ผู้หญิงต้องรู้! วิธีรับมือ Sexual Harassment หากถูก "ลวนลาม" แบบไม่คาดคิด

ผู้หญิงต้องรู้! วิธีรับมือ Sexual Harassment หากถูก "ลวนลาม" แบบไม่คาดคิด

จากกรณีนี้หญิงสาว 18 ปี ถูกนักการเมืองระดับรองหัวหน้าพรรค "ลวนลาม" นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมไทย ชวนผู้หญิงไทยรู้วิธีรับมือ "Sexual Harassment" ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณ!

กระแสแรงชั่วข้ามคืน! จากกรณีหญิงสาววัย 18 ปี ถูกนักการเมืองระดับรองหัวหน้าพรรค หลอกไปร่วมพูดคุยเรื่องหุ้น การลงทุน และเศรษฐศาสตร์ แต่เมื่อไปถึงกลับถูก "ลวนลาม" มีพฤติกรรม "Sexual Harassment" เช่น หอมแก้ม กอดจูบ จับก้น โดยไม่สมยอม

ต่อมาหญิงสาวรายนี้พร้อมผู้ปกครองได้ติดต่อขอคำแนะนำจาก ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด และได้ดำเนินการแจ้งความ จากนั้นทนายชื่อดังได้เปิดเผยถึงประเด็นนี้เมื่อวานที่ผ่านมา ทำให้ประเด็น "Sexual Harassment" ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทยอีกครั้ง

จากกรณีดังกล่าว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนผู้หญิงไทยรู้วิธีรับมือ "การคุกคามทางเพศ" ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณได้โดยไม่คาดคิด หากเจอเข้ากับตัวต้องเอาตัวรอดอย่างไร? หาคำตอบที่นี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ผู้หญิงต้องรู้! วิธีรับมือ Sexual Harassment หากถูก "ลวนลาม" แบบไม่คาดคิด

 

1. Sexual Harassment คืออะไร? 

Sexual Harassment คือ การคุกคามทางเพศ หรือการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นพฤติกรรมทางเพศที่กระทำโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่เหยื่อมักเป็นผู้หญิง วัยรุ่น และเด็ก

การกระทำนี้อาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศหรือการทำร้ายร่างกายได้ และมักจะทำให้เหยื่อได้รับการผลกระทบทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง

ดังนั้น เพื่อรักษาสิทธิในร่างกายของตนเองและป้องกันการคุกคามทางเพศ ผู้หญิงทุกช่วงวัยควรศึกษารูปแบบของพฤติกรรมเหล่านั้น และเรียนรู้วิธีการรับมือเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ดังกล่าว

2. พฤติกรรมแบบไหน? ที่เข้าข่าย Sexual Harassment

การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทั้งที่ทำงาน โรงเรียน บ้าน พื้นที่สาธารณะ หรือแม้แต่ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวอาจแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 

2.1) Sexual Harassment ทางคำพูดหรือการสื่อสาร

พฤติกรรมในรูปแบบนี้หมายถึงการใช้คำพูดและตัวอักษร ทั้งการเขียนและการส่งข้อความที่ส่อไปในทางเพศ เช่น

  • การพูดหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปร่าง หน้าตา 
  • การใช้มุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ ผิวปาก หรือส่งเสียงหยอกล้อ
  • การร้องขอหรือส่งข้อความซ้ำ ๆ เพื่อขอนัดเจอ ขอเบอร์ หรือข้อมูลส่วนตัวแม้จะถูกปฏิเสธ
  • การร้องขอการกอด จูบ การมีเพศสัมพันธ์ หรือรูปภาพส่วนตัว
  • การใช้คำพูดหรือส่งข้อความข่มขู่เมื่ออีกฝ่ายไม่ยินยอมที่จะทำตามคำขอ
  • การปล่อยข้อมูลส่วนตัวหรือสร้างข่าวลือเกี่ยวกับเหยื่อในทางเสียหาย
  • การส่งภาพ วิดีโอ และเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาทางเพศให้กับอีกฝ่าย

2.2) Sexual Harassment ทางร่างกาย

การคุกคามทางเพศทางร่างกายอาจเป็นการล่วงละเมิดที่รุนแรงขึ้น โดยมีการใช้ร่างกายและพละกำลังเพื่อคุกคามอีกฝ่าย เช่น

  • การเข้าประชิดตัวหรืออยู่ใกล้มากผิดปกติ
  • การสัมผัสร่างกายโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม เช่น การลูบไล้หรือโดนนั่งเบียดใกล้ชิด หรือสัมผัสร่างกายของเหยื่อโดยตรง 
  • การสตอล์ก (Stalk) หรือการเดินตามเหยื่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ
  • การขัดขวางไม่ให้อีกฝ่ายเดินผ่านจุดใดจุดหนึ่ง
  • การบีบบังคับให้อีกฝ่ายยินยอมต่อการถูกคุกคามทางเพศ โดยใช้หน้าที่การงาน ชื่อเสียง หรือผลประโยชน์ รวมทั้งการใช้กำลังบังคับ
  • การจ้องมองร่างกายของอีกฝ่าย การแอบดู แอบถ่ายภาพหรือวิดีโอ
  • การโชว์อวัยวะเพศและช่วยตัวเองต่อหน้าอีกฝ่าย 

3. วิธีรับมือเมื่อถูก Sexual Harassment

หากต้องเผชิญกับ Sexual Harassment สิ่งแรกที่ควรทำคือการตั้งสติ แม้จะทำได้ยาก แต่เป็นวิธีเบื้องต้นที่ช่วยให้รับมือการเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดีขึ้น และตระหนักไว้เสมอว่าความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จากนั้นให้พยายามหลบออกจากสถานการณ์นั้นโดยเร็ว ในกรณีที่ไม่สามารถหลบออกมาได้ ควรหาทางป้องกันตนเองจากการคุกคาม โดยมีคำแนะนำ ดังนี้ 

  • หากไม่ได้เป็นการคุกคามด้านร่างกาย แต่คุกคามด้วยคำพูด สายตา ต้องไม่สนใจการกระทำเหล่านั้น ยิ่งเหยื่อแสดงอาการตกใจหรือกลัว ก็ยิ่งทำให้ผู้กระทำรู้สึกชอบใจ
  • ไปหาตำรวจ พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือไปในที่ที่มีคนอยู่เยอะ
  • แกล้งทำเป็นพูดคุยกับคนที่อยู่ในบริเวณนั้น หรือคุยโทรศัพท์ เพื่อให้ผู้คุกคามเกิดความกลัวและหยุดพฤติกรรม
  • หากมีการร้องขอสิ่งใดหรือนัดเจอ ควรปฏิเสธและจบการสนทนาแค่นั้น
  • บันทึกภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียง ข้อความ และข้อมูลของผู้คุกคามเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการแจ้งความ
  • ดำเนินการแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงเหตุการณ์ที่ที่เกิดขึ้น

4. ผลกระทบจาก Sexual Harassment ร้ายแรงกว่าที่คิด!

Sexual Harassment สามารถสร้างบาดแผลให้กับทั้งร่างกายและจิตใจของเหยื่อ การเผชิญกับการคุกคามทางเพศโดยทั่วไปมักทำให้เหยื่อเกิดความตกใจ หวาดกลัว และทำให้สุขภาพจิตใจย่ำแย่ลงได้

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาผลกระทบจากการโดน Sexual Harassment ในที่ทำงานทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย พบว่า เหยื่อที่เผชิญกับปัญหาเหล่านี้มักเกิดความรู้สึกกังวลใจ รู้สึกเครียดติดต่อกันเป็นเวลานาน รู้สึกโกรธและโทษตนเอง 

นอกจากนี้ อารมณ์ทางลบที่เกิดจากเหตุการณ์สะเทือนใจ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความเครียด ความกังวล ความโกรธ หรือความเกลียดชัง อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคทางอารมณ์ได้ทั้งแบบชั่วคราวและเรื้อรัง เช่น โรคเครียด ภาวะซึมเศร้า ภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) พฤติกรรมใช้สารเสพติด ปัญหาโรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม Sexual Harassment ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้อื่น และมีความผิดทางกฎหมาย ทุกคนควรใส่ใจและร่วมกันสอดส่องดูแล หากพบเห็นการล่วงละเมิดทางเพศ ควรยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ เพราะผู้ที่มีพฤติกรรม Sexual Harassment ถือว่าเป็นภัยสังคมรูปแบบหนึ่งที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นในสังคม

------------------------------------

อ้างอิง : pobpad, ษิทรา เบี้ยบังเกิด