วิธีเตรียมสอบ ก.พ.66 เช็กสิ่งที่ใช้ในห้องสอบ และข้อห้ามที่ต้องรู้!

วิธีเตรียมสอบ ก.พ.66 เช็กสิ่งที่ใช้ในห้องสอบ และข้อห้ามที่ต้องรู้!

หลังจากเปิดให้เช็ก "ศูนย์สอบ ก.พ." ทั่วประเทศแล้ว ผู้สมัคร "สอบ ก.พ.66" จะต้องเตรียมตัวสอบให้พร้อม เช่น สิ่งของที่ต้องใช้ ข้อห้ามระหว่างการสอบ รวมถึงเทคนิคการอ่านหนังสือเตรียมสอบให้เป๊ะ เพื่อให้สอบรอบเดียวแล้วผ่านฉลุย!

วันนี้ (14 มิถุนายน 2566) เป็นวันที่ สำนักงาน ก.พ. ประกาศสนามสอบหรือ "ศูนย์สอบ ก.พ." ทั่วประเทศ ใครที่สมัครสอบ ก.พ. ของปีนี้ไว้อย่าลืมมาเช็กข้อมูลสนามสอบให้ดี รวมถึงเข้าระบบเพื่อ "พิมพ์บัตรประจำตัวสอบ" ให้เรียบร้อย โดยสามารถปริ๊นบัตรแบบสีหรือขาวดำก็ได้ เข้าไปที่ลิงก์ ocsc7.thaijobjob.com แล้วตรวจสอบชื่อ-นามสกุลให้ถูกต้อง เช็กรูปถ่ายว่ามีความคมชัด จากนั้นพิมพ์บัตรออกมาได้เลย

ต่อมาในส่วนของ "ขั้นตอนการสอบ ก.พ." ผู้เข้าสอบต้องเตรียมอะไรบ้าง? และมีข้อห้ามใดๆ ในห้องสอบที่ผู้เข้าสอบต้องรู้ กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมมาให้เช็กลิสต์ ดังนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

  • ก่อนจะถึงวันสอบ ก.พ. เช็กสิ่งที่ต้องเตรียมเข้าห้องสอบ

สำหรับสิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อใช้ในการสอบ ก.พ.66 ในวันสอบจริง วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ได้แก่ อุปกรณ์และเอกสารสำคัญ ดังนี้

1. บัตรประจําตัวประชาชน หรือบัตรประจําตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีรูปถ่าย ลายมือชื่อ และเลขประจําตัวประชาชน 13 หลัก (สํานักงาน ก.พ. จะไม่อนุญาตให้ใช้ใบแจ้งความ สําเนาบัตรหรือบัตร อื่นๆ เช่น ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง เป็นต้น)

2. ปากกา ยางลบ ดินสอที่มีความดําเท่ากับ 2B หรือมากกว่า

3. กระเป๋าเงิน

 

  • สิ่งต้องห้ามและข้อห้ามในห้องสอบที่ต้องรู้

สำนักงาน ก.พ. มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสิ่งที่ห้ามนําเข้าห้องสอบโดยเด็ดขาด หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ใดนําเข้ามาในห้องสอบ จะถือว่ามีเจตนากระทําการทุจริตในการสอบ และต้องยุติการสอบทันที ได้แก่

1. เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) วิทยุติดตามตัว วิทยุสื่อสาร เป็นต้น

2. เครื่องคํานวณ อุปกรณ์ที่ใช้คํานวณได้

3. เครื่องบันทึกภาพ เครื่องบันทึกเสียง

4. เอกสาร ตํารา

5. กระเป๋าต่างๆ กระเป๋าสะพายสุภาพสตรี

 

  • ผู้เข้าสอบสามารถ "ยุติการทำข้อสอบ" กรณีใดบ้าง ? 

หากพบว่าผู้ใดไม่มีบัตรประจําตัวประชาชน หรือไม่มีบัตรประจําตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพบว่าผู้ใดมีสิ่งที่ห้ามนําเข้าห้องสอบในระหว่างดําเนินการสอบ ผู้นั้นจะต้องยุติการทําตอบทันที และจะออกจากห้องสอบได้เมื่อหมดเวลาทําข้อสอบ รวมทั้งจะไม่ตรวจให้คะแนนสําหรับบุคคลผู้นั้น

 

  • เช็กระเบียบและกฎข้อบังคับต่างๆ ก่อนเข้าสอบ ก.พ.66

1. แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยตามประเพณีนิยม และประพฤติตนเป็นสุภาพชน ห้ามสวมกางเกงขาสั้น เสื้อไม่มีแขน รองเท้าแตะฟองน้ํา

2. ควรไปถึงสถานที่สอบก่อนเวลาสอบไม่น้อยกว่า 40 นาที แต่จะเข้าห้องสอบได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุมสอบเท่านั้น

3. ผู้สมัครสอบที่ไปถึงห้องสอบหลังจากที่ได้เริ่มสอบไปแล้ว 30 นาที จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ

4. ต้องนั่งสอบตามที่นั่งสอบ ห้องสอบ และสถานที่สอบ ที่สํานักงาน ก.พ. กําหนดให้ หากผู้ใดนั่งสอบผิดสถานที่สอบ จะไม่ได้รับการตรวจกระดาษคําตอบ

5. ต้องนั่งอยู่ในห้องสอบจนหมดเวลาทําตอบ

6. ห้ามคัดลอกข้อสอบ หรือนําแบบทดสอบ และกระดาษคําตอบออกจากห้องสอบโดยเด็ดขาด

7. เชื่อฟังและปฏิบัติตามคําสั่งและคําแนะนําของหัวหน้าห้องสอบ หรือเจ้าหน้าที่คุมสอบโดยเคร่งครัด

8. เมื่อหมดเวลาทําข้อสอบ หัวหน้าห้องสอบหรือเจ้าหน้าที่คุมสอบ จะสั่งให้หยุดทํา ซึ่งผู้เข้าสอบจะต้องหยุดทันที และจะออกจากห้องสอบได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่คุมสอบอนุญาต

 

  • วิธีเตรียมตัวสอบให้พร้อม สอบรอบเดียวผ่านฉลุย

มีข้อมูลจาก "สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)" ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเตรียมตัวสอบไว้ว่า ผู้เข้าสอบควรเริ่มอ่านหนังสือเตรียมสอบอย่างจริงจังอย่างน้อย 3 เดือนก่อนสอบ ทั้งนี้เวลาอ่านหนังสือจะน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับเวลาว่างของแต่ละคน แต่ก็ควรเตรียมพร้อมให้ได้มากที่สุด

สำหรับเทคนิคการอ่านหนังสือเพื่อ "สอบ ก.พ. 66" จะต้องพยายามโฟกัสเนื้อหาให้ดี เพราะการที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาอะไรเยอะๆ นั้น ต้องใช้เวลาและความสม่ำเสมอ โดยให้ค่อยๆ อ่านไปให้จบทีละวิชา อย่าอ่านสลับกันไปมา เพื่อให้ได้รับความรู้วิชานั้นๆ ได้เต็มที่ อาจจะเริ่มอ่านจากวิชาสำคัญหรือยากๆ ก่อน แล้วช่วงก่อนสอบจะได้มีเวลามาทบทวนซ้ำอีกที ส่วนวิชาง่ายๆ อาจจะไม่ต้องเผื่อเวลาทบทวนก่อนสอบมากนัก

นอกจากการอ่านหนังสือเตรียมสอบแล้ว ก็ควรแบ่งเวลามาฝึกทำข้อสอบ ก.พ. ของปีก่อนๆ ด้วย การฝึกทำข้อสอบเก่าหลายๆ ชุด จะช่วยให้เราได้ตรวจและเห็นคำตอบตัวเองว่าผิดพลาดตรงไหน และสามารถเน้นการทบทวนเนื้อหาส่วนนั้นๆ ได้อย่างตรงจุดมากขึ้น 

-------------------------------------------------------

อ้างอิง : สำนักงาน ก.พ.สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)