‘บาร์บี้’ ตุ๊กตาที่อยากให้เด็กผู้หญิงกล้าฝัน และโอบรับความหลากหลาย

‘บาร์บี้’ ตุ๊กตาที่อยากให้เด็กผู้หญิงกล้าฝัน และโอบรับความหลากหลาย

หนึ่งในของเล่นที่อยู่คู่กับเด็กผู้หญิงมานานหลายยุคหลายสมัย คงหนีไม่พ้นตุ๊กตา “บาร์บี้” ซึ่งนอกจากความน่ารักแล้ว ผู้ผลิตยังอยากให้เด็กๆ เข้าใจความสวยงามอันหลากหลายที่ไร้ Beauty Standard และกล้าที่จะมีความฝันอีกด้วย

Key Points:

  • “บาร์บี้” เป็นหนึ่งในของเล่นที่ได้รับความนิยมจากเด็กผู้หญิงทั่วโลกมานานถึง 64 ปี
  • แม้ว่าบาร์บี้จะได้รับความนิยมสูง แต่ก็มีช่วงขาลงเนื่องจากหลายคนมองว่าเป็นตุ๊กตาที่สร้างขึ้นมาตามลักษณะของ Beauty Standard
  • ปัจจุบันบาร์บี้พัฒนาตัวเองให้เข้ากับสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพที่หลากหลาย หรือ มีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกัน ไม่ยึดติด Beauty Standard เดิมๆ อีกต่อไป

สำหรับของเล่นที่ครองใจเด็กผู้หญิงทั่วโลกมานานหลายทศวรรษคงหนีไม่พ้น ตุ๊กตาหญิงสาวสวยหุ่นดี ผมสีทอง ตาสีฟ้า ที่มีชื่อว่า “บาร์บี้” หรือ Barbie เนื่องจากพวกเธอมีความแตกต่างจากตุ๊กตาหรือของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงในยุคอดีต

แม้ว่า"ตุ๊กตาบาร์บี้"จะดูเหมือนเป็นแบบจำลองของหญิงสาวในอุดมคติตรงตาม “Beauty Standard” ทุกกระเบียดนิ้ว แต่ความจริงแล้วพวกเธอเกิดขึ้นจากความต้องการของคุณแม่คนหนึ่ง ที่แค่อยากทำตุ๊กตาให้ลูกสาวตัวเองเล่น เพราะมองว่าเด็กผู้หญิงควรมีของเล่นที่เหมาะสมและเฉพาะตัวมากขึ้น รวมถึงต้องการให้บาร์บี้เป็นต้นแบบของผู้หญิงที่มีความฝัน เนื่องจากในยุค 1950 นั้น การที่ผู้หญิงจะมีอาชีพหลากหลาย และมีบ้านมีรถเป็นของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับ “บาร์บี้” พวกเธอเป็นได้ทุกอาชีพและมีบ้านเป็นของตัวเองด้วย

  • “บาร์บี้” ตุ๊กตาจากคุณแม่ ที่อยากให้ลูกสาวมีของเล่นปังๆ

จุดเริ่มต้นของตุ๊กตาบาร์บี้นั้น เกิดจากไอเดียของนักธุรกิจหญิงชาวอเมริกัน “Ruth Handler” (รูท แฮนด์เลอร์) ซึ่งจากมุมมองความเป็นแม่ลูกสองของเธอ เธอสังเกตเห็นว่า เด็กผู้ชายนั้นมีของเล่นหลากหลายไม่ว่าจะเป็น เครื่องบิน รถของเล่น ตุ๊กตาทหาร รถถัง ปืนจำลอง ฯลฯ แต่ในขณะที่ลูกสาวของเธอกลับมีของเล่นแค่เพียงไม่กี่อย่าง เช่น ตุ๊กตาสัตว์ ตุ๊กตาเด็ก ตุ๊กตากระดาษ เป็นต้น จากประเด็นดังกล่าวทำให้เธอเริ่มคิดว่า หากตุ๊กตากระดาษที่ลูกสาวเธอเล่นนั้นกลายเป็นรูปแบบสามมิติและแต่งตัวได้จริงๆ จะส่งผลดีต่อเด็กผู้หญิงมากแค่ไหน

หลังจากนั้นขณะที่เธอเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ และได้เจอกับตุ๊กตาสัญชาติเยอรมันอย่าง Bild Lilli (บลายธ์ ลิลลี่) ซึ่งแม้ว่ามันจะไม่ได้เหมาะสมกับเด็กสักเท่าไรนัก เนื่องจากมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับหญิงสาววัยแรกรุ่น แต่เธอก็ซื้อติดมือกลับมา เพราะมองว่าค่อนข้างตรงกับตุ๊กตาที่เธอวาดภาพเอาไว้ในหัว หลังจากนั้นเธอก็ได้นำตุ๊กตาดังกล่าวไปให้ Jack Ryan (แจ็ค ไรอัน) ที่ในตอนนั้นเป็นรองประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัท Mattel (เป็นบริษัทผลิตของเล่น) ได้นำไอเดียไปออกแบบต่อ

ต่อมาวันที่ 9 มี.ค. 1959 Ruth ได้เปิดตัวตุ๊กตาตัวแรกที่งาน American International Toy Fair ในชื่อ Barbara Millicent Roberts (บาร์บารา มิลลิเซนต์ โรเบิร์ตส์) ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า “บาร์บี้” เป็นตุ๊กตาที่มีอาชีพเป็นนางแบบ โดยชื่อบาร์บี้นั้นก็อ้างอิงตามชื่อลูกสาวของเธอ ทำให้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา วันที่ 9 มี.ค. จึงถูกกำหนดให้เป็นวันเกิดของบาร์บี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งในปีนี้ (2023) บาร์บี้ก็มีอายุครบ 64 ปีแล้ว

‘บาร์บี้’ ตุ๊กตาที่อยากให้เด็กผู้หญิงกล้าฝัน และโอบรับความหลากหลาย

ภาพ ตุ๊กตาบาร์บี้ตัวแรก ในปี 1959 จาก Mattel

บาร์บี้ตัวแรกของโลก มีความสูง 11 นิ้ว เธอมาในชุดว่ายน้ำลายทางสีขาวดำ ผมหางม้าสีบลอนด์ ตาสีฟ้า ทาปากสีแดงสด คิ้วโก่ง และกรีดอายไลน์เนอร์คมกริบ ตามแบบฉบับความงามของหญิงสาวในสมัยนั้น ซึ่งหลายคนมองว่ามีลักษณะคล้ายกับนางเอกชื่อดังแห่งยุคอย่าง Elizabeth Taylor (เอลิซาเบธ เทย์เลอร์) และ Marilyn Monroe (มาริลีน มอนโร)

ด้วยความแปลกใหม่ทำให้ตุ๊กตาบาร์บี้ครองใจเด็กหญิงทั่วโลกได้ไม่ยาก เพราะหลังจากการเปิดตัวในปีแรก ก็มีการผลิตตุ๊กตาบาร์บี้เพื่อส่งขายมากกว่า 350,000 ตัว และต่อมาในปี 1994 เมื่อบาร์บี้มีอายุครบ 35 ปี ก็สามารถขายได้ถึง 775 ล้านตัว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ผู้เขียนเองก็มีบาร์บี้เหมือนกัน)

ในปัจจุบันบาร์บี้รุ่นแรกของโลกมีราคาอยู่ที่ประมาณ 27,450 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 900,000 บาท เนื่องจากถือเป็นของสะสมหายากที่นักสะสมต้องการมีไว้ครอบครอง

  • เมื่อบาร์บี้ผันตัวจากสาวแฟชันนิสต้า มาเป็นผู้ที่เข้าใจความหลากหลาย

แน่นอนว่าด้วย “เอกลักษณ์ของบาร์บี้” เปรียบเสมือนกับตัวแทนของสาวสวยผิวขาวที่ตรงตาม Beauty Standard ทำให้บางคนมองว่าตุ๊กตาเหล่านี้จะสร้างความเข้าใจผิดให้เด็กๆ เชื่อว่าเมื่อโตขึ้นจะต้องสวยและหุ่นดีเหมือนกับบาร์บี้เท่านั้น เพราะแม้ว่าบาร์บี้จะมีเสื้อผ้าให้เลือกใส่หลายแบบ แต่ตัวตุ๊กตาก็ยังคงความเป็นสาวสวยผมบลอนด์เอาไว้ ดังนั้นเมื่อกาลเวลาและค่านิยมเรื่องความงามเริ่มเปลี่ยนไป ตัวบาร์บี้เองก็เปลี่ยนไปตามบริบททางสังคมเช่นเดียวกัน

ปัญหาของบาร์บี้นั้นเริ่มมองเห็นได้ชัดขึ้นในช่วงปี 2011-2015 เนื่องจากยอดขายตุ๊กตาลดลงอย่างหนักถึงหนึ่งในสาม ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมองว่าบาร์บี้นั้นขายความงามตามมาตรฐานสังคมมากเกินไป เป็นต้นแบบของสาวผิวขาวผมบลอนด์ที่ไม่มีความสามารถ และไม่ว่าบาร์บี้จะออกคอลเลกชันที่มีความแปลกใหม่ด้านเสื้อผ้า หรือความหลากหลายทางอาชีพมาช่วย ก็ไม่ทำให้ยอดขายกลับมาดีเหมือนเดิมเท่าไรนัก เพราะภาพลักษณ์ของตุ๊กตาก็ยังเป็นเหมือนเดิมไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง

จนต่อมาในปี 2016 ทาง Mattel ได้ออกบาร์บี้เวอร์ชันใหม่ที่มีความแปลกตาไปจากเดิมมาก และมาพร้อมกันถึง 3 แบบ คือ ตัวเล็ก ตัวสูง และรูปร่างท้วมมีต้นขาและหน้าท้อง รวมถึงมีสีผิวให้เลือก 7 เฉดสี สีดวงตา 22 สี และทรงผมอีก 24 แบบ เพื่อจะลบล้างค่านิยมที่ว่าบาร์บี้นั้นสร้างมาตรฐานความงามแบบผิดๆ ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้บาร์บี้ได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME เดือน ก.พ. 2016 ที่มาพร้อมพาดหัวว่า Now can we stop talking about my body? หรือ ถึงตอนนี้แล้ว จะเลิกเมาท์เรื่องรูปร่างของฉันได้หรือยัง ?

‘บาร์บี้’ ตุ๊กตาที่อยากให้เด็กผู้หญิงกล้าฝัน และโอบรับความหลากหลาย

ภาพ บาร์บี้ ขึ้นปกนิตยสาร TIME ฉบับเดือน ก.พ. 2016

บาร์บี้ไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะต่อมาก็มีตุ๊กตาบาร์บี้ที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น บาร์บี้หัวล้าน บาร์บี้ผิวด่าง บาร์บี้นั่งวีลแชร์ บาร์บี้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และ บาร์บี้ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม เป็นต้น เพื่อแสดงออกว่าแม้จะเป็นเคยตุ๊กตาสำหรับเด็กผู้หญิง แต่ปัจจุบันพวกเธอก็พร้อมจะเป็นของเล่นสำหรับคนทุกเพศ รวมถึงมีความเข้าใจและเป็นมิตรต่อความหลากหลาย

‘บาร์บี้’ ตุ๊กตาที่อยากให้เด็กผู้หญิงกล้าฝัน และโอบรับความหลากหลาย

ภาพ บาร์บี้ที่มีความหลากหลายมากขึ้น จาก Mattel

ไม่ใช่แค่เรื่องของความหลากหลายเท่านั้น แต่บาร์บี้ยังเป็นตุ๊กตาที่ผลักดันให้เด็กผู้หญิงกล้าที่จะมีความฝัน เพราะในอดีตการที่ผู้หญิงจะมีบ้านเป็นของตัวเองนั้นเป็นเรื่องยาก หากไม่ได้แต่งงานและออกไปมีครอบครัว แต่บาร์บี้นั้นสามารถมี รถ และ มีบ้านในฝันได้โดยไม่ต้องง้อใคร (Barbies Dream House)

‘บาร์บี้’ ตุ๊กตาที่อยากให้เด็กผู้หญิงกล้าฝัน และโอบรับความหลากหลาย

ภาพ Barbies Dream House จาก Mattel

อีกหนึ่งประเด็นที่บาร์บี้ได้รับการตอบรับในแง่ดีก็คือ พวกเธอจะประกอบอาชีพอะไรก็ได้ในโลกนี้ตามที่เธอต้องการ แม้ว่าอาชีพเหล่านั้นจะเคยถูกจำกัดไว้เฉพาะผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้พิพากษา ประธานาธิบดี นักบินอวกาศ หมอ วิศวกร หรือแม้แต่ ร็อกสตาร์ (ปัจจุบันพบว่าพวกเธอประกอบอาชีพมากกว่า 200 อาชีพ) นอกจากนี้ยังมีการออกคอลเลกชันพิเศษที่ชื่อว่า “Barbies Goes Historic” โดยการนำผู้หญิงที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ มาทำเป็นตุ๊กตาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กทั่วโลก รวมไปถึงคอลเลกชัน “Sheroes” ที่แปลว่า “วีรสตรี” ซึ่งมีต้นแบบมาจากผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จทั้งหมด 17 คน ที่มีที่มาแตกต่างกัน ก็ถูกนำเสนอในแง่แรงบันดาลใจด้วยเช่นกัน

‘บาร์บี้’ ตุ๊กตาที่อยากให้เด็กผู้หญิงกล้าฝัน และโอบรับความหลากหลาย

ภาพ บาร์บี้ในอาชีพต่างๆ จาก Mattel

ปัจจุบัน “บาร์บี้” ไม่ใช่แค่ตุ๊กตาธรรมดาอีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาเรื่องราวของพวกเธอถูกนำเสนอผ่านแอนิเมชันของบาร์บี้เองและได้รับการตอบรับที่ดี เช่น Barbie in the Nutcracker (2001), Barbie as Rapunzel (2002) และ Barbie of Swan Lakes (2003) เป็นต้น ซึ่งพวกเธอได้รับบทนำในทุกเรื่อง นอกจากนี้ชื่อและคาแรกเตอร์ของบาร์บี้ก็ไปปรากฏในเพลงดังอย่าง Barbie Girl ของวง Aqua เมื่อปี 1997 อีกด้วย

ล่าสุด.. บาร์บี้ กำลังจะมีภาพยนตร์เวอร์ชันคนแสดงในปีนี้ ซึ่งตัวบาร์บี้รับบทโดย Margot Robbie และเคนแฟนหนุ่มของบาร์บี้รับบทโดย Ryan Gosling เรียกได้ว่าบาร์บี้เป็นตุ๊กตาที่อยู่กับเด็กหญิงทั่วโลกมายาวนานถึง 64 ปี และยังมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันกับกระแสสังคม

 

อ้างอิงข้อมูล : Vogueyourtripagent, Thairath plus, TIME, Barbiemediaลงทุนแมน และ สารคดี