ครม. ปรับเกณฑ์ 'สินเชื่อฟื้นฟู' และ 'พักทรัพย์ พักหนี้' ช่วยผู้ประกอบการกระทบ 'โควิด-19'

ครม. ปรับเกณฑ์ 'สินเชื่อฟื้นฟู' และ 'พักทรัพย์ พักหนี้' ช่วยผู้ประกอบการกระทบ 'โควิด-19'

ครม. ปรับเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประกอบการ "เอสเอ็มอี" และ "ใหญ่กว่าเอสเอ็มอี" "สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟู" และโครงการ "พักทรัพย์ พักหนี้" เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแต่ได้รับผลกระทบ ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน

"พ.ร.ก. Soft Loan" ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 เม.ย. 64 แต่สถานการณ์การระบาดของ "โควิด-19 "ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงมีความรุนแรง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ภาคธุรกิจมีความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) รัฐบาลจึงดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบต่อ โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ได้รับผลกระทบราว 11.5% ของจีดีพี 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การถึงการปรับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกรพทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบไปด้วย 2 มาตรการ ได้แก่

 1. มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู 

มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท กำหนดกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีพื้นฐานดีแต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสมผ่านกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิตของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวสามารถประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมทั้งปรับปรุงธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง 

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา

และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกที่สถาบันการเงินได้รับแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูกำหนดให้มีกลไกค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุด 40% ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการ ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันโดยเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปี และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ตลอดสัญญาได้

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดจำนองหลักทรัพย์ค้ำประกันจากการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เหลือ 0.01% เพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ 

 2. มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ 

มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท

มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้กำหนดกลไกในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราวและไม่ถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง (Fire Sale) ให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รวมทั้งมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยให้สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันที่โอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเงินกู้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน

และมีข้อตกลงให้สิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันนั้นกลับคืนในภายหลัง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด ซึ่งรวมถึงราคาที่ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงิน

โดย ธปท. จะสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถขายทรัพย์สินคืนให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินรายเดิมในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป นอกจากนี้ สถาบันการเงินสามารถให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงระยะเวลามาตรการได้อีกด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาระภาษีอากรที่เกิดขึ้นจากการตีโอนทรัพย์ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้สำหรับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนจากผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันให้สถาบันการเงิน และจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันในกรณีที่ซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงินเพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

โดยทั้ง 2 มาตรการมีระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี โดยคณะรัฐมนตรีสามารถขยายระยะเวลามาตรการออกไปได้อีก 1 ปี ในกรณีที่มีความจำเป็นและมีวงเงินเหลืออยู่ และคณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติให้เกลี่ยวงเงินระหว่างมาตรการได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย 0 2283 6112 หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 0 2273 9020 ต่อ 3276