ทำงานเวลาไหนเวิร์กสุด? เช้างานใช้สมอง บ่ายงานสร้างสรรค์

ทำงานเวลาไหนเวิร์กสุด? เช้างานใช้สมอง บ่ายงานสร้างสรรค์

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คุณทำงานยากได้ดีตอนเช้า แต่เสียสมาธิตอนบ่าย! งานแต่ละอย่างเหมาะที่จะทำในเวลาต่างกัน จัดตารางตรงกับนาฬิกาชีวิต เพิ่มทั้งสมาธิ พลังงาน ผลงาน

KEY

POINTS

  • เปิดเคล็ดลับการทำงานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เริ่มจากช่วงเช้า คือเวลาทองของสมองที่จะตื่นตัวดีที่สุด จึงเหมาะกับการทำงานที่ต้องใช้สมอง งานที่ต้องใช้สมาธิ เช่น วางแผน คิดกลยุทธ์ หรืองานเขียน แต่ถ้าประชุมต้องช่วงสายและบ่าย
  • ช่วงบ่ายต้นๆ เหมาะกับงานรูทีน งานเอกสาร ส่วนช่วงบ่ายแก่ๆ ไปจนถึงช่วงเย็นเหมาะกับงานสร้างสรรค์ สมองจะเปิดกว้างทางความคิด ช่วยให้ไอเดียไหลลื่น
  • อย่าฝืนระบบร่างกาย การทำงานให้สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิต จะช่วยลดความเครียด ป้องกันหมดไฟ และทำให้คุณใช้แรงน้อยลงแต่ได้ผลงาน-ประสิทธิภาพมากขึ้น

เคยสงสัยไหมว่าทำไมช่วงบางเวลาของวันเราถึงทำงานได้ง่ายกว่าช่วงอื่น? บางคนคิดงานออก ทำงานได้ดีตั้งแต่เช้า แต่พอต้องเปิดอีเมลหลังอาหารเที่ยงกลับรู้สึกเหนื่อยล้า คิดอะไรช้า พิมพ์งานผิดๆ ถูกๆ คำตอบเรื่องนี้อยู่ที่ "นาฬิกาชีวิต" (Circadian Rhythm) หรือนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย ที่คอยควบคุมระดับพลังงาน ความตื่นตัวของสมอง และประสิทธิภาพการทำงานของวัยทำงานตลอดวัน

กิจกรรมแต่ละอย่างต้องใช้พลังงานคนละแบบ และพลังงานของเราก็ไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้น ถ้าอยากทำงานได้ดีแบบไม่ฝืนธรรมชาติ ลองจัดตารางให้สอดคล้องกับจังหวะร่างกายดูบ้าง โดยมีคำแนะนำจาก ลูเซียน่า พอลลิซ (Luciana Paulise) โค้ชด้านอาชีพและผู้เชี่ยวชาญจัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้บอกเล่าผ่าน Forbes ไว้ดังนี้ 

เช้าตรู่หรือเย็นก่อนอาหาร: ไม่ควรทำงาน แต่เป็นเวลาทองของการออกกำลังกาย

ทำงานช่วงเวลานี้อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่เหมาะกับการพัฒนาร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย ถ้าอยากออกกำลังกายให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้เลือกช่วงเช้าตรู่ (ประมาณ ตี 5 - 7 โมงเช้า) ซึ่งเป็นช่วงที่สมองปลอดโปร่ง รู้สึกเฟรช หรือช่วงเย็นก่อนอาหาร (ประมาณ 5 โมงเย็น - 1 ทุ่ม) ซึ่งเป็นเวลาที่ร่างกายอบอุ่นและยืดหยุ่นได้ดี

แต่ถ้าไม่สะดวกออกกำลังกายเต็มชั่วโมง งานวิจัยจาก Google และ Fitbit แนะนำว่า แค่ขยับร่างกาย 10-15 นาทีในแต่ละช่วงระหว่างวัน ก็ช่วยลดความเหนื่อยล้า เพิ่มพลัง และทำให้สมาธิดีขึ้นได้เหมือนกัน 

เช้า: เหมาะกับงานยาก งานใช้พลังสมอง และต้องใช้แรงใจ

สมองของเรามักตื่นตัวที่สุดในช่วงเช้า โดยเฉพาะ 2-3 ชั่วโมงแรกหลังตื่นนอน ถือเป็น "Power Time" หรือช่วงพีคของวัน เหมาะสำหรับงานที่ต้องใช้สมาธิสูง การวางแผน การคิดกลยุทธ์ การตัดสินใจ หรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

อย่าใช้เวลาทองนี้ไปกับอีเมลหรือการตอบแชต แต่ให้เน้นทำสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะพลังใจของเราจะอยู่ในจุดสูงสุดในช่วงนี้ และเหมาะมากกับงานที่ต้องใช้วินัยในการลงมือทำ

บ่ายต้นๆ : เหมาะกับงานรูทีน งานเอกสาร งานอัตโนมัติตามขั้นตอนง่ายๆ

หลังมื้อกลางวัน หลายคนจะเริ่มรู้สึกง่วง สมาธิหลุดง่าย ไม่เหมาะกับงานคิดหนัก นี่แหละคือช่วง "โหมดซ่อมบำรุงของร่างกาย" ให้เอาเวลานี้ไปใช้กับงานที่ทำไปตามระบบ เช่น ตอบอีเมล จัดตารางประชุม อัปเดตเอกสาร หรืองานแอดมินต่างๆ ที่ไม่ต้องใช้พลังสมองมากนัก

บ่ายแก่ๆ : เวลาคิดสร้างสรรค์ พลังไอเดียพุ่ง

พอสมองเริ่มเหนื่อย ร่างกายก็เริ่มผ่อนคลายลง ความคิดต่างๆ เลยเริ่ม "ไหลลื่น" มากกว่าปกติ ซึ่งเหมาะมากกับการ ระดมสมอง คิดคอนเทนต์ หรือหาทางออกใหม่ๆ ให้กับปัญหาที่เราอาจติดอยู่ตอนเช้า ดังนั้น ถ้ามีงานที่ต้องใช้ไอเดียหรือคิดอยากทำอะไรใหม่ๆ อยากหาไอเดียใหม่ๆ ให้ลองวางไว้ช่วงบ่ายแก่ไปจนถึงตอนเย็น คุณอาจจะเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่าง

ช่วงค่ำ: เวลาผ่อนคลาย อ่านหนังสือ หรือทบทวนตัวเอง

หลังอาหารเย็น สมองจะช้าลงอีกครั้ง พลังงานของร่างกายและจิตใจจะลดลงจนแทบหมดเกลี้ยง ช่วงนี้ไม่เหมาะจะสร้างผลงานอะไรใหม่ๆ แต่ดีมากถ้าใช้เวลาไปกับ การดูดซับข้อมูล เช่น อ่านหนังสือ ฟังพอดแคสต์ เขียนบันทึก หรือทบทวนเรื่องราวในแต่ละวัน

ควรประชุมเมื่อไร? เลือกเวลาให้ตรงกับจังหวะคนในทีม

สำหรับการประชุมก็มีเวลาที่เหมาะสมของกิจกรรมนี้เช่นกัน โดยสามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลากหลายประเภท ได้แก่

- ประชุมตัวต่อตัว (One-on-One): ควรนัดช่วงสาย (9.30–11.00 น.) เพราะทุกคนเริ่มตั้งหลักในวันนั้นๆ ได้แล้ว และยังไม่เหนื่อยมากนัก ทำให้สามารถพูดคุยได้ลึกซึ้ง มีสมาธิ และสร้างความเชื่อมโยงกันได้ดี

- ประชุมทีม: เหมาะกับช่วงสายถึงบ่ายต้น (10.00–12.00 น. หรือ 13.00 - 15.00 น.) ถ้าเน้นให้คนเข้าร่วมเยอะที่สุด งานวิจัยจาก YouCanBookMe แนะนำให้เลือก วันอังคาร เวลา 14.30 น. เป็นตัวเลือกที่มีอัตราการเข้าร่วมสูงที่สุด อีกทั้งข้อมูลจาก Calendly ยังพบว่า วันพุธเป็นวันที่มีการประชุมในออฟฟิศเยอะที่สุด ส่วน วันอังคาร คือวันที่ประชุมออนไลน์เยอะที่สุด

- สร้าง Flow ทำงาน-ดูแลตัวเอง ให้ลงตัว: ถ้าคุณมีโปรแกรมออกกำลังกายหรือแข่งกีฬา 2 วันต่อสัปดาห์ ให้เลือกซ้อมช่วงเช้า ซึ่งร่างกายตื่นตัวที่สุด ส่วนอีก 3 เช้าที่เหลือให้เก็บไว้ทำงานสำคัญ จะช่วยให้ทั้งร่างกายและสมองได้ใช้พลังอย่างเหมาะสม และไม่รู้สึกหมดแรง

ลูเซียน่า พอลลิซ บอกอีกว่า เธอทำผลงานด้านกีฬาได้ดีที่สุดระหว่าง 8-10 โมงเช้า และไม่สามารถซ้อมตั้งแต่ตี 5 หรือตอนท้องว่างได้ เธอจึงวางแผนให้ 3 เช้าต่อสัปดาห์เป็นเวลาทำงานโฟกัส ส่วนอีก 2 เช้าต่อสัปดาห์ไว้สำหรับการฝึกซ้อมจริงจัง

โดยสรุปคือหากวัยทำงานอยากปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและการดูแลตนเองให้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรหันมาจัดตารางให้ตรงนาฬิกาชีวิต เพราะการบริหารเวลาไม่ใช่แค่เรื่องวินัย แต่คือการทำงานให้สอดคล้องกับธรรมชาติของร่างกายและสมอง เมื่อคุณเข้าใจจังหวะของตัวเอง และจัดตารางให้เหมาะกับพลังงานในแต่ละช่วงเวลา ก็จะช่วยให้ทำงานดีขึ้นโดยไม่ต้องฝืน พอไม่รู้สึกฝืนทำ มันจึงช่วยลดความเครียด ป้องกันการหมดไฟ และทำให้ทุกวันมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ในที่สุด

 

 

อ้างอิง: Forbes, Timeboxfitbit, Calendly Research