สตาร์ตอัปทำงานหนักจนเป็นพิษ? ยุโรปต่อต้านวัฒนธรรม 996 แบบจีน

ทำงานหนักไม่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตเสมอไป สตาร์ตอัปยุโรปไม่เอาด้วยกับวัฒนธรรม 996 "ทำงานหนัก" แบบจีน (ทำงาน 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มติดกัน 6 วัน/สัปดาห์) มองโมเดลนี้ไม่ยั่งยืน
KEY
POINTS
- สตาร์ตอัปยุโรปไม่เอาด้วยกับวัฒนธรรมทำงานหนักแบบ 996 (ทำงาน 9 โมงเช้าถถึง 3 ทุ่มติดกัน 6 วัน/สัปดาห์) ผู้ก่อตั้งและนักลงทุนยุโรปมองว่าโมเดลนี้ไม่ยั่งยืน และขัดกับค่านิยมของพวกเขา
- ทำงานหนักเกินไป = ผลเสียระยะยาว หลายบริษัทที่ลองใช้วัฒนธรรม 996 เจอปัญหาพนักงานลาออกสูง ขวัญกำลังใจตกฮวบ และทำให้ธุรกิจเติบโตยากกว่าเดิม
- ยุโรปต้องการเงินทุน ไม่ใช่แค่แรงงานจากพนักงาน ผู้ก่อตั้งเชื่อว่าการแข่งขันกับสหรัฐฯ หรือจีน ต้องมีเงินทุนและระบบสนับสนุนที่แข็งแรง ไม่ใช่แค่การทำงานหนักอย่างเดียว
ท่ามกลางแรงกดดันในการแข่งขันสตาร์ตอัปในเวทีโลก ผู้ก่อตั้งธุรกิจและนักลงทุนยุโรปบางรายยังยืนกราน “ไม่เอาวัฒนธรรมทำงานหนักแบบ 996” เมื่อไม่นานมานี้ แวดวงสตาร์ตอัปในยุโรปเพิ่งเกิดการถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมการทำงานอย่างดุเดือดใน LinkedIn หลังจากที่มีนักลงทุนบางรายเริ่มกดดันให้ผู้ก่อตั้งธุรกิจหันมาใช้แนวทาง “ทำงานหนักเข้าไว้” เหมือนในจีนหรือซิลิคอนวัลเลย์ เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
โดยหนึ่งในรูปแบบที่ถูกพูดถึงคือวัฒนธรรม “996” ของจีน ซึ่งหมายถึงการทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม (9am-9pm) สัปดาห์ละ 6 วัน ซึ่งเคยถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง Alibaba ของแจ็ค หม่า และ TikTok ของ ByteDance แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบบนี้กลับถูกต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานเทคยุโรปที่บางคนถึงขั้นปฏิเสธข้อเสนองาน หรือยกเลิกสัมภาษณ์ทันทีที่รู้ว่าบริษัทใช้ระบบ 996
วงการสตาร์ตอัปทำงาน 60-70 ชั่วโมง/สัปดาห์เป็นเรื่องปกติ ?
เซบาสเตียน เบกเกอร์ (Sebastian Becker) พาร์ตเนอร์ใหญ่ของบริษัทลงทุน Redalpine จากสวิตเซอร์แลนด์ แสดงความไม่เห็นด้วยผ่าน LinkedIn ต่อแนวคิดของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี Friedrich Merz ที่เสนอให้ยกเลิกข้อจำกัดเวลาทำงานต่อวัน 8 ชั่วโมง (แต่ยังคงสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน
แต่ Becker บอกว่า “การทำงานแค่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไม่พอแล้ว ในซิลิคอนวัลเลย์ เขาทำงานกัน 60-70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นเรื่องปกติ และยังมีคำเรียกเฉพาะว่า วัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 เราอาจมีคนเก่งพอๆ กัน แต่ถ้าถูกแซงด้วยความขยันล้วนๆ เราก็ไม่มีทางชนะได้”
ขณะที่ มาร์ติน มิกนอต (Martin Mignot) พาร์ตเนอร์จาก Index Ventures ในลอนดอนเล่าว่า แนวคิดการทำงานแบบ 996 ที่เริ่มต้นจากจีน กำลังกลายเป็นเรื่องปกติในสตาร์ตอัปทั่วโลกโดยไม่รู้ตัว
ยุโรปต้องวิ่งให้ทัน...แต่ต้องทำงานหนักเหมือนสหรัฐฯ กับจีนจริงหรือ?
เหตุผลเบื้องหลังการผลักดันการทำงานแบบ 996 คือความรู้สึกว่าวงการเทคโนโลยีในยุโรปยังตามหลังสหรัฐฯ และจีน ทั้งในแง่บริษัทระดับโลกและวัฒนธรรมการทำงานที่เข้มข้น
แต่ สุรางค์ จันทรติลเลก (Suranga Chandratillake) พาร์ตเนอร์จาก Balderton Capital มองว่านั่นเป็นมุมมองที่ล้าสมัย เพราะยุโรปเองก็เพิ่งผลิตบริษัทสตาร์ตอัประดับ Decacorn หรือบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ อย่าง Klarna, Revolut, Wise และ Checkout.com ขึ้นมาได้ แม้จะยังไม่มีบริษัทระดับล้านล้านดอลลาร์แบบ Nvidia ก็ตาม
“ทุกวันนี้ระบบนิเวศเทคโนโลยียุโรปไม่ได้ล้าหลังสหรัฐฯ หรือเอเชียอีกต่อไป... ถ้าเทียบกับยุค 1980 ที่เราตามหลังฝั่ง West Coast ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว” จันทรติลเลก อธิบาย
สตาร์ตอัปยุโรปหลายรายเปิดใจ ทำไมพวกเขาไม่เอาด้วยกับ 996
“ยกย่องการทำงานหนักเกินพอดี ไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชม” เหล่าผู้ก่อตั้งและนักลงทุนในยุโรปต่างมองว่าแนวคิด 996 สะท้อนวัฒนธรรม “คลั่งการทำงานหนัก” หรือ hustle culture ที่มักถูกยกย่องในโลกสตาร์ตอัปแบบผิดๆ
“มันไม่ใช่การทำงานอย่างชาญฉลาด แต่มันคือการยกย่องความเหนื่อยล้าแบบไร้เหตุผล... เจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัปในแคลิฟอร์เนีย มักจะเล่าเรื่องเก่งมาก แต่ถ้าคุณเข้าไปอยู่ในระบบจริงๆ คุณจะเห็นว่าหลายคนทำงานหนักก็จริง แต่ก็มีช่วงเวลาพักเป็นเรื่องธรรมดา” พาร์ตเนอร์ของ Balderton Capital เล่า
ด้าน นินา โมฮานตี (Nina Mohanty) ผู้ก่อตั้ง Bloom Money และอดีตชาวซิลิคอนวัลเลย์ เสริมว่า วัฒนธรรมแบบนี้ส่งผลเสียในระยะยาว “ดูตัวอย่างบริษัท Revolut สิ พวกเขาอาจใกล้เคียงที่สุดในยุโรปที่ใช้แนวทางการทำงาน 996 แต่ผลที่ออกมาคือ ทีมลาออกกันเยอะมาก แถมยังมีปัญหาในการขอใบอนุญาตธนาคารอีกด้วยซ้ำ เพราะวัฒนธรรมองค์กรถูกตั้งคำถาม”
Revolut ชี้แจงกับ CNBC ว่า บริษัทดำเนินงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ “เติบโตเร็วและเน้นผลงาน” พร้อมพัฒนาองค์กรผ่านค่านิยม การฝึกอบรมที่ชัดเจน และวัฒนธรรมที่เน้นการร่วมมือกัน
ส่วน โนอา คามัลลาห์ (Noa Khamallah) พาร์ตเนอร์จากสตาร์ตอัป Don’t Quit Ventures มองว่า วัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 ไม่จำเป็นเลย เพราะขัดแย้งกับทั้งแนวคิดและกฎหมายของยุโรป บริษัทยุโรปที่ประสบความสำเร็จอย่าง Spotify, SAP, ASML ล้วนโตขึ้นมาจากวัฒนธรรมที่เน้นนวัตกรรมแบบยั่งยืน ไม่ใช่การทำงานหักโหม
เขายังชี้ให้เห็นว่า เมื่อ Uber และ Meta ขยายธุรกิจมาในยุโรป ก็ต้องเจอกับแรงต้านจากภาครัฐอย่างหนัก เขาบอกอีกว่า “พฤติกรรมแบบ ‘Move fast and break things’ ของซิลิคอนวัลเลย์ มักชนกับคุณค่าของยุโรป ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงาน ความเป็นส่วนตัว และการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน”
คนรุ่นใหม่ไม่ทนแล้วกับวัฒนธรรม “การทำงานเป็นพิษ”
ซาราห์ เวอร์เนอร์ (Sarah Wernér) ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ตอัป Husmus มองว่า การทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำสุดท้ายจะกลายเป็นปัญหาด้านประสิทธิภาพในอนาคต เพราะการทำงานเกินกำลังในวันนี้ จะกลายเป็นวิกฤติประสิทธิภาพในวันพรุ่งนี้... เธอหวังว่าคู่แข่งจะใช้ 996 เพราะเมื่อพนักงานของพวกเขาทนไม่ไหว ก็ดึงตัวคนเก่งมาได้ง่ายขึ้น
ส่วน ดามา เสถียรนาธาน (Dama Sathianathan) พาร์ตเนอร์อาวุโสจาก Bethnal Green Ventures เสริมว่า การกำหนดชั่วโมงทำงานมากเกินไป โดยไม่สนใจคุณภาพชีวิตพนักงาน สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยอะไร “คุณอาจเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานได้ในระยะสั้น แต่ถ้างานไม่มีความหมาย มันก็ไม่ยั่งยืน”
ขณะที่ จาส เชมบรี-สโตธฮาร์ต (Jas Schembri-Stothart) ผู้ก่อตั้งแอปสุขภาพสำหรับวัยรุ่น Luna มองว่าการทำงานหนักแบบ 996 จะยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ตีจากวงการสตาร์ตอัปยุโรปไปมากขึ้น
“คนอาจยอมทำงานหนักช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายมันก็นำไปสู่ความเหนื่อยล้าและความขุ่นเคือง โดยเฉพาะ Gen Z และมิลเลนเนียลตอนปลายที่ไม่ทนกับวัฒนธรรมทำงานเป็นพิษแบบนี้แล้ว”
ยุโรปไม่ขอทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่ต้องการเงินทุนที่ดุดัน
ผู้ก่อตั้งหลายรายเชื่อว่า แทนที่จะผลักให้คนทำงานหนักขึ้น สิ่งที่ยุโรปต้องการจริงๆ คือเงินทุนและทรัพยากรที่มากพอจะสร้างการแข่งขันในระดับโลก
“สิ่งที่ยุโรปต้องการไม่ใช่ hustle-porn หรือการทำงานจนเป็น Workaholic แต่คือเงินทุนที่ดุดัน ถ้ามีเงินพอ สตาร์ตอัปก็สามารถจ้างคนเก่งมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องเผาตัวเองเพื่อไล่ให้ทันบริษัทใหญ่จากจีนหรือสหรัฐฯ ที่มีทีมใหญ่กว่าหลายเท่า” เวอร์เนอร์สะท้อนความเห็น
รายงานจาก Atomico ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2015 สตาร์ตอัปยุโรปพลาดโอกาสรับเงินลงทุนในช่วงเติบโตไปแล้วกว่า 375,000 ล้านดอลลาร์ และนักลงทุนยุโรปเองก็พลาดโอกาสลงทุนถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบันมีถึงครึ่งหนึ่งของบริษัทที่ระดมทุน ต้องหันไปพึ่งเงินทุนจากสหรัฐฯ แทน
“สิ่งที่สตาร์ตอัปยุโรปต้องการคือทรัพยากรที่ใช่ ทั้งเงินทุน คนเก่ง และระบบสนับสนุน... เพราะสภาพแวดล้อมของเงินทุนในสหรัฐฯ มันแข็งแกร่งกว่ายุโรปมาก ถ้ายุโรปไม่มี ecosystem ที่ดีพอ ก็แข่งไม่ไหว”
การทำงานหนักแบบ 996 อาจไม่ผิด แค่ต้องใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา?
ทิโมธี อาร์โม (Timothy Armoo) ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ Fanbytes ที่ขายกิจการสตาร์ตอัปได้ในระดับ 8 หลัก บอกว่าเขาเอง สนับสนุนการทำงานแบบ 996 แต่เน้นว่า “จังหวะเวลา” คือหัวใจสำคัญ
อาร์โม มองว่าในยุคที่มี AI ช่วยลดงานซ้ำซ้อน ผู้ประกอบการไม่มีข้ออ้างอีกแล้วที่ไม่ใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด “ถ้าคุณเพิ่งเริ่มก่อตั้งบริษัทครั้งแรก หรืออยากสร้างความมั่งคั่งจริงจัง แต่มากลับถอยตอนนี้ด้วยการไม่ทุ่มเททำงานหนัก ก็ต้องบอกตรงๆ ว่าคุณยังไม่เอาจริง”
ขณะที่ โมฮานตี จาก Bloom Money เสริมว่าทีมของเธอก็เหมือนทำงานแบบ 996 โดยไม่ตั้งใจ “เพราะช่วงเริ่มต้น เราไม่มีทรัพยากรอะไรเลย ก็ต้องทุ่มทำงานกันสุดตัว โดยเฉพาะในฐานะผู้ก่อตั้ง มันยากมากที่จะปิดสวิตช์ตัวเอง”
ด้าน ไดออน แม็คเคนซี (Dion McKenzie) ผู้บริหารจากซิลิคอนวัลเลย์ เตือนว่า การยกระดับการทำงานแบบ 996 ให้กลายเป็นบรรทัดฐาน อาจทำให้สตาร์ตอัปหน้าใหม่หาทุนได้ยากขึ้นไปอีก เพราะมันจะยิ่งตัดโอกาสผู้ก่อตั้งที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต หรือมีภาระดูแลครอบครัว พวกเขาอาจไม่มีทางแข่งขันในสนามทุนได้เลย