10 ประเด็น “สุขภาพคนไทย ปี 2565” ปรับ-รับมือ หรือไปต่ออย่างไร? ในยุคโควิด-19

10 ประเด็น “สุขภาพคนไทย ปี 2565” ปรับ-รับมือ หรือไปต่ออย่างไร? ในยุคโควิด-19

เจาะลึก 10 เทรนด์ “สุขภาพคนไทย ปี 2565” ปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพรอบด้าน ทั้ง 4 มิติ กาย-ใจ-ปัญญา-สังคม อย่างไร? ในยุควิกฤติโควิด-19

หากลองสรุปภาพรวมสถานการณ์ของคนไทยในปี 2564 ที่ผ่านมา อย่างคร่าวๆ เราจะพบว่า ไทยเผชิญกับมหาวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้เราทุกคนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า นอกจากนี้ ปี 2564 สังคมไทยเรายังมีปัญหาเรื่องพนัน โดยไทยมี “นักเล่น” เพิ่มขึ้นถึง 135.8% และวงเงินที่แพร่สะพัดในอุตสาหกรรมการพนันออนไลน์ก็มีถึง 431.3% ซึ่งกว่า 37% ในนั้นคือ “เยาวชน” ขณะเดียวกัน เราก็กำลังเผชิญกับไวรัสทางสังคมที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและทวีคูณไม่น้อยหน้า​โควิด-19 นั่นก็คือ “เฟคนิวส์” ว่ากันว่า เฉพาะปีที่ผ่านมา หากเราลองเสิร์ชคำว่า ข่าวปลอม+วัคซีน สมุนไพร+ป้องกันโควิด หรือ วัคซีนปลอม เราจะพบเนื้อหาที่เป็นเฟคนิวส์ถึง 17,130 ข้อความ และมากกว่า 3,600 ข้อความเป็นข้อมูลนำเสนอวิธีป้องกันการรักษาแบบผิดๆ ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมที่เรามองว่าใกล้จะวิกฤติรอมร่ออยู่แล้ว ก็ยิ่งถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยปัญหา “ขยะหน้ากากอนามัย” ที่กำลังล้นเมือง ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า เพียงหนึ่งชิ้นจะต้องใช้เวลาย่อยสลายมากถึง 450 ปี! แต่ 2564 ไม่ใช่แค่โควิด-19 เท่านั้น ที่ต้องรับมือ เพราะยังมีปัญหาเดิมๆ ที่สั่งสมมาอย่างแก้ปมไม่หยุด ไม่ว่าจะเป็น เพศสัมพันธ์ในวัยเรียน หรือ PM 2.5 ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้

เจาะลึก 10 เทรนด์สุขภาพคนไทย ปี 2565

เวที “Thaihealth Watch 2022” เจาะลึก 10 เทรนด์สุขภาพคนไทยปี 65 ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ บริษัท ไวซ์ไซท์ ประเทศไทย จำกัด และภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ร่วมกันปรับทิศทางสุขภาพของคนไทย โดยจัดงาน Thaihealth Watch 2022 ภายใต้แนวคิด “Adaptive Living” หวังปลุกคนไทยเปลี่ยนวิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาส ด้วยการ “ปรับการใช้ชีวิต พร้อมก้าวไปในยุคโควิด-19” พร้อมจัดทำ 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2565 เพื่อปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพรอบด้าน ทั้ง 4 มิติ กาย-ใจ-ปัญญา-สังคม

โดยในปีนี้ได้สรุปประเด็นสำคัญมา 10 ประเด็น แต่ที่แน่ๆ มีหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่ติดอันดับมาเป็นปีที่สองแล้ว ที่เราต้องเผชิญกับมหาวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ทั้งสังคมถูกเขย่า และต้องปรับตัวและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตผู้คนไม่น้อย จนนำมาสู่การจับตาดู 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพ ดังนี้

  1. จับตาโควิดกลายพันธุ์ การอยู่กับโควิด-19 ทั้งวันนี้และวันข้างหน้า
  2. เลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างไรในยุคโควิด-19
  3. สร้างห่วงโซ่อาหาร ลดโภชนาการ ขาด-เกิน
  4. รู้เท่าทันสื่อ พ้นภัยกับดักข่าวลวง
  5. เมื่อขยะติดเชื้อ ขยะพลาสติกล้นเมือง
  6. ดูแลสุขภาพใกล้ไกล ห่วงใยทุกกลุ่มประชากร
  7. เมื่อบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย
  8. โควิดกับความรุนแรงในครอบครัว
  9. พนันออนไลน์
  10. เด็กไทยใส่ถุงยางเพิ่ม แต่โรคเพศสัมพันธ์เพิ่ม

10 ประเด็น “สุขภาพคนไทย ปี 2565” ปรับ-รับมือ หรือไปต่ออย่างไร? ในยุคโควิด-19

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เรื่องที่ สสส. เลือกมาทั้งหมด ไม่ใช่แค่เพื่อสะท้อนปัญหา หรือมาเพื่อบอกให้จับตาดูเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ สสส. และภาคี ได้เกาะติดปัญหาเหล่านั้นอยู่ และมีคำตอบของปัญหาที่กำลังเผชิญ รวมทั้งมีประเด็นที่อยากให้สังคมร่วมมือกัน เพื่อให้ทุกคนรับมือกับเทรนด์ดังกล่าวได้ดีขึ้น 

10 ประเด็น “สุขภาพคนไทย ปี 2565” ปรับ-รับมือ หรือไปต่ออย่างไร? ในยุคโควิด-19

ชีวิตที่ถูก Disrupt

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลถึงประเด็นและความน่ากังวลที่เกิดจากภาวะเนือยนิ่งของคนไทย ซึ่งที่ผ่านมา สสส. และภาคีต่างพยายามร่วมมือกัน ส่งเสริมให้คนออกมามีกิจกรรมทางกายมากขึ้น แต่เมื่อโควิด-19 มาเยือนก็ดูเหมือนว่าคนไทยจะกลับมามีแนวโน้มเนือยนิ่งกันมากขึ้น ซึ่งมีการวิจัยพบว่า “การนั่ง” มีผลเสียกว่าที่คิด ในกลุ่มผู้มีพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นวิถี จะเพิ่มโอกาสนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวาน 112% และหากนั่งติดต่อกันเกินกว่า 2 ชั่วโมงจะเพิ่มโอกาสความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเยื่อบุมดลูก 10% มะเร็งลำไส้ 8% และมะเร็งปอด 6% และหากนั่งสะสมมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะซึมเศร้า 47% หรือหากสะสมกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 147% ดังนั้น ทางออกวันนี้ คือจำเป็นต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับพฤติกรรมในทุกสถานการณ์

สุภา ใยเมือง กรรมการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เสริมว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยากต่อการเข้าถึงอาหาร ทำให้ขาดการบริโภคที่หลากหลายและมีคุณภาพ แม้กระทั่งในชนบทที่เราคิดว่าไม่มีปัญหาเรื่องอาหาร แต่ก็พบว่ามีปัญหาเศรษฐกิจ เพราะการมีงานทำลดลงขาดรายได้ ทำให้ขาดแคลนอาหาร ซึ่งลึกลงไปกว่านั้น ยังสะท้อนว่า โครงสร้างระบบอาหารประเทศไทยกระจุกตัว ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ สสส. และภาคีที่เกี่ยวข้องต่างพยายามกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นหันมาพึ่งตนเองให้ได้เรื่องอาหาร ด้วยการสร้างแหล่งอาหารขึ้นเองในชุมชนหรือในบ้าน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารที่ทั่วถึง

ห่วงใยทุกกลุ่มประชากร

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เปิดใจถึง แนวคิดของ สสส. ที่ให้ความสำคัญกับทุกบริบทที่แตกต่าง เพราะเชื่อคนทุกคนมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี สามารถพัฒนาตัวเองได้ หากได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม แต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมา คนที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น 30% เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและครอบครัว กลายเป็นคนไร้บ้าน

“ดังนั้น บทบาท สสส. จึงเป็นการเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน โดยแนวคิดที่เราใช้คือ ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ โดยการเข้าไปลดปัญหาอุปสรรคต่างๆ หรือส่งเสริมศักยภาพของเขา สสส. พยายามส่งเสริมการลดโอกาสเสี่ยงต่อโรค บางรายเราชวนเข้ามาเป็นแกนนำเพื่อให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง เขาสามารถประกอบอาชีพได้ ใช้ชีวิตได้ และเป็นจิตอาสา ส่วนประชากรต่างด้าวที่ไม่รู้ภาษาเราก็ทำคู่มือในภาษาต่างๆ เพื่อที่เขาจะได้ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้อง” ภรณี กล่าว

เลี้ยงลูกอย่างไรในยุคโควิด-19

เด็กและเยาวชน เป็นอีกหนึ่งกลุ่มวัยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงมากกว่าที่คิด เรื่องนี้ยืนยันโดย นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลไทยนครินทร์และอดีตผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. เล่าถึงสถานการณ์ว่า ตอนนี้เรามักคาดหวังต้องการการปรับตัวจากเด็ก แต่เราต้องเปลี่ยนนิยามการเรียนรู้ใหม่ ไม่ใช่เป็นการเรียนรู้ในห้องเรียน

“เพราะเป็นเพียงเสี้ยวเดียวที่เขาจะนำไปใช้ แต่อีกส่วนต้องทำให้เด็กมีวิธีการเรียนรู้อย่างไร เราต้องเปลี่ยนนิยามการเรียนรู้ใหม่ เปลี่ยนทัศนคติในการมองลูก การเรียนออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียด เพราะมีพื้นที่อื่นให้เล่นเรียนรู้ได้ ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มการศึกษาประเทศไทย ได้ส่งเสริมให้บทบาทครูและพ่อแม่กำลังเปลี่ยนไปเป็นบทบาทผู้กระตุ้นการเรียนรู้ และเน้นการเรียนรู้มากกว่าการวัดผลสัมฤทธิ์”

สำหรับเด็กๆ โดยทั่วไปแล้ว โควิด-19 ปัญหาที่อาจส่งผลกระทบทางตรงสำหรับพวกเขาคือ ไม่ได้เล่น ไม่ได้เจอเพื่อน ต้องเรียนออนไลน์ แต่อีกมุมหนึ่งยังมีเด็กด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงระบบการเรียนออนไลน์ เพราะข้อจำกัดในเรื่องการมีอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตกว่าจำนวน 270,000 คน ใน 29 จังหวัด ที่เคยเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม

นพ.ประเวช เล่าว่า เด็กด้อยโอกาสเหล่านี้มีโอกาสหลุดจากระบบการศึกษาได้ นอกจากนี้ ปัญหาการเรียนออนไลน์ ไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์หรืออินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่โรงเรียนต้องสามารถเข้าใจธรรมชาติของการเรียนออนไลน์ เข้าใจวิธีการเรียนรู้กับมนุษย์และบทเรียนที่เป็นส่วนผสมแบบออนไลน์กับการที่เด็กสามารถมาค้นคว้า เพิ่มเติมได้ จนถึงตัวกิจกรรมเสริม

“กลุ่มนั้นเป็นกลุ่มที่ต้องรีบช่วยเหลือก่อน ดังนั้น ทำอย่างไรก็ได้ให้เขายังอยู่ในระบบการศึกษาให้นานที่สุด เพราะการที่ปล่อยเขาหลุดออกมาจากระบบการศึกษา มีความเสี่ยงตามมาที่จะส่งผลกระทบเยอะมาก มีความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจประเทศจะได้รับผลกระทบด้วย เพราะพอเด็กออกจากระบบการศึกษาโอกาสที่จะเป็นแรงงานที่มีความรู้มีคุณภาพลดลง ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ ทั้งเขาอาจมีปัญหาด้านพฤติกรรมที่ต่อต้านสังคม หรือส่งผลกระทบสังคมในระยะยาว ทำให้สังคมต้องจ่ายค่าความปลอดภัยและความยุติธรรม ถ้าไม่ดูแลเด็กให้ดีตั้งแต่ต้น” นพ.ประเวช อธิบาย

เรียนออนไลน์เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน

นพ.ประเวช กล่าวยอมรับว่า พ่อแม่จะมีความเครียดเมื่อลูกเรียนออนไลน์ เพราะเป็นการเพิ่มภาระในขณะที่ตนเองต้องทำงานไปด้วย และเมื่อเห็นว่าลูกแอบเล่นเกมก็จะรู้สึกโกรธและดุว่าลูก

“ในความเห็นผม ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกมีความสำคัญมากกว่าเรื่องการเรียน เพราะเวลามีความเครียดเกิดขึ้นจะทำให้เด็กไม่ปลอดภัย และส่งผลต่อพัฒนาการเซลล์สมองการเรียนรู้ของเขา พ่อแม่ควรจัดลำดับความสำคัญระหว่างพื้นที่การเรียนรู้ และพื้นที่ความสัมพันธ์ มีการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าในบ้านที่มีพ่อแม่เข้าใจอารมณ์ความต้องการและสนองความต้องการเด็กได้ดี เด็กจะเติบโตมามีอารมณ์มั่นคงและไว้ใจคนรอบตัวเขา มีผลต่อเมื่อเขาไปอยู่ในที่แปลกใหม่ เขาจะกล้าสำรวจโลก อีกทั้งยังมีความมั่นคงภายในใจ”

นพ.ประเวช กล่าวว่า พ่อแม่ต้องยอมรับว่าการเรียนออนไลน์จะไม่เหมือนกับเรียนในโรงเรียน ไม่ต้องคาดหวังว่าเขาจะได้ความรู้เทียบเท่าหรือเพียงพอในโรงเรียน แต่เด็กต้องการการเล่นและกิจกรรม พ่อแม่ต้องถามตัวเองว่า เราจะทำอย่างไรให้ลูกมีกิจกรรม กระบวนการประเมินผลก็ต้องเปลี่ยน มันช่วยลดแรงกดดันให้เด็กได้ เด็กเขายังคุ้นกับการเจอเพื่อนและวิถีชีวิตอิสระ สิ่งสำคัญของการปรับตัวของเด็กคือ การเข้าใจของพ่อแม่

อย่ามอบพื้นที่การเรียนรู้ให้เฉพาะโรงเรียน

ในโลกการเรียนรู้ รากฐานความสัมพันธ์ถือเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็ก นพ. ประเวช กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้ว พ่อแม่เป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยวางรากฐานพื้นที่การเรียนรู้ให้ลูกได้ตลอดชีวิต อย่ามอบพื้นที่การเรียนรู้ให้เฉพาะโรงเรียน ควรมีกิจกรรมผสมผสานที่เรียกว่าไฮบริด ในช่วงการเรียนออนไลน์

อย่างไรก็ดี การเรียนรู้ในโลกศตวรรษที่ 21 เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือ การเรียนออนไลน์ นี่จึงเป็นรอยต่อระหว่างหลังโควิด-19 กับช่วงที่เวลาที่เราต้องเตรียมบุคลากรของประเทศให้พร้อมสำหรับโลกการทำงานที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและพลิกผัน

“โควิด-19 เปรียบเสมือนตัวเร่งอัตราเร็วในหลายเรื่อง อาจบังคับให้เรากระโดดออกไปโดยที่เรายังไม่พร้อม ดังนั้น เราต้องมองต่อข้ามช็อตไปด้วยว่า เราจะเรียนรู้จากสถานการณ์นี้อย่างไร และจัดระบบอย่างไร เพราะแม้เด็กจะได้กลับไปเรียนไปเจอกันแล้ว แต่เขาควรมีความสามารถที่จะเรียนออนไลน์เป็น สำหรับการเรียนรู้ในอนาคตของเขาเอง เพราะความจริงแล้วในอนาคต การเรียนรู้ระยะยาวต้องขยับไปสู่ส่วนผสมออนไลน์ที่มากขึ้น”

บัณฑิตยุคโควิด-19 เสี่ยงสูญเสียอัตลักษณ์

อีกปัญหาที่กำลังตามมาคือ ระบบการเรียนออนไลน์ ส่งผลต่อระบบการเรียนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเอง ก็ต่างกำลังเผชิญกับโอกาสการเรียนรู้ที่สูญเสียไป

“ความรู้ส่วนนี้หายไป บางที่นักศึกษาไม่มีฝึกงาน มหาวิทยาลัยก็ต้องให้จบ พอออกมาก็ไม่มีงาน เพราะระบบเศรษฐกิจยังไม่ดี มันจะเป็นช่วงเวลายากลำบากของคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะทุกคนฝันว่าเขาจะเรียนจบมีงานทำโตเป็นผู้ใหญ่ หารายได้ได้ด้วยตัวเอง อยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่พัฒนาการตรงนี้หายไปเลย ผมมองว่าผลกระทบนี้ต้องค่อยๆ คลี่คลายไปตามโจทย์แต่ละกลุ่ม กลุ่มที่จบในคณะที่ยังเป็นที่ต้องการยังมีคนจ้าง อย่างสายไอทีก็ยังไม่น่าห่วง แต่ภาคบริการลำบากมาก ผมว่ากลุ่มนี้จะมีปัญหาความเครียดและเรื่องอัตลักษณ์ตัวเอง กับความภูมิใจในตัวเอง ถ้าจะมีโปรแกรมช่วยเหลือ รูปธรรมที่ดีที่สุดคือ ต้องทำให้เกิดการจ้างงาน รองลงมาหรือมีกิจกรรมที่ให้เขาทำแล้วภูมิใจ แต่อาจไม่ได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ภาครัฐควรสนับสนุนให้เขามีที่ยืนในสังคม เพราะการมีงานทำเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์และความภูมิใจของคนเรา” นพ.ประเวชกล่าว

10 ประเด็น “สุขภาพคนไทย ปี 2565” ปรับ-รับมือ หรือไปต่ออย่างไร? ในยุคโควิด-19

ปรับทิศทางใหม่ด้วย แพลตฟอร์มสุขภาพ

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. เตรียมนำเสนอแนวทางการทำงานของ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่สามารถช่วยแก้ไข บรรเทา ปัญหาทิศทางสุขภาพ 10 ประเด็นสุขภาพคนไทยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2565 เพื่อสร้างความตระหนักรู้และขยายผลการดำเนินงานที่นำไปปรับใช้ได้จริงในยุคโควิด-19 ไปยังหน่วยงาน พื้นที่ต่างๆ ให้กว้างขวางมากขึ้น เช่น โครงการพัฒนากลไกการเข้าถึงบริการสุขภาพและเสริมสร้างสุขภาวะผู้หญิงชาติพันธุ์ โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น โครงการปทุมวันโมเดล โครงการปันอาหารปันชีวิต โครงการปันกันอิ่ม โครงการตามสั่ง-ตามส่ง สู้ภัยโควิด-19 คู่มือวัคซีนสู้โควิด คู่มือชีวิตวิถีใหม่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา คู่มือการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน คู่มือการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ คู่มือการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม เป็นต้น ดังนั้นต้องมีช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่าน โดยภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นนายจ้าง ต้องส่งไม้ต่อช่วยกัน

“ในปี 2564 สสส. มีการพัฒนาด้านสุขภาวะทางปัญญามาก นั่นคือการเสริมสร้างความรู้และตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านสุขภาวะ เรานำดิจิทัล แพลตฟอร์ม และออนกราวนด์แพลตฟอร์มใหม่ๆ เข้ามาใช้ แต่จากวิกฤติที่มากขึ้นและทำให้ระบบการสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงหมด ในปี 2565 นี้ สสส. จะพยายามนำ ดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้ในกระบวนการทำงานด้านส่งเสริมการดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในประเด็นแรกที่ สสส. ดำเนินการคือ สุขภาพเฉพาะคุณ หรือ Persona health ซึ่งเราได้เริ่มทำงานตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่ข้อมูลถูกต้องตรงกับแต่ละคนมากขึ้น และช่วยให้คนไทยประเมินตัวเองได้ ” เบญจมาภรณ์ กล่าว

10 ประเด็น “สุขภาพคนไทย ปี 2565” ปรับ-รับมือ หรือไปต่ออย่างไร? ในยุคโควิด-19