รู้จัก 3 คำ เพิ่มทักษะความยืดหยุ่น สร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจวัยทำงาน

รู้จัก 3 คำ เพิ่มทักษะความยืดหยุ่น สร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจวัยทำงาน

สู้ชีวิต..แต่ชีวิตสู้กลับ นักจิตวิทยาแนะใช้ 3 คำ ฝึกทักษะความยืดหยุ่นและการฟื้นตัวเอง เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางจิตใจ อยู่ที่ไหนก็รอด!

KEY

POINTS

  • นักจิตวิทยาแนะใช้ 3 คำ ฝึกทักษะความยืดหยุ่นและการฟื้นตัวเอง เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางจิตใจ 
  • ทั้งสามคำนั้น เริ่มจากคำว่า ฉันต้องการเวลา, ฉันรับมือกับมันได้ และคำว่า ไม่
  • นักจิตวิทยา แนะนำว่า ไม่ควรรู้สึกผิดที่ให้ความสำคัญกับงานหลักของตัวเองก่อนจะไปช่วยงานคนอื่น ความยืดหยุ่นควรเป็นเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญของตนเองให้ดี

สู้ชีวิต..แต่ชีวิตสู้กลับ นักจิตวิทยาแนะใช้ 3 คำ ฝึกทักษะความยืดหยุ่นและการฟื้นตัวเอง เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางจิตใจ อยู่ที่ไหนก็รอด!

ไม่มีใครไม่เจอปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการงาน การเงิน ครอบครัว ความสัมพันธ์ ฯลฯ ทุกคนบนโลกล้วนประสบกับความยากลำบากไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่วัยทำงานที่มี “ทักษะความยืดหยุ่นและฟื้นตัวได้” (Resilience skill) จะสามารถปรับตัวต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตได้ดี พวกเขาจะมีความแข็งแกร่งทางจิตใจแล้วเอาชนะความท้าทายเหล่านั้นได้

เบรเน บราวน์ นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำ กล่าวในพอดแคสต์ไว้เมื่อปี 2022 โดยระบุว่า คนที่มีทักษะความยืดหยุ่นและฟื้นตัวได้นั้น พวกเขาจะไม่ทำเป็นเหมือนว่าชีวิตไม่มีปัญหา แต่ยอมรับตรงๆ ว่ามีปัญหานั้นพร้อมๆ กับมีความเห็นอกเห็นใจตนเอง ทำให้พวกเขามองว่าอารมณ์เชิงลบต่างๆ เช่น ความเครียดหรือความผิดหวัง เป็นโอกาสในการเรียนรู้ 

แก่นแท้ของความแข็งแกร่งทางจิตคือความเห็นอกเห็นใจในตนเอง คนที่มีจิตใจเข้มแข็งพวกเขามักจะรักษาความเข้มแข็งทางใจนั้นไว้ได้เสมอ เนื่องจากพวกเขาไม่ตกอยู่ในความอับอาย การวิจารณ์ตนเอง หรือความเกลียดชังตนเอง” บราวน์กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับใครที่ค้นพบว่าตนเองยังรับมือกับความรู้สึกเชิงลบได้ไม่ดีนัก หรือรู้สึกว่าอยากฝึกฝนทักษะ “ความยืดหยุ่นและฟื้นตัว” เพื่อพัฒนาจิตใจตนเองให้ดีขึ้น ก็มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยาหลายคนมาบอกต่อ โดยส่วนใหญ่แนะนำให้ลองฝึกใช้ "3 วลี" ต่อไปนี้ ในชีวิตเพื่อปรับวิธีคิดให้ยืดหยุ่นและฟื้นตัวจากปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ดี ได้แก่

 คำที่ 1 : ‘ฉันต้องการเวลา’

คอร์ตนีย์ วอร์เรน นักจิตวิทยา กล่าวว่า ในบางครั้งแม้แต่คนที่แข็งแกร่งที่สุดหากเจอปัญหายากๆ ก็ยังต้องถอยหลังสักก้าวและใช้เวลาไตร่ตรอง ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ในชีวิตคุณ แทนที่จะเร่งรีบเพื่อแก้ปัญหาหรือรีบเอาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ควรให้เวลาตัวเองในการจับอารมณ์ให้เท่าทัน แล้วค่อยๆ ควบคุมมันให้ได้ 

“องค์ประกอบสำคัญของทักษะความยืดหยุ่น ก็คือ ความยืดหยุ่นทางอารมณ์ หรือความสามารถในการควบคุมความรู้สึกและลดความรุนแรงในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การเรียนรู้เรื่องนี้สามารถช่วยให้เรารู้สึกมีพลังในช่วงเวลาที่ท้าทาย สมมติว่าคุณเพิ่งได้รับการตอบรับเชิงลบจากเจ้านายของคุณ และมันทำให้รู้สึกกังวลหรืออารมณ์เสีย ให้พูดกับตัวเองประมาณว่า ..ฉันรู้สึกโมโห หงุดงหิด ดังนั้นฉันจะใช้เวลาสักครู่ก่อนที่จะตอบสนองหรือตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ .. ” วอร์เรนอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง

คำที่ 2 : ‘ฉันสามารถรับมือกับสิ่งนี้ได้’

จูดี้ โฮ นักประสาทวิทยา กล่าวว่า ความมั่นใจในตัวเองว่าคุณจะสามารถเอาชนะสถานการณ์ที่ยากลำบากของตัวเองได้นั้นสามารถบ่มเพาะและเติบโตไปได้ไกลมากกว่าที่คิด เมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นลองพูดกับตัวเองว่า “ฉันรับมือกับมันได้แน่” การทำแบบนี้จะช่วยให้คุณตระหนักรู้ในการ “รับมือ ยอมรับ และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดีขึ้น” 

“การกระตุ้นตัวเองด้วยวลีนี้ จะทำให้เราสามารถละทิ้งการยึดติดกับผลลัพธ์บางอย่าง ปรับกลยุทธ์การรับมือ และค้นหาวิธีแก้ปัญหาและเส้นทางที่แตกต่างกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายของการแก้ไขปัญหาได้ และเราสามารถทำทั้งหมดนี้ได้ แม้ว่าความคิดและความรู้สึกอาจบอกให้พวกเขาวิ่งหนีหรือดึงผ้าคลุมออกมาคลุมหัวก็ตาม ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณเผชิญกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดเป็นพิเศษ ให้บอกตัวเองว่า ฉันสามารถรับมือกับมันได้ แทนที่จะใช้วลี ฉันไม่คิดว่าฉันจะผ่านมันไปได้ ก็จะดีกว่า” จูดี้ โฮ กล่าว

คำที่ 3 : ไม่ 

ลองนึกภาพว่าคุณกำลังเผชิญกับตารางงานที่อัดแน่น แล้วจู่ๆ เพื่อนร่วมงานก็มาขอให้คุณช่วยเขาทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ ในสถานการณ์นี้คุณอาจตอบรับช่วยงานเพื่อน เพราะอยากให้ความสำคัญกับงานของเพื่อนในทีมก่อน แม้ว่าคุณจะมีภาระงานหนักก็ตาม

แต่กรณีนี้ เจสซิกา แจ็คสัน นักจิตวิทยา แนะนำว่า ไม่ควรรู้สึกผิดที่ให้ความสำคัญกับตัวเองก่อนและปฏิเสธงานของเพื่อน จริงๆ แล้วเราสามารถพูดว่า "ไม่" หรือปฏิเสธออกไปได้ ทั้งนี้ บางคนอาจสับสนระหว่างความสามารถในการฟื้นตัวกับความเป็นอิสระ เช่น บางคนคิดว่า ‘ฉันจะลดความสำคัญตัวเองให้น้อยลงเพื่อสนับสนุนผู้อื่น’ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น

จริงๆ แล้ว ความยืดหยุ่นควรเป็นเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญของความต้องการของตัวเองมากกว่า การกำหนดขอบเขตด้วยวิธีนี้อาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจ แต่สุดท้ายแล้ว คุณจะขอบคุณตัวเองที่ประหยัดพลังงานและให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองเป็นอันดับแรก “สิ่งสำคัญคือต้องรู้เกณฑ์ของตัวเอง รู้ขอบเขต และให้เกียรติสิ่งเหล่านั้นก่อนที่คุณจะมีภาวะหมดไฟ” แจ็คสันกล่าว