อย่าคุยเรื่องส่วนตัวเยอะในที่ทำงาน ขาดขอบเขต เสี่ยงภาวะหมดไฟ

อย่าคุยเรื่องส่วนตัวเยอะในที่ทำงาน ขาดขอบเขต เสี่ยงภาวะหมดไฟ

อย่าคุยเรื่องส่วนตัวมากเกินไปในที่ทำงาน นักจิตวิทยาองค์กรเผย นี่คือความผิดพลาด No.1 ด้านการสื่อสารที่วัยทำงานมักเผลอทำในออฟฟิศ อาจเสี่ยงหมดไฟ ไม่โปรดักทีฟ

KEY

POINTS

  • ชาวออฟฟิศคุยเรื่องส่วนตัวได้แค่ไหนในที่ทำงาน? นักจิตวิทยาองค์กร ชี้ อย่าพูดเรื่องส่วนตัวในที่ทำงานมากเกินไป อาจกลายเป็นไม่โปรดักทีฟ บางครั้งก็ทำลายขอบเขตส่วนตัวโดยไม่รู้ตัว
  • คำแนะนำคือ ขณะพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานให้เน้นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับงานเป็นหลัก แล้วแทรกเรื่องส่วนตัวเบาๆ อย่างพอดีเมื่อเหมาะสม และสอดคล้องกับความสนใจของคนอื่น เช่น ชอบกินอาหารหรือชอบทำกิจกรรมคล้ายกัน
  • ให้แชร์เฉพาะเรื่องที่ช่วยให้คุณแก้ปัญหาให้ทีม หรือช่วยให้คุณเชื่อมโยงกับคนอื่นได้ ถ้าเรื่องไหนที่พูดไปแล้วไม่เกิดประโยชน์กับทั้งสองข้อนี้ ก็อย่าพูดถึงมันเลยดีกว่า

เป็นเรื่องปกติที่พนักงานออฟฟิศมักมีเรื่องพูดคุยเม้าท์มอยกับเพื่อนร่วมงานเพื่อผ่อนคลายในช่วงเวลาพักเบรกหรือพักเที่ยง ไม่ว่าจะเป็นการพูดเรื่องตัวเองหรือเรื่องคนอื่นก็ตาม แต่รู้หรือไม่? ในกรณีที่พูดเรื่องส่วนตัวในที่ทำงานมากเกินไป อาจเป็นเรื่องผิดพลาดจนกระทบต่อภาพลักษณ์การทำงานและสุขภาพจิตได้

ยืนยันจากนักจิตวิทยาองค์กรและนักเขียนชื่อดังอย่าง 'อดัม แกรนท์' (Adam Grant) จาก The Wharton School มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เขาให้คำแนะนำกับวัยทำงานไว้ว่า ความผิดพลาดด้านการสื่อสารอันดับ 1 ที่วัยทำงานมักเผลอทำในออฟฟิศก็คือ การพูดเรื่องส่วนตัวมากเกินไปกับเพื่อนร่วมงาน ขณะที่บางส่วนก็แบ่งปันเรื่องราวชีวิตของตนน้อยเกินไป

แกรนท์บอกว่าในประเด็นของการสื่อสารกันในออฟฟิศ หากไม่ใช่เรื่องการประชุมงาน พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ก็มักจะสื่อสารเรื่องส่วนตัวกับคนรอบข้างไม่มากก็น้อย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ

1. กลุ่มที่พูดคุยเรื่องส่วนตัวมากเกินไป ซึ่งอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ทางวิชาชีพ เช่น ดูไม่โปรดักทีฟ ไม่ตั้งใจทำงาน

2. กลุ่มที่พูดคุยเรื่องส่วนตัวน้อยเกินไป จนทำให้ขาดความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงาน

แชร์เรื่องส่วนตัวมากเกินไป อาจหมดไฟไม่รู้ตัว แต่เล่าน้อยเกินไป ก็เสี่ยงขาดความไว้ใจ

คนที่แชร์เรื่องราวของตัวเองมากเกินไป มักไม่มีเส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงานที่ชัดเจน แกรนท์อธิบายว่า คนกลุ่มนี้มักจะทำสิ่งต่างๆ นอกเหนือจากทำงานในระหว่างวัน เช่น ตกแต่งโต๊ะทำงานด้วยรูปครอบครัว รับสายงานจากที่บ้านตลอดเวลา เชิญเพื่อนร่วมงานไปทานข้าวเย็น หรือแม้กระทั่งไปเที่ยวพักร้อนด้วยกัน

แต่เมื่อชีวิตส่วนตัวและการทำงานผสมปนเปกันมากเกินไป อาจทำให้วัยทำงานรู้สึกเหนื่อยล้าและขาดเวลาฟื้นฟูตัวเอง นอกจากนี้ การรู้สึกว่าต้องเป็นมิตรและเปิดรับคนอื่นตลอดเวลา หรือฝืนตอบรับทุกคำขอจนขาดขอบเขตความเป็นส่วนตัว อาจทำให้คุณเข้าสู่ภาวะหมดไฟเร็วขึ้นอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่เปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวเลย ส่วนใหญ่พวกเขามักต้องการแยกชีวิตการทำงานออกจากชีวิตส่วนตัวอย่างชัดเจน แต่การปิดกั้นตัวเองมากเกินไปอาจทำให้คุณพลาดโอกาสสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตในสายอาชีพ

จากผลสำรวจของ Glassdoor ในเดือนมกราคม 2025 ซึ่งทำแบบสอบถามพนักงานกว่า 800 คนในสหรัฐฯ พบว่า 53% ของพวกเขา ชอบเลี่ยงการสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน เพราะต้องการแยกชีวิตส่วนตัวออกจากงานโดยสิ้นเชิง แต่การทำเช่นนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งเป็นปัญหาที่คนอเมริกัน 58% เผชิญอยู่ ตามรายงานปี 2021 ของบริษัท Cigna Group

คุยเรื่องส่วนตัวในที่ทำงานได้แค่ไหน ถึงจะสมดุลและเหมาะสม?

แกรนท์อธิบายต่อไปว่า การแบ่งปันเรื่องส่วนตัวในที่ทำงานให้เหมาะสมนั้น ต้องใช้ทักษะความตระหนักรู้และวิจารณญาณ เขาแนะนำว่า ตอนพูดคุยกับเพื่อนร่วมทีมให้คุณเน้นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับงานเป็นหลัก และแทรกเรื่องส่วนตัวเบาๆ อย่างพอดีเมื่อเหมาะสม

“ลองคิดดูว่ามีเรื่องส่วนตัวอะไรบ้างที่อาจสอดคล้องกับความสนใจของคนอื่นในที่ทำงาน เช่น ชอบกินอะไรเหมือนกัน ชอบทำกิจกรรมอะไรคล้ายกัน” นักจิตวิทยาบอก นอกจากนี้การเข้าร่วมกิจกรรมของออฟฟิศ และการทำงานร่วมกันในโปรเจกต์บางอย่าง ก็สามารถช่วยให้คุณสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานได้ โดยไม่ต้องแชร์เรื่องส่วนตัวมากเกินไป

หากคุณไม่แน่ใจว่าควรเปิดเผยเรื่องส่วนตัวแค่ไหน แกรนท์แนะนำให้ระวังกิจกรรมที่ไม่เป็นทางการมากนัก เช่น ปาร์ตี้บริษัท ชั่วโมงสังสรรค์หลังเลิกงาน หรือการเล่นเกมในออฟฟิศ เพราะบรรยากาศแบบนี้อาจทำให้คุณหลุดแชร์เรื่องส่วนตัวมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว

“ความสนุกที่ลึกซึ้งจริงๆ คือการที่ทีมงานทุกคนร่วมมือกันแก้ปัญหาสำคัญของงาน หรือมุ่งไปสู่เป้าหมายในงานที่มีความหมาย” แกรนท์อ้างถึงแนวคิด "Deep Fun" ของแดเนียล คอยล์ นักเขียนชื่อดัง ซึ่งการทำแบบนั้น คือ การสร้างความสัมพันธ์จากการร่วมมือกันทำสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายในที่ทำงาน ซึ่งดีกว่าการพูดคุยเรื่องส่วนตัวด้วยซ้ำ

เปิด 2 เคล็ดลับช่วยหลีกเลี่ยงการคุยเรื่องส่วนตัวมากเกินไปในที่ทำงาน

หากคุณยังลังเลว่าเรื่องส่วนตัวแบบไหนที่ควรแชร์หรือไม่ควรแชร์? มีเคล็ดลับจาก "คาเรน ลินช์" (Karen Lynch) อดีต CEO ของบริษัท CVS Health ได้สะท้อนมุมมองและให้คำแนะนำง่ายๆ ดังนี้

1. แชร์เรื่องส่วนตัวที่คิดว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่นได้

ให้แชร์เฉพาะเรื่องที่ช่วยให้คุณแก้ปัญหา หรือเชื่อมโยงกับคนอื่นได้ ถ้าเรื่องไหนที่พูดไปแล้วไม่เกิดประโยชน์กับสองข้อนี้ ก็อย่าพูดถึงมันเลยดีกว่า ลินช์ บอกอีกว่า เธอใช้แนวคิดนี้ในงานประชุมของบริษัทประกันภัย Aetna ในช่วงที่เธอยังดำรงตำแหน่งประธานบริษัทในอดีต

ในงานนั้น เธอเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวเกี่ยวกับการที่ญาติของเธอฆ่าตัวตาย เพื่อสื่อสารให้วัยทำงานทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต หลังจากนั้น พนักงานคนหนึ่งที่มีประสบการณ์คล้ายกัน ได้เข้ามาขอบคุณเธอสำหรับการพูดถึงเรื่องนี้ ดังนั้น การแบ่งปันเรื่องราวของเธอเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความสัมพันธ์กับพนักงานคนนั้น แต่ยังอาจเปลี่ยนแนวทางองค์กรบางอย่างในเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานได้ 

2. อย่าแชร์เรื่องส่วนตัวเชิงลึก เช่น ชีวิตแต่งงาน

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ ลินช์ อยากเตือนชาวออฟฟิศทุกคนก็คือ เรื่องส่วนตัวเชิงลึกมากๆ ก็ไม่ควรเอามาเล่าในที่ทำงาน ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ควรพูดถึง เช่น "เมื่อคืนทะเลาะกับสามีมาและคุยลงลึกถึงรายละเอียด" หรือ "นินทาคนอื่นโดยไม่มีสาระแก่นสาร หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน" เป็นต้น 

ท้ายที่สุดนักจิตวิทยาย้ำว่า การพูดคุยเรื่องส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ บ้างเป็นเรื่องที่ดีในการสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน แต่ควรระวังไม่ให้พูดเยอะเกินไปหรือเล่าลงลึกในรายละเอียด โดยเฉพาะในช่วงที่ออฟฟิศจัดปาร์ตี้สังสรรค์ กิจกรรมเล่นเกม ฯลฯ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

 

อ้างอิง : CNBC, Newsroom, Glassdoor