เรียกสติหลังวันหยุดยาว! รู้ 9 เคล็ดลับกลับมาทำงานแบบไม่ทรมานใจ

อย่าเพิ่งกรี๊ดใส่จอคอมฯ หลังหยุดยาว ส่อง 9 เคล็ดลับกู้ชีพการทำงาน แบบไม่ทรมานจิตใจ ช่วยให้วัยทำงานปรับตัวกลับเข้าสู่การทำงานได้อย่างราบรื่นหลังสิ้นสุดวันหยุดยาว
KEY
POINTS
- กลับจากหยุดยาวอาจไม่พร้อมทำงาน! เปิดฮาวทูสู้อาการ Post-Vacation Blues ด้วย 9 เคล็ดลับ "กู้ชีพการทำงาน" แบบไม่ทรมานจิตใจ ที่จะช่วยให้คุณปรับตัวกลับเข้าสู่การทำงานได้อย่างราบรื่นหลังวันหยุดยาว
- หลักๆ คือ ให้เน้นการจัดลำดับความสำคัญของงาน และเริ่มต้นทำงานวันแรกหลังหยุดยาวอย่างมีสติ ด้วยการค่อยๆ ปรับตัว แทนที่จะพยายามทำทุกอย่างให้เสร็จในวันเดียว และต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง
- ควรวางแผนและจัดลำดับความสำคัญของงาน อาจเริ่มต้นด้วยงานที่สำคัญที่สุดหรือน่ากังวลที่สุดก่อน เพื่อลดความเครียดและสร้างความมั่นใจในการทำงานอื่นๆ ต่อไป และอาจหลีกเลี่ยงการประชุมในช่วงครึ่งวันแรกเพื่อมีสมาธิจัดการงาน
หลังจากสิ้นสุดเวลาแห่งความสุขในช่วง "วันหยุดยาว" และต้องกลับเข้าสู่โหมดวันทำงานอีกครั้ง แน่นอนว่าการกลับเข้าสู่ตารางงานหลังจากการหยุดพักผ่อนอาจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อความหรืองานจำนวนมากที่ต้องจัดการ ความรู้สึกผ่อนคลายจากวันหยุดอาจหายไปอย่างรวดเร็วและถูกแทนที่ด้วยความเครียดและความกังวลเกี่ยวกับงานที่ต้องรีบทำ
ประกอบกับหลายคนอาจมีอาการที่เรียกว่า Post-Vacation Blues ร่วมด้วย ซึ่งก็คือภาวะเศร้าหรือหดหู่หลังจากหยุดพักผ่อนหลายวันติดต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันหยุดเหล่านั้นเป็นการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยความสุขและประสบการณ์ที่น่าจดจำ
ข้อมูลจากศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต ระบุว่า อาการของ Post-Vacation Blues นั้นนอกจากจะหดหู่แล้ว อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ "อาการเหนื่อยล้าสะสม" แม้ว่าจะได้พักผ่อนมาเต็มที่แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมที่ผ่อนคลายสนุกสนานกลับสู่ชีวิตประจำวันหรือกิจวัตรที่จำเจก่อนหน้า อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยและหมดแรง
อีกทั้ง ในบางรายอาจมี "อาการวิตกกังวล" เป็นอาการที่แสดงออกจากความรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อต้องกลับไปทำงาน และยังอาจมี "อาการหงุดหงิดง่าย" หรือแสดงความไม่พอใจในสิ่งเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทั้งๆ ที่ปกติไม่เคยแสดงออกมาก่อน รวมไปถึง "อาการคิดวนเวียนถึงวันหยุด" เป็นความคิดวนเวียนเกี่ยวกับประสบการณ์ในวันหยุดที่ผ่านไป หรือย้ำคิดย้ำทำในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากบทความของ นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัย จากสมิติเวช ชี้ว่าตามหลักจิตวิทยาแล้ว ภาวะ Post-Vacation Blues นั้นไม่ใช่โรคทางจิตเวช ส่วนมากอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว จะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นอาการซึมเศร้าเหล่านี้ก็จะหายไปเอง อีกทั้งมีหลายวิธีที่สามารถใช้จัดการกับอารมณ์เหล่านี้ เพื่อให้วัยทำงานสามารถฟื้นระบบเข้าสู่โหมดทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ผู้เชี่ยวชาญจาก Young Entrepreneur Council มีคำแนะนำดีๆ 9 ข้อที่จะช่วยให้คุณปรับตัวกลับเข้าสู่การทำงานได้อย่างง่ายดายและพร้อมลุยกับทุกความท้าทาย ดังนี้
1. เขียนเป้าหมายการทำงานของสัปดาห์นี้ (หลังกลับจากวันหยุดยาว)
ก่อนที่จะเริ่มจัดการอีเมลและงานคั่งค้างทั้งหมด ให้เขียนเป้าหมายที่ต้องการทำงานให้เสร็จของสัปดาห์นี้ลงบนกระดาษ เป้าหมายเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่รอคุณอยู่ แต่เป้าหมายของคุณอาจเกี่ยวกับการตามงานให้ทัน เช่น "ฉันจะจัดการอีเมลทั้งหมดให้เสร็จภายในวันนี้" หรือ "ฉันจะจัดเวลาในปฏิทินเพื่อทำงานที่จำเป็น เพื่อไม่ให้การตามงานส่งผลกระทบต่อสิ่งที่สำคัญ" สิ่งสำคัญคือต้องใจดีกับตัวเองและขอบคุณผู้อื่นสำหรับความอดทนที่มีให้คุณ
2. เริ่มต้นทำงานวันแรกด้วย "เวลาส่วนตัว"
การได้หยุดยาวช่วยให้ได้พักเต็มที่และเพิ่มความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าให้ร่างกายและสมอง แต่ภาระงานที่จ่อคิวรอจัดการระหว่างที่คุณหยุดงาน อาจทำให้รู้สึกท่วมท้น งานล้นประดังประเดเข้ามา วิธีที่ดีที่สุดในการตจัดการคือ ตื่นเช้ากว่าปกติเพื่อทำกิจกรรมที่คุณชอบก่อนการทำงาน เช่น การยืดเส้นยืดสาย การทำสมาธิ หรือดื่มชา การเริ่มต้นวันแบบนี้จะช่วยเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับวันใหม่ จากนั้นค่อยเริ่มจัดการอีเมลและติดตามงานที่คั่งค้างอยู่ ให้เสร็จไปทีละอย่างๆ
3. พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเพื่ออัปเดตงานคร่าวๆ
ลองทักแชทหรือโทรศัพท์ไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเพื่ออัปเดตเรื่องงานให้ต้่อเนื่อง หรือหากคุณเป็นหัวหน้าก็อาจจะนัดประชุมกับสมาชิกในทีมเป็นเวลาสั้นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมงานแจ้งสิ่งที่อาจตกหล่นไปในช่วงวันหยุดยาว และยังช่วยให้คุณทราบว่าลำดับความสำคัญของงานมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ บางงานอาจได้รับการแก้ไขหรือมีความสำคัญน้อยลง หรืออาจมีงานใหม่ๆ ที่วางแผนไว้ว่าจะทำหลังจากกลับจากวันหยุดยาว เพื่อจะได้สานต่องานได้ทันที
4. จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ
เมื่อกลับมาทำงานหลังจากหยุดพักผ่อน อาจรู้สึกว่ามีงานมากมายที่ต้องจัดการ แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่งานทุกอย่างที่ต้องจัดการทันที บางงานอาจปล่อยทิ้งไว้ก่อนได้โดยไม่ต้องรีบ และไม่ส่งผลกระทบต่องานโดยรวมของคุณ ดังนั้น จงจำกฎ 80/20 ไว้เสมอ นั่นคือ 80% ให้พยายามใช้เวลาทำงานอย่างตั้งใจจนสำเร็จ และอีก 20% ใช้ในการแยกแยะระหว่างสิ่งที่เร่งด่วนและสิ่งที่สำคัญ (อันไหนด่วนกว่าก็ต้องรีบทำก่อน) ดังนั้น ให้กำหนดลำดับความสำคัญของแต่ละงานให้ดี และจัดสรรเวลาเพื่อทำงานแต่ละอย่างให้เสร็จตามลำดับที่วางไว้
5. กำหนด "วันตามงาน"
เมื่อกลับมาจากวันหยุดยาว สิ่งแรกที่ควรทำคือการมี "วันตามงาน" หมายถึงการไม่นัดหมายใดๆ ในวันแรกของการกลับมา แต่ใช้เวลาทำงานที่คั่งค้างให้เสร็จสิ้น เป้าหมายคือการเคลียร์ "งานที่คั่งค้างหรือจัดการอีเมลตามงานในกล่องจดหมายให้หมด" การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณมีสมาธิและสามารถวางแผนงานสำหรับสัปดาห์ที่เหลือได้อย่างเหมาะสม
6. จัดกลุ่มงานเพื่อทำเป็นชุด
การวางแผนล่วงหน้าเป็นสิ่งสำคัญ ก่อนจะเริ่มงานวันแรกหลังหยุดยาว ให้เผื่อเวลาไว้สักหน่อย เพื่อให้มีเวลาปรับตัวและเอาชนะอาการหดหู่หลังหยุดยาว เมื่อกลับไปทำงานแล้ว ให้พยายามจัดกลุ่มงานที่คล้ายกันเพื่อทำพร้อมกัน เช่น จัดเวลา 1-2 ชั่วโมงสำหรับอีเมลส่วนตัว จากนั้นเปลี่ยนไปประชุม แล้วค่อยกลับมาจัดการอีเมลที่เกี่ยวข้องกับงาน การจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งทีละอย่าง แทนที่จะสลับไปมาแบบมั่วๆ จะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
7. เริ่มทำงานที่กังวลที่สุดหรือยากที่สุดก่อน
การกลับไปทำงานหลังวันหยุดยาวอาจรู้สึกน่ากลัว หากคุณมีบทบาทสำคัญในบริษัท คุณอาจต้องเผชิญกับงานจำนวนมากที่ดูเหมือนเร่งด่วนและสำคัญทั้งหมด เคล็ดลับที่ดีที่สุดคือ ให้เริ่มต้นด้วยงานที่ทำให้คุณรู้สึกกังวลใจมากที่สุด เมื่อคุณจัดการกับงานที่สร้างความกังวลทางจิตใจได้แล้ว คุณจะสามารถจดจ่อกับงานอื่นๆ ได้ดีขึ้น เมื่อทำภารกิจที่ใหญ่ที่สุดเสร็จแล้ว คุณจะรู้สึกประสบความสำเร็จและเครียดน้อยลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ ทำเช่นนี้ต่อไปโดยเรียงลำดับจากงานที่น่ากังวลที่สุดไปน้อยที่สุด คุณจะพบว่าวันทำงานจะง่ายขึ้นเรื่อยๆ
8. หลีกเลี่ยงการประชุมในช่วงครึ่งวันแรก
เคล็ดลับที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นวันแรกหลังวันหยุดยาว คือ "หลีกเลี่ยงการนัดหมายใดๆ อย่างน้อยในช่วงครึ่งวันแรก" หากเป็นไปได้ ให้บล็อกเวลานั้นในปฏิทินเพื่อให้ทีมงานทราบว่าคุณไม่ว่าง และใช้เวลานั้นในการตรวจสอบอีเมลงาน และรายการสิ่งที่ต้องทำอย่างละเอียด แล้วตอบกลับสิ่งที่เร่งด่วนที่สุดก่อน
จากนั้นวางแผนการจัดการส่วนที่เหลือตลอดทั้งวันหรือทั้งสัปดาห์ ขณะที่คุณสร้างรายการ ให้พิจารณางานต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาและตัดสินใจว่าจำเป็นต้องทำจริงๆ หรือไม่ และถ้าจำเป็น คุณคือคนที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำหรือไม่ บางครั้งงานที่ "เร่งด่วน" ก็ไม่ได้เร่งด่วนอย่างที่คิด
9. ทำงานทีละอย่างแบบค่อยเป็นค่อยไป
อย่าพยายามตามงานหรือทำงานทั้งหมดให้ทันทีเดียว ใช้เวลาในวันแรกหลังกลับมาจากวันหยุดยาวเพื่อจัดการกับสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่าละเลยการดูแลตัวเอง เช่น การออกกำลังกายในตอนเช้าหรือดื่มชาที่คุณชอบ ช่วงเวลาที่รู้สึกว่ามีงานถาโถมเข้ามาจะผ่านไป และคุณจะกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในไม่ช้า
อีกทั้งควรพยายามจัดเวลาพักผ่อนหลังจากกลับมาถึงบ้าน อาจจะช่วงบ่ายวันอาทิตย์หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณกลับมา เพื่อทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานและค่อยๆ ปรับตัวกลับเข้าสู่ตารางงาน ทุกคนเข้าใจปัญหานี้ ดังนั้นจงหาวิธีที่เหมาะกับคุณและทำตามนั้น
ด้วยเคล็ดลับเหล่านี้ คุณจะสามารถกลับเข้าสู่การทำงานหลังวันหยุดยาวได้อย่างสดใสและพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างแน่นอน!