ฟื้นเจรจา 'ไฮสปีดไทย – จีน' เปิดประตูเชื่อม 3 ประเทศ

ฟื้นเจรจา 'ไฮสปีดไทย – จีน' เปิดประตูเชื่อม 3 ประเทศ

'สุริยะ' นำทีมคมนาคมเยือนจีน 7 - 8 พ.ค.นี้ ร่วมโต๊ะประชุมรถไฟไทย - จีน ครั้งที่ 31 เดินหน้าขยายเส้นทางนครราชสีมา - หนองคาย หวังเปิดประตูเชื่อม 3 ประเทศ ด้วยระบบขนส่งทางราง

โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน และจีน ที่ปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในภูมิภาค มีมูลค่าการค้าและการลงทุนสูง

อีกทั้งโครงการความร่วมมือพัฒนาไฮสปีดเทรนสายนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Bet One Road เป็นเสมือนประตูการเดินทางเชื่อมต่อระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว และจีน ให้เกิดความสะดวก ส่งเสริมการขนส่งและการเดินทางท่องเที่ยว พร้อมทั้งจะสนับสนุนยุทธศาสตร์การสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค

โดยโครงการไฮสปีดไทย – จีน เริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ปัจจุบันความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 10 สัญญา และรอลงนามสัญญาอีก 2 สัญญา ซึ่งมีความก้าวหน้าภาพรวม 32.31% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2571

ขณะเดียวกันนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมนำทีมผู้บริหารฝ่ายไทยร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 7 - 8 พ.ค. 2567 และนับเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรี

ซึ่งการเดินทางไปเยือนปักกิ่งครั้งนี้ ถือเป็นการฟื้นการเจรจาร่วมโต๊ะการประชุมเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เนื่องจากช่วงรัฐบาลก่อนหน้า ไม่ได้มีการเดินทางมาร่วมการประชุม เนื่องจากติดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ส่งผลให้ฝ่ายไทยและจีนไม่ได้เดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุม แต่เป็นการประชุมผ่านระบบทางไกล Video Conference

สำหรับเป้าหมายของการหารือครั้งนี้ ฝ่ายไทยจะติดตามความคืบหน้างานก่อสร้าง ความร่วมมือระหว่างไทย - จีน รวมทั้งจะแสดงความมั่นใจถึงการผลักดันโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายระบบราง 3 ประเทศ ไทย - ลาว - จีน ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้ได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดของโครงการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

โดยประเมินว่าโครงการไฮสปีดไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จะมีระยะทาง 357.12 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 341,351 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างภายในปี 2568 มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างงานโยธา 4 ปี หรือ 48 เดือน แล้วเสร็จภายในปี 2573 พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2574

ทั้งนี้โครงการจะก่อสร้าง 5 สถานีใหญ่ ประกอบด้วย 1.สถานีบัวใหญ่ 2.สถานีบ้านไผ่ 3.สถานีขอนแก่น 4.สถานีอุดรธานี และ 5.สถานีหนองคาย โดยเมื่อไฮสปีดเทรนสายนี้เปิดให้บริการจะสามารถเชื่อมต่อเส้นทางกับรถไฟลาว - จีน ผ่านสะพานเชื่อมไทย – ลาวแห่งใหม่ ซึ่งจะก่อสร้างใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ประมาณ 30 เมตร

นับเป็นการเปิดประตูเชื่อม 3 ประเทศด้วยระบบขนส่งทางราง จากสถานีหนองคายฝั่งไทย เชื่อมผ่านไปทางสถานีขนส่งสินค้าท่านาแล้ง สถานีขนส่งสินค้าเวียงจันทน์ใต้ และเชื่อมต่อกับรถไฟลาว – จีน ขนส่งผู้โดยสารที่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ และไปสิ้นสุดที่สถานีคุนหมิงทางตอนใต้ของจีน