ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ขั้นต่ำต้องซองละ 75 บาท

ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ขั้นต่ำต้องซองละ 75 บาท

แพทย์-กลุ่มเครือข่ายบุหรี่ เสนอปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งใหม่ต้องไม่พลาดซ้ำสอง ย้ำต้องปรับขึ้นตามสภาพอัตราเงินเฟ้อทุกปี แนะขั้นต่ำต้องราคาซองละ 75 บาท ควรไม่ให้อุตสาหกรรมยาสูบเข้ามาเกี่ยวกับการจัดทำโครงการภาษี หวังลดคนไทยป่วย เสียชีวิตด้วยบุหรี่

"การสูบบุหรี่" ทำให้คนไทยเจ็บป่วยและเสียชีวิตปีละกว่า 7 หมื่นคน การที่จะทำให้คนสูบบุหรี่ลดลง จำเป็นต้องมีหลายมาตรการ ทั้งการจำกัดที่สูง การห้ามโฆษณา การรักษาคนที่ติดบุหรี่ให้เลิก และมาตรการภาษี ซึ่งเป็นมาตรการที่ดีที่สุด

โดยขณะนี้ กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษียาสูบ ..2560 ทางสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ และนักวิชาการด้านภาษียาสูบได้ติดตาม และศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อเสนอต่อกระทรวงการคลัง และรัฐบาลให้การกำหนดโครงสร้างและอัตราภาษีใหม่ ที่จะมีขึ้นในเดือนมี..นี้ ลดการบริโภคยาสูบได้จริง และทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น โดยการเสนอข้อมูลจากการแถลงข่าวในครั้งนี้ จะทำหนังสือเปิดผนึกทั้งรมว.กระทรวงการคลัง และรมว.กระทรวงสาธารณสุข

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่าตอนนี้มีการปฎิรูปยาสูบ ในเรื่องของภาษีเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งการปฎิรูปภาษีครั้งนั้น เป็นการเก็บภาษีตามมูลค่า และตามปริมาณ ซึ่งที่มีปัญหาคือเรื่องของการเก็บภาษีตามมูลค่า ที่แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ บุหรี่ขายปลีกซองละ 60 บาท ขึ้นไป ซึ่งต้องเสียภาษี 40% แต่ถ้าต่ำกว่า 60 บาท ให้เสีย20%  ทำให้บุหรี่หลายยี่ห้อลดราคาลงเพื่อเสียภาษีในอัตราที่ถูกว่า ซึ่ง 4 ปีผ่านไป ถือเป็นมาตรการที่ล้มเหลว ผิดหลักการของภาษีบุหรี่ เพราะไม่ได้ทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น แต่กลับลดราคาลงทำให้คนสูบไม่ลด สร้างผลกระทบต่อรายได้ของประเทศ ชาวไร่ยาสูบ และสุขภาพของประชาชนชาวไทย

พญ.เริงฤดี ปธานวิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดจากการปรับภาษีบุหรี่ในปี 2560 ส่วนแบ่งการตลาดของบุหรี่ราคาถูกลง ทำให้คนไม่มีแรงจูงใจในการเลิกสูบ หรือสูบได้น้อยลง อีกทั้งยังทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลงด้วย รวมถึงทำให้บุหรี่นอกยึดครองส่วนแบ่งการตลาด ส่งผลให้ชาวไร่ยาสูบเดือดร้อน เพราะบุหรี่นอกลดลงราคาลง เนื่องด้วยโครงการของบุหรี่  เหลือราคาเพียง 60 บาท จากราคาเดิม 70 กว่าบาท ขณะที่บุหรี่ไทยปรับเพิ่มเป็น 60 บาทเท่ากัน เมื่อราคาเท่ากันทำให้ทุกคนไปสูบบุหรี่นอกมากขึ้น

นอกจากนั้น การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ทำให้ในปี 2562 มีราคาเฉลี่ย 66 บาท ดังนั้น การกำหนดอัตราภาษีครั้งใหม่นี้ต้องไม่พลาดอีก ที่สำคัญต้องให้ภาษีที่เก็บได้ครอบครองค่ารักษาพยาบาลและความสูญเสียด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งเคยมีการศึกษาข้อมูลปี 2552 คำนวณค่าความสูญเสียจากโรคที่เกิดจากบุหรี่เฉลี่ยอยู่ที่ 42 บาทต่อบุหรี่หนึ่งซอง หากคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันความสูญเสียนี้จะตกอยู่ที่ประมาณซองละ 50 บาท

"เมื่อการเก็บภาษีบุหรี่ไม่ได้ทำให้บุหรี่แพงขึ้น และรัฐเก็บภาษีได้น้อยลง จากเดิมเก็บภาษีได้ 68,000 กว่าล้านบาทตอนนี้เหลือเพียง 60,000 กว่าล้านบาท ฉะนั้นควรมีการเก็บภาษีเพิ่มเพื่อช่วยชาวไร่ยาสูบที่เดือนร้อน เช่น เก็บภาษีเพิ่มซองละ 1 บาท ตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนให้กับชาวไร่ยาสูบ และกำหนดโครงสร้างภาษีต้องไม่ให้อุตสาหกรรมยาสูบเข้าร่วมในทุกขั้นตอน เพราะขัดต่ออนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยต้องปฎิบัติตาม และต้องไม่ให้กลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำโครงสร้างภาษีบุหรี่ "พญ.เริงฤดีกล่าว

ดร.อิศรา ศานติศาสน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ยาสูบและผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งนี้ อยากเสนอให้คงระบบภาษีบุหรี่ที่มีทั้งอัตราตามสภาพและอัตราตามมูลค่า โดยการปรับขึ้นภาษีตามสภาพตามอัตราเงินเฟ้อทุกปีหรือเป็นช่วง เช่น ร้อยละ 5 ทุก2 ปี และอยากให้ยกเลิกระบบที่แยกอัตราภาษีตามมูลค่าเป็น 2 ระดับ โดยกำหนดเป็นอัตราเดียวอย่างน้อยร้อยละ 40 ของราคาขายปลีก และหากไม่ยกเลิกอัตราภาษีในระดับล่างจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของราคาขายปลีก เพื่อผลักดันให้บุหรี่ราคาสูงขึ้นและปกป้องสุขภาพของผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม กำหนดราคาขายปลีกขั้นต่ำที่รวมต้นทุนทางสุขภาพ เช่น ซองละ 75 บาท 80 บาท อย่างน้อย รวมทั้งต้องมีตัวแทนคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข หรือเครือข่ายนักวิชาการด้านควบคุมยาสูบร่วมในการกำหนดนโยบายภาษีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก

นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการเครือข่ายวิชาชีพ สุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่าขณะนี้ในโลกมีคนสูบบุหรี่ ประมาณ 1300 ล้านคน และมีคนเสียชีวิตทั่วโลก ปีละ 8 ล้านคน สำหรับในประเทศไทย อายุเกิน 15 ปี มีประมาณ10.7 ล้านคน มีคนเสียชีวิตเนื่องจากสูบบุหรี่ในไทย ประมาณ 70,000 คน และคาดว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่เกิดจากบุหรี่ในไทย ประมาณ 10 เท่า หรือประมาณ700,000 คน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยเฉลี่ยคนละ 2 ล้าน 2 แสนบาทต่อคน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลรวมประมาณปีละ ไม่น้อยกว่า 140,000 ล้านบาทต่อคน และยังไม่รวมค่าเสียโอกาส ค่าขาดงาน และมีการเสียชีวิตก่อนอายุขัย 12 ปี และรายรับที่ได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิต ปีละประมาณ60,000 ล้านบาท ดังนั้น นับว่าไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ทุกคนต้องช่วยกันลดการสูบบุหรี่ และรณรงค์ในเรื่องนี้

นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่ามีคนไทยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังประมาณ 80% และมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังแล้ว และยังคงสูบบุหรี่อยู่ต่อเนื่องมากถึง 2.48 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีคนไทยอีกจำนวนกว่า 5 ล้านคนที่กำลังเสพติดนิโคตินอย่างรุนแรงและอาจต้องเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังเช่นกัน หากมีการปล่อยให้สูบบุกรี่ต่อเนื่อง จำเป็นที่ภาครัฐต้องให้การช่วยเหลือแก่บุคคลทั้งสองกลุ่มโดยเร็ว

"ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้เกิดพิษภัย เกิดแบบสะสม ซึ่งเมื่อเกิดโรคแล้โรคเหล่านี้ไม่หายไป เพราะอวัยวะภายในเสียหายแล้ว  การที่รัฐบาลต้องการรายได้จากยาสูบ แต่ต้องดูรายจ่ายที่สูญเสียไปด้วย ซึ่งงบประมาณแผ่นดินที่ต้องเสียไปกับผู้เสพบุหรี่มานานและเกิดเป็นโรคเรื้อรังต้องใช้ในการรักษา และค่าใช้จ่ายในการป้องกันผู้ป่วย รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีประมาณ 14 ล้านคน ซึ่งมีสาเหตุหลักๆมาจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ทำให้ประเทศไทยต้องเสียงบประมาณมากถึงปีละ 27,574 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องจ่ายซ้ำๆ ทุกปี การออกแบบโครงสร้างภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์ยาสูบครั้งใหม่นี้ต้องสะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าที่แท้จริงของการบั่นทองสุขภาพคนไทย โดยเรียกเก็บเพิ่มขึ้นจากธุรกิจยาสูบข้ามชาติอันเป็นต้นเหตุของการคุกคามสุขภาพคนไทย และเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่ต้องมาดูแลสุขภาพคนไทยลดลงได้" นพ.สุทัศน์ กล่าว