ถอดรหัสกลยุทธ์ "กาแฟดอยตุง” รุกตลาดคุณภาพ - รักษ์สิ่งแวดล้อม

ถอดรหัสกลยุทธ์ "กาแฟดอยตุง”  รุกตลาดคุณภาพ - รักษ์สิ่งแวดล้อม

โครงการพัฒนาดอยตุง ฯ บุกตลาด "กาแฟคุณภาพพิเศษ" ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศใช้เวลา 6 ปี จนประสบความสำเร็จในการผลิตกาแฟคุณภาพทัดเทียมกาแฟคุณภาพสูงของต่างประเทศ เร่งส่งเสริมเกษตรกรเข้าสู่ตลาดกาแฟชั้นดี พร้อมขยายผลิตภัณฑ์สนองผู้บริโภค

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาดอยตุง ฯ ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงก่อตั้งในปี 2531 และทรงส่งเสริมการปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าให้คนในพื้นที่ดอยตุงประมาณ 1,000 ครัวเรือนเพื่อสร้างรายได้ระยะยาวให้ชุมชน และช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าตามวัตถุประสงค์

ปัจจุบัน โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ส่งเสริมและรับซื้อกาแฟจากเกษตรกรภายในพื้นที่โครงการกว่า 700 ราย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4,900 ไร่ โดยมีการรับซื้อตามคุณภาพ และหากเกษตรกรสามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดก็จะมีรายได้เพิ่มอีก 10-20% เพื่อสร้างแรงจูงใจเชิงบวกให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรประณีตมากยิ่งขึ้น

ถอดรหัสกลยุทธ์ \"กาแฟดอยตุง”  รุกตลาดคุณภาพ - รักษ์สิ่งแวดล้อม ในปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซื้อกาแฟเชอร์รีจากชุมชนรวม 800 ตัน คิดเป็นมูลค่า 20 ล้านบาท

“การทำเกษตรกรรมของประเทศไทยต้องปรับตัวและยกระดับจากเดิมเป็นเกษตรประณีตเพื่อสร้างมูลค่าเพื่อช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ฉะนั้นโครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาต้นกาแฟจากต้นทาง เพราะต้องการให้กาแฟดอยตุงมีรสชาติโดดเด่น แตกต่างจากสายพันธุ์และกระบวนการแปรรูปกาแฟอื่นๆ จากในประเทศไทยและต่างประเทศ ผลประโยชน์นอกจากกาแฟแล้ว พื้นที่ที่ต้นกาแฟเติบโตได้ดี ป่าก็จะอุดมสมบูรณ์ตามไปด้วย เรามีแผนจะขยายการพัฒนาการปลูกกาแฟไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย และเริ่มทาบทามเกษตรกรบางส่วนแล้ว เช่น จังหวัดน่าน และพื้นที่ในสหภาพเมียนมาที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เข้าไปทำโครงการพัฒนา” 


จากแนวคิดในการยกระดับเกษตรกรด้วยกาแฟคุณภาพพิเศษ จึงเกิดการพัฒนากระบวนการปลูกกาแฟในไร่อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ปลูกกาแฟรุ่นใหม่ที่ได้รับองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศตลอด 6 ปีที่ผ่านมา

จนเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จัดประมูลสารกาแฟสายพันธุ์พิเศษที่คัดสรรมาอย่างดี และผ่านกระบวนการแปรรูปพิเศษ 15 ชนิด รวมปริมาณกว่า 300 กิโลกรัม โดยได้เชิญกลุ่มมิตรสหายกาแฟในเครือข่าย 20 รายมาร่วมประมูลเพื่อเป็นการทดสอบตลาด ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจมาก ได้รับการันตีเป็นเสียงเดียวกันว่า รสชาติและคุณภาพสามารถเทียบเคียงกาแฟ specialty ของต่างประเทศได้ และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

“ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระราชดำริให้กรมวิชาการเกษตรสนับสนุนการปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ทดแทนฝิ่นและทดแทนอาชีพผิดกฎหมายอื่นๆ  มาจนถึงวันนี้นับว่ายังก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง”

 

จนปัจจุบันดอยตุงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตกาแฟระดับพรีเมี่ยมที่มีผลิตภัณฑ์กาแฟมานำเสนอผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกาแฟดริป กาแฟสกัดเย็น และเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคอยู่บ้านมากขึ้น ร้านคาเฟ่ดอยตุงจึงได้วางจำหน่ายกาแฟพร้อมดื่มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตรขายผ่านช่องทางออนไลน์ และล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เปิดคาเฟ่ดอยตุง cloud kitchen 4 สาขา รวมถึงการออกสินค้ากาแฟแคปซูล เพื่อมอบความสะดวกและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

ถอดรหัสกลยุทธ์ \"กาแฟดอยตุง”  รุกตลาดคุณภาพ - รักษ์สิ่งแวดล้อม
สำหรับแผนธุรกิจในอนาคต ดอยตุงเตรียมขยับตัวเข้ามาในตลาดกาแฟคุณภาพพิเศษ (specialty) มากขึ้น โดยมีแผนจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกาแฟสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ กาแฟแคปซูลและกาแฟดริปสูตร special blend ในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงเครื่องดื่มรสชาติใหม่ๆ ของร้านคาเฟ่ดอยตุงกว่า 20 ชนิดตลอดปีหน้า แต่ไม่ว่าจะมีผลิตภัณฑ์อีกกี่ตัวก็ตาม ดอยตุงยังคงยึดมั่นในการมอบกาแฟที่มีคุณภาพ และรสชาติเฉพาะตัวให้ผู้บริโภค พร้อมกับความมั่นใจว่ากาแฟที่อยู่ในมือผู้บริโภคนั้นจะนำมาซึ่งความยั่งยืนของชุมชนและผืนป่าเสมอ