเบื้องอินเดียสีคราม น้ำเงิน และลวดลายบนปราสาทโบราณผสมผสานด้วยกลิ่นอายความเป็นเอเชีย เช่น ปลาคาร์พ ขนนกยูง พระจันทร์ ศิลปินจับแนวคิดเหล่านี้มาผสมผสานกัน งานของภัทรพรและเพื่อนๆ ศิลปินทั้งอาเซียนและอินเดียยังจัดแสดงให้ชมเป็นวันสุดท้าย (5 ก.พ.)  ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ถึงเวลา 20.00 น. เพื่อประจักษ์แก่สายตาว่า ศิลปะเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกัน ศิลปะไม่มีพรมแดน ไม่มีการเมือง ศาสนา หรือความต่าง แต่เป็นสะพานแห่งความเข้าใจ ร้อยรัดผู้คน สร้างเสริมสันติภาพและความกลมกลืนอย่างได้ผลยิ่ง 

นิทรรศการภาพวาดอินเดีย-อาเซียน ‘ศิลปะไร้ความต่าง’ (The Mascot โดย Dileep Sharma จากอินเดีย)

นิทรรศการภาพวาดอินเดีย-อาเซียน ‘ศิลปะไร้ความต่าง’ (Pancha Sila โดย Sone Khounpaseuth สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)

นิทรรศการภาพวาดอินเดีย-อาเซียน ‘ศิลปะไร้ความต่าง’ (Traditional Beauty โดย Aye Myat Soe เมียนมา)

นิทรรศการภาพวาดอินเดีย-อาเซียน ‘ศิลปะไร้ความต่าง’ (Oceans of Connectivity โดย Samrit Keo กัมพูชา)