หลังโควิดจ้างงานฟื้น แต่เอ็นพีแอลยังพุ่ง

หลังโควิดจ้างงานฟื้น แต่เอ็นพีแอลยังพุ่ง

แม้การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นแต่ปัญหาค่าครองชีพสูงยังคงอยู่ ส่งผลให้คนเจนเอ็กซ์และเจนวายซึ่งเป็นวัยทำงานปัจจุบันประสบปัญหาแบกหนี้เสีย และผิดนัดชำระหนี้หลายราย

ตัวเลขสถานการณ์แรงงานไตรมาส 3 ปี 2565 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยวานนี้ (14 ธ.ค)ปรากฏว่ามีการจ้างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 4.3 หรือมีการจ้างงาน 27.2 ล้านคน สาขาค้าส่งค้าปลีกจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 สาขาโรงแรมและภัตตาคารจ้างงานเพิ่มขึ้น 8.3 เป็นผลของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น สาขาการผลิตมีการจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตและการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ชั่วโมงการทำงานในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.5 และ 46.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ ผู้ทำงานล่วงเวลา มีจำนวน 6.8 ล้านคน และผู้เสมือนว่างงานลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน ใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติ

ตัวเลขผู้ว่างงานมีจำนวน 4.9 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.23 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.99 ซึ่งเป็นการลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งแม้ว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทว่าค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานภาคเอกชนหดตัว ร้อยละ 1.7 และค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมหดตัวถึงร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยทั้งระบบ สิ้นไตรมาส 3 กลับพบว่ามีลูกหนี้อยู่ภายใต้เครดิตบูโรทั้งสิ้น 25 ล้านคน เป็นหนี้ของเครดิตการ์ด 5.29 แสนล้านบาท หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 2.5 ล้านล้านบาท สินเชื่อรถ 2.5 ล้านล้านบาท สินเชื่อบ้าน 4.7 ล้านล้านบาท และ สินเชื่อเพื่อการเกษตร 1 ล้านล้านบาท ภาพรวมหนี้เสียของทั้งระบบล่าสุดอยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นหนี้เสียที่ 8.4 % ซึ่งลดลงหากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาที่หนี้เสียอยู่ที่ 8.6% หรือ 1.1 ล้านล้านบาท เฉพาะลูกหนี้กลุ่มที่เป็นหนี้เสีย และกำลังเป็นหนี้เสีย โดยรวมอยู่ที่ 11.5% มาจากสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

ที่น่าห่วงที่สุด คือสินเชื่อ รถ และสินเชื่อบุคคล มีข้อมูลว่าสินเชื่อรถยนต์ ที่ได้รับการอนุมัติ ในช่วง 9 เดือน อยู่ที่ 1.08 ล้านบัญชี ​โดย 53 % เป็นกลุ่มเจนวายที่ได้สินเชื่อ และเป็นกลุ่มที่มีปัญหาชำระหนี้มากที่สุด ภาพรวมของสินเชื่อรถยนต์ หนี้เสียยังอยู่ระดับสูง ที่ 6.5% ใกล้กับไตรมาสก่อน กลุ่มที่เป็นหนี้เสียมากที่สุด คือกลุ่มเจนวาย อายุ 25-42 ปี ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 3.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นบัญชีที่เป็นหนี้เสีย 9.2 หมื่นบัญชี และรวมกับเจนเอ็กซ์ ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 219,315 บัญชี รวมกับหนี้ที่เริ่มผิดนัดชำระ ทั้งสองกลุ่มอีก กว่า 3.4 แสนบัญชี สินเชื่อรถยนต์ มีปัญหาทั้งสองกลุ่มรวมกันมีสูงถึงเกือบ 1 ล้านบัญชี

การที่กลุ่มเจนวาย อายุ 25-42 ปีมีสัดส่วนหนี้เสียมากที่สุด สะท้อนภาวะสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นกลุ่มที่กำลังเริ่มต้นวัยทำงาน และเป็นกำลังหลักของครอบครัว แม้ว่าตัวเลขการว่างงานจะลดลง ทว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ยังคงมีอยู่ประกอบกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น หรือมาตรการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับมาตรการสร้างวินัยทางการเงิน การปล่อยสินเชื่อที่รัดกุม เพื่อทำให้ภาพรวมหนี้เสียของทั้งระบบค่อยๆลดลง