รำลึกถึง"หลวงปู่ติช นัท ฮันห์": วิถีภาวนากับปลายพู่กัน

รำลึกถึง"หลวงปู่ติช นัท ฮันห์": วิถีภาวนากับปลายพู่กัน

คนที่เคยภาวนากับ"หลวงปู่ติช นัท ฮันห์"ต่างรู้ดีว่า ท่านเป็นตัวอย่างของนักบวชแห่งเซน ที่เรียบง่าย ลึกซึ้ง มีพลัง และใช้ชีวิตตามวิถีนั้น เหมือนเช่น การภาวนากับปลายพู่กัน ที่ท่านเคยมาเปิดนิทรรศการในเมืองไทยปี 2556

"ฉันมักจะเริ่มต้นการวาดภาพปลายพู่กันด้วยการดื่มชา และฉันผสมน้ำชาในหมึก เพื่อวาดภาพ ทุกภาพลายพู่กัน จึงมีน้ำชาอยู่ในนั้นด้วย" 

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ พระอาจารย์เซนชาวเวียดนามจากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส เล่าให้ฟัง ในวันเปิดตัว นิทรรศการ ภาวนากับลายพู่กัน : ศิลปะแห่งสติ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2556
การเขียนลายพู่กันของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ยุ่งยาก หรือต้องตีความใดๆ ในการเขียนลายเส้น

หลวงปู่ทำตามวิถีแห่งการภาวนา เป็นไปอย่างเรียบง่าย เพราะอยากให้คนเข้าใจคำสอนง่ายๆ และการฝึกสติทุกลมหายใจ

 

วลีจากลายพู่กันจึงเป็นคำที่ใช้ในการภาวนา อาทิ สันติภาพทุกย่างก้าว,ฉันมาถึง ฉันมาถึงบ้านแล้ว ,ไม่มีหนทางแห่งนิพพาน นิพพานคือหนทาง ,ไม่มีหนทางสู่บ้าน บ้านคือหนทางฯลฯ ยกตัวอย่างวลีที่กล่าวว่า "The  miracle is to walk on earth" (ปาฏิหาริย์แห่งการเดินบนผืนโลก)  
 "ปาฏิหาริย์ไม่ใช่การเดินบนเปลวเพลิงหรือในอากาศ ปาฏิหาริย์คือ การเดินอยู่บนผืนโลกที่สวยงามใบนี้ ตระหนักถึงความมหัศจรรย์ของชีวิต และเงื่อนไขแห่งความสุขที่เรามี คนจำนวนมากไม่สามารถเดินได้ เนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย เรายังมีขาที่แข็งแรง 2 ข้าง เราจึงควรเรียนรู้วิธีที่จะเบิกบานกับการเดิน และหล่อเลี้ยงตัวเองด้วยการตระหนักรู้เช่นนี้"

ภาวนากับปลายพู่กัน
 เวลาที่ หลวงปู่นัท ฮันห์ วาดลายพู่กัน ท่านจะจุ่มหมึกจีนที่อยู่ด้านขวาของท่าน จรดปลายพู่กันบนกระดาษสาเนื้อนุ่มที่ทำจากเมล็ดข้าว ช่วงไม่กี่นาทีที่ท่านเขียนลายเส้น ท่านก็ภาวนาไปด้วย

เนื่องจากในวัฒนธรรมประเพณีของเซน การดื่มชาอย่างมีสติ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำสมาธิ ส่วนการเขียนลายพู่กันเป็นวิถีแห่งการเจริญสติ สมาธิ ปัญญา และประกอบด้วยความเมตตากรุณาตลอดช่วงที่นั่งเขียนอยู่

นนob รำลึกถึง"หลวงปู่ติช นัท ฮันห์": วิถีภาวนากับปลายพู่กัน

(นิทรรศการภาพวาดลายพู่กัน ติช นัท ฮันห์ เมื่อปี 2556)

 

 "เวลาที่ฉันวาดภาพจากพู่กัน ฉันจะเริ่มต้นด้วยการหายใจเข้าเมื่อวาดครึ่งวงกลม และฉันก็จะหายใจออก เมื่อวาดครึ่งวงกลมหลัง" หลวงปู่นัท ฮันห์ กล่าวเช่นนั้น
"ระหว่างที่ฉันวาดภาพลายพู่กันเป็นวงกลมนั้น ฉันก็จะจินตนาการถึงบรรพบุรุษ คือ พ่อ แม่ และในช่วงขณะนั้น พ่อแม่ก็กำลังวาดภาพเป็นวงกลมร่วมกับฉันด้วย

ฉันรู้ดีว่า ฉันไม่สามารถจะถอดถอนคุณพ่อคุณแม่ออกจากมือของฉันได้ ฉันไม่สามารถถอดถอนพระอาจารย์ของฉัน และพระพุทธเจ้าออกจากมือของฉันได้ คนเหล่านั้นอยู่ในมือของฉัน"
 คงไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆ กับการแสดงธรรมะประยุกต์ง่ายๆ เพื่อให้คนฟังเข้าสู่วิถีแห่งสติ เพราะที่ผ่านมา หลวงปู่นัท ฮันห์ จัดภาวนามาแล้วหลายร้อยหลายพันครั้งในหลายประเทศ รวมถึงมีผลงานเขียนหนังสือกว่า 100 เล่ม

ตลอดหลายสิบปีท่านได้นำศิลปะแห่งการดำเนินชีวิตอย่างมีสติมาสอนผู้คน เพราะมนุษย์ทั้งโลกเหมือนกันหมด มีรัก โลภ โกรธ และหลง แต่เราจะอยู่กับมันด้วยความรักและความเบิกบานได้อย่างไร 

"เวลาเราวาดภาพวงกลมเช่นนี้ เราไม่มีอัตตาตัวตนที่แยกออกมา ดังนั้นเราสามารถเกิดปัญญารู้แจ้ง แห่งความเป็นอนัตตาได้ และนี่ก็คือ การฝึกสมาธิภาวนา" หลวงปู่ กล่าวถึงวิถีแห่งการภาวนา ซึ่งเป็นสิ่งที่หลวงปู่ปฎิบัติทุกวัน  ดังนั้นถ้อยคำที่ลึกซึ้งจากปลายพู่กันจึงมาจากการภาวนา
 "ฉันอยากจะแลกเปลี่ยนปัญญารู้แจ้งให้กับคนที่มาชมภาพลายพู่กันนั้น เพื่อที่จะทำให้เธอมีความสวยงามอย่างแท้จริง โดยที่เธอไม่จำเป็นต้องเป็นแบบคนอื่น ดอกบัวก็มีความงามแบบดอกบัว  

ดังนั้นเธอไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนดอกบัวเป็นดอกกุหลาบ ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสำอางมากมาย เพื่อทำให้เธอสวยงาม เพียงแต่เธอเป็นอย่างที่เป็นอยู่ มีเมล็ดพันธุ์แห่งความเบิกบาน เมล็ดพันธุ์แห่งความรักในตัวเธอ เธอก็จะกลายเป็นดอกไม้อันงดงามในสวน

ฉันเคยเขียนประโยคหนึ่งว่า มองซิ มองด้วยสายตาแห่งความกรุณา ฉันอยากจะแลกเปลี่ยนปัญญารู้แจ้งว่า เวลาที่เธอมอง เธอควรจะมองเพื่อที่จะเห็นความทุกข์ที่อยู่ในตัวเขา  

เราจะไม่ตำหนิเขา เพราะเขามีความทุกข์อย่างมหาศาล เขาไม่รู้วิธีจัดการกับความทุกข์ เขาจึงทำให้คนที่อยู่รอบข้างมีความทุกข์  

เขาคนนั้นก็คือ เหยื่อรายแรกในความทุกข์ของตัวเอง ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้อยากทำให้เธอมีความทุกข์ แต่เขาไม่รู้จะจัดการกับความทุกข์ เธอก็เลยกลายเป็นเหยื่อรายที่สองของความทุกข์ของเขา

ถ้าเธอรู้ศิลปะการมองด้วยสายตาแห่งความกรุณา เธอจะเข้าใจความทุกข์ที่อยู่ในตัวเขาและสามารถที่จะปลดปล่อยความทุกข์ที่มีอยู่ในตัวเขาได้ทันที"

รำลึกถึง"หลวงปู่ติช นัท ฮันห์": วิถีภาวนากับปลายพู่กัน

ธรรมะจากภาพ ติช นัท ฮันห์

ธรรมะในภาพเขียนลายพู่กันของหลวงปู่นัท ฮันห์ ใช่ว่าจะมีแค่ภาษาอังกฤษ ท่านยังเขียนเป็นภาษาเวียดนาม จีน ฝรั่งเศสอิตาลี เยอรมัน และเคยหัดเขียนภาษาไทย

โดยเริ่มเขียนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2537 และท่านเคยนำภาษาเวียดนามที่ใช้อักขระโรมัน ซึ่งมาจากวัฒนธรรมการเขียนลายพู่กันในวัดเวียดนามตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แต่เป็นการเขียนตัวอักษรโรมันในรูปแบบของอักษรจีน

โดยหลวงปู่นัท ฮันห์ นำมาปรับรูปแบบใหม่ เขียนให้เป็นอักษรโรมันที่ปราศจากอิทธิพลของตัวอักษรจีน จนกลายเป็นลายมือใหม่ที่เรียบง่ายและอิสระ

และยังนำตัวหนังสือของยุโรปสมัยใหม่มาใช้ร่วมด้วย แต่ยังคงแก่นแห่งความเป็นเซนตามวิถีตะวันออก โดยเบิกบานกับการเขียนทุกลมหายใจ
ครั้งแรกที่หลวงปู่เขียนลายพู่กัน ท่านสนุกกับการเขียน เบิกบานกับการนั่งเขียนให้ลูกศิษย์ เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้กับลูกศิษย์ของท่าน

"ตอนที่เรามีวัดอีกแห่ง หลวงปู่เขียนคำว่า สันติ...ทุกย่างก้าวแล้ววางไว้ที่บันได เวลาลูกศิษย์เดินขึ้นลง ก็จะเห็นภาพลายพู่กัน พวกเราก็จะกลับมาที่ลมหายใจของตัวเอง แล้วเดินขึ้นเดินลงด้วยสติ

นอกจากนี้หลวงปู่ก็เขียนวลีอื่นๆ อีก และเอาไปติดตามห้องอาหารและที่ต่างๆ เพื่อให้เราระลึกได้ว่า เราต้องปฎิบัติ" ลูกศิษย์หลวงปู่เล่าถึงการเขียนลายพู่กันของหลวงปู่นัท ฮันห์  

"หลวงปู่มีชั้นเรียนสอนวาดลายพู่กัน มีหลวงพี่ หลวงน้อง มาเรียน บางรูปก็เขียนได้เหมือนหลวงปู่ นั่นเป็นสืบเนื่องของหลวงปู่  เวลาจุ่มพู่กันวาดรูป ลูกศิษย์ก็จะผสมน้ำชาเข้าไปด้วย" ลูกศิษย์ของหลวงปู่ เล่า

"เมื่อฆราวาสในประเทศต่างๆ มาฝึกปฎิบัติภาวนา ก็อยากจะนำภาพเหล่านั้นกลับบ้าน หลวงปู่เขียนภาพลายพู่กันให้ฆราวาสนำกลับบ้าน แล้วพวกเราก็เอาไปไว้ในร้านหนังสือหมู่บ้านพลัม

เมื่อมีคนสั่งจองเข้ามา เราก็ต้องส่งไปให้ จนปีคศ.2004 เราเริ่มนำภาพลายพู่กันออกขาย แม้กระทั่งงานภาวนาที่อเมริกาก็นำไปด้วย"

ความสุขกับการภาวนา

"เหมือนเช่นที่กล่าวมา การเขียนลายพู่กันของหลวงปู่นัท ฮันห์ เป็นไปตามวิถี ไม่ได้มุ่งเน้นให้เป็นงานศิลปะที่เลิศเลอ แต่เป็นตัวแทนของการภาวนา หลวงปู่ต้องการเขียนให้เรียบง่าย อ่านได้ชัดเจน" ลูกศิษย์หลวงปู่เล่าถึงช่วงเวลาที่หลวงปู่เขียนลายพู่กัน เป็นช่วงที่ท่านดูมีความสุขและสงบ 
"เวลาท่านเขียนลายพู่กัน รู้สึกว่าท่านมีความสุข และไม่ใช่ว่า หลวงปู่อยากจะเป็นศิลปิน แต่สิ่งที่หลวงปู่เขียน คือ สิ่งที่มาจากการปฏิบัติ เป็นไปตามธรรมชาติ

เวลาเราเห็น เรารู้สึกถึงพลังในตัวหลวงปู่ จึงไม่เกี่ยวกับศิลปะ หลวงปู่ก็เป็นเช่นนั้น ท่านอยากนำปัญญา ความเมตตามาแบ่งปันกับคนอื่น" ลูกศิษย์เล่าถึงความตั้งใจของหลวงปู่ ที่ต้องการให้ผู้คนนำไปฝึกปฏิบัติ ไม่ได้ทำขึ้นมา เพื่อสร้างงานศิลปะ แต่หลวงปู่เขียนด้วยความรัก 

เวลาเขียนลายพู่กัน หลวงปู่จึงอยู่ตรงนั้นอย่างแท้จริงในทุกขณะจิต ตั้งแต่การดื่มชา การหยิบพู่กัน การใช้น้ำชาผสมในหมึก จนถึงขั้นตอนการเขียน และเมื่อเสร็จสรรพ ท่านก็จะค่อยๆ ประทับตราอย่างระมัดระวัง

รำลึกถึง"หลวงปู่ติช นัท ฮันห์": วิถีภาวนากับปลายพู่กัน

วงกลมแห่งเซน

 ว่ากันว่า วงกลมแห่งเซน มักจะเป็นตัวแทนของความว่าง (สุญญตา) แต่วงกลมที่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์เขียน แสดงถึงความเป็นดั่งกันและกัน  

"ในการภาวนาทุกครั้ง หลวงปู่จะเน้นย้ำเรื่องเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ เวลามีคนนำภาพลายพู่กันกลับบ้าน ก็เหมือนพาหลวงปู่กลับบ้านด้วย พลังของหลวงปู่อยู่ในนั้น คำสอนธรรมะสั้นๆ เป็นเครื่องเตือนใจพวกเขา เพื่อให้คนนำคำสอนไปปฎิบัติภาวนา" ลูกศิษย์หลวงปู่ เล่า

"หลวงปู่จะเขียนภาพลายพู่กันเฉพาะเวลาที่เกิดแรงบันดาลใจ และมีความสุขที่จะเขียน เวลาเหนื่อยท่านจะไม่เขียน เวลาท่านเดินผ่านป่าสน เพื่อไปที่วัดใกล้ๆ อีกแห่ง ท่านก็ไปนั่งเขียนที่นั่น

และในวัดที่พวกเราอยู่ ก็มีคอร์สเขียนลายพู่กัน  ใครจะเข้าเรียนหรือไม่เข้าเรียนก็ได้ แต่หลวงปู่ก็อยากให้เข้าเรียน แม้การวาดรูปวงกลมจะไม่สมบูรณ์แบบ หลวงปู่ก็จะบอกว่าทุกอย่างก็สวยงาม

และพวกเราจะได้เรียนรู้จากเรื่องนั้น มันไม่ได้เกิดจากความสมบูรณ์แบบ ดังนั้นต่อไปเราอาจจัดงานภาวนาลายพู่กันก็ได้  ที่ยุโรปมีเปิดคอร์สเฉพาะเรื่องลายพู่กัน มีคนมาร่วม 10-15 คน และเราเคยทำคอร์สเกี่ยวกับการดูแลต้นบอนไซด้วย"

หากไล่เรียงจำนวนภาพลายพู่กันที่หลวงปู่เขียน ประมาณได้ว่ามีมากกว่าหนึ่งหมื่นภาพ รายได้จากการจำหน่าย ซึ่งขายได้ปีละหลายร้อยภาพ ท่านนำไปช่วยเหลือโครงการเพื่อนมนุษยธรรมในประเทศกำลังพัฒนา และสร้างศูนย์ปฎิบัติธรรมในประเทศไทย
นอกจากเรื่องเล่าวิถีแห่งการภาวนากับลายพู่กันแล้ว ในปีที่หลวงปู่มาเปิดนิทรรศการ ยังสอนวิธีการเดินชมภาพอย่างมีสติ  โดยยกวลีที่ว่า

รำลึกถึง"หลวงปู่ติช นัท ฮันห์": วิถีภาวนากับปลายพู่กัน

"ก้อนเมฆนั้นไม่เคยตาย จึงอยากเชื้อเชิญให้ทุกคนมองเข้าไปในความเป็นจริงแห่งการไร้ซึ่งการเกิด ไร้ซึ่งการตาย เพราะเมฆนั้นไม่เคยตาย...กลายเป็นสิ่งอื่นเสมอ 
 ถ้าเราสามารถสัมผัสกับความเป็นจริงของการไม่เกิดและไม่ตาย คือการนิพพาน เราจะหลุดพ้นและปราศจากความกลัว

เพราะฉะนั้นภาพลายพู่กันทุกภาพ เขียนขึ้นเพื่อที่จะกำหนดการทำสมาธิภาวนา ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่เธอจะชมภาพลายปลายพู่กัน ก็คือ ขณะเดินชมให้พวกเธอหายใจเข้า แล้วกลับมาสู่ใจของเธอ"

 เวลาเดินชมภาพลายพู่กัน  ก็เป็นช่วงของการทำสมาธิ และระหว่างนั้นควรสัมผัสกับความเงียบอันประเสริฐ  หลวงปู่ บอกว่า เราต้องปล่อยให้ภาพลายพู่กันเหล่านั้นสัมผัสกับเมล็ดพันธุ์ที่งดงามในตัวของเรา เพราะในวิถีแห่งเซน ทุกเรื่องในชีวิตนำมาภาวนาได้หมด 
 "ถ้าเราปล่อยวางความอยาก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว เราก็จะมีความสุขในทันที ถ้าเรายังสืบเนื่องความทุกข์ของเรา ก็เพราะเราไม่มีความกล้าหาญพอจะปล่อยวางสิ่งนี้" 
  ..................

 เรื่องเล่าจาก นิทรรศการภาวนากับลายพู่กัน : ศิลปะแห่งสติ โดยพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เปิดแสดงตั้งแต่วันนี้-12 เมษายน 2556 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน