ของดีที่ "ภูเก้า" ดินแดนในป่าลึกที่สวยทุกฤดู

ของดีที่ "ภูเก้า" ดินแดนในป่าลึกที่สวยทุกฤดู

อุทยานฯ "ภูเก้า" เป็นที่ที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะมีที่ท่องเที่ยว แต่ในดินแดนกลางป่าแห่งนี้ก็มีจนได้ แถมยังสวยหลากสไตล์ในทุกฤดูกาล

ภูเก้า ทอดตัวยาว โดดเด่นเคียงข้างอ่างเก็บน้ำของ เขื่อนอุบลรัตน์ มองเห็นภูเก้าได้จากไกลๆ “ภูเก้า” เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ อุทยานแห่งชาติที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป แต่แท้จริงแล้วที่นี่มีดีมากมาย ส่วนว่ามีอะไรบ้าง ตามผมมา แล้วผมจะพาไปให้รู้จัก

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ นั้นจะประกอบไปด้วยพื้นที่ภูเขาหินทรายใหญ่สองลูก คือ "ภูเก้า" ทางด้านตะวันตก และภูพานคำที่อยู่ทางตะวันออก แล้วมีพื้นที่ใน "อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์" อีกครึ่งค่อน ที่ทำการจะไปอยู่ทางชายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นพื้นที่แคบๆ ริมถนน แต่เขาก็จัดพื้นที่มีครบครัน มีบ้านพักมีลานกางเต็นท์ มีค่ายเยาวชน ถ้าเราเริ่มจาก อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2146 ถนนสายนี้จะมีจุดหมายที่หนองบัวลำภู

ภูเก้าและเขื่อนอุบลรัตน์ ในวันที่น้ำไม่มากนัก ภูเก้าและเขื่อนอุบลรัตน์ ในวันที่น้ำไม่มากนัก

โดยเมื่อออกจากตัวอำเภออุบลรัตน์ ก็จะข้ามเขาภูพานคำ ตรงติ่งปลายภูที่ต่อกับพื้นน้ำของเขื่อน จะเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่เรียกว่าช่องเขาขาด ซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยมากๆ ใครผ่าไปมากต้องแวะ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเขตอุทยานฯแล้วครับ ต่อไปตรงนี้จะมีชานยื่นออกไป แล้วมีทางเดินชมทิวทัศน์ ซึ่งกำลังก่อสร้างกันอยู่ ต่อไปจะเป็นจุดชมทิวทัศน์หนึ่งของหนองบัวลำภูเลยที่เดียว ที่ทำการอุทยานจะห่างจากจุดนี้ราวหนึ่งกิโลเมตร

ชายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์นั้น ปีไหนที่น้ำไม่มาก ก็จะมีทุ่งหญ้าชายน้ำ ให้วัวควายได้หากินได้อย่างสบาย แต่ปีไหนที่น้ำมากอย่างปี 2564 น้ำจะท่วมขึ้นมาจนเกือบถึงถนนหมายเลย 2146 กันเลยเทียว ใครผ่านไปผ่านมาย่านนี้จะเห็นว่าร้านค้าริมทาง เขาจะขายปลาแห้งสารพัด ทั้งปลาเล็ก ปลาใหญ่ ก็ล้วนหามาจากในเขื่อนทั้งนั้น เอามาตากแห้งทำเป็นวง เป็นพวง ขายแก่คนที่เดินทางไปมา จะเรียกว่าย่านปลาแห้งก็ไม่ผิด

ถนน 2146 จะพาไปจนถึงทางแยก ซ้ายมือจะเข้าตัวอำเภอโนนสัง แต่ถ้าเลี้ยวขวาจะไปตัวเมืองหนองบัวลำภู ซึ่งที่ที่ผมกำลังจะพาไปก็ต้องไปทางขวามือนี่แหละ ไปตามทางจนถึงบ้านโสกก้านเหลือง จะมีป้ายเขียนว่าเข้าบ้านหนองเล้าข้าว วังมน ทางซ้ายมือ ท่านก็เลี้ยวไปตามทาง ทางจะมุ่งเข้าสู่ภูเก้า ซึ่งจะเป็นปลายทางที่ผมกำลังชวนมานี่เอง ที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของอุทยานฯแห่งนี้มากมาย

ของดีที่ \"ภูเก้า\" ดินแดนในป่าลึกที่สวยทุกฤดู

ถนนสายนี้จะขึ้นไปหลัง "ภูเก้า" ซึ่งเป็นภูที่ด้านบนกว้างมาก มีป่าเต็งรัง ลานหิน บนภูเก้านี้มีชุมชนมาอยู่อาศัยกันนานเน มาก่อนเป็นอุทยานแห่งชาติ มีหมู่บ้านดงบากเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ แล้วก็มีบ้านชัยมงคล บ้านวังมน แล้วจะมีทางลงจากภูเก้าโดยไม่ย้อนกลับทางเดิม พอมีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ.2524 แล้วมาประกาศในปี พ.ศ. 2528 พื้นที่ป่าบนภูเก้า จึงถูกกฎกติการะหว่างอุทยานฯและชาวบ้าน ที่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน อันไหนถางทำไร่แล้ว เป็นบ้านเรือนแล้วก็อยู่ไป ทำกินไป แต่ไม่รุกป่าใหม่ เก็บไว้เป็นต้นน้ำลำธารบ้าง

เริ่มแรกก็ตั้งแต่ตีนเขา เยื้องๆ กับด่านตรวจของอุทยานฯจะมีน้ำตกตาดโตน อยู่ข้างวัดป่าเล็กๆ จะสวยมากในฤดูฝน แต่เมื่อขึ้นไปตามทางเรื่อยๆ ก็จะขึ้นไปถึงหลังเขา จะเจอหมู่บ้านแรกคือบ้านดงบาก ซึ่งจะมีทางไปยังวัดป่าภูเก้า ซึ่งถ้ามีเวลาก็น่าแวะไปครับ เป็นวัดป่าที่น่าสนใจ แต่ในฤดูฝนจะสวย ในหน้าแล้งจะร้อนมาก

จากบ้านดงบากไปตามทางเรื่อยๆ ระหว่างทางจะมีป้ายและหุ่นไดโนเสาร์ ตรงนี้ในหินริมตลิ่งติดถนน จะมีรอยตีนไดโนเสาร์ประเภทกินเนื้อ โดยกรมทรัพยากรธรณี บอกว่าเป็นไดโนเสาร์ตัวที่ 11 ของไทย ให้ชื่อว่า "วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส" (Vayuraptor nongbualamphuensis) เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลาง สกุลและชนิดใหม่ของโลก พบที่หลุมขุดค้นภูวัด อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จังหวัดหนองบัวลำภู

วายุแรพเตอร์ วายุแรพเตอร์

โดยนายพลาเดช ศรีสุข เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งชื่อตามเทพเจ้าฮินดู ‘วายุ’ [ภาษาสันสกฤต] หรือ ‘พระพาย’ สื่อว่าเจ้าไดโนเสาร์ตัวนี้มีความว่องไว จากลักษณะกระดูกหน้าแข้งที่ยาวเรียว ตัวอย่างต้นแบบของ วายุแรพเตอร์ ประกอบไปด้วย กระดูกหน้าแข้ง ข้อเท้า กระดูก coracoid และกระดูกชิ้นอื่นๆ ที่ไม่สมบูรณ์นัก มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 4-4.5 เมตร ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม basal Coelurosauria มีอายุ 130 ล้านปี ในยุคครีเทเชียส (Cretaceous) ซึ่งเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของไดโนเสาร์

จากจุดนี้ไปจะมีทางแยกขวามือจะไปบ้านวังมน ซึ่งเลี้ยวเข้าไปก่อน ช่วงนี้จะเป็นทางลูกรัง จะผ่านด้านหน้าหน่วยพิทักษ์ฯวังมน ซึ่งใกล้ๆ หน่วยฯ จะมีพิพิธภัณฑ์ทางธรณี เป็นอาคารขนาดใหญ่ จัดแสดงสิ่งของและความรู้ทางธรณีมากมาย รวมทั้งเรื่องราวของไดโนเสาร์วายุแรพเตอร์นี้ด้วย

ที่บ้านวังมนนี้จะมีถ้ำน้ำลอด ซึ่งจะเป็นลักษณะของแอ่งหินขนาดกว้างราว 6-7 เมตร น้ำจะไหลลงมาตามร่องหินนี้ แล้วตกลงไปในรูหินขนาดกว้างราว 2 เมตร ลงไปยังเบื้องล่าง ซึ่งเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ สูงราว 2 เมตรเศษ พอลอดรูลงไปด้านล่าง จึงเห็นเป็นน้ำตกที่ตกลงมาจากข้างบนลงมาในเพิงถ้ำ ซึ่งก็ดูแล้วแปลกดี ไม่ค่อยเคยเห็นที่ไหนมาก่อน ทั้งบรรยากาศยังร่มรื่น น่ามาตั้งแคมป์นอน

ในบ้านวังมนยังมีทางแยกไปวัดป่าหามต่าง ซึ่งจะมีเสาหินเป็นลักษณะแบบเสาเฉลียงคู่ อยู่ใกล้กัน ทั้งใกล้เคียงก็ยังมีเพิงหินขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง

หามต่าง

กลับมาที่แยกเข้าบ้านวังมน ถ้าเราตรงไปจะไปบ้านชัยมงคล ที่นี่จะมีน้ำตกอีกสองแห่งคือผาหินแตกซึ่งเป็นแก่งน้ำไม่สูงนัก แต่กว้าง เสียดายว่าตอนหลังมาทำเป็นถนนปูนทับไปบนหน้าผาน้ำตกน้ำเลยไหลผ่านถนนซะงั้น แต่ก็ยังพอชดเชยได้กับน้ำตกตาดฟ้าที่เป็นน้ำตกหืนทราย กว้างนับสิบเมตร สูงราว 5-6 เมตร ในหน้าน้ำน้ำจะมากจนแทบจะท่วมชั้นน้ำตก น้ำจากทางบ้านชัยมงคลจะไหลลงอ่างเก็บน้ำทางลำพะเนียง

น้ำตกตาดฟ้า น้ำตกตาดฟ้า

ถ้ำน้ำลอด ถ้ำน้ำลอด

น้ำตกบนภูเก้า จะสวยและมีน้ำในฤดูฝน ดังนั้นถ้าจะมาก็ควรมาให้ตรงฤดูแล้วมากางเต็นท์พักแรมได้ที่หน่วยฯวังมนหรือลานของพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ได้ นอกจากนี้ ในอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ยังมีถ้ำเรขาคณิต ถ้ำฝ่ามือแดง จุดชมวิวผาหินมะลึกกึ๊กกั๊ก ฯลฯ

ในบางที่ที่เราอาจไม่เคยคิดว่าจะมีที่ท่องเที่ยวแต่ก็มีจนได้ ที่อุทยานฯภูเก้า-ภูพานคำนี้ก็เช่นกัน...