ไขข้อสงสัย เปิด 3 สาเหตุ ทำไมเพลงป๊อปยุคนี้ถึงสั้นลง

ไขข้อสงสัย เปิด 3 สาเหตุ  ทำไมเพลงป๊อปยุคนี้ถึงสั้นลง

ในขณะที่ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์มีแนวโน้มที่จะมีความยาวเพิ่มขึ้น แต่เพลงฮิตในปัจจุบันกลับมีความสั้นลง มีความยาวไม่ถึง 3 นาทีเหมือนเพลงในยุคก่อน ๆ โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 ข้อ

จากการสำรวจของนิตยสารบิลบอร์ด (BillBoard) พบว่าเพลงที่ขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตบิลบอร์ด ฮอต 100 (BillBoard Hot 100) ในปี 2562 มีความเฉลี่ยสั้นลงจากปีก่อนถึง 30 วินาที สอดคล้องกับการสำรวจของ “Ostereo” ค่ายเพลงและบริษัทการตลาด ที่พบว่า เพลงที่ขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ต “ออฟฟิเชียล ชาร์ต” (Official Chart) ชาร์ตใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ในปี 2541 มีระยะเวลาเฉลี่ย 4 นาที 16 วินาที ขณะที่เพลงที่ขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตในปี 2562 มีความยาวเฉลี่ยเพียง 3 นาที 3 วินาที ลดลงถึง 1 นาที 13 วินาที 

ความยาวของเพลงในยุคปัจจุบันกลับไปมีความยาวไม่ถึง 3 นาที เท่ากับในช่วงก่อนยุคทศวรรษที่ 1970 สาเหตุที่เพลงในในสมัยนั้นมีความยาวเพียงแค่ 2 นาทีกว่า เป็นเพราะแผ่นเสียงมาตรฐานขนาด 7 นิ้วในยุคนั้นมีสามารถบันทึกความยาวได้ไม่เกิน 3 นาที แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลแล้ว ความจุของแผ่นไวนิลจึงไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับศิลปินอีกต่อไป แต่ศิลปินก็ยังเลือกทำเพลงสั้นกว่า 3 นาทีอยู่ ซึ่งสามารถสรุปสาเหตุที่ทำให้เพลงมีความยาวสั้นลงได้ดังนี้

1. ระบบสตรีมมิง

ในยุคก่อนที่จะมีระบบสตรีมมิงนั้น ผู้บริโภคจะต้องฟังเพลินผ่านการฟังวิทยุ หรือ ซื้ออัลบั้มแบบแผ่น แต่แล้วทุกอย่างเปลี่ยนไป ในปี 2542 เมื่อ “Napster” บริการฟังเพลงออนไลน์ เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก และถือว่าเป็นรากฐานของบริการสตรีมมิงในปัจจุบัน โดยในระหว่างปี 2558 ถึง 2562 มีชาวอเมริกันหันมาใช้บริการสตรีมมิงแบบเสียเงินเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 ล้านบัญชี

เมื่อผู้ฟังหันมาฟังเพลงออนไลน์กันมากขึ้น จนทำให้ยอดขายอัลบั้มลดลง ทำให้ศิลปินต้องมาพึ่งรายได้จากการสตรีมมิงเพลงเป็นหลัก คิดเป็น 79% ของรายได้ทั้งหมดของศิลปินในปี 2563 โดยบริการสตรีมมิง เช่น Spotify จะให้จ่ายเงินให้ศิลปินเป็นเงินประมาณ 0.00331-0.00437 ดอลลาร์ต่อการฟังเพลง 1 ครั้ง

ดังนั้น ศิลปินจึงนิยมทำเพลงให้สั้นลง เพื่อทำให้ผู้ฟังกดเล่นเพลงซ้ำได้บ่อยขึ้น เมื่อผู้ฟังฟังเพลงบ่อยครึ่งก็จะทำให้ศิลปินได้เงินเพิ่มมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ หลักการจ่ายเงินของแพลตฟอร์มสตรีมมิงออนไลน์ต่าง ๆ จะจ่ายเงินก็ต่อเมื่อมีการฟังต่อเนื่องมากกว่า 30 วินาที จึงทำให้ศิลปินต้องทำเพลงที่สั้นและติดหูในแทบจะทันที ก่อนที่ผู้ฟังจะกดเปลี่ยนเพลงหนี 

นอกจากนี้ “มาร์ค รอนสัน” (Mark Ronson) โปรดิวเซอร์ชื่อดังเจ้าของเพลงฮิต “Uptown Funk” ได้ตั้งขอสังเกตผ่าน The Guardian ว่า อัลกอริทึมของ “Spotifyมักจะเลือกเพลงที่มีความยาวสั้นกว่า 3 นาทีมาอยู่ในเพลย์ลิสต์ของ Spotify อีกด้วย

2. ผลพวงจาก “TikTok”

ในปี 2562 คือ “Old Town Road” ของ “ลิล นาส เอ็กซ์” (Lil Nas X) ที่ได้ “บิลลี เรย์ ไซรัส” (Billy Ray Cyrus) มาร่วมฟีเจอริงด้วย ซึ่งมีความยาวเพียง 2 นาที 38 วินาที สามารถครองอันดับ 1 บนชาร์ตบิลบอร์ด ฮอต 100 ได้นานที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 19 สัปดาห์ (เวอร์ชันฟีเจอริงกับบิลลี 18 สัปดาห์ และเวอร์ชันออริจินัล 1 สัปดาห์) อีกทั้งยังได้การรับรองว่าเพลงแรกที่มียอดขายมากกว่า 15 ล้านครั้ง จาก สมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐ หรือ อาร์ไอเอเอ (The Recording Industry Association of America: RIAA)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จของเพลง Old Town Road นั้นเกิดขึ้นเพราะเพลงนี้เป็นเพลงแรก ๆ ที่กลายเป็นไวรัลในแอปพลิเคชัน “TikTok” ด้วยการที่ผู้ใช้งาน TikTok จำนวนมากใช้เพลง Old Town Road เป็นเพลงประกอบคลิป และเกิด “Old Town Road Challenge” ที่เป็นการเต้น และ #yeehaw ท้าทายผู้ใช้ TikTok ให้เปลี่ยนการแต่งกายจากชุดปกติให้เป็นชุดคาวบอย 

นอกจากนี้ แมสก์วูล์ฟ (Masked Wolf) แร็ปเปอร์จากออสเตรเลียแจ้งเกิดแบบฉุดไม่อยู่หลังเพลง“Astronaut In The Ocean” ของเขากลายเป็นไวรัลบน TikTok ในปี 2564 ซึ่งมีคนนำเพลงนี้ไปใช้ใน TikTok แล้วกว่า 18 ล้านคลิป สามารถขึ้นอันดับ 6 ของชาร์ตบิลบอร์ด ฮอต 100 ได้สำเร็จ และมียอดสตรีมผ่านสปอติฟายมากกว่า 100 ล้านครั้งเป็นที่เรียบร้อย และยังได้รับเลือกอยู่ในเพลย์ลิสต์ประจำฤดูร้อนปี 2564 ของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา อีกด้วย

ไม่เพียงแต่เพลงใหม่เท่านั้นที่สามารถเป็นกระแสบน TikTok แต่เพลงเก่าก็สามารถเป็นกระแสได้เช่นกัน อย่างเช่น เพลง “Dream” ของ “ฟลีตวูด แม็ก” (Fleetwood Mac) วงร็อคระดับตำนาน ที่กลับมาติดชาร์ตบิลบอร์ด ฮอต 100 อีกครั้งในรอบ 40 ปี หลังจากที่ “นาธาน อะโพดาคา” (Nathan Apodaca) นักสเก็ตบอร์ดอัดคลิปตัวเองกำลังไถสเก็ตบนถนน ขณะที่ดื่มน้ำแครนเบอร์รี่และร้องเพลงนี้ไปด้วย

 

แม้ว่า TikTok จะไม่ได้ถูกนำไปนับคะแนนกับชาร์ตใด ๆ ในโลก แต่เพลงที่เป็นไวรัลใน TikTok ก็มักถูกนำไปเปิดในแอปพลิเคชันสตรีมมิงอื่น ๆ ซึ่งยอดสตรีมมิงเหล่านั้นจะถูกนำไปนับคะแนนบนชาร์ตต่าง ๆ รวมถึงชาร์ตบิลบอร์ดด้วย

โอเล โอเบอร์แมนน์ (Ole Obermann) หัวหน้าฝ่ายดนตรีระดับโลก (Global Head of Music) ของ TikTok และ ByteDance ให้สัมภาษณ์กับ The Conversation ว่า ปัจจุบัน TikTok รวบรวมเพลงจากทั่วทุกมุมโลกเข้าไว้ด้วยกัน ช่วยให้เพลงจากทุกมุมโลกสามารถกลายเป็นเพลงฮิตระดับโลกได้ 

อัลกอรึทึมของ TikTok จะคัดเลือกวิดีโอใหม่ขึ้นมาให้ชมอย่างไม่สิ้นสุด และผู้ใช้งานจะได้รู้จักกับเพลงใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากวิดีโอแต่ละคลิปมีความยาวไม่เกิน 1 นาที เมื่อผู้ใช้งานสนใจเพลงนั้น ก็สามารถตั้งค่าให้วิดีโอขึ้นมาเฉพาะเพลงนั้นได้ทันที 

ในระยะแรก TikTok ถูกศิลปินและอุตสาหกรรมดนตรีต่อต้าน แต่หลังจากความสำเร็จของ Old Town Road ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป โอเบอร์แมนน์ กล่าวว่า “ในช่วงแรก TikTok ถูกต่อต้านเพราะ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวงการมาก่อน แต่ที่จริง TikTok ช่วยให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมกับเพลงมากยิ่งขึ้น เพลงต่าง ๆ กลายมาเป็นองค์ประกอบในการสร้างสรรค์คลิปใหม่”

ปัจจุบันแทบไม่มีใครต่อต้าน TikTok แล้ว และ TikTok ได้กลายเป็นหนึ่งช่องทางในการโปรโมตและถูกใช้ในเชิงพาณิชย์ไม่ต่างจากโซเชียลมีเดียอื่น ๆ นอกจากนี้ ค่ายเพลงจ้างดาวTikTokให้ใช้เพลงของศิลปินในสังกัดในคลิปอีกด้วย รวมไปถึงทำงานร่วมกับที่ปรึกษาเพื่อสร้างเพลงที่สามารถใช้ใน TikTok (TikTokkable) ให้มากขึ้น เพื่อพยายามสร้างกระแสไวรัลครั้งต่อไป

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าศิลปินจะทำเพลงให้สั้นลง ด้วยการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อให้ผู้ใช้สามารถนำเพลงของพวกเขาไปใช้ใน TikTok ได้โดยไม่ต้องเลื่อนหาว่าจะเลือกท่อนไหนดี ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้เพลงติดหูด้วยไม่อย่างนั้นก็คงจะกลายเป็นไวรัลได้ยาก

 

3. คนสมาธิสั้นลง

จากการศึกษาของซัมซุง ร่วมกับ The Future Laboratory พบว่า ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ความสนใจในการฟังเพลงของผู้ฟังเพลงจะลดลงจาก 12 วินาที เหลือเพียงแค่ 8 วินาทีเท่านั้น จึงมีโอกาสสูงมากที่ผู้ฟังจะกดข้ามเพลง หากเพลงเหล่านั้นไม่สามารถดึงดูดให้ผู้ฟังฟังต่อได้ ดังนั้นศิลปินหลายคนจึงนำท่อนฮุคมาไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มเพลง หรือลดความยาวของอินโทรลง ให้เข้าเนื้อเพลงเร็วขึ้น

ชาร์ลี เอ็กซ์ซีเอ็กซ์” (Charli XCXเปิดเผยกับ The Verge ว่า ในปัจจุบันศิลปินต้องพยายามทำเพลงให้ถึงท่อนฮุคภายใน 30 วินาที “ไม่มีการทำอินโทรเก๋ ๆ แปลก ๆ นาน ๆ อีกแล้ว ต้องทำให้ท่อนฮุคมาอยู่ใน 30 วินาทีให้ได้ บางทีก็เอาฮุคขึ้นมาก่อนเลย เรื่องของเรื่องคือ ต้องทำให้เพลงติดหูคนฟังตั้งแต่ 5 วินาทีแรก ทำให้พวกเขาเพิ่มเพลงของเราเข้าไปในเพลย์ลิสต์ให้ได้

มีการคาดการณ์ว่าในปลายทศวรรษนี้ เพลงป๊อปยอดนิยมจะเหลือความยาวเพียง 2 นาทีเท่านั้น ทำให้เพลงแนวบัลลาดที่มีความหมายลึกซึ้ง ใช้เวลาเล่าเรื่องเพื่อดื่มด่ำในความหมาย อาจจะไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป

ผลสำรวจจากซัมซุงยังระบุอีกว่า ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักในปี 2563 ประชากรโลกราว 1 ใน 4 หันมาฟังเพลงมากกว่าวันละ 5 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 และราว 34% ยอมรับว่า เพลย์ลิสต์เพลงโปรดของพวกเขามีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการผ่านปีที่ยากลำบากนี้ไปได้

ไม่ใช่ศิลปินทุกคนที่จะนิยมทำเพลงให้สั้นลง เพลงใน “30” อัลบั้มใหม่ของอเดล (Adele) ไม่มีเพลงใดเลยที่มีความยาวน้อยกว่า 3 นาที ยกเว้น “All Night Parking” ที่เป็นอินเตอร์ลูด (Interlude) แต่ก็มีความยาวถึง 2 นาที 41 วินาที ซึ่งยาวเกินมาตรฐานอินเตอร์ลูดทั่วไป และมี 6 เพลงที่มีความยาวระหว่าง 5 - 7 นาที ส่วนอีก 5 เพลง มีความยาวอยู่ระหว่าง 3 - 5 นาที

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ความยาวเพลงที่อเดตั้งใจจะทำ เธอให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rolling Stone ว่า เธอตั้งใจเขียนเพลง “I Drink Wine” ที่มีความยาว 15 นาที แต่ค่ายเพลงได้ห้ามเธอไว้ เนื่องจากมีความยาวมากเกินไปที่จะเปิดในคลื่นวิทยุ

ขณะที่ปีที่แล้ว "All Too Well (10 Minute Version) (Taylor’s Version) (From The Vault)" ของ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” (Taylor Swift) ได้สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นเพลงที่ยาวที่สุดที่สามารถขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตบิลบอร์ด ฮอต 100 ด้วยความยาว 10 นาที 13 วินาที

ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ เพลงก็คงไม่ต่างจากภาพยนตร์ ที่แม้จะมีระยะที่ยาว แต่ถ้าหากเพลงหรือภาพยนตร์นั้น ๆ ดีจริง ให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้คนได้ ผู้คนก็พร้อมยินดีที่จะเสพผลงานเหล่านั้น ขณะเดียวกันถ้างานไม่ได้มีคุณค่า หรือไม่ดี ต่อให้สั้นลงแค่ไหน ผู้คนก็ย่อมไม่สนใจงานเหล่านั้น ท้ายที่สุดแล้ว ระยะความสั้นหรือยาว อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงคุณภาพของทั้งภาพยนตร์และเพลงเหล่านั้นเลยก็เป็นได้

ที่มา: Millennial Influx, The ConversationThe Verge, udiscovermusicUniversity Times, World Today News