งานไม่หนัก-เงินดี มีไหม? ‘Lazy-Girl Jobs’ เทรนด์คนทำงานรุ่นใหม่

งานไม่หนัก-เงินดี มีไหม? ‘Lazy-Girl Jobs’ เทรนด์คนทำงานรุ่นใหม่

เทรนด์การทำงานของคนรุ่นใหม่ อยากได้งานไม่หนัก แต่ขอเงินดีๆ นี่คือ “Lazy-Girl Jobs” เทรนด์ใหม่มาแรงจาก “TikTok” ที่เป็นการปฏิวัติคุณภาพชีวิต และสภาพแวดล้อมที่ดีของพนักงาน ด้วยการขอทำงานโดยไม่กระทบต่อคุณค่าและคุณภาพชีวิต สร้าง “Work Life Balance” ได้ตามต้องการ

Key Points: 

  • Lazy-Girl Jobs เป็นเทรนด์การทำงานของชาวเจน Z ที่อยากได้งานมั่นคง ให้เงินดี แต่เวลาทำงานไม่มากเกินไป มีเวลาให้ได้พักผ่อน สร้างสมดุลให้ชีวิต
  • เทรนด์การทำงานต่าง ๆ ที่เกิดหลังยุคโควิด รวมถึง Lazy-Girl Jobs เป็นการ “ปฏิวัติเล็ก ๆ” ของเหล่าพนักงาน เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี
  • บริษัทส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะมองว่าพนักงานที่ไม่ทุ่มเทให้แก่งาน 100% เป็นคนขี้เกียจ และหากบริษัทต้องการปลดพนักงาน คนที่อยู่ใน Lazy-Girl Jobs จะโดนเป็นกลุ่มแรก

 

คนรุ่นใหม่หวงแหนชีวิตส่วนตัวกันมากขึ้น อยากมีเวลาสำหรับใช้ชีวิตและผ่อนคลายมากกว่าต้องทุ่มเทกายและใจให้งาน ทำให้ในระยะหลังเกิดเทรนด์การทำงานที่รักษาสมดุล ระหว่างชีวิตและการทำงาน เช่น “Quiet Quitting” ที่ไม่ทำงานหนักจนเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดภาวะหมดไฟ

ล่าสุดเกิดเทรนด์การทำงานใน TikTok ที่เรียกว่า “Lazy-Girl Jobs” เป็นคำเรียกงานที่มั่นคงและปลอดภัย ทำงานจากที่ใดก็ได้ ได้ค่าแรงที่สมเหตุสมผลกับงานโดยไม่กระทบต่อคุณค่าและคุณภาพชีวิตของพวกเขา ส่งผลให้ชาวเจน Z สร้าง Work Life Balance ได้ตามต้องการ แต่ไม่ใช่การขี้เกียจ พวกเขายังคงทำงานเสร็จตามเวลา ซึ่งคำนี้ถูกบัญญัติโดย กาเบรียล จัดจ์ ติ๊กต็อกเกอร์ โดย #lazygirljob มีผู้เข้าชมมากกว่า 25 ล้านครั้ง

  • Lazy-Girl Jobs เป็นเรื่องของทุกเพศ

Lazy-Girl Jobs มีรากฐานแนวคิดมาจากเทรนด์ที่ให้ผู้หญิงรู้สึกผ่อนคลายจากความเหนื่อยหน่ายที่ต้องทำความคาดหวังของสังคม เช่น การนอนเน่าบนเตียง (Bed Rotting) ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กินข้าว เล่นโซเชียลมีเดีย บำรุงผิวพรรณ หรือนอนมองเพดานอยู่บนเตียงตลอดทั้งวัน รวมถึงเทรนด์ Girl Dinners ที่ผู้หญิงจะกินตามใจปาก ทั้งขนมและของหวานแทนอาหารมื้อหลักอย่างเต็มคราบ

อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่า “ผู้หญิง” โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็น “แม่” แล้ว มักจะถูกกีดกันในที่ทำงานจากลักษณะบุคลิกภาพของพวกเธอ สุขภาพ รวมถึงสิทธิ์การลาคลอดบุตร ที่ผู้ชายบางคนมองว่าเป็นอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น  ทำให้พนักงานหญิงจำนวนมากรู้สึกว่าจำเป็นต้องผลักดันตัวเองให้หนักขึ้นหรือทำงานนานกว่าผู้ชาย ส่งผลให้ผู้หญิงมีภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้ามากขึ้น

หัวใจหลักของเทรนด์เหล่านี้จึงเป็นการทลายค่านิยมของสังคมที่บอกว่า การมีความสุขกับชีวิตจะทำให้พวกคุณเป็นพนักงานที่ไม่ดี

ไม่เพียงแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่เผชิญปัญหาดังกล่าว ผู้ชายและกลุ่ม LGBTQ+ ต่างเผชิญหน้ากับปัญหาในที่ทำงานเช่นกัน รายงาน “Global Workplace” ของ Gallup บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการ ทำการสำรวจผู้ใหญ่วัยทำงานมากกว่า 120,000 คนทั่วโลก ระบุว่าพนักงาน 6 ใน 10 คน ใช้ความพยายามไม่ถึงขีดจำกัดที่พวกเขามีในการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่สบายใจในการทำงานมากที่สุด

นอกจากนี้ พนักงานผู้ชายจำนวนมากเริ่มโพสต์บนแพลตฟอร์มแบบไม่ระบุตัวตนมากขึ้น เช่น กลุ่ม "ต่อต้านการทำงาน" บน Reddit เว็บบอร์ดสาธารณะ เพื่อบ่นและระบายถึงปัญหาในการทำงาน ทั้งเนื้องาน วิธีการทำงาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ตลอดจนค่าจ้าง และความรู้สึกผิดที่จะใช้วันหยุด

“การแยกชีวิตส่วนตัวออกจากงานเป็นเรื่องที่ควรทำ ไม่เช่นนั้นทุกอย่างจะปนเปกันไปหมด แต่ไม่ใช่ว่าเราจะทิ้งงานไปเลย เรายังคงทำงาน แต่แค่ไม่ต้องอยู่กับมันทั้งหมด 100%” จัดจ์กล่าวในวิดีโอไวรัลของเธอ

จัดจ์ตั้งใจใช้คำว่า “Lazy” (ขี้เกียจ) แทนปรากฏการณ์ดังกล่าว เพื่อประชดสังคมที่มักจะมองคนที่ให้ความสำคัญกับ Work Life Balance ว่าเป็นคนขี้เกียจ และชื่นชมคนที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำว่า เป็นคนขยัน 

ดังนั้น คนที่ทำตามเทรนด์ Lazy-Girl Jobs จึงไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นคนขี้เกียจหรือจำกัดไว้แค่ผู้หญิงเท่านั้น

 

  • Lazy-Girl Jobs ในมุมมองบริษัท

มาร์ค ซีเนเดลลา ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์หางาน Ladders กล่าวไว้ บริษัทต่าง ๆ รับรู้ถึงเทรนด์นี้และเริ่มเพ่งเล็งว่ามีสาวขี้เกียจอยู่ในองค์กรของตนเองหรือไม่

“เมื่อบริษัทจำเป็นต้องปลดพนักงานออก กลุ่ม Lazy-Girl Jobs จะเป็นกลุ่มแรกที่ตกงาน เพราะมองว่าพวกเขาไม่พัฒนาตัวเอง ไม่ก้าวหน้าในอาชีพ” ซีเนเดลลาให้ข้อมูลกับสำนักข่าว Insider

“ตอนนี้บริษัทในสหรัฐเริ่มฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ โดยวัดผลลัพธ์และผลผลิตที่พนักงานทำได้ อันที่จริงบริษัทต้องยอมรับว่าการที่พนักงานต่อต้านก็มาจากวิธีปฏิบัติขององค์กรที่มีต่อพนักงาน” นี่จึงแสดงให้เห็นว่าบริษัทยังคงยึดมั่นกับค่านิยมการทำงานแบบเดิม ที่เน้นการทำงานหนักมากกว่าให้ความสำคัญกับการการสร้างสมดุลของพนักงาน

ถึงจะเป็นเช่นนั้น แต่ซีเนเดลลาแนะนำว่า พนักงานไม่ควรสร้างความคาดหวังแก่นายจ้าง และไม่ต้องทุ่มเททั้งชีวิตให้กับงาน โดยระบุว่า “ไม่ใช่เรื่องผิดที่คุณจะขี้เกียจบ้าง แต่คุณไม่ควรทำให้ตัวเองขี้เกียจ คุณควรทำตัวเองให้ดีขึ้นเพื่อตัวคุณเอง ไม่ใช่เพื่อหัวหน้าของคุณ”

ขณะที่ ไมค์ ซัลเกโร ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ ButcherBox บริษัทส่งเนื้อสัตว์แบบสมัครสมาชิก กล่าวว่าบริษัทควรยอมรับว่าไม่มีพนักงานคนไหนทำงานเต็มที่ 100% ตลอดเวลา และนายจ้างไม่ควรคาดหวังให้เป็นเช่นนั้น

 

  • การตอบโต้ของพนักงาน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตช้าลง และพบความสนใจใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ขณะที่รูปแบบการทำงานเปลี่ยนการทำงานระยะไกล ซึ่งการทำงานแบบนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานแต่อย่างใด เหล่าพนักงานจึง “ติดใจ” กับการทำงานและการใช้ชีวิตแบบนี้ จนไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตแบบยุคก่อนโควิดอีกต่อไป

ดังนั้นเทรนด์การทำงานต่าง ๆ ที่เกิดหลังยุคโควิดจึงเป็นการ “ปฏิวัติเล็ก ๆ” ของเหล่าพนักงาน เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี

แดเนียล โรเบิร์ตส์ ผู้เรียกตนเองว่าเป็นผู้เชี่ยวด้านการต่อต้านอาชีพ (Anti-career Coach) กล่าวกับสำนักข่าว NBC News ว่า “การทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว ตอนนี้เราทำงานได้เท่าเดิมด้วยเวลาที่น้อยลง ดังนั้นการบังคับให้พนักงานนั่งอยู่หน้าจอทั้งวันไม่ใช่เรื่องที่ดี นายจ้างควรไว้ใจและปล่อยให้พวกเขาทำงานด้วยวิธีของพวกเขา”

ขณะที่ ทินา วูดส์ ซีอีโอของ Business for Health กลุ่มพันธมิตรที่ช่วยให้สุขภาพของพนักงานดีขึ้น เปิดเผยว่า นายจ้างต้องสร้างรูปแบบการทำงานที่ดีต่อสุขภาพของพนักงาน โดยไม่ต้องรอให้พวกเขาเผชิญกับความเหนื่อยหน่ายหรือความเครียดเรื้อรังก่อน ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน 

โรเบิร์ตส์ยังกล่าวอีกว่า การปล่อยให้พนักงานได้ใช้ชีวิตตามที่พวกเขาต้องการจะช่วยให้พวกเขาได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น และเป็นการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้นานขึ้นอีกด้วย

 

ที่มา: Inc.IndependentInsiderNBC NewsThe GuardianThe Wall Street Journal