เมื่อนิติเวชศาสตร์ช่วยไขความจริง ชวนรู้ขั้นตอนทำงาน "หมอนิติเวช" ไม่ง่าย!

เมื่อนิติเวชศาสตร์ช่วยไขความจริง ชวนรู้ขั้นตอนทำงาน "หมอนิติเวช" ไม่ง่าย!

คนตายพูดไม่ได้! หากเกิดกรณีเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติ เป็นหน้าที่ของ "หมอนิติเวช" ที่ต้องสืบหาความจริงจากศพด้วยหลักการทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งสาขาอาชีพนี้ยังมีความต้องการสูง ใครอยากเป็นแพทย์นิติเวชต้องรู้ว่าสาขานี้เรียนอะไรบ้าง และเรียนกี่ปี

หลายสัปดาห์มานี้ เชื่อว่าคนไทยยังคงติดตามความคืบหน้า "คดีแตงโม" หรือ "แตงโม นิดา" ดาราสาวที่เสียชีวิตจากการจมน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีหลายประเด็นที่ยังคงเป็นปริศนา สังคมให้ความสนใจในการสืบหาความจริงอย่างมาก โดยหนึ่งในวิธีการสืบหาความจริง คงหนีไม่พ้นการทำงานของ "หมอนิติเวช

แพทย์นิติเวชและสถาบันนิติเวชวิทยา คือหน่วยงานอะไร? ทำหน้าที่และขั้นตอนในการช่วยสืบคดีต่างๆ อย่างไรบ้าง และหากอยากทำอาชีพนี้ต้องเรียนจบสาขาใด? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาทำความรู้จักวิชาชีพนี้ให้มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

 

  • นิติเวชศาสตร์ คืออะไร? แพทย์นิติเวชทำหน้าที่อะไรบ้าง?

มีข้อมูลจาก "สถาบันนิติเวชวิทยา" ระบุไว้ว่า นิติเวชศาสตร์ (Forensic Medicine) เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และต้องนำเอาวิชาแพทย์ทุกสาขามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ แพทย์นิติเวชจำต้องอาศัยองค์ความรู้เรื่องการตายต่างๆ ที่ผิดธรรมชาติ รวมทั้งการตายโดยธรรมชาติแบบกะทันหันและไม่คาดคิด และอาจต้องทำการผ่าชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุการตาย ทำการตรวจทางนิติพิษวิทยา (Forensic Toxicology) จุลพยาธิวิทยา (Histopathology) ร่วมกับการไปตรวจศพ ณ สถานที่เกิดเหตุ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์พฤติการณ์การตายว่า การตายที่ผิดธรรมชาตินั้นเป็นการตายจากอุบัติเหตุ อัตวินิบาตกรรม หรือถูกฆาตกรรม

รวมถึงการพิสูจน์ตัวบุคคลโดยตรวจศพและชิ้นส่วนของศพ ประมาณเวลาว่าศพที่ตรวจนั้นตายมานานแล้วเท่าไร โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงของศพภายหลังตาย

นอกเหนือไปจากกรณีการตายแล้วนั้น งานด้านนิติเวชคลินิก ก็เป็นขอบข่ายงานหนึ่งที่แพทย์นิติเวชต้องทำการตรวจผู้ป่วยในคดี เช่น 

  • ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย (attempted suicide)
  • ผู้ที่ถูกหรือสงสัยว่าถูกคนหรือสัตว์ทำร้าย (homicide/ animal bite)
  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ (traffic accident)
  • ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและผู้ที่ได้รับการทำแท้ง (sexual assault/ illegal abortion)
  • ผู้ที่พนักงานสอบสวนส่งมาขอให้ตรวจร่างกายหรือตรวจหาสารพิษ สารเสพติด หรือระดับแอลกอฮอล์ในร่างกาย อันเนื่องมาจากเป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องสงสัย หรือผู้ต้องหา

การตรวจทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ความเห็นทางการแพทย์ อันจะนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป 

 

  • รู้ขั้นตอนการทำงานของ "หมอนิติเวช"

ผศ.นพ.ณัฐ ตันศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายถึงขั้นตอนการชันสูตรศพในปัจจุบันเอาไว้ว่า

ขั้นที่ 1 : เมื่อมีผู้พบศพแล้วแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบพื้นที่และสภาพศพ หากพบว่าการตายนั้นผิดธรรมชาติ จะแจ้งไปยังแพทย์นิติเวชให้เข้ามาร่วมในการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งในบางกรณีจะมีตำรวจพิสูจน์หลักฐานเข้ามาร่วมปฏิบัติงานด้วย

ขั้นที่ 2 : เมื่อแพทย์นิติเวชชันสูตรศพและเห็นพ้องกับเจ้าพนักงานว่าต้องมีการผ่าชันสูตรศพเพิ่มเติม ก็จะดำเนินการส่งศพนั้นไปผ่าพิสูจน์ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตหรือประเด็นอื่นๆ ตามที่ผู้เกี่ยวข้องสงสัยหรือมีกฎหมายบัญญัติไว้

ขั้นที่ 3 : เมื่อศพมาถึงโรงพยาบาล ก็จะนำศพเก็บในห้องเย็นหรือตู้เย็น จากนั้นแพทย์นิติเวชจะนำศพออกมาตรวจชันสูตร ในขั้นตอนนี้จะมีการตรวจและบันทึกบาดแผลภายนอกที่สำคัญ มีการผ่าชันสูตรร่างผู้ตายเพื่อตรวจพยาธิสภาพและการบาดเจ็บของอวัยวะภายใน

รวมถึงเก็บชิ้นเนื้อบางส่วนเพื่อตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ มีการเจาะเลือด เก็บปัสสาวะและสารคัดหลั่งต่างๆ จากร่างผู้ตาย เพื่อนำไปตรวจหาสารพิษ สารพันธุกรรม หรือสารอื่นๆ ทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง

(ภายหลังขั้นตอนการผ่าชันสูตรศพนี้ แพทย์นิติเวชอาจยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการเสียชีวิตได้ ต้องรอผลการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อสรุปผลอีกครั้ง)

ขั้นที่ 4 : ส่งชิ้นเนื้อตรวจทางห้องปฏิบัติการ
4.1) ชิ้นเนื้อจากอวัยวะต่างๆ นำไปดองในน้ำยาและตัดย้อมสีเพื่อตรวจหารอยโรคหรือความผิดปกติผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ ใช้เวลาอย่างเร็วประมาณ 1 - 2 สัปดาห์
4.2) การตรวจหายา สารพิษ สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากกระบวนการทำงานมีความซับซ้อน ต้องมีการสกัดที่เหมาะสมเพื่อดึงยาหรือสารพิษออกจากชิ้นเนื้อตัวอย่าง ก่อนนำไปเข้าเครื่องตรวจวิเคราะห์ ใช้เวลาประมาณ 2 - 4 สัปดาห์
4.3) การตรวจอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น การตรวจสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) ในการพิสูจน์บุคคล ปกติจะใช้เวลาตรวจพิสูจน์ประมาณ 1 สัปดาห์ 

ขั้นที่ 5 : แพทย์นิติเวชเก็บรวบรวบข้อมูลหลักฐาน ผลชันสูตรต่างๆ ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระบวนการหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องนำข้อมูลที่ได้จากการสืบสวนสอบสวน มาประกอบกับรายงานของแพทย์นิติเวช และรายงานของตำรวจพิสูจน์หลักฐาน แล้วนำมาสรุปสำนวนคดี 

อีกทั้ง หากว่าคดีมีความจำเป็นต้องขึ้นศาล แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรก็ต้องไปศาลตามหมายศาลด้วย

 

  • อยากเป็น "หมอนิติเวช" ต้องเรียนอะไรบ้าง? เรียนกี่ปี?

ส่วนใครที่สนใจอยากเรียนรู้ในสาขาวิชาชีพนี้ ต้องใช้ระยะเวลาเรียนอย่างน้อย 9 ปี (ยังไม่รวมระยะเวลาใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์) แพทย์นิติเวชเป็นสาขาเฉพาะทางของแพทย์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตก่อน โดยใช้เวลาเรียน 6 ปี ตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จากนั้นต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ผ่าน

หากใครต้องใช้ทุน จากนี้จะเป็นช่วงที่ทำงานชดใช้ทุนก่อนประมาณ 1-3 ปี (อาจไม่ถึง 3 ปีหากได้ทุนไปเรียนเฉพาะทางก่อน) ทั้งนี้ แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละสถาบันด้วย หลังจากนั้นจึงเลือกศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางด้านนิติเวชศาสตร์อีก 3 ปี 

สำหรับมหาวิทยาลัยที่มีสอนสาขาเฉพาะทาง "นิติเวชศาสตร์" ได้แก่ 

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภาควิชานิติเวชศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชานิติเวชวิทยา
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์

นอกจากนี้ วิชาหลักๆ ที่ต้องเรียน ได้แก่ 

นิติพยาธิวิทยา (Forensic Pathology) ศึกษาเรื่องการตายต่างๆ ที่ผิดธรรมชาติ รวมทั้งการตายโดยธรรมชาติแบบกะทันหันและไม่คาดคิด ซึ่งเป็นการตายที่ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุ อาจจำต้องทำการผ่าชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุการตาย

พิษวิทยา (Toxicology) ศึกษาเกี่ยวกับยาพิษและสารพิษทั้งหลาย ไม่ว่าจะมาจากสารเคมี จากพืช และจากสัตว์

นิติซีโรวิทยา (Forensic Serology) ตรวจเลือดและน้ำเหลืองในส่วนที่เกี่ยวกับแอนติเจนและแอนติบอดี้ (Antigen and Antibody) ตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นวัตถุพยานทางชีววิทยา (Biological trace evidence) เช่น เลือด น้ำลาย ขน เส้นผม ตัวอสุจิ และน้ำอสุจิ เป็นต้น เป็นการตรวจยืนยันว่าเป็นของใครในที่เกิดเหตุ และที่พบในร่างกายของผู้เสียหาย

การตรวจฟันทางนิติเวชศาสตร์ (Forensic Odontology) วิชาทันตแพทย์ในเรื่องของการตรวจฟัน เช่น ตรวจเรื่องอายุ การตรวจเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคล โดยเปรียบเทียบกับการบันทึกของฟันขณะที่มีชีวิตอยู่ กับลักษณะฟันของคนตาย โดยเฉพาะในรายที่ร่างเน่ามากๆ หรือศพที่พบในกองเพลิง

นิติจิตเวชศาสตร์ (Forensic Psychiatry) เป็นแขนงหนึ่งของสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องทางจิตและโรคทางจิต เช่น มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน มีประโยชน์มากในกระบวนการยุติธรรมทั้งในคดีอาญาและในคดีแพ่ง

----------------------------------------

อ้างอิง : chulalongkornhospital, สถาบันนิติเวชวิทยาtrueplookpanya