กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเรื่องเล่าน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเรื่องเล่าน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์

หนทางหมื่นลี้ จากสาธารณรัฐประชาชนจีนสู่ต้นชาน้ำมันเมล็ดคามีเลียต้นแรกในเมืองไทยสู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพภัทรพัฒน์ เกิดจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมุ่งหวังฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมและทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลาย ขณะเดียวกันสามารถสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณประโยชน์ของการดูแลรักษาป่า

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเรื่องเล่าน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์

ประวัติของน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์เริ่มตั้งแต่ปี 2547 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการศึกษาและทดลองปลูกต้นชาน้ำมันสายพันธุ์คามีเลีย โอลีเฟร่า (Camellia oleifera) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

จากนั้น มีพระราชดำริให้จัดตั้ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นโรงงานผลิตน้ำมันจากเมล็ดชาน้ำมันสายพันธุ์คามีเลีย โอลีเฟร่า และพืชน้ำมันชนิดอื่นๆ ซึ่งโรงงานแห่งนี้ได้ผลิตน้ำมันคุณภาพสูงสำหรับการบริโภคและนำไปเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ เช่น เครื่องสำอางผ้าไหมย้อมสีจากเปลือกเมล็ดชาน้ำมันสายพันธุ์คามีเลีย โอลีเฟร่า หรือเมล็ดคามีเลีย

การศึกษาและทดลองปลูกต้นชาน้ำมันสายพันธุ์คามีเลีย โอลีเฟร่าเริ่มดำเนินการในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นแห่งแรก ก่อนที่จะขยายไปในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงประมาณ 3,600 ไร่ คิดเป็นต้นชาน้ำมันมากกว่า 900,000 ต้น ถือเป็นการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมและเป็นการทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลาย

ขณะเดียวกันสามารถสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณประโยชน์ของการดูแลรักษาป่า และสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเข้าใจและพึ่งพิงกัน ซึ่งเป็นไปตามพระราชดำริ “คนอยู่ร่วมกับป่า” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันจะนำไปสู่วิถีแห่งความสุข ความสมดุล และความยั่งยืนในที่สุด

น้ำมันเมล็ดคามีเลีย เป็นที่รู้จักในประเทศจีนนานกว่า 1,000 ปี มีประโยชน์มากมายจนได้ชื่อว่าเป็น น้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก เนื่องจากมีองค์ประกอบของไขมันที่ดีต่อร่างกายไม่ด้อยไปกว่าน้ำมันมะกอก และไม่มีกรดไขมันทรานส์ ซึ่งทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน โรคอัมพาต โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ 

ยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และสารคาเทชินซึ่งช่วยยืดอายุการใช้งานของน้ำมันให้นานขึ้น อีกทั้งน้ำมันเมล็ดคามีเลียมีจุดเดือดสูงมากกว่า 250 องศาเซลเซียสจึงทำให้สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายวิธี อีกทั้งได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา และมูลนิธิโรคหัวใจได้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” ในสินค้าน้ำมันเมล็ดคามีเลีย

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเรื่องเล่าน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์

เรื่องเล่าน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ มีพระราชดำรัส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแก่ผู้ร่วมงาน ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดงานเทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ โดยมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า   

“...ของเรานี้ความจริงแล้วก็มีลักษณะคล้ายชาน้ำมันในประเทศไทย แต่ว่าพันธุ์ดีก็คือ “คามีเลีย โอลิเฟร่า” เราก็เลยไปศึกษาจริงจังกับฝ่ายจีน เขาก็ให้ความรู้และเคยได้ไปเมืองกวางซี ยูนนาน และทางตอนใต้ของจีนที่มีพืชชนิดนี้ปลูกอยู่ ซึ่งเขาให้มาเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือเป็นชาที่มีดอกสีขาว ที่เรานำมาปลูกหลายปีแล้ว ตอนแรกทางจีนก็ช่วยดูอยู่ เพราะต้องมีวิธีการดูแลเกี่ยวกับเรื่องดิน การป้องกันศัตรูพืช และการปลูกที่ต้องดูในทิศทางของแสง ทิศทางของภูเขา และต้องมีความสูงที่กำลังพอเหมาะ...

...และในส่วนของการหีบน้ำมัน มีการศึกษาวิจัย ซึ่งปัจจุบันนี้เทคโนโลยีในการทำก็ถือเป็นเทคโนโลยีไทย ทางจีนไม่ได้มาดูหรือแนะนำ เพราะวิชาการฝ่ายไทยก็ทำได้ ก็มีเรื่องน้ำมันชาดอกสีขาว เราก็ทำออกมาเป็นน้ำมันสำหรับปรุงอาหาร และวิจัยออกมาแล้วที่บอกเมื่อครู่ว่าเหมือนกับน้ำมันมะกอกของเอเชีย เพราะว่าคุณภาพในเชิงที่บำรุงร่างกายก็ไม่แพ้น้ำมันมะกอกโอลีฟ แต่อาจจะมีข้อดีมากกว่าทางโอลีฟ ในการปรุงอาหารชนิดทอด หรือต้องใช้ความร้อน ซึ่งชาน้ำมันนี้ไม่มีปัญหาในเรื่องที่จะนำไปปรุงอาหารชนิดที่มีความร้อน และทำอื่นๆ เช่น น้ำสลัด ปรุงได้ทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่ง

นอกจากใช้ปรุงอาหารก็เป็นเครื่องสำอาง เช่น ครีมใส่ผม บำรุงได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า ซึ่งขวดเดียวกันนั้นทาได้ทั้งหน้า ตัว เท้า และนำไปทำได้หลายผลิตภัณฑ์ แต่มีผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งที่จีนเขาทำแล้วทางไทยยังทำไม่ได้ คือ น้ำมันที่ใช้ในเวชภัณฑ์ คือทำยา เพราะจีนเขาใช้น้ำมันชาที่มีชาดอกแดง ซึ่งเราจะถอดใจลืมมันตั้งหลายหน แต่บางทีมันออกดอกดอกก็ร่วง ออกผลผลก็ร่วง ยังไม่ดี เพราะต้องมีความสูง ความเย็นตามที่เขาวิจัย แต่คุณสมบัติของเรายังไม่ได้ขนาดนั้น แต่เขาก็บอกว่าอีกสัก 3 ปี เราอาจจะได้ผลผลิตจากชาน้ำมันดอกแดง ที่จีนเขาใช้ผสมยาชนิดที่ว่าบทบาทของน้ำมันชาดอกแดง คือ จะเป็นตัวที่นำตัวยาเข้าสู่ร่างกายผู้ที่ใช้ยาหรือผู้ป่วย แต่เรายังไม่ได้ทำหรือวิจัย แต่กว่าจะถึงขั้นนั้นก็ให้ปลูกให้ได้ก่อน...

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเรื่องเล่าน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์

...และได้สังเกตว่าโรงบ่มชานี้ จากจำนวนน้อยๆ ไปเชียงรายกลับมารอบนี้เห็นมีเพิ่มมากขึ้น แสดงว่า ชุมชนหรือชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น เขาจึงสามารถลงทุนได้มากขึ้น ดูแล้วก็น่าจะมีอนาคตที่ดี และรออยู่ว่าอีก 3 ปี จะได้หรือป่าว ทางเกษตรหลายคนที่ทำมาก็ได้ผันตัวไปเป็นผู้เชี่ยวชาญ และก็ให้ความรู้แก่เพื่อนเกษตรกร สามารถให้ความรู้อธิบายได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องการพัฒนาต่างๆ เช่น พัฒนาเรื่องสุขภาพ พัฒนาเรื่องการศึกษา ซึ่งจะทำกันต่อไป ถึงจะพัฒนากันอย่างช้าๆ แต่ดูแล้วมีสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่ก้าวหน้าที่เพิ่งมาตอนนี้ จะพอเป็นอย่างเกษตรกรไทย นักวิชาการไทย ต่อไปก็น่าจะก้าวหน้ายิ่งขึ้น และมาช่วยกัน

การจัดงานนี้ก็เป็นการที่จะช่วยพัฒนาเพิ่มขึ้น และให้ผู้ที่เป็นลูกค้าได้มีความรู้เพิ่มขึ้น และทราบว่าเราจะใช้น้ำมันชานี้ทำอะไรได้ เพราะแต่ก่อนก็มีข้อรังเกียจกัน เขาบอกว่า ชานี้มีกลิ่นอะไรบางอย่างที่รู้สึกจะไม่เป็นที่ชอบใจของผู้บริโภค แต่บริโภคไปบริโภคมาก็ชิน และรู้สึกไม่น่าเกลียดอะไรนัก ก็หวังว่าคงจะได้หลายคน และวันนี้มีผู้ที่ทำกับข้าวหลายคนที่มาร่วม และคิดว่าคงจะได้ทำกับข้าวที่อร่อย เป็นที่พอใจของลูกค้า ผู้บริโภค ก็หวังว่างานนี้จะสนุกสนานและเพิ่มโอกาสให้ทั้งเกษตรกร และทุกๆคน...”