เปิดลิสต์ 5 ประเทศ Work-Life Balance ดีที่สุดในโลก สุดว้าว ลาคลอดได้ครึ่งปี

เปิดลิสต์ 5 ประเทศ Work-Life Balance ดีที่สุดในโลก สุดว้าว ลาคลอดได้ครึ่งปี

เปิด 5 อันดับประเทศที่มี Work-Life Balance ดีที่สุดในโลก ซึ่งวัดผลจากจำนวนวันลา-วันหยุดประจำปี วันลาคลอด เงินชดเชยตามกฎหมาย ชั่วโมงทำงาน ชั่วโมงพักผ่อน ฯลฯ

KEY

POINTS

  • 5 อันดับประเทศที่มี Work-life Balance ดีที่สุดในโลก วัดผลจากจำนวนวันลา-วันหยุดประจำปี วันลาคลอด เงินชดเชยตามกฎหมาย ชั่วโมงทำงาน ชั่วโมงพักผ่อน ฯลฯ
  • Remote Index จัดอันดับให้ “นิวซีแลนด์” ขึ้นแท่นอันดับ 1 ประเทศที่มี Work-life Balance ดีที่สุดในโลก 
  • จุดเด่นคือการมอบสวัสดิการ “วันลาคลอดบุตร” ให้พนักงานนานถึง 26 สัปดาห์ หรือ 194 วัน หรือกว่า 6 เดือน

เปิด 5 อันดับประเทศที่มี Work-Life Balance ดีที่สุดในโลก ซึ่งวัดผลจากจำนวนวันลา-วันหยุดประจำปี วันลาคลอด เงินชดเชยตามกฎหมาย ชั่วโมงทำงาน ชั่วโมงพักผ่อน ฯลฯ

การโยกย้ายไปทำงานต่างประเทศเกิดขึ้นกับแรงงานทั่วโลก ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็น ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่าบ้านเกิดของตน, ลี้ภัยจากความไม่สงบ, ชอบและหลงใหลในวัฒนธรรมของประเทศปลายทาง หรือแม้กระทั่งเหตุผลด้าน Work-Life Balance หรือความสมดุลของชีวิตและการทำงาน

โดยเฉพาะเหตุผลอย่างหลังสุด ถือเป็นเหตุผลสำคัญของแรงงานจำนวนไม่น้อยในการย้ายออกจากถิ่นฐานเดิมเพื่อไปทำงานต่างแดน โดย สำนักข่าวบีบีซี รายงานถึงประเด็นนี้ไว้ว่า ปัจจุบันแนวคิดการทำงานแบบ Work-Life Balance ถูกมองว่าเป็นกุญแจสำคัญในทุกสิ่ง ตั้งแต่วิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี ไปจนถึงความเป็นอยู่ที่ดีด้านจิตใจ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่วัยทำงานจำนวนหนึ่งกำลังพิจารณาย้ายไปทำงานในประเทศที่มีทัศนคติการทำงานแบบเน้นสมดุลชีวิต โดยได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและมีสวัสดิการที่ดี

ทั้งนี้ บีบีซี ยังได้เจาะลึกลงไปว่าประเทศใดในโลกมีทัศนคติด้านความสมดุลของชีวิตและการทำงานที่ดีที่สุด โดยเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจาก “ดัชนีสมดุลชีวิตและการทำงานทั่วโลกปี 2023” (Global Life-Work Balance Index 2023) โดยบริษัท Remote ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีทรัพยากรบุคคลระดับโลก โดยทำการวัดผลจากวันลาประจำปีตามกฎหมาย การจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายกรณีขาดงานเพราะเจ็บป่วย การลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง 

นอกจากนี้ยังดูข้อมูลความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานจาก OECD's work-life balance data ร่วมด้วย เพื่อวิเคราะห์ว่าพนักงานแต่ละประเทศทำงานกี่ชั่วโมง และใช้เวลาไปกับการพักผ่อนและการดูแลส่วนบุคคลกี่ชั่วโมง (OECD คือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เป็นองค์กรระหว่างประเทศประกอบด้วย 22 ประเทศสมาชิก) 

ผลการวิเคราะห์ของบีบีซี พบว่า 5 ประเทศดังต่อไปนี้ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มี Work-life Balance ดีที่สุดในโลก ได้แก่ 

1. นิวซีแลนด์

จากการจัดอันดับของ Remote Index พบว่า “นิวซีแลนด์” ขึ้นแท่นอันดับ 1 ประเทศที่มี Work-life Balance ดีที่สุดในโลก จุดเด่นคือการมอบสวัสดิการ “วันลาคลอดบุตร” ให้พนักงานนานถึง 26 สัปดาห์ หรือ 194 วัน หรือกว่า 6 เดือนโดยได้ยังรับค่าจ้างตามปกติ โดยได้รับแรงหนุนจากการมีค่าแรงขั้นต่ำที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังให้วันลาประจำปีตามกฎหมายเป็นเวลา 32 วันต่อปี และให้เงินชดเชยการขาดงานกรณีเจ็บป่วยตามกฎหมายขั้นต่ำ 80% ของเงินเดือน

ขณะที่ข้อมูลจาก OECD แสดงให้เห็นว่า พนักงานในนิวซีแลนด์ 14% ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มากกว่าที่ OECD กำหนดค่าเฉลี่ยไว้ที่ 10% แต่ส่วนใหญ่ 86% มีชั่วโมงทำงานน้อยกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อีกทั้งเมื่อตรวจสอบจำนวนชั่วโมงสำหรับใช้ชีวิตส่วนตัวพบว่า พวกเขามีเวลาพักผ่อนและเวลาว่างราวๆ 14.9 ชั่วโมงต่อวัน (เช่น การรับประทานอาหาร การนอนหลับ การใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง งานอดิเรก และดูโทรทัศน์) 

เอริน แพร์รี ชาวแคนาดาที่เลือกจะย้ายไปทำงานในนิวซีแลนด์ในสาขาด้านการตลาด แชร์ประสบการณ์ว่า แนวทางและวัฒนธรรมในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของชาวนิวซีแลนด์นั้นแข็งแกร่งมาก พวกเขาให้ความสำคัญหลักกับครอบครัว  ความเป็นอยู่ที่ดี สันทนาการ การเดินทาง พวกเขาใช้เวลาอย่างมีค่ามากจริงๆ และเชื่อว่างานคือสิ่งที่คนเราจะหยุดทำในวันใดวันหนึ่ง และมันไม่ใช่ทั้งชีวิตของคุณ แต่การทำงานในแนวทางนี้ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง นั่นคือ กรณีที่คุณกำลังทำงานเร่งด่วนให้เสร็จ และมีการขอข้อมูลผ่านทางอีเมล คุณอาจจะไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ หากตอนนั้นไม่ใช่เวลางาน 

เปิดลิสต์ 5 ประเทศ Work-Life Balance ดีที่สุดในโลก สุดว้าว ลาคลอดได้ครึ่งปี

2. สเปน

Remote Index ยกให้ “สเปน” เป็นประเทศที่มีสมดุลชีวิตและการงานเป็นอันดับสองของโลก ด้วยจุดเด่นคือ ให้วันหยุดประจำปีตามกฎหมาย 26 วัน ส่วนข้อมูลจาก OECD พบว่ามีพนักงานในสเปนส่วนน้อยเพียง 2.5% ที่ทำงานเกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แปลว่า พนักงานส่วนใหญ่มากถึง 97.5% ที่ทำงานน้อยกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเฉลี่ยคือพวกเขาทำงานประมาณ 37.8 ชม./สัปดาห์ (5-6 ชม./วัน) เท่านั้น 

ขณะที่พนักงานในสเปนได้รับวันลาประจำปี 26 วันต่อปี ได้วันลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง 16 สัปดาห์ (4 เดือน) และได้เงินชดเชยขาดงานกรณีป่วย 60% ของเงินเดือน ทั้งนี้ พนักงานบริษัทส่วนใหญ่ได้รับเวลาพักรับประทานอาหารกลางวันเป็นเวลานาน 1-2 ชั่วโมง และในช่วงฤดูร้อนจะมีประเพณีวันศุกร์ที่เรียกว่า Jornada Intensiva ซึ่งจะอนุญาตให้พนักงานกลับบ้านได้ในเวลา 15.00 น. ทดแทนเวลาช่วงพักกลางวัน

อิซาเบล คลิเกอร์ นักเขียนด้านการเดินทางที่ย้ายไปทำงานในหลายๆ ประเทศ เช่น สวีเดน สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และล่าสุดที่เมืองบาร์เซโลนาในสเปน เธอเล่าว่า ผู้คนที่นี่แทบจะไม่คุยเรื่องงานในเวลาส่วนตัว พวกเขาไม่ถามด้วยซ้ำว่าคุณทำงานอะไร แต่ชวนคุยเรื่องอื่นๆ วัฒนธรรมการทำงานของชาวสเปน คือพวกเขาเชื่อว่า คนเราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน แต่ทำงานเพื่อมีชีวิตอยู่

3. เดนมาร์ก

จากการจัดลำดับความสำคัญของความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของ OECD พบว่ามีพนักงานชาวเดนมาร์กเพียง 1% ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่นๆ อย่างมาก แปลว่า 99% ของพนักงานมีชั่วโมงทำงานน้อยกว่านั้น โดยพวกเขามีเวลาส่วนตัวและเวลาว่างถึง 15.7 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้ เดนมาร์กยังเคยมีโครงการระดับประเทศอย่าง Flexjobs (เปิดตัวในปี 1998) ที่พนักงานสามารถขอปรับเปลี่ยนเวลาทำงานให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตนเองได้

ประเทศนี้ยังเสนอวันลาประจำปีตามกฎหมายให้พนักงานถึง 36 วัน และคนงานจะต้องได้รับค่าชดเชย 100% ของเงินเดือนสำหรับการขาดงานกรณีเจ็บป่วย

เฮเลน รัสเซลล์ นักเขียนและนักข่าวที่มีบ้านเกิดอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ย้ายมาทำงานที่เดนมาร์กได้ 10 กว่าปี เธอเล่าว่า การทำงานที่ลอนดอนมันยุ่งมาก ความสมดุลระหว่างชีวิตและงานก็แทบไม่มี แต่พอย้ายมาที่นี่ เธอสังเกตเห็นว่าขอบเขตระหว่าง “งาน” และ “ชีวิต” ของชาวเดนมาร์กนั้นเข้มงวดเพียงใด วันทำงานเริ่ม 08.00 น. และเลิกงาน 16.00 น. ตรงเวลาทุกวัน เนื่องจากคนที่มีลูกจะต้องไปรับลูกจากสถานรับเลี้ยงเด็กภายในเวลา 16.00 น. ของทุกวัน ซึ่งคนที่ไม่มีลูกก็ได้รับประโยชน์จากตรงนี้ด้วย (เลิกงานเวลาเดียวกัน) นอกจากนี้ หากคุณมีกิจกรรมส่วนตัวที่ต้องทำ เช่น ไปยิม ไปเข้าชมรมแบดมินตัน ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับกันได้อย่างสมบูรณ์

เปิดลิสต์ 5 ประเทศ Work-Life Balance ดีที่สุดในโลก สุดว้าว ลาคลอดได้ครึ่งปี

4. ฝรั่งเศส

ข้อมูลของ OECD ระบุว่า ผู้คนในฝรั่งเศสมีเวลาส่วนตัวและเวลาว่างถึง 16.2 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ชั่วโมงทำงานอยู่ที่ประมาณ 7.8 ชั่วโมงต่อวัน และส่วนใหญ่ก็เน้นทำงานระยะไกล (Remote work) เพราะเน้นความสำคัญกับสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ขณะที่ Remote Index จัดให้ฝรั่งเศสเป็นอันดับ 3 ของประเทศที่มี Work-life Balance ดีที่สุดในโลก โดยพนักงานมีจำนวนวันลาตามกฎหมายสูงสุด 36 วันต่อปี ได้รับวันลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง 16 สัปดาห์ (4 เดือน) และได้เงินชดเชยหากขาดงานกรณีป่วย 50% ของเงินเดือน

ซาราห์ มิโช ผู้ประกอบการและฟรีแลนซ์ชาวแคนาดาที่ย้ายมาอยู่ในปารีสเมื่อปี 2021 เธอแชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่า คนที่นี่ให้ความสำคัญกับเวลาส่วนตัว (ที่ไม่ใช่เรื่องงาน) เป็นอันดับแรก วัฒนธรรมฝรั่งเศสส่งเสริมความรู้สึกผ่อนคลายและการพักผ่อน จะเห็นได้จากวัฒนธรรมการออกมานั่งร้านกาแฟในยามว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพอากาศดี 

5. อิตาลี

ข้อมูลของ OECD แสดงให้เห็นว่า พนักงานในอิตาลีส่วนใหญ่มีเวลาว่างมากถึง 69% ของวัน หรือประมาณ 16.5 ชั่วโมงต่อวัน แปลว่ามีชั่วโมงทำงานอยู่ที่ 7.5 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่มีชาวอิตาเลียนเพียง 3% เท่านั้นที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลจาก Remote Index ระบุว่า พนักงานในอิตาลีได้รับวันลาประจำปี 32 วันต่อปี ได้วันลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง 21 สัปดาห์ (5 เดือนกว่า) และได้รับเงินชดเชยการขาดงานกรณีป่วย 50% ของเงินเดือน 

อูริเบ-โอรอซโก ทนายความที่เคยทำงานในโคลอมเบียและสหรัฐอเมริกา และปัจจุบันได้ย้ายมาทำงานในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เขาแชร์ว่า คนภายนอกอาจคิดว่าคนอิตาลีไม่ทำงาน แต่ไม่ใช่เลย ชาวอิตาลีทำงานหนักมาก เพราะต้องทำงานให้เสร็จเร็วในเวลาจำกัด พวกเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล แล้วเอาเวลาว่างไปพักผ่อนแทน ชาวอิตาเลียนมีความเชื่อตามวลีที่ว่า “il dolce far niente (ความหอมหวานจากการไม่ทำอะไรเลย)” 

อูริเบ คิดว่าชาวอิตาลีเป็นผู้คิดค้นแนวคิดเรื่องความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานด้วยซ้ำ เขาบอกว่า ผู้คนที่นี่ไม่ได้วิ่งแจ้นไปรอบๆ เหมือนไก่ ที่ชีวิตมีแต่ต้อง “ทำงาน ทำงาน และทำงาน” เท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ มากกว่า แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสียอยู่ โดยพบว่าประเทศนี้มีการว่างงานสูงกว่าและเงินเดือนเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศ OECD อื่นๆ จำนวนมาก และการขาดวัฒนธรรมที่เร่งรีบอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน เช่น หากคุณต้องไปส่งของที่ไปรษณีย์ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงอีกทั้งหากไปทำธุระที่เกี่ยวกับระบบราชการทุกประเภท เช่น การต่อใบอนุญาต มักจะใช้เวลาครึ่งวัน เป็นต้น