"วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล" โลกจะอยู่ยากขึ้น

"วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล" โลกจะอยู่ยากขึ้น

“สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่แยกออกจากสังคม ภัยพิบัติภาวะโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องของอนาคตหรือ Next Generation อีกต่อไป เพราะมันได้เริ่มต้นเกิดขึ้นแล้วในยุคนี้”

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักทำสารคดี, นักเขียน, นักดนตรี, พิธีกรรายการ ผู้ผลิตและเจ้าของช่อง ‘เถื่อน Channel’ ใน YouTube เป็นบุตรชายคนเล็กของ รศ.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2552 กับ จิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียนรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2532 มีพี่ชาย 1 คือ ดร.แทนไท ประเสริฐกุล เจ้าของรายการ WiTcast

 ฝันอยากเป็นนักดนตรี  

การทำงานในปัจจุบัน อาจจะไม่ตรงกับความฝันที่เขาเคยฝันไว้คืออยากเป็นนักดนตรี

“ความฝันตอนเด็ก ๆ ไม่มี มีตอนวัยรุ่นช่วงอายุ 20 ต้น ๆ ฝันอยากจะเป็นนักดนตรี แต่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยด้านดนตรีโดยตรง เรียนแต่คอร์สดนตรี จนเล่นเครื่องดนตรีได้หลายอย่าง

แต่พอมาเจอเรื่องของการทำสารคดี, การเดินทาง เลยค้นพบว่า นี่ล่ะคืออาชีพที่เรารักที่สุด ก็อยู่มาเป็นเวลา 10 กว่าปี ตั้งแต่อายุ 25 จนมาถึงอายุ 35 แล้วก็ต้องหยุดเดินทางไป 2 ปีหลังจากโควิดมา”

\"วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล\" โลกจะอยู่ยากขึ้น วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

  สร้างสตูดิโอในบ้าน  

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดส่งผลกระทบให้กับทุกคนทั่วโลก วรรณสิงห์ ก็เช่นเดียวกัน

“จากที่เคยเดินทางปีหนึ่งเยอะมาก อยู่สนามบินตลอดเวลา มาสู่จุดที่ว่า เราจะมานั่งอยู่กับบ้านทุกวัน รอให้โควิดมันจบลงไม่ได้หรอก ไม่รู้มันจะจบเมื่อไร ทั้งตัวโรคก็ร้ายแรง ทั้งการบริหารจัดการของรัฐบาลที่มีปัญหาเยอะ ทำให้วิกฤตนี้มันน่าจะจบยาก 

ก็เลยต้องปรับตัวใหม่ เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ สร้างสตูดิโอในบ้าน ทำรายการช่องยูทูบเป็นหลัก ทำคอนเทนท์เกี่ยวกับสังคม การเมืองในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม”

จุดเปลี่ยนที่ทำให้สนใจสิ่งแวดล้อม

แล้วอะไรคือ จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเดินทาง

“ผมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมา 2-3 ปีแล้ว ต่อยอดจากการเดินทางไปทั่วโลก สนใจเรื่องคน, เรื่องวัฒนธรรม, เรื่องศาสนา ลามไปถึงเรื่องสงคราม, ความขัดแย้ง ผมเป็นคนที่สนใจอะไร ก็จะตั้งใจเรียนรู้สิ่งนั้นจากประสบการณ์จริง

จุดเปลี่ยนก็คือ เราสนใจสังคมมนุษย์ จนไปถึงจุดหนึ่ง แล้วค้นพบว่า มีเรื่องที่น่าสนใจกว่าสังคมมนุษย์อีก นั่นก็คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เร่งด่วนมาก ๆ ที่ต้องแก้ไขปัญหา แต่กลับมีคนพูดถึงน้อยมาก ๆ เลยตัดสินใจต่อยอดทำด้านนี้

ช่วงก่อนโควิด เดินทางไปถ่าย Effect : ผลกระทบของ climate change จากทั่วทุกมุมโลก ทั้งไฟไหม้ป่า, ทั้งเกาะจมทะเล, ทั้งน้ำแข็งละลาย, ทั้งปะการังฟอกขาว ให้คนตระหนักในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

เพราะ climate change เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ อยากอุทิศเวลาเป็นกระบอกเสียงสื่อสาร ก็เลยไปเรียนต่อปริญญาโทเรื่องการจัดการพลาสติกทางทะเลครับ”

\"วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล\" โลกจะอยู่ยากขึ้น วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

  มหันตภัย‘climate change’  

นอกจากนี้เขายังมีความคิดเห็นว่า โลกของเราได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมและอนาคตก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“ผมเป็นตัวอย่างหนึ่งจากหลายล้านตัวอย่างที่ต้องปรับตัว บางอย่างมาแล้วก็อยู่เลย เช่น การประชุมแบบ Zoom หลายคนได้เรียนรู้ว่า จริง ๆ มันไม่ต้องเจอหน้ากันก็ได้ หรือออฟฟิศก็ไม่จำเป็นในการทำงาน

แต่อะไรที่มนุษย์ต้องการ เช่น การสังสรรค์กัน, ร้องรำทำเพลง, ฟังดนตรีร่วมกัน นี่คือ สิ่งที่คนจะกระโจนเข้าหา หลังจากโควิดจบ ในแง่หนึ่งคนก็ชินกับการดูหนังที่บ้านไปแล้ว 

สิ่งที่ผมพยายามพูดมาตลอดคือ โควิดเป็นสิ่งที่ร้ายแรงของโลก แต่สิ่งที่รอเราอยู่คือ มหันตภัยด้าน climate change ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน จุด Big Point มันใกล้เข้ามาทุกที เราควรพูดคุยกันถึงเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงมากกว่า เหมือนที่เราปรับตัวเข้าหาโควิด"

  ภัยพิบัติในโลกอนาคต  

ไม่เพียงเท่านั้น วรรณสิงห์ ยังมองว่า ต่อจากนี้ไป ภัยพิบัติจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างที่เราได้เห็นแล้ว และเกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ประเทศ

“เรื่องของ climate change มันจะรุนแรงขึ้นกว่านี้อีก มีสัญญาณเตือนภัยจำนวนมหาศาลมาแล้ว ทั้งคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญจากนักวิทยาศาสตร์ และแต่ละประเทศ ไม่เฉพาะประเทศไทย มีการตอบสนองเชิงพฤติกรรม ตอบสนองเชิงนโยบาย ช้ามาก ๆ 

เราต้องเตรียมรับมือกับภัยพิบัติตามธรรมชาติ ที่มันชัดเจนรุนแรงและถี่มากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ครับ 

ก่อนหน้านี้เรามองเป็นเรื่อง Next Generation แต่ไม่ใช่แล้ว ตอนนี้เราได้มาถึงจุดเริ่มต้นของสิ่งนี้แล้ว

ปัญหาโลกร้อน หรือ ภัยพิบัติจากธรรมชาติ มันเกิดขึ้นจากการกระทำของทุกคน และสร้างผลกระทบให้เราทุกคน

เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่แยกออกมาจากสังคม แต่มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตทั้งหมด อากาศที่เราหายใจ น้ำที่เราดื่ม อาหารที่เรากิน การปรับตัวให้เข้ากับสภาวะของการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในทุกการตัดสินใจในเชิงธุรกิจและการเมือง แม้กระทั่งตัดสินใจซื้อบ้านที่ไหน ตัดสินใจซื้อของอะไร

ถ้าเรามองไม่เห็นความสำคัญ คิดว่าเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เอาไว้แค่ทำความดี มันไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายเชิงโครงสร้างได้”

\"วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล\" โลกจะอยู่ยากขึ้น

  โลกอยู่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ  

ความสำคัญจึงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลง ทั้งในระดับบุคคลและนโยบายระดับประเทศ วรรณสิงห์ บอกอย่างนั้น

“สิ่งที่เราต้องทำมีสองด้านครับ ด้านพฤติกรรมส่วนตัว

1)เราต้องปรับมุมมองว่า สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะไม่ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน, เรื่องประชาธิปไตย หรืออะไรก็ตามแต่ถ้าสิ่งแวดล้อมล่มสลาย มันก็ไม่มีอะไรสำคัญเลย เพราะไม่มีทรัพยากรที่ทำให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ได้

ลองจินตนาการถึงโลกที่เราเดาใจอากาศไม่ได้เลย อยู่ดี ๆ แผ่นดินไหว พื้นดินหายไปกับน้ำทะเล หรือโลกที่ปลูกอะไรไม่ขึ้นเลย หรือโลกที่มีโรคระบาดเกิดขึ้นอีก เพราะโซนที่ยุงและพาหะนำโรคกระจายออกไปได้ไกลมากขึ้น นั่นคือโลกที่รอเราอยู่

2)เราต้องปรับการใช้พลังงาน, การใช้น้ำมัน, การบริโภคเนื้อ, การบริโภคสินค้าเกษตร ที่ปล่อยคาร์บอนเยอะ ตัวการสำคัญในการปล่อยกาซเรือนกระจก, PM2.5

งดบริโภคเนื้อสัตว์ เพราะใช้ทรัพยากรสูงมากกว่าการกินพืช การเลิกกินเนื้อไม่ใช่การตัดสินใจทางจริยธรรมหรือศีลธรรมอย่างเดียว แต่เป็นการตัดสินใจทางสิ่งแวดล้อมด้วย สมมติ คนในโลกนี้ 7,000 กว่าล้านคน เปลี่ยนมาไม่กินเนื้อ 1,000 ล้าน ก็ยังไม่พออยู่ดี

ด้านนโยบาย เป็นหลักสำคัญที่สุดที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นระบบ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องการบังคับใช้ มีกฎเกณฑ์อย่างชัดเจน

ธุรกิจจะทำตามอำเภอใจไม่ได้ หรือผู้บริโภคเวลาตัดสินใจซื้ออะไรจะมีข้อมูลชัดเจนว่า สินค้านั้นปล่อยคาร์บอนเท่าไร นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ออกมารองรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

ถ้าประชาชนไม่ได้ตื่นรู้ ก็ยากที่รัฐจะปรับเปลี่ยนตาม ในบางประเทศรัฐเป็นคนนำประชาชนไปสู่การตื่นรู้ เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีการสอนเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก เมื่อพวกเขาโตขึ้นก็ไม่ต้องมานั่งเถียงกันเรื่อง climate change เพราะมันเป็นความเป็นจริง เขาแค่รับมือ และคุยกันเรื่องวิธีการมากกว่า

สำหรับประเทศไทย ยังอยู่ในขั้นที่ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่มีสิทธิพื้นฐาน ทั้งทางเศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชน ทำให้การคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่มีการแก้ปัญหาในสังคมมนุษย์ก่อน หรือปัญหาเรื่องการเมืองที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้

การแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ว่า เรามีประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว คนจะมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องมีการต่อสู้ในพื้นที่ของประชาธิปไตยอีก เพื่อให้เรื่องนี้เป็น Agenda : วาระสำคัญในสังคม"