‘ใส่เสื้อผ้าซ้ำ’ แฟชั่นแต่งตัวแบบยั่งยืน ช่วยลดโลกร้อน - มีเงินเก็บ

‘ใส่เสื้อผ้าซ้ำ’ แฟชั่นแต่งตัวแบบยั่งยืน ช่วยลดโลกร้อน - มีเงินเก็บ

ใส่ “เสื้อผ้า” ตัวโปรดซ้ำบ่อยๆ มีประโยชน์มากกว่าที่คิด เพราะหลักการ “ใส่ - ซัก - ซ้ำ” นอกจากจะช่วยประหยัดใช้จ่ายได้แล้ว ยังสามารถช่วยลด “ภาวะโลกร้อน” ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อผู้คนพยายามเลือกโพสต์แต่ด้านที่ดี มุมที่สวยที่สุดของตัวเองลงใน “โลกสังคมออนไลน์” แม้แต่ “เสื้อผ้า” ตัวไหนที่เคยใส่ถ่ายรูปแล้วก็เอามาใส่ซ้ำไม่ได้ เพราะกลัวคนทักว่า “ใส่เสื้อผ้าซ้ำ” จนสูญเสียความมั่นใจในตนเอง ขณะที่สินค้าแฟชั่นต่างมีออกมาอยู่เรื่อยๆ หลายคนเผลอใจอดซื้อเสื้อผ้าคอลเลกชันใหม่อยู่ร่ำไป ทำให้เกิดเสื้อผ้าชุดเดิมๆ ถูกแขวนไว้อยู่ในตู้เสื้อผ้า และไม่เคยถูกหยิบมาใส่อีกเลย แม้ว่าจะใส่ไปแค่ครั้งเดียว ซึ่งเราอาจจะลืมไปแล้วว่า เสื้อผ้าสามารถใส่ซ้ำได้ และดีต่อโลกอีกด้วย

 

  • มนุษย์ทิ้งเสื้อผ้าเป็นว่าเล่น

การสำรวจโดย WRAP กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พบว่าในแต่ละปีจะมีเสื้อผ้าของชาวอังกฤษประมาณ 25% ที่ไม่ถูกหยิบมาใส่ นอกจากนี้คนอังกฤษถึง 61% ไม่ใส่ชุดปาร์ตี้วันคริสต์มาสซ้ำ และอีก 49% รู้สึกประหม่าที่จะใส่ชุดซ้ำเข้าออฟฟิศ ซึ่งเสื้อผ้าถูกทิ้งไว้อยู่ในตู้นั้นมีมูลค่ารวมกันถึง 1,600 ล้านปอนด์ หรือราว 71,850 ล้านบาท

การศึกษาโดย Barnardos UK องค์กรการกุศลช่วยเหลือเด็ก และเยาวชนด้วยการขายเสื้อผ้ามือสอง พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วเสื้อผ้าจะถูกสวมใส่เพียง 7 ครั้งก่อนที่จะถูกทิ้ง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าประชากรโลกจะแตะ 8,500 ล้านคน ภายในปี 2573 และถ้าหากเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลงนิสัยการบริโภคเสื้อผ้า คนทั่วโลกจะซื้อเสื้อผ้ารวมกันเพิ่มขึ้น 63% เป็น 102 ล้านตันต่อปี

มาร์ค ซัมเนอร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่าเสื้อผ้าที่ถูกลืมเหล่านี้ แลกมาด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อม “ทรัพยากรในการผลิตเสื้อผ้า ทั้งพลังงาน น้ำ สารเคมี รวมถึงแรงงานต่างๆ ถูกใช้ไปอย่างสูญเปล่า”

 

 

  • อุตสาหกรรมแฟชั่นทำลายโลก

พาฉัตร ทิพทัส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม ให้สัมภาษณ์กับ ThaiPBS เกี่ยวกับนิทรรศการ “ช้อปล้างโลก” ที่ตีแผ่ข้อมูลชวนช็อกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าว่า “ฟาสต์แฟชั่น” เป็นสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งทอ 1 กิโลกรัม จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 20 กิโลกรัมคาร์บอน และทั้งอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปีมากถึง 3.3 พันล้านตัน สูงเท่ากับอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทวีปยุโรปทั้งทวีปในแต่ละปี 

ในการปลูกฝ้ายเพื่อผลิตเสื้อยืดเพียง 1 ตัวจะต้องใช้น้ำถึง 2,700 ลิตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่มนุษย์สามารถดื่มได้ถึง 3 ปี 8 เดือน ทำให้เกิดการคิดค้นเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ขึ้น ซึ่งนอกจากจะประหยัดการใช้น้ำได้แล้ว ยังใส่สบาย น้ำหนักเบา ยับยาก แถมทำความสะอาดง่าย แต่ก็ต้องแลกกับคุณภาพที่ลดลง เปื่อยง่าย เมื่อซักในเครื่องซักผ้า อาจมีโอกาสหลุดลุ่ยกลายเป็น “ไมโครไฟเบอร์” ที่มีขนาดเล็ก  หากซักเสื้อผ้าในถังขนาด 7 กิโลกรัม จะปล่อยไมโครไฟเบอร์ที่มีขนาดเล็กกว่า 500 ไมครอน มากถึง 31.5 ล้านชิ้น 

นอกจากนี้ขยะเสื้อผ้าถึง 85% ในสหรัฐจะถูกฝังกลบ จึงทำให้ไมโครไฟเบอร์ปนเปื้อนในพื้นดิน ปัจจุบันไมโครไฟเบอร์กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของโลก ที่สามารถพบเจอได้ในทุกพื้นที่ตั้งแต่แหล่งน้ำธรรมชาติ ไปจนถึงก้อนเมฆ และแม้แต่ในสิ่งมีชีวิตต่างๆ มีการประเมินว่า 25% ของอาหารทะเลที่มนุษย์บริโภคมีไมโครไฟเบอร์ผสมอยู่

  • การใส่เสื้อผ้าซ้ำเป็นเรื่องปกติ

หนึ่งในวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมแฟชั่นได้คือ การหันมาใส่เสื้อผ้าซ้ำ ในตอนนี้เหล่าแฟชั่นไอคอน ทั้งแคเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (เคท มิดเดิลตัน), เคต แบลนเชตต์ นักแสดงหญิงชื่อดัง และ มิเชลล์ โอบามา อดีตสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐ ต่างหันมาใส่ชุดออกงานซ้ำๆ โดยมีการมิกซ์แอนด์แมทช์ หรือดัดแปลงชุดให้ดูเป็นชุดใหม่อยู่ตลอด ซึ่งถือเป็นการแต่งตัวอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ประโยชน์จากเสื้อผ้าที่มีอยู่ในตู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อีกทั้งการสวมเสื้อผ้าเดิม 50 ครั้งต่อปี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 400% ต่อชิ้นต่อปี ที่สำคัญยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้อีกด้วย แถมยังช่วยให้คุณเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการจับคู่เสื้อผ้าใหม่ๆ จากเสื้อผ้าเดิมที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการหยิบเสื้อผ้าในตู้ออกมาใส่มากยิ่งขึ้น

การใส่เสื้อผ้าซ้ำเป็นเรื่องปกติ อย่าได้กังวลกับสายตา หรือคำพูดของเพื่อนร่วมงานที่อาจจะทักว่าทำไมถึงใส่เสื้อผ้าซ้ำ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เราสามารถใส่เสื้อซ้ำได้ เพราะเรามีนวัตกรรมที่เรียกว่า “เครื่องซักผ้า” แถมยังได้ช่วยโลก และมีเงินเหลืออีกด้วย

 

  • ทำให้เสื้อผ้าในตู้กลายเป็นเสื้อตัวโปรด

ท่ามกลางเสื้อผ้าชุดใหม่ๆ ในตู้เสื้อผ้า มักจะมีเสื้อผ้าตัวโปรดที่ใส่เสื้อบ่อยกว่าชุดอื่นๆ ทั้งที่เสื้อผ้าตัวนั้นอาจจะไม่ได้ราคาแพงที่สุด แต่อาจมี “คุณค่าทางจิตใจ” มากกว่า ผู้คนมักจะเก็บชุดที่ใส่แล้วโชคดี หรือมีความทรงจำดีๆ เอาไว้เสมอ โดยเสื้อผ้าเหล่านี้อาจจะเป็นเสื้อผ้าชุดเก่งที่ใส่แล้วได้งานทำ คนสำคัญซื้อให้ เพื่อเก็บเอาไว้ในโอกาสสำคัญ

งานวิจัยของซัมเนอร์พบว่า เราไม่ได้เลือกใส่เสื้อผ้าสักชุดเพียงเพราะว่ามันสวย แต่ขึ้นอยู่กับว่ามันสร้างความรู้สึก และมอบประสบการณ์ที่ดีให้เราขณะที่สวมใส่อีกด้วย

นอกจากเสื้อผ้าจะสร้างประสบการณ์ที่ดีแล้ว งานวิจัยของซัมเนอร์ยังพบว่า เสื้อผ้าสร้างความทรงจำแย่ๆ ได้อีกด้วย เช่นผู้หญิงคนหนึ่งทีมวิจัยของเขาที่มีเพิ่งหย่าร้างกับสามี เมื่อเธอจัดการกับเอกสารเรียบร้อย เธอก็ขนเสื้อผ้าของอดีตสามีไปโยนทิ้ง แล้วลงมือจัดเสื้อผ้าใหม่ทันที

ความเห็นของคนรอบข้างก็มีผลต่อการมอบตำแหน่งเสื้อผ้าตัวโปรดด้วยเช่นกัน ซัมเนอร์ระบุว่า “เวลาจะเลือกเสื้อผ้าสักชุด ผู้คนมักจะถามความเห็นของคนอื่นเสมอ เมื่อคุณได้รับคำชมจากคนอื่น ว่าชุดนี้เหมาะกับคุณ ใส่แล้วดูดี เสื้อผ้าก็จะเป็นเครื่องช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้ผู้สวมใส่ แต่ถ้าคุณใส่มันแล้ว มีคนพูดว่าเสื้อผ้าชุดนี้ไม่โอเค มันก็จะถูกกองไว้หลังตู้ และไม่หยิบมันมาใส่อีกเลย”

แม้ว่าในทางวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเสื้อผ้าตัวไหนจะกลายเป็นเสื้อผ้าตัวโปรดของแต่ละคน จนอยากหยิบมาใส่บ่อยๆ แต่ซัมเนอร์กล่าวว่า เราสามารถเพิ่มโอกาส

ซัมเนอร์จะบอกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะคาดเดาได้ว่าเสื้อผ้าชิ้นหนึ่งจะกลายเป็นชิ้นโปรดก่อนที่คุณจะซื้อหรือไม่ แต่คุณยังสามารถเพิ่มโอกาสให้คุณรู้สึกชอบเสื้อผ้าชิ้นนั้นได้ด้วยการสร้างความรู้สึกที่ดีกับเสื้อผ้า เมื่อใช้เวลากับมันมากพอ จะเกิดความเชื่อมโยงทางอารมณ์จนกลายเป็นความคุ้นเคย และเริ่มต้นที่จะรักมัน จนไม่อยากจะทิ้งไป ถึงมันจะเป็นเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นที่มีอายุการใช้งานสั้นก็ตาม คล้ายกับ “น้องเน่า” ตุ๊กตาตัวเก่า หรือผ้าห่มผืนเก่า ที่ยังคงมีอยู่ติดกายแม้สภาพของมันจะเปื่อยยุ่ยแต่ก็ทิ้งไม่ลงอยู่ดี

อย่างเช่น ผ้าเดนิมจะนุ่มขึ้น และเข้ารูปมากขึ้นเมื่อผ่านการซัก และใช้งานซ้ำๆ ซัมเนอร์ อธิบายว่านี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเรามักจะใส่กางเกงยีนอยู่บ่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

“ความรู้สึกทางอารมณ์พัฒนาขึ้นอยู่ตลอดเวลา คุณจำเป็นต้องใช้เวลากับเสื้อผ้า ขณะเดียวกันเสื้อผ้าก็ต้องใช้งานได้หลากหลายโอกาส ถึงจะคุ้มค่า” ซัมเนอร์ กล่าวสรุป


ที่มา: BBCCosmopolitanThe Active, The EthicalistThe Wall Street Journal

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์