รู้ 5 เรื่องระดับโลกของ "ผู้หญิง" ในไทย ก่อน "ประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก" 2565

รู้ 5 เรื่องระดับโลกของ "ผู้หญิง" ในไทย  ก่อน "ประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก" 2565

เปิดสถิติ "ผู้หญิง" ในไทย กับ 5 เรื่องระดับโลกเชิงเศรษฐกิจ-สังคม รับบิ๊กอีเวนต์ "การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก" มิ.ย.นี้ เน้นบทบาท "สตรี" ร่วมฟื้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 กับการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ หนุนขับเคลื่อนประเทศ

ประธานการจัดงาน การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2565 (Global Summit of Women 2022 ) และคณะกรรมการการจัดงานฝ่ายไทย ร่วมกันแถลงข่าว ณ ไอคอนสยาม ถึงความคืบหน้าหลังจาก ประเทศไทย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัด "การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลกครั้งที่ 32" เดือน มิ.ย.2565

นางสาวไอรีน นาทิวิแดท (Irene Natividad) ประธานจัด การประชุมสุดยอดสตรีโลก 2022 กล่าวว่า ประเทศไทยนอกจากจะเป็นประเทศที่มีความงดงามและมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแล้ว ยังเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญและส่งเสริม บทบาทของสตรีในภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
 

ก่อนงานใหญ่ การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2565 (Global Summit of Women 2022) ซึ่งประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมจะเริ่มในเดือน มิ.ย.ที่ใกล้ถึงนี้  

คุณทราบหรือไม่ ผู้หญิง ในประเทศไทย หรือ “สตรีไทย”  ติดอันดับโลกเชิงเศรษฐกิจ-สังคมในการเก็บสถิติของคณะผู้จัดประชุมนี้อย่างไรบ้าง
 

คุณทราบหรือไม่....

  • ประเทศไทย” อยู่ในอันดับต้นๆ (top tier) ของ “ดัชนีช่องว่างระหว่างหญิง-ชายระดับโลก ในมิติของการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ” ปี 2021 (2021 Women Economic Global Gender Gap Index for Economic Participation and Opportunity) ข้อมูลจาก “เว็บไซต์ธนาคารโลก” จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 22 ของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศ จากจำนวนทั้งหมด 157 ประเทศที่มีการเก็บข้อมูล
  • “สตรีไทย” 40% สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง "ผู้บริหารสูงสุด" และ 34% บริหารงานในตำแหน่ง "นักบริหารการเงินอาวุโส" ภายในหลายบริษัทของคนไทย 
  • “ประเทศไทย”  อยู่ในอันดับแรกของโลกที่ สตรีมีการศึกษาขั้นสูง โดย “สตรีไทย” มีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาเมื่อเทียบกับชายไทยในอัตรา 1.41 คนต่อชายไทย 1 คน (2021 WEF Global Gender Gap Report)
  • “สตรีไทย” เป็นสตรีกลุ่มแรกๆ ในเอเชียที่ได้รับการยินยอมให้มี “สิทธิ” ในการลงคะแนนเสียงทางการเมืองตั้งแต่ปีพ.ศ.2475
  • “สตรีไทย” คิดเป็น 47% ของจำนวน "คนทำงาน" เป็นจำนวนร้อยละสูงที่สุดของสตรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

รู้ 5 เรื่องระดับโลกของ \"ผู้หญิง\" ในไทย  ก่อน \"ประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก\" 2565 กรุงเทพฯ : สถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2565

สำหรับหัวข้อของการประชุมผู้นำสตรีในครั้งนี้ จะเน้นในเรื่อง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากการเผชิญกับวิกฤต โรคระบาด ซึ่งเป็นตัวเร่งสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ โดยเฉพาะ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถูกนำมาปรับใช้ สร้างความเปลี่ยนแปลงและความเติบโตให้กับธุรกิจผ่าน "อี-คอมเมิร์ซ" ซึ่ง ผู้หญิง มีส่วนร่วมอย่างมาก 

“ขณะนี้บรรดาผู้นำทั้งผู้หญิงและผู้ชายจากทั่วโลก ตอบรับการเข้าร่วมประชุม ทั้งจากแอฟริกาใต้ เวียดนาม ฝรั่งเศส สเปน เม็กซิโก เยอรมนี และคาซัคสถาน เป็นต้น ซึ่งบรรดาผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ต่างตื่นเต้นที่จะเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกในรอบสองปี หลังจากทุกประเทศต่างเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19” นางสาวไอรีน ประธานการจัดงานคณะทำงานฯ กล่าว 

ประธานจัดการประชุมสุดยอดสตรีโลกย้ำว่า การประชุมผู้นำสตรีนี้จะเป็นเวทีที่ส่งเสริม ความเท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชายในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และร่วมกันสร้างโอกาสใหม่หลังการเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด 

“พร้อมกันนี้ยังจะช่วยส่งเสริม เครือข่ายของความร่วมมือระหว่างประเทศ และเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมถึงการสร้างแรงบันดาลให้กับสตรีในการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด ไม่ว่าจะเป็นในฐานะพนักงาน เจ้าของธุรกิจ ผู้บริโภค หรือเป็นนักลงทุน โดยย้ำว่า ผู้หญิงจะเป็นพลังที่สำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น ผู้หญิงมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมเศรษฐกิจโลกให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง”

รู้ 5 เรื่องระดับโลกของ \"ผู้หญิง\" ในไทย  ก่อน \"ประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก\" 2565 ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร, กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร, ไอรีน นาทิวิแดท, นิชาภา ยศวีร์

ขณะที่นาง กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานกรรมการจัดงานของไทย กล่าวว่า คณะกรรมการยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมที่เป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่ของผู้นำสตรีในระดับนานาชาติ พร้อมตอกย้ำถึง ความพร้อมในการจัดการประชุม ที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมประชุม นอกจากจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยแล้ว ยังตอกย้ำ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศ อีกด้วย

“การประชุมผู้นำสตรี 2022 ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจของไทย ที่ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่องและส่งเสริมการลงทุนใหม่  ดิฉันเชื่อมั่นว่าการประชุมนี้จะก่อเกิดพลังสตรี ส่งเสริมความร่วมมือของคนทุกภาคส่วน สร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจและเพื่อโลกที่ดีขึ้น โดยเนื้อหาตลอดการประชุมทั้ง 3 วัน จะทำให้เห็นภาพของโอกาสทางธุรกิจแห่งอนาคต และสร้างเครือข่ายการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน”

นางกอบกาญจน์ ยังให้ความมั่นใจถึงมาตรการการดูแลและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างเข้มงวดในการประชุมครั้งนี้

พร้อมกล่าวเสริมด้วยว่า การประชุมครั้งนี้จัดแบบ รักษ์โลก “Carbon Neutral” มีการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการประชุม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้า การเดินทางของผู้เข้าร่วมประชุม การจัดเลี้ยงอาหาร การบริหารขยะและของเสียภายในงาน

นอกจากนี้ยัง สนับสนุนกิจกรรมที่ทำให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเพิ่มเติม ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตจาก โครงการลดก๊าซเรือนกระจก ภายในประเทศ

ในการประชุมจะมีการนำเสนอ สินค้าชุมชนท้องถิ่น จากทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็นนักธุรกิจระดับนานาชาติ 

รู้ 5 เรื่องระดับโลกของ \"ผู้หญิง\" ในไทย  ก่อน \"ประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก\" 2565 อาหารไทย เสน่ห์ดึงดูดด้านการท่องเที่ยวของไทย

ด้าน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด กล่าวถึง ความพร้อมของประเทศ ในการเปิดประเทศรับคณะผู้นำสตรีการประชุมระดับนานาชาติ และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 

“ประเทศไทยมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก หลังจากที่ต้องอยู่ในภาวะชะลอตัวของการท่องเที่ยวจากช่วงเวลาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา

อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่น่าประทับใจให้กับผู้นำสตรีที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2565 ซึ่งในปีนี้ ททท.กำหนดให้เป็นปี Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters  

ปัจจุบัน ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความสามารถในการหารายได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นกลุ่มตลาดที่มีศักยภาพสูงในแง่มุมของการท่องเที่ยว เพราะมีความมั่นใจและกล้าตัดสินใจในการเดินทาง” 

นายศิริปกรณ์ เชื่อมั่นว่าการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลกในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดี เนื่องจากความร่วมมือของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ของไทย ที่ร่วมพลังในการจัดงานและนำเสนอศักยภาพของไทย ทั้งในด้านการท่องเที่ยว และความพร้อมในการรองรับลงทุน ซึ่งจะช่วย ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ให้เป็น Preferred Destination และเป็น World Destination ได้เป็นอย่างดี

รู้ 5 เรื่องระดับโลกของ \"ผู้หญิง\" ในไทย  ก่อน \"ประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก\" 2565 สตรีไทย ในบทบาทการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม soft power

นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ให้ความเห็นว่า งานประชุมผู้นำสตรีโลก นับเป็นงานประชุมนานาชาติ หรือ Convention ระดับโลก ที่สนับสนุน บทบาทและสิทธิสตรีจากผู้นำสตรีบนเวทีระดับโลก ถ่ายทอดเป็นแรงบันดาลใจสู่ประชาคมโลกให้เล็งเห็นความสำคัญของ Gender Equality, Diversity and Inclusiveness ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ของไทย และคาดว่างานในครั้งนี้จะสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศราว 80 ล้านบาท

"แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง แต่ อุตสาหกรรมไมซ์ หรือการจัดการประชุมของไทยก็ยังสามารถสร้างการกระจายรายได้ในประเทศได้กว่า 3 หมื่น 3 พันล้านบาท พร้อมยังสร้างงานสร้างอาชีพในตลาดแรงงานได้กว่า 46,000 ตำแหน่ง โดยในปีนี้ยังมีงานประชุมระดับนานาชาติอีกหลายงานที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงงานประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค APEC Thailand 2022" นางนิชาภา กล่าว

รู้ 5 เรื่องระดับโลกของ \"ผู้หญิง\" ในไทย  ก่อน \"ประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก\" 2565 ตลาดนัดจตุจักร ย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก

สำหรับ การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก หรือ Global Summit of Women เป็นเวทีระดับโลกที่มีความสำคัญ เชื่อมนักธุรกิจ นักวิชาชีพ ผู้บริหารทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมจากทั่วโลก สร้างเครือข่ายความร่วมมือและแบ่งปันประสบการณ์เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอย่างยั่งยืน

ปีนี้ที่ประชุมให้ความสำคัญกับ บทบาทของสตรีในการร่วมฟื้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อความความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต รูปแบบการดำเนินธุรกิจ

รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้

อย่างไรก็ตามในประชุมยังคง ส่งเสริมความเท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชายในบทบาทของการดำเนินธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการประชุมตลอด 30 ปีที่ผ่านมา 

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประชุมระดับโลกที่สำคัญในครั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ เว็บไซต์ Global Summit of Women 

รู้ 5 เรื่องระดับโลกของ \"ผู้หญิง\" ในไทย  ก่อน \"ประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก\" 2565 คณะทำงานฝ่ายไทย, แถวยืน (ซ้ายไปขวา)
1. นิรมาน ไหลสาธิต : รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ
2. ต้องใจ ธนะชานันท์ : ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
3. ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร : รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด ททท.
4. นิชาภา ยศวีร์ : รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ 
5. ศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย : รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

แถวนั่ง (ซ้ายไปขวา)
1. ชฎาทิพ จูตระกูล : ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด
2. ขัตติยา อินทรวิชัย : ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
3. กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร : อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการจัดงานของไทย
4. อรีน นาทิวิเดท : ประธานจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2022
5. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ : ประธานกรรมการ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) 
6. สุพัตรา จิราธิวัฒน์ : รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด