'หูฟัง' ตัวช่วยพนักงานตัดเสียงดังน่ารำคาญในออฟฟิศ

'หูฟัง' ตัวช่วยพนักงานตัดเสียงดังน่ารำคาญในออฟฟิศ

พนักงานออฟฟิศสวม “หูฟัง” เพื่อแสดงว่าต้องการใช้สมาธิ ไม่อยากให้เพื่อนร่วมงานชวนคุย ผลวิจัยชี้เสียงดังในที่ทำงานส่งผลต่อการทำงาน ให้เกิดความเครียด หงุดหงิด 

หูฟัง” และ “เฮดโฟน” กลายเป็นสิ่งที่เหมือนจะขาดไม่ได้สำหรับพนักงานออฟฟิศ ใช้สำหรับคุยงาน บ้างก็ฟังพอดแคสต์แก้เบื่อระหว่างวัน หรือฟังเพลงโปรด เพิ่มสมาธิในการทำงาน ตัดขาดจากโลกภายนอก หรือบางทีแค่ใส่หูฟังเพราะไม่อยากได้ยินเสียงหัวหน้าบ่น

ปัจจุบันเทคโนโลยีหูฟังพัฒนาไปไกล มีหลากหลายรูปแบบให้เลือก ทั้งมีสาย ไร้สาย อินเอียร์ แบบครอบศีรษะ อีกทั้งยังมีฟังก์ชันตัดเสียงรบกวนรอบข้าง ทำให้ผู้ใช้งานสร้าง “โลกส่วนตัว” ของตนเองได้ดียิ่งขึ้น เพราะงานส่วนใหญ่ในปัจจุบันต้องการใช้สมาธิ ดังนั้นคงจะทำงานได้ไม่ดีนัก หากต้องคอยฟังเพื่อนร่วมงานชวนคุยตลอดทั้งวัน จนงานไม่เดิน ซึ่งหลายคนมองเป็น “มลพิษทางเสียง

 

  • เสียงดังทำงานไม่เดิน

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เมื่อปี 2021 ระบุว่า เสียงในสำนักงานแบบเปิดโล่งมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งความเป็นอยู่ของพนักงาน โดยเสียงรบกวนจะทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบเพิ่มขึ้น 25% และความเครียดทางสรีรวิทยาเพิ่มขึ้น 34%

นอกจากจะทำให้พนักงานเครียดและหงุดหงิดมากขึ้นแล้ว เสียงดังในออฟฟิศยังลดประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย การวิจัยเมื่อปี 2020 แสดงให้เห็นว่าพนักงานที่อยู่ในออฟฟิศตามลำพังที่มีเสียงเบากว่าออฟฟิศแบบเปิดโล่งที่มีเสียงดังถึง 14%

อีกทั้งงานวิจัยอีกชิ้นในปี 2005 ระบุว่า หากถูกขัดจังหวะระหว่างการทำงานจากการชวนคุยของเพื่อนร่วมงาน จะต้องใช้เวลาประมาณ 23 นาที ถึงจะกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าหากมีเพื่อนร่วมงานเป็นขาเม้าท์ด้วยแล้ว อาจจะถูกขัดจังหวะตลอดทั้งวัน จนไม่มีสมาธิในการทำงานตลอดทั้งวัน

เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ไม่มีห้องทำงานส่วนตัว ทำงานอยู่ในออฟฟิศขนาดใหญ่ที่มีที่นั่งติด ๆ กัน การสวมหูฟังทั้งวันเป็นการส่งสัญญาณว่าสภาพแวดล้อมในสำนักงานมีเสียงดังและรบกวนสมาธิเกินไป และแสดงออกว่าไม่ต้องการให้ใครมารบกวนพวกเขา

ในปี 2021 ในการพิจารณาคดีการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงานในสหราชอาณาจักร ศาลสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายให้แก่พนักงานที่มีอาการวิตกกังวลจำนวน 10,000 ดอลลาร์ หลังจากเธอยื่นฟ้องในการข้อหาเลือกปฏิบัติในการทำงาน เพราะเจ้านายห้ามให้พนักงานคนดังกล่าวสวมหูฟังระหว่างการทำงานได้ ทั้งที่การฟังเพลงสามารถช่วยลดความวิตกกังวลของเธอได้

บางบริษัทออกกฎไม่ให้พนักงานสวมหูฟังในเวลาทำงาน ซึ่งทำให้พนักงานบางคนรู้สึกถูกลิดรอนสิทธิ จนหลายคนเลือกลาออกจากงาน แม้ว่าหูฟังจะไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้ แต่สามารถสร้างความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ เพราะเมื่อพนักงานไม่สามารถควบคุมเสียงรบกวนได้ พวกเขาจะสูญเสียความเป็นส่วนตัว หากสมองถูกสิ่งเร้ากระตุ้นมากเกินไปอาจทำให้พนักงานเหล่านี้เกิดความคับข้องใจ ความโกรธ และท้ายที่สุดพวกเขาอาจจะลาออกจากงานได้เช่นกัน

  • ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

ปัจจุบันหัวหน้าต่างเรียกให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ หมายมั่นให้เกิดการเพิ่มปฏิสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันต้องแลกมาด้วยการสูญเสียความสามารถในการมุ่งเน้นและมีสมาธิ แต่พอมีสิ่งรบกวนสมาธิทำให้พนักงานมีสมาธิได้ยาก ก็หมดอารมณ์ที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจงานต่าง ๆ ผลลัพธ์ที่ได้คือความเครียดและข้อผิดพลาดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพลดลง

เมื่อพนักงานไม่มีสมาธิกับงาน ความปรารถนาที่จะมีปฏิสัมพันธ์และทำงานร่วมกับผู้อื่นก็ลดลง

มีวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายในออฟฟิศที่บ่อยขึ้น จะช่วยปรับปรุงการสื่อสารและการทำงานร่วมกันในงาน ความพึงพอใจในงาน และการสนับสนุนทางสังคมระหว่างคนในทีมได้ดียิ่งขึ้น เพราะสภาพแวดล้อมทางสังคมของมีบทบาทสำคัญต่อความสามารถในการควบคุมสถานการณ์และสร้างแรงจูงใจ

เมื่อพนักงานหยิบหูฟังขึ้นมาสวม ทำให้มีโอกาสในการสนทนากับเพื่อนร่วมงาน แชร์ไอเดีย และสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมน้อยลง จนแทบไม่ต่างจากการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานผ่านการทำงานจากที่บ้านด้วยซ้ำ ที่เจอหน้ากันแค่เฉพาะตอนประชุมออนไลน์เท่านั้น

นอกจากนี้ การใส่หูฟังของพนักงาน ก็สร้างปัญหาให้เพื่อนร่วมงานและหัวหน้าด้วยเช่นกัน 

เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าล้วนเคยยกมือโบกต่อหน้าพนักงานที่ใส่หูฟังอยู่และกำลังเพลิดเพลินกับเสียงเพลง จนไม่ได้ยินเสียงเรียกของพวกเขา ซึ่งบางทีก็ได้ยิน แต่จงใจทำเมิน แถมเปิดเสียงเพลงดังจนได้ยินมาถึงคนรอบข้างด้วยซ้ำ ในบางครั้งพนักงานบางคนมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการใช้หูฟัง จนเผลอส่งหัวเราะออกมาเสียงดังระหว่างที่กำลังดูคลิปไวรัลในอินเทอร์เน็ต ในขณะที่คนอื่นกำลังทำงาน 

 

  • การแก้ไขปัญหา

ยุคหลังโควิด-19 หลายบริษัทเลือกใช้วิธีการทำงานแบบผสมผสาน ให้พนักงานทำงานที่บ้านสลับกับการเข้าออฟฟิศ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้พนักงานอยากมาที่ทำงานเพื่อมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและทำงานร่วมกันแบบเห็นหน้ากับเพื่อนร่วมงาน พร้อมรักษาความสมดุลกับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

องค์กรสามารถช่วยให้พนักงานปรับวิธีการใช้ชีวิตในออฟฟิศได้โดยไม่ต้องพึ่งหูฟังได้หลายวิธี ตั้งแต่การปรับที่นั่งและการแบ่งโซนภายในสำนักงาน เพิ่มพื้นที่ห้ามใช้เสียงสำหรับพนักงานที่ต้องการความสงบ ปราศจากเสียงรบกวน 

LinkedIn ปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมดของสำนักงานในซานฟรานซิสโกนับตั้งแต่เริ่มเกิดโรคระบาด โดยเพิ่มโซนทำงานต่าง ๆ มากมาย ทั้งพื้นที่ส่วนตัว โซนงดใช้เสียง โซนส่งเสริมการทำงานร่วมกันและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสำหรับคนในองค์กร

การสร้างกลยุทธ์การสื่อสารภายในทีมอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่ เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีสมาธิ ลดโอกาสการใส่หูฟังเป็นเวลานาน และเพิ่มโอกาสในการแบ่งปันความรู้ การแก้ปัญหา และการโต้ตอบในทีม ด้วยการกำหนดช่วงเวลาพูดคุยของคนในทีม ในบางทีมอาจเกิดขึ้นทุกชั่วโมง ขณะที่บางทีมอื่นอาจเกิดขึ้นวันละไม่กี่ครั้ง แล้วแต่การตกลงกัน

 

ที่มา: TelegraphThe ConversationThe Wall Street Journal