สศช.แถลงภาวะสังคมไตรมาส3/65 การจ้างงานฟื้นตัวหลังโควิด จับตา NPL ยังพุ่ง

สศช.แถลงภาวะสังคมไตรมาส3/65 การจ้างงานฟื้นตัวหลังโควิด จับตา NPL ยังพุ่ง

สศช.แถลงภาวะสังคมไตมาส 3 ปี 2565 พบการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.1% มีแรงงานในตลาดงานทั้งหมด 39.6 ล้านคน อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 1.23% ภาคท่องเที่ยวขาดแคลนแรงงาน หนี้สินครัวเรือนโดยรวมลดลงเมื่อเทียบกับ GDPเหลือ 88.2% แนะเฝ้าระวังการเพิ่มของ NPL และการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน

วันนี้ (14 ธ.ค.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2565 โดยมีประเด็นที่สำคัญคือเรื่องของสถานการณ์แรงงานไตรมาสสาม ปี 2565 การจ้างงานขยายตัวได้จากสาขานอกภาคเกษตรกรรม  แต่ภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวจากปัญหาอุทกภัย การว่างงานปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติ  และชั่วโมงการทำงานที่ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงยังหดตัวจากผลของเงินเฟ้อ

โดยการจ้างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ที่ร้อยละ 4.3 หรือมีการจ้างงาน 27.2 ล้านคน โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นคือ สาขาค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและภัตตาคาร ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และ 8.3 ตามลำดับ

เป็นผลของการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ช่วงไตรมาสสาม ปี 2565 เพิ่มสูงขึ้นมาก และสาขาการผลิตมีการจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตและการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ขณะที่ ภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 12.4 ล้านคน ลดลง
ร้อยละ 2.4 จากผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติ
ช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.5 และ 46.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ ผู้ทำงานล่วงเวลา มีจำนวน 6.8 ล้านคน และผู้เสมือนว่างงานลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน ใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติ

 

ค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องแต่ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัว โดยค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานภาคเอกชน หดตัว ร้อยละ1.7 และค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมหดตัวถึงร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.9 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.23 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.99 ซึ่งเป็นการลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน

 

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป คือ

  1. การมีแนวทางบรรเทาภาระค่าครองชีพของแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ จากค่าจ้างที่แท้จริงที่หดตัวลงจากผลกระทบของเงินเฟ้อในระดับสูง อย่างไรก็ตาม แรงงานในระบบจะได้รับการชดเชยจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่แรงงานนอกระบบที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาไม่สูงนักจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น

 

  1.  การเร่งช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ยากจน ซึ่งในไตรมาส 3 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยถึง 59 จังหวัด โดยจังหวัดดังกล่าว มีเกษตรกรรวมกันมากถึง 8.3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเกษตรกรยากจนจำนวน 8.9 แสนคน ซึ่งอาจได้รับความเสียหายที่รุนแรงกว่ากลุ่มอื่น

และ  3.การสนับสนุนให้ผู้ว่างงานเข้าสู่ระบบ การอบรมและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว ผลสำรวจของสมาคมโรงแรมไทยเดือนกันยายน ปี 2565 พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมร้อยละ 77 ยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน

 

หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสอง ปี 2565 ขยายตัวชะลอลง ส่วนคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ต้องเฝ้าระวังสินเชื่อยานยนต์ และติดตามผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาอุทกภัย และลูกหนี้เสีย ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น

หนี้สินครัวเรือนไตรมาสสอง ปี 2565 ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.5 ลดลงจากร้อยละ 3.7 ของไตรมาสที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ที่ปรับลดลงเป็นร้อยละ 88.2 จากไตรมาสก่อน ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของการก่อหนี้ของครัวเรือนจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้ด้านคุณภาพสินเชื่อในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
จากมาตรการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่องของสถาบันการเงิน
โดยในไตรมาสสาม ปี 2565 สัดส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.62

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อยานยนต์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระ
น้อยกว่า 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาสสอง ปี 2565
ยังพบว่า หนี้เสียขยายตัวในระดับสูง ในกลุ่มลูกหนี้อายุตั้งแต่ 41 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มสูงอายุ และลูกหนี้ NPLs จากผลกระทบของ COVID-19

 

อีกทั้ง ในระยะถัดไป มีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน ได้แก่ ภาระค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมีแนวโน้มก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น และ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ดังนั้นสถานการณ์ข้างต้นนำมาซึ่งประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อยานยนต์ กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 2) การมีมาตรการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัญหาอุทกภัย และการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน