ลูกจ้างญี่ปุ่น 78% เผย บริษัทควรใส่ใจ Work Life Balance ของพนักงานมากกว่านี้

ลูกจ้างญี่ปุ่น 78% เผย บริษัทควรใส่ใจ Work Life Balance ของพนักงานมากกว่านี้

เมื่อบริษัทบางแห่งใน “ญี่ปุ่น” เป็นเหมือน “โรงงานนรก” ผลสำรวจเผย 78% ของลูกจ้างเผยความในใจ บริษัทควรให้ความสำคัญกับ Work Life Balance ของพนักงานให้จริงจังกว่านี้!

Key Points:

  • ค่านิยมการทำงานหนักของชาวญี่ปุ่นฝั่งรากลึกมายาวนาน เกิดจากการปรับโครงสร้างแรงงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ จนทำให้มีวัฒนธรรมทำงานหนัก แต่นั่นทำให้แรงงานญี่ปุ่นเสียชีวิตจากงานหนักมากขึ้นเรื่อยๆ 
  • แม้ในช่วงหลังๆ มีบริษัทบางแห่งในญี่ปุ่นพยายามปรับให้มีการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีหลายบริษัทที่ยัดชั่วโมงงานล่วงเวลาจำนวนมากให้แก่พนักงาน
  • ผลสำรวจของ Robert Walters Japan บริษัทจัดหางานมืออาชีพในญี่ปุ่น เผยว่า 78% ของลูกจ้างญี่ปุ่นยังรู้สึกว่านายจ้างควรให้ความสำคัญกับสมดุลชีวิตการทำงานจริงจังมากขึ้น

ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีรายงานข่าวกรณีพนักงานบริษัทในญี่ปุ่น “ทำงานหนักจนตาย” หรือที่เรียกว่า “คาโรชิ” ให้เห็นกันหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว หรือจากการจบชีวิตตัวเองหลังเกิดความเครียดสูงในการทำงานก็ตาม 

ยกตัวอย่างกรณีของ “มัตสึริ ทากาฮาชิ” อายุ 24 ปี ทำงานล่วงเวลามากกว่า 100 ชั่วโมงในช่วงหลายเดือนก่อนที่เธอจะจบชีวิตตนเอง โดยเจ้าหน้าที่ด้านมาตรฐานแรงงานตัดสินว่า การเสียชีวิตของเธอมีสาเหตุมาจากความเครียดที่เกิดจากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน รวมถึงกรณีของ “มิวะ ซาโดะ” นักข่าววัย 31 ปีในสถานีโทรทัศน์ NHK ก็เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวใน 2013 เนื่องจากการทำงานหนักมากเกินไป

 

  • ญี่ปุ่นกับวัฒนธรรม "ทำงานหนัก" ฝั่งรากลึกมานาน 

ค่านิยมการทำงานหนักของชาวญี่ปุ่นจะฝั่งรากลึกมายาวนาน มันเริ่มมาตั้งแต่ยุควิกฤติน้ำมันของญี่ปุ่นในปี 1973 (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ช่วงนั้นญี่ปุ่นมีการปรับโครงสร้างแรงงานอย่างกว้างขวาง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ แรงงานชาวญี่ปุ่นเกิดวัฒนธรรมทำงานอย่างหนักจนกลายเป็นเรื่องปกติ

แต่ต่อมาก็มีรายงานการเสียชีวิตของพนักงานบริษัทเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง หรือการฆ่าตัวตายจากการทำงานหนักมากขึ้นเรื่อยๆ 

แม้ในช่วงหลังๆ ระหว่างปี 2019-2022 ญี่ปุ่นจะพยายามปรับปรุงเรื่องนี้ โดยเอาแนวคิดการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มาเริ่มใช้แล้วในบริษัทบางแห่ง ยกตัวอย่างเช่น Panasonic Holdings Corp. ของญี่ปุ่น เปิดโอกาสให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ทำให้พนักงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จึงสามารถปรับปรุงสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานได้ดีขึ้น 

แต่ก็มีบริษัทอีกหลายแห่งที่ยังคงยัดชั่วโมงงานล่วงเวลาจำนวนมากให้แก่พนักงาน แม้กระทั่งในช่วงปลายปีปี 2023 ที่ผ่านมา ก็ยังพบว่าพนักงานบริษัทในญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยากให้นายจ้างดูแลเรื่อง Work Life Balance ให้แก่พนักงานมากว่านี้ 

 

  • ผลสำรวจชี้ชัด ปีนี้ลูกจ้างญี่ปุ่นยังเผชิญงานหนัก-ขาดสมดุลชีวิต

จากผลสำรวจของ Robert Walters Japan ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานมืออาชีพในญี่ปุ่น ที่ได้เปิดเผยรายงานเรื่อง “แบบสำรวจเงินเดือนปี 2024 และความคาดหวังของพนักงานต่อบริษัท” ระบุว่า พนักงานบริษัทในญี่ปุ่นยังคงมีความกังวลในการทำงานหนักเกินไปจนไม่มีสมดุลชีวิต โดยพนักงานออฟฟิศในญี่ปุ่น 78% ยังคงรู้สึกว่านายจ้างควรให้ความสำคัญกับสมดุลชีวิตการทำงานอย่างจริงจังมากขึ้น 

นี่แสดงให้เห็นถึงความคาดหวังของลูกจ้างญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่มีต่อนายจ้าง ในขณะที่ด้านนายจ้างกลับมองว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก โดย 79% ของบริษัทกล่าวว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่พวกเขาจะพิจารณาใช้กลยุทธ์ปรับปรุงสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อการรักษาพนักงาน (เช่น สัปดาห์ทำงาน 4 วัน โดยที่พนักงานได้รับค่าจ้าง 100%) แม้จะมีความกังวลเรื่องการรักษาพนักงานที่มีความสามารถเอาไว้ก็ตาม 

ขณะที่เมื่อถามว่าพนักงานบริษัทระดับเชี่ยวชาญอยากเปลี่ยนงานภายในสิ้นปี 2567 หรือไม่? ผลสำรวจชี้ว่า พนักงานกลุ่มนี้อยากเปลี่ยนงานสูงถึง 63% ซึ่งเหตุผลด้าน Work Life Balance อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลการพิจารณาเปลี่ยนงาน ทั้งนี้ สายงานที่ลูกจ้างอยากเปลี่ยนงานมากที่สุด ได้แก่
- สายงานบัญชีและการเงินที่ 71%
- สายงานอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน 68%
- สายงานการดูแลสุขภาพ 55%
- สายงานด้านกฎหมาย 41% 

อย่างไรก็ตาม เจเรมี แซมป์สัน ซีอีโอระดับภูมิภาคเอเชียของบริษัท Robert Walters Japan กล่าวว่า ระบบแรงงานและการจ้างงานในญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนไปตั้งแต่หลังยุคโควิดระบาดเป็นต้นมา กล่าวคือ การจ้างงานในทุกอุตสาหกรรมกำลังขาดแคลนบุคลากรอย่างรุนแรงในปี 2566 ที่ผานมา และคาดว่าจะรุนแรงขึ้นอีกในปี 2567 

เจเรมี จึงเรียกร้องให้นายจ้างมองหาวิธีเพิ่มเติมในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างความสมดุลในชีวิตให้กับพนักงาน รวมถึงการจ้างพนักงานที่หลากหลายมากขึ้น และปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงานแบบสมดุลให้ครอบคลุมมากขึ้น หากพวกเขาต้องการชนะสงครามเพื่อรักษาบุคลากรที่มีความสามารถสูงสุดไว้ในปี 2567