ผ้าทอใยกัญชงม้ง มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่เสี่ยงต่อการสูญหาย

ผ้าทอใยกัญชงม้ง มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่เสี่ยงต่อการสูญหาย

ผ้าทอใยกัญชงม้ง จังหวัดตาก ของมงคล มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ 2566 ที่เสี่ยงต่อการสูญหาย กับความเชื่อ "กัญชง" สะพานเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์ และโลกของบรรพบุรุษ ผูกพันกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเขาเผ่าม้ง ตั้งแต่เกิดจนตาย

ผ้าทอใยกัญชงม้ง มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2566 ด้านช่างฝีมือดั้งเดิม ที่เสี่ยงต่อการสูญหาย ต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน ของจังหวัดตาก

 

ผ้าทอใยกัญชงม้ง

กลุ่มชาติพันธุ์ม้งโชว์ผ้าทอใยกัญชงม้ง

 

การทอผ้าจากเส้นใยกัญชง สืบทอดต่อกันมาในกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง หรือชนเผ่าม้งทางภาคเหนือของประเทศไทย กัญชง เป็นพืชพื้นบ้านอยู่คู่กับวัฒนธรรมชาวเขาเผ่าม้ง ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย 

ด้วยมีความเชื่อว่า "กัญชง" เป็นเสมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์ โลกของเทพเจ้า และโลกของบรรพบุรุษ จึงเป็นของมงคล ชาวม้งรู้จักการปลูกกัญชงและสั่งสมภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากกัญชงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ 

 

ชาวเขาเผ่าม้งกับชุดประจำถิ่น

 

โดยการลอกเส้นใยจากเปลือกกัญชงมาทำเป็นสายสิญจน์ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ นำมาทอเป็นเสื้อผ้าใส่ในงานมงคลหรืองานปีใหม่ รวมถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รวมถึงรองเท้าของชาวม้งที่เสียชีวิตล้วนทำมาจากใยกัญชงทั้งสิ้น

 

ต้นกัญชงสำหรับทำผ้าทอใยกัญชงม้ง

ชาวเขาเผ่าม้งกำลังลอกเส้นใยจากเปลือกกัญชง

ชาวเขาเผ่าม้งกำลังทอผ้าจากใยกัญชง

เส้นใยจากกัญชง

การแต่งกายของม้ง หากจำแนกม้งในประเทศไทยตามลักษณะการแต่งกาย สามารถจำแนกได้ออกเป็นสองกลุ่มกล่าวคือ "ม้งเด๊อ" (ม้งขาว) และ "ม้งจั้ว" (ม้งเขียว)

 

ชาวเขาเผ่าม้งแต่งกายด้วยชุดจากผ้าทอใยกัญชงม้ง

ย้อนหลังไปประมาณสองทศวรรษ การแต่งกายของสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ส่วนของลายผ้าปักและสีของเสื้อผ้าทั้งสองกลุ่มในอดีตต่างผลิตเสื้อผ้าจากพืชที่เรียกว่า "กัญชง"

ผ้าทอใยกัญชงลายปักม้ง สะท้อนถึงวิถีชีวิตและเรื่องราวทางวัฒนธรรมของหญิงชาวม้งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นนับหลายร้อยปี การปักผ้าม้ง เพื่อใช้ติดประดับบริเวณต่าง ๆ ของเสื้อผ้า เป็นสิ่งที่ผู้หญิงเผ่าม้งจะต้องทำเป็นทุกคน 

และต้องทำใส่เอง และสำหรับสามี ลูกชายด้วย หญิงชาวม้งทุกคนจึงต้องร่ำเรียนวิชาปักผ้าจากผู้เป็นมารดาของตนตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบปี

 

กลุ่มชาติพันธุ์ม้งกำลังร่วมกันทำผ้าทอใยกัญชงม้ง

สำหรับในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก จะเป็นม้งขาว ความแตกต่างของม้งขาว คือ สีของพื้นชุดที่สวมใส่จะมีสีขาวซึ่งมาจากสายใยกัญชงที่ไม่ได้นำไปผ่านการย้อมสีใด ๆ แต่จะปักลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา

ปู่ย่าตาทวดสั่งสอนว่าผ้าใยกัญชงเป็นผ้าที่นิ่มดูดความชื้นจากร่างกายไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ เพราะทำมาจากธรรมชาติทั้งจากเนื้อผ้าและสีที่ย้อมล้วนจากสมุนไพรทุกคนในบ้านชาวม้งต้องสวมใส่

 

การออกแบบผ้าทอใยกัญชงม้ง

ลาวลายผ้าทอใยกัญชงม้ง

ผ้าทอใยกัญชงทอขึ้นจากสายใยกัญชงโดยทอให้เป็นผืน หลังจากทอเป็นผืนเสร็จแล้ว ชนเผ่าม้งจะทำการขึ้นลวดลายศิลปะ มีทั้งการปัก การเย็บ และการเขียนเทียน ผ้าปักม้งส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้ายทอมือ และผ้าใยกัญชง 

เทคนิคที่ใช้ในการปักผ้าม้งโดยหลักจะมี 2 แบบคือ ปักเป็นกากบาทคล้ายลายปักครอสติช และอีกแบบหนึ่ง คือ การปักแบบเย็บปะติด

ลวดลายที่แสดงเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมของชาวม้ง คือ การปักลายก๊ากื้อ (ค้างคื่อ) หรือ ลายก้นหอย ผู้ปักต้องใช้ทั้งฝีมือ ต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญ ใช้ความละเอียดและความอดทนมากเป็นพิเศษจึงจะปักลวดลายนี้ได้สำเร็จ ประณีตและออกมาสวยงาม

 

ผ้าทอใยกัญชง ลายก้นหอย (ค้างคื่อ)

ก๊ากื้อ หรือ ค้างคื่อ เป็นภาษาชนเผ่าม้ง ความหมายในภาษาไทยหมายถึง "ก้นหอย" เป็นลายหลักที่สำคัญที่สุดเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและมีความชัดเจนที่สุดของชาวม้ง

เป็นลายโบราณดั้งเดิมที่สืบทอดมาจาก บรรพบุรุษของม้งหลายชั่วอายุคน ลายนี้พบได้ทั้งในงานปักแบบเจี๋ยหรือเย็บปะ และงานเขียนเทียนของชาวม้งลาย 

 

ผ้าทอใยกัญชง ลายกงจักร (บลาย)

ผ้าทอใยกัญชง ลายเคี้ยวคด (เฉ)

ผ้าทอใยกัญชง ลายตาถึง (ขอมัวชือ)

 

ลายก๊ากื้อ หรือ ค้างคื่อมีคติความเชื่อของชาวม้งแฝงอยู่ ซึ่งเชื่อว่ามีที่มาจากหอยสังข์ ซึ่งมักถูกนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญ ๆ ทางศาสนา ลักษณะการวนของก้นหอยเปรียบเสมือนการโคจรของพระอาทิตย์ พระจันทร์และดวงดาว เอกลักษณ์ลายก้น หอยนี้จึงเสมือนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบนผืนผ้าปักที่สะท้อนชนเผ่าม้ง และยังคงมีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

ผ้าทอใยกัญชง ลายนาคราช (โบล้งชั้ว)

การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของผ้าทอใยกัญชง จังหวัดตาก

  • ผ้าทอใยกัญชง ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับจังหวัด ปี พ.ศ. 2560 
  • ผ้าทอใยกัญชง ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับชาติ ปี พ.ศ. 2566

 

 

 

อ้างอิง-ภาพ : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก , มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม