SMS ลวงโลก หลอกให้โอนเงิน : ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทัน

SMS ลวงโลก หลอกให้โอนเงิน : ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทัน

"SMS"เอสเอ็มเอส ที่ส่งเข้ามาให้โอนเงินเพื่อลงทุนบ้าง ให้กู้ยืมบ้าง แต่ให้โอนเงินก่อน ซึ่งมิจฉาชีพทางออนไลน์เหล่านี้ บล็อคก็ไม่อยู่ จัดการก็ไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นผู้บริโภคต้องทำอย่างไร

การส่ง SMS เข้ามาคุย ชักชวนให้โอนเงินไปลงทุน หรือกู้เงินออนไลน์ ชวนเล่นการพนันออนไลน์ รวมถึงส่งลิ้งค์ให้ดาวน์โหลด เพื่อรับเงิน หรือสิทธิพิเศษต่างๆ ชักชวนให้ชมภาพอนาจาร ลิ้งค์รับสมัครงาน ฯลฯ

สารพัดเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ถ้ารู้ไม่เท่าทัน หรือตั้งอยู่บนความโลภ ไว้เนื้อเชื่อใจ ก็โดนหลอกได้ง่ายๆ

มีรายงานว่า ปีที่ผ่านมา มีปริมาณข้อความเอสเอ็มเอส (SMS)หลอกลวง มากถึง 6.4 ล้านหมายเลข สร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคที่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก

กลุ่มองค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายป้องกันข่าวลวง จึงเรียกร้องให้กสทช. จัดการปัญหานี้ รวมถึงพัฒนาระบบป้องกันเบอร์ลวงโลก เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภคต้องโหลดแอพฯ บล็อคเบอร์แบบตามมีตามเกิด

 

และที่ผ่านมา กลุ่มองค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายป้องกันข่าวลวง ไม่ได้นิ่งนอนใจ ร้องขอให้ กสทช. เร่งลงโทษบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ โทษฐานเอาเปรียบผู้บริโภค

นอกจากนี้ยังจัดช่องทางให้ผู้บริโภคร้องเรียนทางออนไลน์ เพื่อรวบรวมผู้เสียหาย และยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหานี้จริงจัง

SMS หลอกลวง

ปัญหาที่ระบาดหนักในตอนนี้คือ การโทรศัพท์เข้ามาทวงหนี้ ข่มขู่คุกคาม รวมถึงผู้เสียหายหลายรายที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ กดลิ้งค์และกรอกประวัติส่วนตัว พร้อมทั้งอนุญาต เพื่อให้เข้าถึงเบอร์โทรศัพท์และข้อมูลในโทรศัพท์ทั้งหมดเพื่อแลกกับเงินกู้ที่ได้ไม่เต็มจำนวน

หนำซ้ำพอดำเนินการกู้เรียบร้อยแล้ว ผู้กู้จะต้องโอนค่าธรรมเนียมก่อนที่จะได้รับเงินกู้ ก่อนที่กลุ่มมิจฉาชีพจะหายตัวไป ทำให้มีผู้เสียหายเพิ่มขึ้นในทุกวัน
 “การบังคับใช้กฎหมายด้านการเอาเปรียบผู้บริโภคมีอยู่ชัดเจน แต่ยังไม่เห็นการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค หากนำมาใช้อย่างจริงจัง เราเชื่อว่าปัญหาจะลดลง” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
 
Whoscall แอพฯ เตือนเบอร์มิจฉาชีพ 

ปัญหามิจฉาชีพทางออนไลน์ สร้างความเสียหายให้ผู้บริโภคไม่ใช่น้อย จึงต้องป้องกันปัญหาด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ช่วยแจ้งเตือนเบอร์มิจฉาชีพ และหนึ่งในแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมคือ ฮูส์คอล (Whoscall)  

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช.และ ผู้ก่อตั้ง Cofact โคแฟคประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการป้องกันข่าวลวง กล่าวว่า เมื่อไม่สามารถคาดหวังการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังได้ ผู้บริโภคก็ต้องพึ่งตนเองด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ฮูส์คอล(Whoscall)  

“เมื่อมีเบอร์โทรศัพท์หรือ SMS หลอกลวงเข้ามา แอปฯนี้ก็จะแจ้งเตือนว่า เป็นเบอร์มิจฉาชีพ เพราะผู้เสียหายก่อนหน้า ได้ดำเนินการแจ้งไว้ในระบบ ทำให้สามารถป้องกันการถูกหลอกลวงได้

ในออสเตรเลียจะใช้ระบบ AI ตรวจจับ และประมวลผลการร้องเรียนจากผู้เสียหายเพื่อดำเนินการบล็อคตั้งแต่ต้นทาง

และในอังกฤษ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาฟังก์ชันในมือถือ หากใครที่ประสบปัญหา SMS หลอกลวงก็ให้กด 7726 กดแล้วจะเป็นตัวอักษร SPAM หรือ สแปม

เบอร์ดังกล่าวก็จะถูกส่งไปยังฐานข้อมูลของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เพื่อดำเนินการบล็อคเบอร์ดังกล่าว”

กรณีดังกล่าว สุภิญญา มองว่า ทางกสทช. ต้องร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ประสานกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อจัดการปัญหาให้แก่ผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ จึงจะแก้ปัญหาที่ต้นทางได้

“แม้บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือหลายราย จะแก้ต่างว่า ตนเป็นผู้ให้บริการด้านระบบสาธารณูปโภคเท่านั้น

แต่ก็ได้เห็นหลายค่ายเริ่มมองเห็นทางตันของธุรกิจ และประกาศขยายบริการสู่การเป็นเทคคอมพานี ที่สามารถผลิตแอปพลิเคชันต่างๆ ได้

 อยากให้เริ่มจากการทำแอปฯ เตือนภัยและบล็อคเบอร์โทรของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างมาก”

ไม่อยากถูกหลอกต้องทำอย่างไร

พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ เที่ยงกมล รองผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 แนะนำผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ว่า ให้แจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี

“ประชาชนต้องรู้ก่อนว่า ไม่มีใครจะปล่อยกู้ได้ หากไม่มีหลักค้ำประกัน ดังนั้นต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัด ขอให้คิดเสมอว่าอาจเป็นพวกมิจฉาชีพ

หลักคิดก็คือ จะกู้เงินจากเขา ต้องรอเงินจากเขา ไม่ใช่เอาเงินเราไปให้เขา แม้กระทั่งไปยื่นกู้ที่ธนาคาร ธนาคารก็ไม่เคยบอกให้เรานำเงินไปให้ก่อน

ได้มีการประสานไปยัง กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เพื่อกำหนดให้ผู้ใช้บริการแต่ละคน มีหมายเลขของตนเองได้ไม่เกิน 5 หมายเลข

ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ปัญหาดีขึ้น และสุดท้ายของเส้นทางปัญหา คือธนาคารก็ต้องกำหนดมาตรการป้องกันร่วมกัน" พ.ต.อ.กิตติศักดิ์  กล่าว 
แนวทางแก้ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์
พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ เสนอแนะวิธีแก้ปัญหาทั้ง 3 รูปแบบดังนี้

1.ภาครัฐต้องเร่งหาวิธีกำจัด แอปพลิเคชันหลอกลวง ให้เร็วที่สุด

2. ถ้าเป็นระบบเสียงหรือ วอยส์ ทางกสทช. ต้องเข้ามาดำเนินการไม่ให้เบอร์โทรต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้

3. ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ต้องพัฒนาระบบการส่งข้อความ SMS ให้เป็นแบบ ทูเวย์ หรือ สองด้าน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถดำเนินการร้องเรียนได้ และส่งเบอร์เหล่านั้นไปยัง กสทช. เพื่อส่งต่อมายังกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อหาช่องทางจับกุมคนร้ายต่อไป

แนวทางแก้ปัญหาเชิงระบบ

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า อยากเห็นการจัดการที่ระบบของ กสทช. และบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ

"กสทช. มีอำนาจปรับได้สูงถึง 5 ล้านบาท หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหา ยังสามารถปรับได้ไม่เกินวันละ 100,000 บาท ถ้าทำจริงจังตามที่กฎหมายระบุ น่าจะทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเดินหน้าแก้ไขปัญหาเต็มที่มากขึ้น

การที่ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือได้ขายเบอร์โทรศัพท์ให้แก่กลุ่มมิจฉาชีพ ก็ถือเป็นเรื่องที่ผิด ดังนั้นอยากเห็นความตั้งใจจริงในการร่วมมือแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ที่ยากจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องได้
 หาก กสทช. ไม่เร่งแก้ไข ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคก็มีโอกาสถูกหลอกในด้านการเงินเพิ่มขึ้น เช่น การชักชวนให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ ชวนให้เล่นลงทุนในคริปโทฯ โดยคาดว่าการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือการธนาคารจะพัฒนารูปแบบมากขึ้น”