ผังเมืองเรื่องใหญ่ ทำอย่างไรให้ใช้ได้ คนยอมรับ

ผังเมืองเรื่องใหญ่  ทำอย่างไรให้ใช้ได้ คนยอมรับ

ผังเมืองนี่เรื่องใหญ่จริงๆ เพราะเราอาจถูกเวนคืนที่ดินหน้าบ้าน ถ้าไม่โดนก็อาจมีชีวิตในอนาคตที่ลำบากมากขึ้น เช่น บ้านเมืองหนาแน่นมากขึ้น รถติดมากขึ้น มลพิษมากขึ้น ขยะและน้ำเน่ามากขึ้น เครียดมากขึ้น ฯลฯ

แต่แปลกที่การทำผังเมืองนี่ โดยปรัชญาของมันแล้ว นักผังเมืองเขาตั้งใจและต้องการที่จะมาแก้หรือบรรเทาปัญหาพวกนี้นี่แหละให้พวกเรา ทว่า พอถึงเวลารับฟังความคิดเห็นว่าประชาชนจะยอมรับผังที่ทางการร่างมาให้ใหม่นี้หรือไม่ หรือจะมีความคิดเห็นเป็นประการใด  กลับมีคนไปร่วมให้ความคิดไม่มากพอ 

ขนาดประชุมในระดับเขตต่างๆ ของ กทม.ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่มาก มีคนมาร่วมเพียงเรือนร้อยเท่านั้น

เมื่อวันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2567 ผมได้ไปร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องการวางและจัดทำผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เฉพาะของเขตพญาไท ผมมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่อยากฝากให้รัฐและรัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ นำไปวิเคราะห์และพิจารณาดูว่าสมควรนำไปใช้ต่อหรือไม่อย่างไร

ผังเมืองเรื่องใหญ่  ทำอย่างไรให้ใช้ได้ คนยอมรับ

(กองบรรณาธิการ ขอบคุณภาพจาก fb/สำนักงานเขตพญาไท)

ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะที่อยากจะฝากไว้คือ

1) ผังเมือง กทม.ฉบับแรกได้ทำขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ นับมาจนถึงปัจจุบันก็เกินกว่า  30 ปี  ระหว่างนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงทางความคิดและทางสังคมไปมากแล้ว ดังนั้นการที่ฝ่ายรัฐจะตัดสินใจเองโดยนักเทคนิคผังเมืองตามลำพังแบบเดิมนั้นจึงเป็นไปได้ยากแล้ว

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐต้องฟังประชาชนมากขึ้น มิฉะนั้นสิ่งที่นักผังเมืองคิดและร่างเอาไว้อาจดำเนินการต่อไม่ได้

 2) การทำผังเมืองนั้นผู้ทำต้องลงไปคลุกคลีคุยกับชุมชนมากกว่าเดิมมาก เพื่อที่จะได้รู้ว่าภาคประชาชนนั้นเขาต้องการสิ่งที่เราคิดและเสนอหรือไม่ และในส่วนของเขาเขาต้องการอะไร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการคิดและทำร่างผังเมืองใหม่  กระบวนการนี้ต้องใช้เวลามากกว่าที่เคยๆ ทำกันมาก่อนอย่างมาก

3) ก่อนที่จะไปรับฟังความคิดเห็นของคนทั่วไป ในรูปแบบรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หรือ public hearing  อยากจะเสนอว่าภาครัฐควรมีการรับฟังความคิดเห็นทางเทคนิคหรือ technical hearing ก่อน เมื่อค่อนข้างลงตัวพร้อมมีทางเลือกต่างๆให้แล้ว จึงค่อยนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทางด้านสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่อไป

4) กิจกรรมและกระบวนการการทำงานทั้งข้อ 1, 2 และ 3 นั้นแน่นอนจะต้องใช้งบประมาณและเวลามากขึ้นกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบันมาก รัฐบาลต้องให้ปัจจัยทั้งสองส่วนนี้แก่หน่วยราชการทางผังเมืองอย่างเพียงพอ  ย้ำ! ต้องเพียงพอ! มิเช่นนั้นหน่วยราชการเหล่านั้นจะไม่สามารถทำงานสามข้อนั้นให้สำเร็จได้เลย  

5) ข้อมูลดิบและผลสรุปจากข้อ 1 ถึง 3 ที่ต้องทำมาก่อนหน้านั้น จะให้คำตอบแก่นักผังเมืองในแต่ละพื้นที่ว่า เรากำลังข้ามเส้นของการพัฒนา (development) ไปสู่การพัฒนาที่เกินเลย (over-development) หรือไม่

โดยเฉพาะของกทม.ที่ขณะนี้พื้นที่แต่ละเขตในกรุงเทพฯต่างหนาแน่นเกินควร ชีวิตไม่มีความสุข รถติด เครียด สุขภาพทรุด และข้ออื่นๆที่ควรตระหนักตระหนกอีกไม่น้อย

ผังเมืองเรื่องใหญ่  ทำอย่างไรให้ใช้ได้ คนยอมรับ

ถ้าความเข้าใจส่วนนี้ตกผลึกมาได้ก่อน การวางแผนเพื่อวางผังเมืองก็จะง่ายขึ้นว่าจะพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ทั้ง 3 ขาคือ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจได้อย่างไร 

6) สิ่งที่อยากเน้นนำเสนอมาก คือ ทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม.(ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า สำนักผังเมือง กทม.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อถึงคราวที่ตัองทำผังเมืองใหม่อีกครั้ง

ควรอย่างยิ่งที่ต้องปฏิรูปการทำงานจากเดิม ที่ทำร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา มาเป็นการมีบทบาทตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้มากขึ้น เพราะเมืองเป็นเมืองของประชาชน

เจ้าหน้าที่ทางด้านผังเมืองทุกระดับ เปรียบเสมือนเป็นผู้ที่จะชี้นำทิศทางในอนาคตของประเทศ จึงต้องมีความเป็นเจ้าของโครงการให้มากขึ้นและพึ่งความคิดเห็นของบริษัทฯให้น้อยลง

การจ้างบริษัทที่ปรึกษาย่อมต้องมีเวลาสิ้นสุดตามสัญญา ซึ่งเป็นปัญหาในการปฏิบัติงานจริงมาก เพราะในการพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายในประเด็นที่ยากมากเช่นผังเมืองนี้จะใช้กรอบเวลาเป็นตัวตั้งไม่ได้

แต่บริษัทฯนั้นเขาทำธุรกิจ เรื่องวันสิ้นสุดตามสัญญาเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับเขา  แต่ในส่วนของภาครัฐหากรัฐเป็นผู้ดำเนินการเองย่อมมีความยืดหยุ่นมากกว่าบริษัทฯทั้งด้านงบฯและเวลาอย่างมาก 

ผังเมืองเรื่องใหญ่  ทำอย่างไรให้ใช้ได้ คนยอมรับ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้าหน้าที่ผังเมืองยังอาจจ้างและใช้บริการของที่ปรึกษาทั้งในรูปบริษัทและตัวบุคคลผู้เชี่ยวชาญในงานปลีกย่อยได้ เช่น การลงพื้นที่เก็บข้อมูล การวิเคราะห์เบื้องต้น  การทำงานด้าน logistics  การทำรายละเอียดการประชุม  รวมทั้งอื่นๆที่มิใช่งานหลักของการตัดสินใจด้านผังเมือง

แล้วเจ้าหน้าที่รัฐเอาเวลาที่มีค่านั้นมาทำงานหลักของการวางผัง มาเป็นผู้วิเคราะห์ว่าผังเมืองที่ถูกต้องและป้องกันรวมทั้งบรรเทาปัญหาที่เคยมีมาก่อนนั้นควรเป็นอย่างไร 

7) ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักพบคือความคาดหวังเกินเลยของประชาชน ทั้งผู้ที่เข้าประชุมและไม่ได้เข้าประชุม

การทำความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมประชุมว่าขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของสำนักผังเมืองและกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้นมีขีดจำกัดอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำความกระจ่างให้เกิดขึ้นแก่ภาคประชาชนเสียก่อน ว่า บางอย่างอยู่นอกอำนาจและขอบเขตหน้าที่ของหน่วยงานผังเมือง เช่น เรื่องถนนใน กทม.ไม่ได้อยู่ที่สำนักผังเมือง แต่อยู่ที่สำนักการโยธา เป็นต้น  

8) ในต่างประเทศ เขากำลังมีวิธีคิดย้อนกลับที่กำลังได้รับความนิยมมาก คือ เขาจะไม่มุ่งไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรถยนต์อีกต่อไป มีตัวอย่างมากมายที่เขายกเลิกถนนหรือทางด่วน มาทำเป็นทางเล็กๆ เพื่อการสัญจรของประชาชนคนธรรมดา

เช่น ทางเท้าหรือทางจักรยานที่ใช้งานได้จริงและสะดวก หรือแม้กระทั่งเอากลับมาเป็นคลองที่สงบ สมเป็นเมืองน่าอยู่ อย่างเช่นที่เมือง Utricht ในเนเธอร์แลนด์  และคลองชองเกซอนในเกาหลีใต้ 

ผังเมืองเรื่องใหญ่  ทำอย่างไรให้ใช้ได้ คนยอมรับ

(กองบรรณาธิการ ขอบคุณภาพจาก fb/สำนักงานเขตพญาไท)

 

Keyword หรือ คำสำคัญ

การทำให้การคิดย้อนกลับ หรือการสร้างเมืองให้คน มิใช่สร้างเมืองเพื่อรถ สามารถเป็นจริงขึ้นได้

มี Keyword หรือคำสำคัญอยู่ข้อเดียว คือ นักการเมืองและผู้บริหารหน่วยงานฯที่มาจากฝ่ายการเมืองต้องเข้าใจปรัชญาการสร้างเมืองและการผังเมืองนี้ให้ถ่องแท้ และไม่เป็นตัวขวางการพัฒนาในรูปแบบใหม่นี้ 

ในพ.ศ.นี้ เราเห็นคนรุ่นใหม่หันมาสนใจปัญหาบ้านเมืองกันมากขึ้น  พวกเขาน่าจะเข้าใจประเด็นนี้ได้ไม่ยาก

ข้อสังเกตทั่วไป

ผมมีข้อสังเกตทั่วไปเป็นของแถมอยู่ 2 ข้อ 

1) คนที่มาร่วมรับฟังความคิดเห็นมาจากหลากหลายอาชีพ วุฒิ ฐานะ และสถานะ บางคนอาจไม่คุ้นชินกับกระบวนการและ/หรือรายละเอียดของโครงการมากนัก  ทำให้เป็นปัญหาแก่การรับฟังฯได้ 

2) ถ้าต้องการให้การรับฟังฯมีประโยชน์ ผู้เข้าร่วมฯต้องได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอเสียก่อน มิฉะนั้นกระบวนการก็จะเป็นเพียงการรับฟังตามพิธีการเท่านั้น

กรณีการรับฟังฯระดับเขตพญาไทของกทม.

มีข้อสังเกตอยู่ 7 ข้อ ข้อที่

1) ไม่ควรนำแผนที่และรายละเอียดของผังเมืองกรุงเทพฯทั้งเมืองมาแสดงต่อผู้เข้าประชุมระดับเขต  ผู้เข้าประชุมจะไม่รู้เรื่องและก่อให้เกิดความสับสนโดยไม่จำเป็น

  2) เอกสารที่นำมาใช้ในการนำเสนอนั้นมีรายละเอียดและสาระมากเกินความจำเป็น  สิ่งนี้อาจเกินขีดความสามารถในการทำความเข้าใจของบางคน ทำให้ความสนใจในสิ่งที่นำเสนอนั้นลดลง

3) ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งก่อนๆ กทม.ถูกภาคประชาชนตำหนิมาก ว่ามีแต่ให้ทางผู้แทนของกทม.เป็นฝ่ายนำเสนอ  แต่ไม่มีเวลาให้ภาคประชาชนได้พูดบ้าง

ผังเมืองเรื่องใหญ่  ทำอย่างไรให้ใช้ได้ คนยอมรับ

(กองบรรณาธิการ ขอบคุณภาพจาก fb/สำนักงานเขตพญาไท)

 

  4) คราวนี้กทม.จึงนำเสนอ PowerPoints แบบเพียงให้จบในเวลาสั้นสุด ผลก็คือคล้ายกับข้อ 1 และ 2  คือแทบจะไม่มีใครตามได้ทัน เพราะสไลด์มีรายละเอียดมากมายตลอดจนมีตัวหนังสือมากเกิน และใช้เวลาอาจเพียงแค่ครึ่งถึงสองนาทีต่อสไลด์  ทำให้อ่านกันไม่ทันและได้ประโยชน์น้อย 

5) ผอ.สำนักผังเมืองของกทม.ได้ยืนยันชัดเจนหลายครั้งว่า การขยายถนนเดิมที่มีอยู่ให้กว้างขึ้น ให้มีเขตทางเป็น 12 และ 16 เมตร (ที่มีชื่อเรียกว่าถนนสาย ก.และสาย ข.)ตามที่นำเสนออยู่ในเอกสารที่แจกนั้น จะยกเลิก จะไม่ขยาย

ท่านย้ำด้วยว่ายกเลิกแน่ เพราะท่านต้องเป็นคนลงนามคู่กับผู้ว่าราชการ กทม. ถ้าท่านไม่ลงนามผังเมืองนี้ก็ออกไม่ได้ พูดจบชาวบ้านต่างปรบมือพอใจก้องห้องประชุม 

อย่างไรก็ตาม แม้นร่างผังเมืองนี้ผ่านการเห็นชอบในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เรื่องก็ยังต้องไปผ่านอีกกว่า 10 ขั้นตอน รวมถึงต้องไปผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผังเมืองของกทม.และกรมโยธาธิการและผังเมืองอีก  เรื่องถึงจะไปถึงสภากทม.เพื่อประกาศใช้ 

แต่ที่ปรึกษาผังเมืองและกรรมการผังเมืองทั้งสองชุดนี้อาจไม่เห็นด้วยกับร่างฯดังกล่าวก็ได้  ดังนั้น คำถามจึงมีอยู่ว่าสิ่งที่ ผอ.ผังเมืองพูดไว้หนักแน่นในที่ประชุมนั้นมีความผูกพันทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร 

ผังเมืองเรื่องใหญ่  ทำอย่างไรให้ใช้ได้ คนยอมรับ

6) ชาวบ้านในเขตพื้นที่ชั้นในสรุปค่อนข้างตรงกันว่าสีต่างๆในผังเมืองที่ทำมาในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมานั้นมีแต่เข้มขึ้น ๆ นั่นหมายถึงว่าการพัฒนาจะมีมากขึ้น คนมากขึ้นแน่นขึ้น เดือดร้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อยากได้ 

7) เอกสารที่จัดมาให้ผู้เข้าประชุมหรือผู้ที่ไม่ได้เข้าประชุมก็ตามแสดงความคิดเห็นนั้น บอกตรงๆว่ายากมากที่จะกรอกได้ เช่น ให้แสดงความคิดเห็นต่อแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท แผนผังแสดงที่โล่ง แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ ฯลฯ

  แค่อ่านก็งงแล้วครับ  ของพวกนี้ต้องไปรับฟังกันที่เวทีรับฟังความคิดเห็นทางเทคนิคอย่างที่ได้เสนอไว้ในย่อหน้าต้นๆแล้ว

กว่าผังเมืองใหม่จะคลอด ยังต้องพิจารณากันอีกหลายขั้นตอน จึงขอขอบคุณหากผู้ที่เกี่ยวข้อง จะรับข้อเสนอพวกนี้ไว้พิจารณานำไปประกอบการทำงานในขั้นตอนครั้งต่อๆไปให้ดีขึ้น.