'ฟรีเซอร์' วายร้ายในดราก้อนบอล ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น 'ผู้นำ' ในอุดมคติ

'ฟรีเซอร์' วายร้ายในดราก้อนบอล ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น 'ผู้นำ' ในอุดมคติ

“ฟรีเซอร์” วายร้ายในอานิเมะชื่อดัง “ดราก้อนบอล” ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “ผู้นำในอุดมคติ” ด้วยศักยภาพในการสั่งการ “กองกำลังทหาร” ที่มีประสิทธิภาพสูง จนทำให้เป้าหมายงานสำเร็จ!

KEY

POINTS

  • “ฟรีเซอร์” วายร้ายในอานิเมะชื่อดัง “ดราก้อนบอล” ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “ผู้นำในอุดมคติ” 
  • ด้วยศักยภาพในการสั่งการ “กองกำลังทหาร” ที่มีประสิทธิภาพสูง จนทำให้เป้าหมายงานสำเร็จ!
  • แต่ในอีกมุมหนึ่ง ฟรีเซอร์ อาจไม่ใช่ผู้นำที่ทุกคนอยากร่วมงานด้วย เพราะเขาเป็นนักเผด็จการที่ชั่วร้าย ปกครองลูกน้องด้วยความกลัวและการข่มขู่

“ฟรีเซอร์” วายร้ายในอานิเมะชื่อดัง “ดราก้อนบอล” ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “ผู้นำในอุดมคติ” ด้วยศักยภาพในการสั่งการ “กองกำลังทหาร” ที่มีประสิทธิภาพสูง จนทำให้เป้าหมายงานสำเร็จ!

สาวกมังงะตัวจริงคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “ดราก้อนบอล” การ์ตูนระดับตำนานก้องโลกจากฝีมือของ “อากิระ โทริยามะ” ที่เพิ่งจะเสียชีวิตลงเมื่อสัปดาห์ก่อน ในวัย 68 ปี ด้วยอาการเลือดอุดตันในสมอง แม้ว่าเจ้าของผลงานจะจากไปแล้ว แต่เชื่อว่าเหล่าแฟนๆ คงจะจดจำชื่อผู้สร้างและผลงานเอกชิ้นนี้ไปตราบนานเท่านาน 

โดยเฉพาะตัวละครต่างๆ ในเรื่องนี้ที่มีบุคลิกภาพชัดเจนและมีความพิเศษในตัวเอง จนสามารถดึงดูดใจแฟนมังงะได้อย่างเหนียวแน่น หนึ่งในนั้นก็คือ “ฟรีเซอร์” วายร้ายตัวฉกาจ ที่ล่าสุดถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “ผู้นำในอุดมคติ” ในโลกการทำงาน ด้วยเหตุที่เขาสามารถร่วมงานกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างดีเยี่ยมจนนำทีมไปสู่ความสำเร็จ (ฉากที่เขาและลูกสมุนตามล่าดราก้อนบอลทั้ง 7 ลูกมาครองได้)

สำหรับ ฟรีเซอร์ เป็นตัวละครฝ่ายวายร้ายที่โผล่เข้ามาในภาค “ดาวนาเม็ก” ซึ่งเขาก็เป็นอีกคนที่ต้องการลูกแก้วดราก้อนบอลทั้ง 7 ลูกเพื่อนำไปขอพรที่ต้องการ และที่ดาวนาเม็กแห่งนี้ก็มีลูกแก้วทั้ง 7 ซ่อนอยู่ ขณะที่กลุ่มตัวละครฝ่ายดีอย่าง บลูม่า คุริริน โกฮัง เบจิต้า ก็มาที่ดาวนาเม็กเพื่อตามหาสิ่งเดียวกัน (ก่อนหน้านี้ดราก้อนบอลบนโลกมนุษย์ได้หายไป แต่พวกเขามีความจำเป็นต้องหาดราก้อนบอลทั้ง 7 มาให้ได้เพื่อขอพรให้เพื่อนๆ ที่ตายไปจากภาคก่อนๆ กลับฟื้นคืนชีพ) 

\'ฟรีเซอร์\' วายร้ายในดราก้อนบอล ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น \'ผู้นำ\' ในอุดมคติ

ตอนแรกกลุ่มตัวละครฝ่ายดีค้นหาและสะสมลูกแก้วได้ครบแล้ว แต่ก็ถูก “หน่วยรบพิเศษกีนิว” กองกำลังทหารมือดีของฟรีเซอร์ แย่งลูกแก้วไปหมด แม้สุดท้ายแล้วจะเกิดการต่อสู้กันหลายตลบ จนฝ่ายดีชนะฝ่ายวายร้ายได้ในที่สุด แต่มีหลายฉากก่อนหน้านั้น ในช่วงที่ฟรีเซอร์แย่งลูกแก้วมาได้สำเร็จ ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึง “ภาวะผู้นำ” ในตัวฟรีเซอร์ ที่เขาสามารถสั่งการและร่วมงานกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ดีเยี่ยมและน่าสนใจ

จุน นากาฮาระ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลและองค์กรแห่งวิทยาลัยธุรกิจ มหาวิทยาลัยริกเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้อธิบายถึงภาวะผู้นำของตัวละคร “ฟรีเซอร์” ไว้ว่า ตัวละครตัวนี้ มีบุคลิกความเป็นผู้นำที่กระหายความสำเร็จอย่างชัดเจน รวมถึงมีหลักการบริหารงานให้มุ่งสู่ความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจพูดได้ว่าเขาเป็นผู้นำที่ดีที่สุดที่ลูกน้องอยากร่วมงานด้วย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

สำหรับในมุมของการเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมในการบริหารงาน-บริหารคนในทีม จนสามารถทำงานตามเป้าหมายได้สำเร็จนั้น ศาสตราจารย์จุน อธิบายว่า ฟรีเซอร์มีทักษะในการบริหารงานที่ดีอยู่ 4 ข้อ ได้แก่ 

1. ฟรีเซอร์ ใช้คำสั่งที่รวดเร็วและชัดเจนกับผู้ใต้บังคับบัญชา

มีสามสิ่งที่สำคัญในการทำให้ผู้คนทำสิ่งที่คุณต้องการ นั่นคือ 1)ออกคำสั่งที่ชัดเจน 2)รักษาความสม่ำเสมอ และ 3)อธิบายตัวเองอย่างมีเหตุผล ซึ่งฟรีเซอร์เป็นผู้นำที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ทั้งหมดในการสั่งงานลูกน้อง ในกรณีที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงความสงสัยในงาน หรือเป้าหมายของงาน เขาจะชี้แจงเหตุผลในการออกคำสั่งอย่างสุภาพ 

โลกการทำงานในชีวิตจริง การที่ผู้นำสามารถสั่งการทีมได้อย่างกระชับและตรงประเด็นนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะนั่นจะทำให้เป็นเรื่องง่ายต่อความเข้าใจของลูกน้องทุกคน แม้แต่ในคนที่ยังไม่มีประสบการณ์ในงานมากนัก ย้อนมามองดูการบริหารงานของผู้บริหารในญี่ปุ่น ศาสตราจารย์จุนพบว่าพวกเขาประสบปัญหาอย่างมากในการสั่งงาน ผู้บริหารหลายคนชอบสั่งงานแบบพูดยาวๆ โดยไม่เข้าใจประเด็นจริงๆ จนทำให้ลูกน้องสับสน ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรกันแน่

\'ฟรีเซอร์\' วายร้ายในดราก้อนบอล ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น \'ผู้นำ\' ในอุดมคติ

2. ฟรีเซอร์ สร้างความเท่าเทียมกันระหว่างผู้นำและผู้ตาม

จุดเด่นอย่างหนึ่งของตัวละครตัวนี้คือ การสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างตัวเขาเองในฐานะผู้นำ และกองกำลังทหารของเขา เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกน้อง เขาใช้แนวทางการบริหารงานจาก “ล่างขึ้นบน” ไม่ใช่จาก “บนลงล่าง” เพื่อสนับสนุนให้ลูกน้องแต่ละคนทำงานได้แบบไม่ต้องเกร็ง และเข้ามามีส่วนร่วมในงานตั้งแต่ในระดับล่าง ใช้ความสุภาพกับทุกคนในทีม ไม่วางอำนาจใส่ลูกน้อง วิธีนี้เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้นำและลูกน้อง ทำให้ลูกน้องเข้าถึงผู้นำได้ง่าย มีปัญหาอะไรก็กล้าบอกกล้าปรึกษาได้โดยตรง

3. ฟรีเซอร์ให้ผลตอบรับเชิงบวกกับลูกน้องเสมอ ทำดีก็ชมเชย ทำพลาดก็ให้โอกาสแก้ตัว 

ฟรีเซอร์ มักจะชื่นชมลูกน้องที่ทำผลงานได้ดีหรือทำงานได้สำเร็จลุล่วง ยกตัวอย่างเช่น ในตอนที่กัปตัน Ginyu ค้นหา Dragon Ball ทั้งหมดมาให้เขาได้สำเร็จ ฉากนี้สะท้อนว่า เมื่อผู้นำระบุเป้าหมายของงานที่ต้องการ แล้วลูกน้องสามารถทำตามเป้าหมายนั้นได้ การเอ่ยคำพูดขอบคุณอย่างเอื้อเฟื้อจะทำให้ลูกน้องมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น สอดคล้องกับทฤษฎี LMX (Leader Member Exchange) ซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีการแลกเปลี่ยนกันตามบทบาทของระหว่างผู้นำและผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นลักษณะความสัมพันธ์ต่างตอบแทน โดยมีพื้นฐานมาจากความเชื่อใจและความไว้วางใจกัน 

ขณะเดียวกัน หากลูกน้องทำตามเป้าหมายไม่สำเร็จ หรือทำผิดพลาด แม้ฟรีเซอร์จะตำหนิผู้ใต้บังคับบัญชา แต่เขาก็ไม่ขึ้นเสียง แต่ใช้วิธีการเผชิญหน้ากับลูกน้องที่ทำผิดพลาดอย่างสงบ พูดคุยอย่างตรงมาตรงมาถึงข้อผิดพลาดและวิธีแก้ไข ลูกน้องจะตระหนักถึงข้อผิดพลาดของตนเองได้ และแทบไม่ต้องรอให้หัวหน้าสั่งซ้ำ แต่ลูกน้องจะอยากแก้ไขมันเองในทันที

ในโลกความเป็นจริง เมื่อผู้นำตำหนิพนักงาน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าถูกคุกคาม หากพนักงานถูกตะโกนและรู้สึกว่าถูกคุกคาม ประสิทธิภาพของพวกเขาจะลดลง ซึ่งจะทำให้การทำงานไปสู่เป้าหมายของทั้งทีมยากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นความคิดที่ดีสำหรับผู้จัดการที่จะเข้าหาพนักงานด้วยน้ำเสียงสงบ และอธิบายสิ่งที่พวกเขาทำผิดอย่างชัดเจน และควรให้โอกาสผู้ใต้บังคับบัญชาในการฟื้นตัวจากความผิดพลาดนั้น และกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง

\'ฟรีเซอร์\' วายร้ายในดราก้อนบอล ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น \'ผู้นำ\' ในอุดมคติ

4. ฟรีเซอร์ ไม่ใช่ชี้นิ้วสั่งลูกน้องอย่างเดียว แต่บางกรณีก็ลงมือทำงานเองด้วย

ฟรีเซอร์ใช้วิธีบริหารงานแบบ “เผชิญหน้ากัน” เช่น ในฉากที่มีการต่อสู้แย่งชิงดราก้อนบอล ฟรีเซอร์มักจะอยู่ในแนวหน้าของกองทัพ ทำหน้าที่ในการออกคำสั่งให้กองกำลังทหารทำงานตามแผน แต่เมื่อใดที่เห็นว่ามีช่องโหว่หรือลูกน้องไม่สามารถจัดการได้ทั่วถึง เขาก็จะลงไปทำงานนั้นด้วยตัวเอง (เข้าไปซัพพอร์ตทีมที่หน้างาน) ซึ่งตรงกับหลักบริหารของ “โคโนะสุเกะ มัตสึชิตะ” เจ้าของฉายา เทพเจ้าแห่งการบริหารจัดการ เขาเคยแนะนำไว้ว่า “ผู้นำควรมอบความไว้วางใจ แต่ต้องคอยจับตาดูให้ดีด้วย” 

ศาสตราจารย์จุน ชี้ว่า หน้าที่หนึ่งของผู้นำที่ดี คือ การค้นหาสมดุลที่เหมาะสมระหว่าง “งานที่จะมอบหมายให้ลูกน้องไปทำ” กับ “งานที่ต้องทำด้วยตนเอง” ต้องสังเกตผู้ใต้บังคับบัญชาของตนอย่างสม่ำเสมอและควบคุมให้มีประสิทธิภาพ มีตัวอย่างมากมายของผู้นำที่เอาแต่นั่งและชี้นิ้วออกคำสั่งอย่างเดียว ในขณะที่ไม่ลงมามีส่วนร่วมในงาน  อาศัยแต่ทฤษฎีและข้อมูลในกระดาษ แต่ไม่เคยใส่ใจที่จะทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมการทำงานจริงเลย ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นผู้นำที่ล้มเหลว 

ฟรีเซอร์ เป็นผู้นำที่เก่งและมีศักยภาพ แต่อาจไม่ใช่ผู้นำที่ลูกน้องทุกคนอยากทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม จากหลักการบริหารงานและบริหารทีมของฟรีเซอร์ข้างต้น แม้จะดูเหมือนว่าเป็น “ผู้นำที่ยอดเยี่ยม” แต่ในอีกมุมหนึ่ง ศาสตราจารย์จุนวิเคราะห์ว่า เขาอาจไม่ใช่ผู้นำที่ทุกคนอยากร่วมงานด้วย เนื่องจากบุคลิกภาพลึกๆ ของฟรีเซอร์นั้น เขาเป็นนักเผด็จการที่ชั่วร้าย แม้ภายนอกจะดูสุภาพ แต่เขาก็ปกครองลูกน้องของเขาด้วยความกลัวและการข่มขู่ (ตามเนื้อเรื่องในการ์ตูนคือ หากลูกน้องคนไหนไม่ฟัง ไม่ทำตามที่เขาพูดก็จะถูกฆ่าตาย)

อีกทั้งหากมองในทางจิตวิทยาจะพบว่าฟรีเซอร์ มีบุคลิกภาพแบบ Machiavellian (มีเล่ห์เหลี่ยม หลอกใช้คนอื่นเพื่อให้ตนเองมีอำนาจ ไม่แยแสต่อศีลธรรม) เขาจึงทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การกระทำ และพฤติกรรมของเขา ล้วนชี้ว่าเขาเป็นคนที่หลงตัวเองและเป็นโรคจิต เพื่อให้ผลผลิตของทีมเพิ่มขึ้น เขาพร้อมจะฆ่าทุกคนหากใครเลือกก้าวออกจากแถวหรือไม่ยอมทำตามคำสั่ง นั่นทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยในการทำงานกับหัวหน้าแบบนี้เลย

ทั้งนี้ นี่เป็นเพียงการวิเคราะห์ตามบุคลิกภาพของตัวละครในการ์ตูนเรื่องนี้เท่านั้น สำหรับโลกความเป็นจริงคงไม่มี “ผู้นำ” คนไหนที่จะเลวร้ายได้ขนาดนี้?